Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๓๒๒

ngodngam1 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

สิ่งทั้งปวงสมควรแก่เราหรือไม่

 dhammajaree322

 

วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเป็นวันมาฆบูชา
ซึ่งเป็นวันเพ็ญ เดือน ๓ และได้มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔
หรือที่เรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต” กล่าวคือ
๑. วันนั้นดวงจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ (เพ็ญเดือน ๓)
๒. พระสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูปมาประชุมกัน โดยมิได้นัดหมาย
๓. พระสงฆ์เหล่านั้นทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖
๔. พระสงฆ์เหล่านั้นทั้งหมดล้วนเป็นเอหิภิกขุ
ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดง “โอวาทปาฏิโมกข์”
ได้แก่ หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา
หรือคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาในวันดังกล่าว
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%C1%D2%A6%BA%D9%AA%D2&original=1
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%A8%D2%B5%D8%C3%A7%A4%CA%D1%B9%B9%D4%BA%D2%B5
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%E2%CD%C7%D2%B7%BB%D2%AF%D4%E2%C1%A1%A2%EC

เราคงได้อ่านหรือได้ฟังเรื่องวันมาฆบูชาข้างต้นกันมาบ้างนะครับ
ในคราวนี้ เราจะมาสนทนาในเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในวันมาฆบูชาเช่นกัน
คือธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ทรงสอนแก่ทีฆนขะ
ซึ่งหลังจากจบธรรมเทศนาแล้ว พระสารีบุตรซึ่งถวายงานพัดพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่
ได้บรรลุพระอรหันต์ในเวลานั้น

ใน “ทีฆนขสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์) เล่าว่า
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ถ้ำสุกรขาตา บนเขาคิชฌกูฏ
ในกรุงราชคฤห์ ปริพาชกชื่อว่า “ทีฆนขะ” ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว
ทีฆนขะกราบทูลว่า ท่านพระโคดม ความจริงข้าพเจ้ามีปกติเห็นและกล่าวว่า
สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ทีฆนขะแม้ความเห็นของท่านว่า
สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรานั้น ก็ไม่ควรแก่ท่าน

ทีฆนขะกราบทูลว่า ท่านพระโคดม ถ้าความเห็นนี้ควรแก่ข้าพเจ้า
แม้ความเห็นนั้นก็พึงเป็นเช่นนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ทีฆนขะ ชนในโลกผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า
แม้ความเห็นนั้นก็พึงเป็นเช่นนั้นทั้งนั้น ดังนี้ ชนเหล่านั้นละความเห็นนั้นไม่ได้
และยังยึดถือความเห็นอื่นนั้น มีมาก คือมากกว่าคนที่ละได้
ทีฆนขะ ชนในโลกผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า แม้ความเห็นนั้นก็พึงเป็นเช่นนั้นทั้งนั้น
ดังนี้ ชนเหล่านั้นละความเห็นนั้นได้ และไม่ยึดถือความเห็นอื่นนั้น
มีน้อยคือน้อยกว่าคนที่ยังละไม่ได้

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสต่อไปว่า ทีฆนขะ สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง
มักกล่าวและเห็นว่า สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา ก็มี.
สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมักกล่าวและเห็นว่า
สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา ก็มี
สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมักกล่าวและเห็นว่า
บางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรา ก็มี
ทีฆนขะ บรรดาความเห็นที่ว่า สิ่งทั้งปวงควรแก่เรานั้น
ใกล้ข้างกิเลสอันเป็นไปด้วยความกำหนัด
ใกล้ข้างกิเลสเป็นเหตุเพลิดเพลิน ใกล้ข้างกิเลสเป็นเหตุยึดมั่น.
ทีฆนขะ บรรดาความเห็นที่ว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรานั้น
ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นไปด้วยความกำหนัด
ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นเหตุเพลิดเพลิน ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นเหตุยึดมั่น
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว
ทีฆนขะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ท่านพระโคดมทรงยกย่องความเห็นของข้าพเจ้า

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสต่อไปว่า ทีฆนขะ บรรดาความเห็นที่ว่า
บางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรานั้น
ส่วนที่เห็นว่าควร ใกล้ข้างกิเลสอันเป็นไปด้วยความกำหนัด
ใกล้ข้างกิเลสเป็นเหตุเพลิดเพลิน ใกล้ข้างกิเลสเป็นเหตุยึดมั่น
ส่วนที่เห็นว่าไม่ควรใกล้ข้างธรรมไม่เป็นไปด้วยความกำหนัด
ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นเหตุเพลิดเพลิน ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นเหตุยึดมั่น.

