Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๓๒๐

ngodngam1 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

 

อยู่กับปัจจุบัน 

 dhammajaree320

 

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้สนทนากับเพื่อนในไลน์กลุ่มหนึ่ง
โดยมีเพื่อนคนหนึ่งแนะนำเพื่อนอีกคนหนึ่งว่าให้ “อยู่กับปัจจุบัน”
ปรากฏว่าเพื่อนที่ได้รับคำแนะนำฟังไม่เข้าใจครับว่า
คำว่า “อยู่กับปัจจุบัน” หมายความว่าอย่างไร
ในคราวนี้ เราก็จะมาสนทนากันถึงคำว่า “อยู่กับปัจจุบัน” นะครับ

ในความหมายทั่ว ๆ ไปแล้ว คำว่า “อยู่กับปัจจุบัน” นั้น หมายถึงว่า
เราไม่หลงไปครุ่นคิดเรื่องในอดีต เพราะเรื่องเหล่านั้นผ่านไปแล้ว
และเราไม่หลงไปครุ่นคิดเรื่องในอนาคต เพราะเหล่านั้นยังมาไม่ถึง
แต่เราอยู่กับปัจจุบัน โดยสนใจและตั้งใจอยู่กับสิ่งที่ทำในเวลานั้น ๆ
ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าเรากำลังนั่งทำงานอยู่ที่ทำงาน
หากเราหลงไปคิดว่า เมื่อเช้านี้เราพูดจาไม่ดีกับคนที่บ้าน
และรู้สึกอยากจะขอโทษเขา อย่างนี้ก็คือหลงไปคิดเรื่องในอดีต
เพราะเรื่องเหล่านั้นได้จบลงไปแล้ว ในปัจจุบันนี้เรากำลังทำงานอยู่
ในอีกกรณีหนึ่ง หากเราหลงไปคิดว่า เมื่อทำงานเสร็จแล้ว
เราจะให้รางวัลตนเองด้วยการไปซื้อขนมมากิน
อย่างนี้ก็คือหลงไปคิดเรื่องในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง
เราไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน คือไม่ได้สนใจและตั้งใจอยู่กับการทำงานในปัจจุบัน

การหลงไปคิดเรื่องในอดีตนั้นมีข้อเสีย กล่าวคือ
ประการแรกคือเสียเวลา เพราะเรื่องในอดีตเป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้ว
เราย้อนเวลาไปแก้ไขอะไรไม่ได้ เราพึงนำเวลามาใช้ในปัจจุบันให้เกิดประโยชน์
ประการที่สองคือ ทำให้เราเสียสมาธิต่อสิ่งที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน
ประการที่สามคือ เรื่องที่หลงไปคิดในอดีตนั้น
อาจจะเป็นเรื่องที่ทำให้เราเศร้าใจ ไม่พอใจ หรือเกิดจิตอกุศลอื่น ๆ
ประการที่สี่ คือ หากเราเป็นนักภาวนา ย่อมเข้าใจว่า
ในขณะที่หลงไปคิดเรื่องในอดีตนั้นคือกำลังขาดสติแล้ว

การหลงไปคิดเรื่องในอนาคตก็มีข้อเสีย กล่าวคือ
ประการแรกคือเสียเวลา เพราะเรื่องในอนาคตเป็นสิ่งที่ยังมาไม่ถึง
เราพึงนำเวลามาใช้ในปัจจุบันให้เกิดประโยชน์
ประการที่สองคือ ทำให้เราเสียสมาธิต่อสิ่งที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน
ประการที่สามคือ เรื่องที่หลงไปคิดในอนาคตนั้น
อาจจะเป็นเรื่องที่ทำให้เราโลภ อยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้
ไม่พอใจโดยตีตนไปก่อนไข้ หรือเกิดจิตอกุศลอื่น ๆ
ประการที่สี่ คือ หากเราเป็นนักภาวนา ย่อมเข้าใจว่า
ในขณะที่หลงไปคิดเรื่องในอนาคตนั้นคือกำลังขาดสติแล้ว

