Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๓๒๓

ngodngam1 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

 dhammajaree323

 

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมได้สนทนากับญาติธรรมท่านหนึ่ง
ซึ่งเขาทำงานหนักจนเริ่มจะมีอาการไม่สบายบางอย่าง
ผมถามว่าทำไมไม่หยุดพัก และไปหาหมอล่ะ?
เขาตอบว่าคุณหมอที่เขาหาอยู่ประจำจะเข้าตรวจในวันเสาร์
(ในวันที่สนทนากันนั้นเป็นวันอังคาร เขาจึงรอจะไปหาวันเสาร์)
และในช่วงเวลานั้น เขาก็มีงานด่วนหลายเรื่อง ไม่สามารถหยุดได้
เขาจึงเลือกทำงานต่อไป แล้วก็รอไปหาหมอในวันเสาร์ทีเดียว
ผมถามต่อไปว่า ในระหว่างนี้ เขาจะทำอะไรบ้างเพื่อบรรเทาอาการ?
เขาตอบว่า ไม่ได้ทำอะไร ก็จะรอไปหาหมอในวันเสาร์
เพื่อเอายามาทาน โดยเขาเชื่อว่าอาการน่าจะดีขึ้นเมื่อทานยาแล้ว

ผมจึงได้แนะนำว่าโดยลักษณะแนวคิดของเขาอย่างนี้
เท่ากับว่าเรารอที่จะพึ่งพาแต่คุณหมอเท่านั้น
แต่จริง ๆ แล้ว คนเรานั้นจะต้องพึ่งพาตนเองเป็นสำคัญ
ดังนั้น ในระหว่างที่เรายังจะไม่ได้ไปหาหมอนี้
อย่างน้อยเราก็ควรจะต้องพิจารณาตนเองว่า
เราควรจะทำอย่างไร หรือปรับพฤติกรรมอย่างไรไหม
เพื่อบรรเทาอาการไม่สบาย หรือทำให้ร่างกายดีขึ้น
ไม่ใช่ว่าเราก็ใช้ชีวิตไปตามยถากรรมเหมือนเดิม
แล้วก็รอว่าเมื่อถึงวันเสาร์ที่เราไปหาหมอแล้ว
หมอจะจ่ายยาและรักษาเราให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บได้หมด
เพราะหากอาการไม่สบายรุนแรงขึ้นมาก
เราอาจจะป่วยโรคอื่นแทรกซ้อนเพิ่มเติมก็ได้
นอกจากนี้ ตราบใดที่เรายังสร้างเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคภัยแล้ว
โรคภัยนั้นก็ย่อมจะเกิดขึ้นกับเราไปเรื่อย
ฉะนั้นแล้ว เราจึงต้องพึ่งตนเอง และช่วยเหลือตนเองด้วย
โดยพิจารณาตนเองว่าพฤติกรรมหรืออาหารใดที่ก่อโรคภัยแล้ว
เราก็ควรจะหลีกเลี่ยง หรืองดเว้นจากพฤติกรรมหรืออาหารเหล่านั้น

ในเรื่องธรรมะ ก็เป็นเช่นเดียวกันนะครับ
เราทุกคนก็ต้องพึ่งตนเองเป็นสำคัญ
โดยควรจะสนใจใส่ใจประพฤติปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม
ไม่ใช่ว่าเราปล่อยตนเองใช้ชีวิตไปตามยถากรรม
แล้วเมื่อผ่านไปสัปดาห์หนึ่ง เดือนหนึ่ง หรือหลายเดือน
เราก็ค่อยไปหาครูบาอาจารย์ ด้วยความหวังว่า
ครูบาอาจารย์ท่านจะสามารถช่วยให้เราพ้นทุกข์หรือบรรลุธรรมได้
เช่นนั้นแล้ว เราก็ย่อมจะไม่สามารถบรรลุผลตามประสงค์ได้
เพราะเราไม่ได้สร้างเหตุปัจจัยที่จะช่วยให้เราพ้นทุกข์หรือบรรลุธรรมไว้
ฉะนั้นแล้ว เราก็ต้องพึ่งตนเอง และช่วยเหลือตนเองครับ

ในพระธรรมคำสอนก็ได้สอนเรื่องของการพึ่งตนเองไว้เช่นกัน เช่น
ใน “คาถาธรรมบท อัตตวรรค” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท)
สอนว่า ตนแลฝึกได้ยาก ตนแลเป็นที่พึ่งของตน
บุคคลอื่นไรเล่าพึงเป็นที่พึ่งได้
เพราะว่าบุคคลมีตนฝึกฝนดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งอันได้โดยยาก
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=25&A=692&Z=720&pagebreak=0

ใน “คิลานสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค)
สอนว่า เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง
คือ จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่เถิด

ภิกษุเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง
คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ เป็นอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณา เห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร
มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสีย
ภิกษุเป็นผู้มีตนเป็นเกาะมีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง
คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ อย่างนี้แล
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=19&A=4092&Z=4135&pagebreak=0

ใน “อัตตทีปสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค)
สอนว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีตนเป็นที่พึ่ง
มีตนเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ
จงเป็นผู้มีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ อยู่เถิด

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายจะมีตนเป็นที่พึ่ง
มีตนเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ
มีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะอยู่
จะต้องพิจารณาโดยแยบคายว่า โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
และอุปายาส มีกำเนิดมาอย่างไร เกิดมาจากอะไร?