ทีฆนขะ สมณพราหมณ์ผู้เห็น ยึดมั่น ถือมั่นซึ่งทิฏฐิว่า สิ่งทั้งปวงควรแก่เรานั้น
ย่อมถือผิดจากสมณพราหมณ์อีกสองพวกที่เห็นว่า
สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา ๑ และบางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรา ๑
เมื่อถือทิฏฐิผิดกันอยู่ดังนี้ ความทุ่มเถียงกันก็มี ความแก่งแย่งกันก็มี
ความเบียดเบียนกันก็มี วิญญูชนนั้นพิจารณาเห็นความถือผิดกัน
ความทุ่มเถียงกัน ความแก่งแย่งกัน และความเบียดเบียนกัน ในตนดังนี้อยู่
จึงละทิฏฐินั้นเสีย ไม่ยึดถือทิฏฐิอื่นด้วย
การละการสละคืนทิฏฐิเหล่านี้ ย่อมมีได้ด้วยประการฉะนี้

ทีฆนขะ สมณพราหมณ์ผู้เห็น ยึดมั่น ถือมั่นซึ่งทิฏฐิว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรานั้น
ย่อมถือผิดจากสมณพราหมณ์อีกสองพวกที่เห็นว่า
สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา ๑ และบางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรา ๑
เมื่อถือทิฏฐิผิดกันอยู่ดังนี้ ความทุ่มเถียงกันก็มี ความแก่งแย่งกันก็มี
ความเบียดเบียนกันก็มี วิญญูชนนั้นพิจารณาเห็นความถือผิดกัน
ความทุ่มเถียงกัน ความแก่งแย่งกัน และความเบียดเบียนกัน ในตนดังนี้อยู่
จึงละทิฏฐินั้นเสีย ไม่ยึดถือทิฏฐิอื่นด้วย
การละการสละคืนทิฏฐิเหล่านี้ ย่อมมีได้ด้วยประการฉะนี้

ทีฆนขะ สมณพราหมณ์ผู้เห็น ยึดมั่น ถือมั่นซึ่งทิฏฐิว่า
บางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรานั้น
ย่อมถือผิดจากสมณพราหมณ์อีกสองพวกที่เห็นว่า
สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา ๑ และ สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา ๑
เมื่อถือทิฏฐิผิดกันอยู่ดังนี้ ความทุ่มเถียงกันก็มี ความแก่งแย่งกันก็มี
ความเบียดเบียนกันก็มี วิญญูชนนั้นพิจารณาเห็นความถือผิดกัน
ความทุ่มเถียงกัน ความแก่งแย่งกัน และความเบียดเบียนกัน ในตนดังนี้อยู่
จึงละทิฏฐินั้นเสีย ไม่ยึดถือทิฏฐิอื่นด้วย
การละการสละคืนทิฏฐิเหล่านี้ ย่อมมีได้ด้วยประการฉะนี้

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสต่อไปว่า ทีฆนขะ ก็กายนี้มีรูป เป็นที่ประชุมมหาภูตทั้งสี่
มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เจริญด้วยข้าวสุกและขนมสด ต้องอบและขัดสีกันเป็นนิจ
มีความแตกกระจัดกระจายเป็นธรรมดา ท่านควรพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นความเจ็บไข้
เป็นดังผู้อื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นของว่างเปล่า เป็นของมิใช่ตน
เมื่อท่านพิจารณาเห็นกายนี้ โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี
เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นความเจ็บไข้ เป็นดังผู้อื่น เป็นของทรุดโทรม
เป็นของว่างเปล่า เป็นของมิใช่ตนอยู่ ท่านย่อมละความพอใจในกาย
ความเยื่อใยในกาย ความอยู่ในอำนาจของกายในกายได้

ทีฆนขะ เวทนาสามอย่างนี้ คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ อทุกขมสุขเวทนา ๑.
ทีฆนขะ สมัยใดได้เสวยสุขเวทนา ในสมัยนั้นไม่ได้เสวยทุกขเวทนา
ไม่ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา ได้เสวยแต่สุขเวทนาเท่านั้น.
ในสมัยใดได้เสวยทุกขเวทนา ในสมัยนั้นไม่ได้เสวยสุขเวทนา
ไม่ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา ได้เสวยแต่ทุกขเวทนาเท่านั้น.
ในสมัยใดได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา ในสมัยนั้นไม่ได้เสวยสุขเวทนา
ไม่ได้เสวยทุกขเวทนา ได้เสวยแต่อทุกขมสุขเวทนาเท่านั้น.
ทีฆนขะ สุขเวทนาไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งขึ้น อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น
มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไปเป็นธรรมดา.
แม้ทุกขเวทนาก็ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งขึ้น อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น
มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไปเป็นธรรมดา.
แม้อทุกขมสุขเวทนาก็ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งขึ้น อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น
มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไปเป็นธรรมดา.