ในแง่ของการปฏิบัติธรรมนั้น
คำว่า “อยู่กับปัจจุบัน” ก็เป็นการปฏิบัติธรรมนะครับ
ใน “ภัทเทกรัตตสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์)
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสดังนี้ว่า
บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง
สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว
และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง
ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้น ๆ ได้
บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนือง ๆ ให้ปรุโปร่ง
พึงทำความเพียรเสียในวันนี้ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง
เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชนั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย
พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้
มีความเพียรไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืนนั้นว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=7031&Z=7114&pagebreak=0

ใน “อานันทภัทเทกรัตตสูตร” “มหากัจจานภัทเทกรัตตสูตร” และ
“โลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์)
ก็ได้บรรยายไว้เช่นเดียวกัน
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=7115&Z=7222&pagebreak=0


http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=7223&Z=7493&pagebreak=0


http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=7494&Z=7622&pagebreak=0

คำว่า “ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน” หมายความว่า
บุคคลย่อมเห็นรูปโดยความเป็นอัตตาบ้าง เห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง
เห็นรูปในอัตตาบ้าง เห็นอัตตาในรูปบ้าง
ย่อมเห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตาบ้าง เห็นอัตตาว่ามีเวทนาบ้าง
เห็นเวทนาในอัตตาบ้าง เห็นอัตตาในเวทนาบ้าง
ย่อมเห็นสัญญาโดยความเป็นอัตตาบ้าง เห็นอัตตาว่ามีสัญญาบ้าง
เห็นสัญญาในอัตตาบ้าง เห็นอัตตาในสัญญาบ้าง
ย่อมเห็นสังขารโดยความเป็นอัตตาบ้าง เห็นอัตตาว่ามีสังขารบ้าง
เห็นสังขารในอัตตาบ้าง เห็นอัตตาในสังขารบ้าง
ย่อมเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง เห็นอัตตาว่ามีวิญญาณบ้าง
เห็นวิญญาณในอัตตาบ้าง เห็นอัตตาในวิญญาณบ้าง

ในทางกลับกัน คำว่า “ไม่ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน” หมายความว่า
บุคคลย่อมไม่เห็นรูปโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง
ไม่เห็นรูปในอัตตาบ้าง ไม่เห็นอัตตาในรูปบ้าง
ย่อมไม่เห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เห็นอัตตาว่ามีเวทนาบ้าง
ไม่เห็นเวทนาในอัตตาบ้าง ไม่เห็นอัตตาในเวทนาบ้าง
ย่อมไม่เห็นสัญญาโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เห็นอัตตาว่ามีสัญญาบ้าง
ไม่เห็นสัญญาในอัตตาบ้าง ไม่เห็นอัตตาในสัญญาบ้าง
ย่อมไม่เห็นสังขารโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เห็นอัตตาว่ามีสังขารบ้าง
ไม่เห็นสังขารในอัตตาบ้าง ไม่เห็นอัตตาในสังขารบ้าง
ย่อมไม่เห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เห็นอัตตาว่ามีวิญญาณบ้าง
ไม่เห็นวิญญาณในอัตตาบ้าง ไม่เห็นอัตตาในวิญญาณบ้าง

ดังนี้แล้ว ในแง่ของการปฏิบัติธรรมนั้น
คำว่า “อยู่กับปัจจุบัน” ย่อมหมายถึง
ไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว และไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง
และเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่น
กล่าวคือ ไม่เห็นขันธ์ห้าโดยความเป็นอัตตา ไม่เห็นอัตตาว่ามีขันธ์ห้า
ไม่เห็นขันธ์ห้าในอัตตา และไม่เห็นอัตตาในขันธ์ห้า
ซึ่งเป็นสิ่งที่พึงเจริญอยู่เนือง ๆ ครับ