Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๓๑๙

ngodngam1 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

ปัญหาเรื่องการตัดต้นโพธิ์

  dhammajaree319

 

เมื่อสัปดาห์ก่อน ได้มีญาติธรรมท่านหนึ่งถามผมเรื่องปัญหาการตัดต้นโพธิ์
โดยที่บ้านของเขาได้มีต้นโพธิ์ต้นใหญ่
ซึ่งกิ่งก้านได้แผ่ขยายไปกระทบตัวบ้าน
และรากก็จะออกไปนอกบ้านกระทบพื้นที่ถนนด้วย
จึงได้จ้างเจ้าหน้าที่มาตัดออกไป
เจ้าหน้าที่ได้แนะนำว่าให้นำน้ำยาล้างห้องน้ำมาเทรากด้วย
เพื่อทำลายรากให้ตาย ไม่เช่นนั้นแล้วเดี๋ยวต้นก็จะขึ้นมาใหม่
ซึ่งเจ้าหน้าที่เขามีประสบการณ์ว่า
รากต้นโพธิ์ต้นใหญ่ทำให้บ้าน และถนนภายนอกเสียหายได้
ต่อมา ญาติธรรมท่านนี้ได้ฟังท่านอื่นแนะนำว่า
การตัดหรือทำลายต้นโพธิ์จะเป็นบาปอกุศล และส่งผลร้ายแก่ผู้ทำเช่นนั้น
จึงสอบถามว่าเรื่องดังกล่าวเป็นจริงหรือไม่

ในเรื่องการตัดหรือทำลายต้นโพธิ์นี้ ใน “อรรถกถาพหุธาตกสูตร”
(พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์) ได้กล่าวว่า
“ถามว่า ต่อมา เมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว
ชนเหล่าใดทำลายเจดีย์ ทำลายต้นโพธิ์ ประทุษร้ายพระบรมธาตุ
กรรมอะไรจะเกิดแก่ชนเหล่านั้น?
ตอบว่า (การทำเช่นนั้น) เป็นกรรมหนัก เสมอด้วยอนันตริยกรรม
แต่การตัดกิ่งไม้โพธิ์ที่ขึ้นเบียดพระสถูปที่บรรจุพระธาตุหรือพระปฏิมาควรทำ
แม้ถ้าพวกนกจับที่กิ่งโพธิ์นั้นถ่ายอุจจาระรดพระเจดีย์ ก็ควรตัดเหมือนกัน
ก็เจดีย์ที่บรรจุพระสรีรธาตุสำคัญกว่าบริโภคเจดีย์
(เจดีย์ที่บรรจุเครื่องใช้สอยของพระพุทธเจ้า)
แม้รากโพธิ์ที่งอกออกไปทำลายพื้นที่ที่ตั้งเจดีย์ จะตัดทิ้งก็ควร

ส่วนกิ่งโพธิ์กิ่งใดขึ้นเบียดเรือนโพธิ์ จะตัดกิ่งโพธิ์นั้นเพื่อรักษาเรือน (โพธิ์) ไม่ควร
ด้วยว่า เรือนมีไว้เพื่อต้นโพธิ์ ไม่ใช่ต้นโพธิ์มีไว้เพื่อประโยชน์แก่เรือน
แม้ในเรือนอาสนะก็มีนัยนี้เหมือนกัน
ก็ในเรือนอาสนะใด เขาบรรจุพระบรมธาตุไว้
เพื่อจะรักษาเรือนอาสนะนั้น จะตัดกิ่งโพธิ์เสียก็ได้
เพื่อการบำรุงต้นโพธิ์จะตัดกิ่งที่ค้อมลง หรือที่ (เนื้อ) เสียออกไป ก็ควรเหมือนกัน
แม้บุญก็ได้ เหมือนในการปฏิบัติพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้า”
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=234

ในที่นี้ ขออธิบายคำว่า “อนันตริยกรรม” นะครับ
ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) อธิบายว่า
คำว่า “อนันตริยกรรม” หมายถึง กรรมหนัก,
กรรมที่เป็นบาปหนักที่สุด ตัดทางสวรรค์ ตัดทางนิพพาน,
กรรมที่ให้ผลคือ ความเดือดร้อนไม่เว้นระยะเลย มี ๕ อย่าง คือ
๑. มาตุฆาต คือฆ่ามารดา
๒. ปิตุฆาต คือฆ่าบิดา
๓. อรหันตฆาต คือฆ่าพระอรหันต์
๔. โลหิตุปบาท คือทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไป
๕. สังฆเภท คือทำสงฆ์ให้แตกกัน
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%CD%B9%D1%B9%B5%C3%D4%C2%A1%C3%C3%C1&original=1

