Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๓๒๑

ngodngam1 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

วันแห่งความรัก

 dhammajaree321

 

วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเป็นวันวาเลนไทน์หรือวันแห่งความรัก
หลายท่านก็คงได้เห็นบรรยากาศวันวาเลนไทน์ที่หลากหลาย
เช่น บางคนได้รับดอกไม้จากแฟนแล้วยิ้มร่าอารมณ์ดีทั้งวัน
บางคนแฟนไม่ส่งดอกไม้มาให้ก็อารมณ์ไม่ค่อยดี
บางคนก็เครียดเพราะโดนแฟนกดดันให้ส่งดอกไม้ให้
บางคนไม่มีแฟนแล้วก็อยากจะมีแฟนและได้ดอกไม้
บางคนก็เฉย ๆ ไม่ได้รู้สึกเป็นพิเศษอะไรกับวันวาเลนไทน์
โดยก็เห็นว่าไม่ได้แตกต่างอะไรจากวันอื่น ๆ เป็นต้น
ซึ่งก็เป็นบรรยากาศที่หลากหลายในวันแห่งความรักที่ผ่านไปแล้ว

บางท่านอาจเห็นว่าความรักจะนำมาซึ่งความสุข
แต่ตามพระธรรมคำสอนแล้ว ท่านสอนว่า “ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ผู้นั้นย่อมมีทุกข์”
โดยใน “วิสาขาสูตร” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย
ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต) เล่าว่า
ในสมัยหนึ่ง หลานคนหนึ่งซึ่งเป็นที่รักของนางวิสาขาได้ถึงแก่กรรม
นางวิสาขาจึงได้ไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “วิสาขา ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑๐๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๑๐๐
ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๙๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๙๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๘๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๘๐
ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๗๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๗๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๖๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๖๐
ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๕๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๕๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๔๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๔๐
ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๓๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๓๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๒๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๒๐
ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๑๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๙ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๙
ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๘ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๘ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๗ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๗
ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๖ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๖ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๕ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๕
ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๔ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๔ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๓ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๓
ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๒ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๒ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๑
ผู้ใดไม่มีสิ่งที่รัก ผู้นั้นก็ไม่มีทุกข์
เรากล่าวว่า ผู้นั้นไม่มีความโศก ปราศจากกิเลสดุจธุลี ไม่มีอุปายาส”
และได้ตรัสว่า “ความโศกก็ดี ความร่ำไรก็ดี ความทุกข์ก็ดี
มากมายหลายอย่างนี้มีอยู่ในโลก เพราะอาศัยสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก
เมื่อไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก
ความโศก ความร่ำไร และความทุกข์เหล่านี้ย่อมไม่มี
เพราะเหตุนั้นแล ผู้ใดไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักในโลกไหนๆ
ผู้นั้นเป็นผู้มีความสุข ปราศจากความโศก
เพราะเหตุนั้น ผู้ปรารถนาความไม่โศกอันปราศจากกิเลสดุจธุลี
ไม่พึงทำสัตว์หรือสังขารให้เป็นที่รักในโลกไหน ๆ”
http://www.84000.org/tipitaka/_mcu/v.php?B=25&A=4307&Z=4352&pagebreak=0

เหตุที่ตรัสว่า “ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ผู้นั้นย่อมมีทุกข์” นั้น
ขอแนะนำให้เราพิจารณาข้อความในคาถาธรรมบท ปิยวรรค
(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท) ดังนี้ว่า
“ในกาลไหน ๆ เพราะการไม่เห็นสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก
และการเห็นสัตว์หรือสังขารอันไม่เป็นที่รัก เป็นทุกข์
เพราะเหตุนั้น บุคคลไม่พึงทำสัตว์หรือสังขารให้เป็นที่รัก
เพราะการพลัดพรากจากสัตว์และสังขารอันเป็นที่รัก
ลามก กิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย
ย่อมไม่มีแก่บุคคลที่ไม่มีสัตว์และสังขารอันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก
ความโศกย่อมเกิดแต่ของที่รัก ภัยย่อมเกิดแต่ของที่รัก
ความโศกย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้พ้นวิเศษแล้วจากของที่รัก ภัยจักมีแต่ที่ไหน
ความโศกย่อมเกิดแต่ความรัก ภัยย่อมเกิดแต่ความรัก
ความโศกย่อมไม่มีแก่ผู้พ้นวิเศษแล้วจากความรัก ภัยจักมีแต่ที่ไหน”
http://www.84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=25&item=26&items=1&preline=0&pagebreak=0