ภิกษุทั้งหลาย ก็โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส
มีกำเนิดมาอย่างไร เกิดมาจากอะไร?
ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับแล้วในโลกนี้ ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย
ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า ไม่ได้รับแนะนำในอริยธรรม
ไม่ได้เห็นสัตบุรุษทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ
ไม่ได้รับแนะนำในสัปปุริสธรรม ย่อมตามเห็นรูปโดยความเป็นตน ๑
ย่อมเห็นตนมีรูป ๑ ย่อมเห็นรูปในตน ๑ ย่อมเห็นตนในรูป ๑
รูปนั้นของเขาย่อมแปรไป ย่อมเป็นอย่างอื่นไป
โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ย่อมเกิดขึ้นแก่เขา
เพราะรูปแปรไปและเป็นอื่นไป
ย่อมเห็นตนมีเวทนา ๑ ย่อมเห็นเวทนาในตน ๑ ย่อมเห็นตนในเวทนา ๑
เวทนานั้นของเขาย่อมแปรไป ย่อมเป็นอย่างอื่นไป
โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ย่อมเกิดขึ้นแก่เขา
เพราะเวทนาแปรไปและเป็นอื่นไป
ย่อมเห็นตนมีสัญญา ๑ ย่อมเห็นสัญญาในตน ๑ ย่อมเห็นตนในสัญญา ๑
สัญญานั้นของเขาย่อมแปรไป ย่อมเป็นอย่างอื่นไป
โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ย่อมเกิดขึ้นแก่เขา
เพราะสัญญาแปรไปและเป็นอื่นไป
ย่อมเห็นตนมีสังขาร ๑ ย่อมเห็นสังขารในตน ๑ ย่อมเห็นตนในสังขาร ๑
สังขารนั้นของเขาย่อมแปรไป ย่อมเป็นอย่างอื่นไป
โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ย่อมเกิดขึ้นแก่เขา
เพราะสังขารแปรไปและเป็นอื่นไป
ย่อมเห็นตนมีวิญญาณ ๑ ย่อมเห็นวิญญาณในตน ๑ ย่อมเห็นตนในวิญญาณ ๑
วิญญาณนั้นของเขาย่อมแปรไป ย่อมเป็นอย่างอื่นไป
โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ย่อมเกิดขึ้นแก่เขา
เพราะวิญญาณแปรไปและเป็นอื่นไป

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุรู้ว่ารูปไม่เที่ยง แปรปรวนไป คลายไป ดับไป
เห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า
รูปในกาลก่อนและรูปทั้งมวลในบัดนี้
ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ดังนี้ ย่อมละโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสได้
เพราะละโสกะเป็นต้นเหล่านั้นได้ จึงไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมอยู่เป็นสุข
เมื่อภิกษุรู้ว่าเวทนาไม่เที่ยง แปรปรวนไป คลายไป ดับไป
เห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า
เวทนาในกาลก่อนและเวทนาทั้งมวลในบัดนี้
ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ดังนี้ ย่อมละโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสได้
เพราะละโสกะเป็นต้นเหล่านั้นได้ จึงไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมอยู่เป็นสุข
เมื่อภิกษุรู้ว่าสัญญาไม่เที่ยง แปรปรวนไป คลายไป ดับไป
เห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า
สัญญาในกาลก่อนและสัญญาทั้งมวลในบัดนี้
ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ดังนี้ ย่อมละโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสได้
เพราะละโสกะเป็นต้นเหล่านั้นได้ จึงไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมอยู่เป็นสุข
เมื่อภิกษุรู้ว่าสังขารไม่เที่ยง แปรปรวนไป คลายไป ดับไป
เห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า
สังขารในกาลก่อนและสังขารทั้งมวลในบัดนี้
ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ดังนี้ ย่อมละโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสได้
เพราะละโสกะเป็นต้นเหล่านั้นได้ จึงไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมอยู่เป็นสุข
เมื่อภิกษุรู้ว่าวิญญาณไม่เที่ยง แปรปรวนไป คลายไป ดับไป
เห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า
วิญญาณในกาลก่อนและวิญญาณทั้งมวลในบัดนี้
ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ดังนี้ ย่อมละโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสได้
เพราะละโสกะเป็นต้นเหล่านั้นได้ จึงไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมอยู่เป็นสุข
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=17&A=948&Z=980&pagebreak=0

ebreak=0