“อนันตริยกรรม” นี้เป็นกรรมที่หนักเพียงไร?
ใน “อรรถกถาพหุธาตกสูตร” อธิบายว่า บุคคลที่ได้ทำอนันตริยกรรมแล้ว
บุคคลนั้นคิดว่า เราจะห้ามผลของกรรมนั้น
จึงได้สร้างสถูปทองประมาณเท่ามหาเจดีย์ ให้เต็มจักรวาลทั้งสิ้นก็ดี
ได้ถวายทานแก่พระสงฆ์ผู้นั่งเต็มจักรวาลทั้งสิ้นก็ดี
ได้เที่ยวไปไม่ปล่อยชายสังฆาฏิของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ดี
แต่เมื่อตายแล้ว ก็ย่อมเข้าถึงนรกอยู่ดี
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=234

ถ้าเราอ่านเนื้อความตรงนี้แล้ว อาจจะทำให้เราประหลาดใจนะครับว่า
การทำลายต้นโพธิ์เป็นกรรมหนัก เสมอด้วยฆ่าบิดามารดา เชียวหรือ?
ในเรื่องนี้ จะขออธิบาย ดังต่อไปนี้ครับว่า
สิ่งเคารพบูชาที่เตือนใจให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้านั้นแบ่งเป็น ๔ ประเภท
โดยในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้อธิบายว่า
คำว่า “เจดีย์ ๔” หมายถึง สิ่งที่ก่อขึ้น, สิ่งที่เคารพบูชา, สิ่งที่เตือนใจให้ระลึกถึง,
ในที่นี้หมายถึง สถานที่หรือสิ่งที่เคารพบูชาเนื่องด้วยพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธศาสนา
เรียกเต็มว่า สัมมาสัมพุทธเจดีย์ หรือ พุทธเจดีย์ ได้แก่
๑. ธาตุเจดีย์ คือเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
๒. บริโภคเจดีย์ คือ เจดีย์คือสิ่งหรือสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยทรงใช้สอย
อย่างแคบหมายถึงต้นโพธิ์ อย่างกว้างหมายถึงสังเวชนียสถาน ๔
ตลอดจนสิ่งทั้งปวงที่พระพุทธเจ้าเคยทรงบริโภค
เช่น บาตร จีวร และบริขารอื่นๆ เป็นต้น
๓. ธรรมเจดีย์ คือ เจดีย์บรรจุพระธรรม
เช่น บรรจุใบลานจารึกพุทธพจน์แสดงหลักปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น
๔. อุทเทสิกเจดีย์ คือเจดีย์สร้างอุทิศพระพุทธเจ้า ได้แก่ พระพุทธรูป
http://www.84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=141

ในเมื่อ “เจดีย์ ๔” เป็นสิ่งที่เคารพบูชาหรือสิ่งที่เตือนใจให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า
ใน “อรรถกถาพหุธาตกสูตร” จึงได้กล่าวว่า
เมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว
ชนเหล่าใดทำลายเจดีย์ ทำลายต้นโพธิ์ ประทุษร้ายพระบรมธาตุแล้ว
การทำเช่นนั้นเป็นกรรมหนัก เสมอด้วยอนันตริยกรรม

เราอาจมีข้อสงสัยว่า ใน “อรรถกถาพหุธาตกสูตร” กล่าวถึงแค่ “ต้นโพธิ์” เฉย ๆ
ไม่ได้กล่าวว่าจะต้องเป็นต้นศรีมหาโพธิ์เท่านั้น
จะถือว่าต้นโพธิ์ทุกต้นในโลกใบนี้เป็นบริโภคเจดีย์หรือไม่?
ใน “อรรถกถากาลิงคโพธิชาดก” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก) เล่าว่า
“พระอานนทเถระทูลถามพระตถาคตว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เจดีย์มีกี่อย่าง
พระศาสดาตรัสตอบว่า มีสามอย่าง อานนท์
พระอานนทเถระทูลถามว่า สามอย่างอะไรบ้าง พระเจ้าข้า
พระศาสดาตรัสว่า ธาตุเจดีย์ ๑ ปริโภคเจดีย์ ๑ อุทเทสิกเจดีย์ ๑
พระอานนทเถระทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระองค์เสด็จจาริกไป
ข้าพระองค์อาจกระทำเจดีย์ได้หรือ