เช่นนี้แล้ว การที่เรามีสิ่งที่รักหรือมีความรักก็ดี
สิ่งที่รักหรือมีความรักย่อมนำทุกข์มาให้
เพราะการพลัดพรากจากและการไม่เห็นสิ่งอันเป็นที่รัก ย่อมเป็นทุกข์
ซึ่งก็เป็นปกตินะครับที่เราจะรู้สึกห่วงใยหวงแหนในสิ่งที่รัก
และเป็นทุกข์เสียใจเมื่อพลัดพรากจากสิ่งที่รักนั้น
โดยถ้าหากไม่ต้องการเป็นทุกข์เพราะสัตว์และสังขารอันเป็นที่รักแล้ว
เราก็ไม่พึงทำให้สัตว์หรือสังขารให้เป็นที่รักครับ

ในเรื่องของความรักนั้น ไม่ได้มีแค่เฉพาะรักคนอื่นหรือรักสิ่งอื่นเท่านั้น
ความรักตนเองก็ถือเป็นความรักอย่างหนึ่งเหมือนกัน
บางคนอาจเคยได้ยินในภาพยนตร์หรือเพลงว่ารักใครยิ่งกว่าชีวิตตนเอง
แต่ตามพระธรรมคำสอนแล้ว ท่านทรงสอนว่า
“บุคคลค้นหาด้วยจิตตลอดทิศทั้งหมด ไม่ได้พบใครซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตน”
โดยใน “มัลลิกาสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค) เล่าว่า
ในสมัยหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงดำริว่า เราให้อิสริยยศอย่างใหญ่แก่
พระนางมัลลิการาชเทวีซึ่งเป็นธิดาของตระกูลที่เข็ญใจ
ถ้ากระไร เราจะควรถามนางว่าใครเป็นที่รักของเจ้า
พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงได้ตรัสกับพระนางมัลลิการาชเทวีว่า
“มัลลิกา ใครเล่าซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตน ย่อมมีแก่เธอหรือ”
พระนางมัลลิกาเทวีนั้นเป็นบัณฑิต เป็นอุปัฏฐายิกาของพระพุทธเจ้า
เป็นอุปัฏฐายิกาของพระสงฆ์ มีปัญญามาก
พระนางทรงดำริว่า เราไม่พึงเห็นแก่หน้าพระราชาในการตอบปัญหานี้
พระนางมัลลิกาจึงได้ทูลตอบว่า “ข้าแต่มหาราชเจ้า
ก็คนอื่นซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตน ย่อมไม่มีแก่หม่อมฉัน”
หลังจากนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จลงจากปราสาทเข้าไปเข้าเฝ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ แล้วได้กราบทูลเรื่องดังกล่าว
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว ได้ตรัสว่า
“บุคคลค้นหาด้วยจิตตลอดทิศทั้งหมด
ไม่ได้พบใครซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตนในที่ไหนๆ เลย
สัตว์ทั้งหลายเหล่าอื่นก็รักตนมากเช่นนั้นเหมือนกัน
ฉะนั้น ผู้รักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนสัตว์อื่น”
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=15&A=2395&Z=2425&pagebreak=0

บางท่านอาจจะเคยพบข่าวบางคนที่อกหักรักสลาย
แล้วก็ฆ่าตัวตายเพราะอกหักรักสลายนั้น
แล้วเข้าใจว่าเป็นการที่รักคนอื่นมากกว่าตนเอง
แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่นะครับ
เนื่องจากการฆ่าตัวตายเช่นนั้น ก็เหตุเพราะรักตนเองเช่นกัน
กล่าวคือ ตนเองได้ประสบเหตุอกหักรักสลายแล้ว
ทำให้ตนเองเป็นทุกข์มาก ทั้งที่ตนเองอยากจะมีความสุข
เมื่อยอมรับทุกข์ไม่ได้ จึงฆ่าตัวตาย ดังนี้ก็เพราะเหตุรักตนเองนั่นเอง

ในเมื่อเราเข้าใจแล้วว่า ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ผู้นั้นย่อมมีทุกข์
และคนอื่นซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตนเองย่อมไม่มีแล้ว
เราก็ไม่พึงไปยึดถือหรืออินกับบรรยากาศของวันแห่งความรัก
จนทำให้เราเป็นทุกข์ในวันดังกล่าวครับ
ส่วนสำหรับบางท่านที่โลกเป็นสีชมพูมีความสุขในวันดังกล่าว
ก็พึงสังวรแก่ตนเองครับว่า เมื่อมีสิ่งที่รักแล้ว ก็ย่อมจะมีทุกข์
เพื่อที่จะได้ไม่ทุกข์จนเกินไปเพราะสิ่งที่รักนั้น