ทีฆนขะ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายทั้งในสุขเวทนา
ทั้งในทุกขเวทนา ทั้งในอทุกขมสุขเวทนา เมื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด
เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว
รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำสำเร็จแล้ว
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
ทีฆนขะ ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้แล ย่อมไม่วิวาทแก่งแย่งกับใคร ๆ
โวหารใดที่ชาวโลกพูดกัน ก็พูดไปตามโวหารนั้น แต่ไม่ยึดมั่นด้วยทิฏฐิ
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=4661&Z=4768&pagebreak=0

ในเวลาที่จบธรรมเทศนาแล้ว ท่านพระสารีบุตรซึ่งนั่งถวายงานพัด
แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่ในเวลานั้น ได้บรรลุพระอรหันต์
ส่วนทีฆนขะนั้นได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน
หลังจากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จลงจากภูเขาคิชฌกูฏ
เสด็จไปพระวิหารเวฬุวันได้ทรงประชุมพระสาวกในจาตุรงคสันนิบาต

ใน อรรถกถาของอรรถกถาทีฆนขสูตรได้อธิบายว่า
ทีฆนขะกล่าวด้วยความประสงค์ว่า ปฏิสนธิทั้งหลายนั้นไม่ควร
เพื่อแสดงว่า เราเป็นผู้มีวาทะว่าขาดสูญ
แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงพรางความประสงค์ของทีฆนขะนั้น
จึงทรงแสดงถึงโทษในความไม่ควร จึงตรัสพระดำรัสว่า
แม้ความเห็นของท่านก็ไม่ควร คือ
แม้ความเห็นที่ท่านชอบใจยึดถือไว้ครั้งแรกก็ไม่ควร

ความเห็นว่าเที่ยงมีโทษน้อย มีความคลายช้า
ส่วนความเห็นว่าขาดสูญมีโทษมาก มีความคลายเร็ว
กล่าวคือ ผู้มีวาทะว่าเที่ยง ย่อมรู้ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วว่ามีอยู่ จึงทำกุศล
เมื่อทำอกุศลย่อมกลัว พอใจยินดีในวัฏฏะ
เมื่ออยู่เฉพาะหน้าพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้า
ย่อมไม่สามารถละความเห็นได้เร็ว
ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่าความเห็นว่าเที่ยงนั้นมีโทษน้อย คลายช้า
ส่วนผู้มีวาทะว่าขาดสูญ ย่อมไม่รู้ผลของกรรมดีและกรรมชั่วว่ามีอยู่ จึงไม่ทำกุศล
เมื่อทำอกุศลย่อมไม่กลัว ไม่ชอบใจไม่ยินดีวัฏฏะ
เมื่ออยู่เฉพาะหน้าพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมละความเห็นได้เร็ว
ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ความเห็นว่าขาดสูญมีโทษมาก คลายเร็ว

แต่ว่าทีฆนขะไม่ได้เข้าใจเช่นนั้น เขาเข้าใจว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกย่องความเห็นของตน
เมื่อทีฆนขะในเวลานั้นยังเต็มไปด้วยความเห็นว่าขาดสูญเท่านั้น
เปรียบดุจน้ำเต้าขมเต็มด้วยน้ำส้ม เมื่อทีฆนขะยังทิ้งน้ำส้มไม่ได้
ย่อมไม่สามารถใส่น้ำมันน้ำผึ้งลงในน้ำเต้าได้
ดังนั้น เพื่อให้ทีฆนขะละทิฏฐินั้น จึงทรงแสดงโทษของการถือทิฏฐิ
ซึ่งทำให้ทะเลาะกัน และทรงแสดงว่าการละคืนทิฏฐิย่อมมีได้อย่างไร
เมื่อนั้น ทีฆนขะคิดว่า ประโยชน์อะไรแก่เราด้วยการทะเลาะเป็นต้นนี้
ทีฆนขะจึงละความเห็นว่าขาดสูญนั้นได้
ในลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงสอนวิปัสสนาแก่ทีฆนขะนั้น
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=269

หากจะพิจารณาว่า สิ่งทั้งปวงสมควรแก่เราหรือไม่ ดังที่กล่าวในชื่อบทความแล้ว
ตอบว่า หากเรายึดถือว่า สิ่งทั้งปวงสมควรแก่เรา
ย่อมใกล้ข้างกิเลสอันเป็นไปด้วยความกำหนัด
ใกล้ข้างกิเลสเป็นเหตุเพลิดเพลิน ใกล้ข้างกิเลสเป็นเหตุยึดมั่น
แต่หากเรายึดถือว่า สิ่งทั้งปวงไม่สมควรแก่เรา
ย่อมใกล้ข้างธรรมไม่เป็นไปด้วยความกำหนัด
ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นเหตุเพลิดเพลิน ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นเหตุยึดมั่น
แต่การยึดถือแนวใดแนวหนึ่งดังกล่าวก็ตาม ก็เป็นการยึดถือทิฏฐิอย่างหนึ่ง
สิ่งที่สมควรทำก็คือ เจริญไตรสิกขาให้สมควรแก่ธรรม
เมื่อเห็นว่าขันธ์ ๕ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว
ย่อมไม่เห็นว่าขันธ์ ๕ เป็นเรา หรือมีเราในขันธ์ ๕ หรือมีเราในที่ไหน ๆ
เมื่อไม่มีเราเสียแล้ว ก็ย่อมไม่มีเรื่องว่าสิ่งทั้งหลายสมควรแก่เราหรือไม่