พระศาสดาตรัสว่า อานนท์ สำหรับธาตุเจดีย์ไม่อาจทำได้
เพราะธาตุเจดีย์นั้น จะมีได้ในกาลที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว
สำหรับอุทเทสิกเจดีย์ ก็ไม่มีวัตถุปรากฏ เป็นเพียงเนื่องด้วยตถาคตเท่านั้น
ต้นมหาโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าอาศัยเป็นที่ตรัสรู้
ถึงพระพุทธเจ้าจะยังทรงพระชนม์อยู่ก็ตาม ปรินิพพานแล้วก็ตาม เป็นเจดีย์ได้เหมือนกัน”
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=1790&p=1
ซึ่งหลังจากนั้น พระอานนท์จึงได้ขอให้พระมหาโมคคัลลานเถระได้ช่วยนำ
ลูกโพธิ์สุกจากต้นศรีมหาโพธิ์มายังพระมหาวิหารเชตวัน
เพื่อปลูกไว้ที่พระมหาวิหารเชตวันเพื่อเป็นเจดีย์

สังเกตว่าใน “อรรถกถากาลิงคโพธิชาดก” นี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ต้นมหาโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าอาศัยเป็นที่ตรัสรู้
ถึงพระพุทธเจ้าจะยังทรงพระชนม์อยู่ก็ตาม
ปรินิพพานแล้วก็ตาม เป็นเจดีย์ได้เหมือนกัน”
ท่านไม่ได้ตรัสว่าต้นโพธิ์ทุกต้นในโลกเป็นเจดีย์ด้วยกันทั้งหมด
และพระอานนท์ท่านก็ไม่ได้ไปหาลูกโพธิ์สุกจากต้นโพธิ์ที่ไหนก็ได้
เพื่อมาปลูกที่พระมหาวิหารเชตวันนะครับ
แต่ท่านตั้งใจเลือกเฉพาะลูกโพธิ์สุกจากต้นศรีมหาโพธิ์มาปลูก
ฉะนั้นแล้ว ต้นโพธิ์ที่เป็น “บริโภคเจดีย์”
ได้แก่ สิ่งหรือสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยทรงใช้สอยนั้น
ควรจะหมายถึง ต้นศรีมหาโพธิ์ (รวมถึงต้นที่นำเมล็ดจากต้นศรีมหาโพธิ์มาปลูก)
ไม่ได้หมายถึงต้นโพธิ์ทุกต้นในโลกนี้
ในทำนองเดียวกัน หากพระพุทธเจ้าเคยทรงเคยใช้บาตรและจีวรแล้ว
ก็ไม่ได้แปลว่าบาตรทุกใบหรือจีวรทุกผืนในโลกนี้เป็น “บริโภคเจดีย์” ไปด้วย
แต่ต้องเป็นบาตรหรือจีวรที่พระพุทธเจ้าเคยทรงใช้เท่านั้น
จึงจะถือเป็น “บริโภคเจดีย์” ครับ

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า เจดีย์ มี ๔ ประเภทนะครับ
ไม่ได้มีเพียงแค่บริโภคเจดีย์เท่านั้น
แม้ว่า ต้นโพธิ์อื่น (ที่ไม่ใช่ต้นศรีมหาโพธิ์) จะไม่ใช่บริโภคเจดีย์ก็ตาม
ต้นโพธิ์นั้นก็อาจจะเข้าลักษณะเป็น “อุทเทสิกเจดีย์” ก็ได้
เช่น เราปลูกหรือใช้ต้นโพธิ์นั้นเป็นสิ่งระลึกถึงพระพุทธเจ้า
(ทำนองเดียวกันกับพระพุทธรูป)
เช่นนี้แล้ว ต้นโพธิ์ต้นนั้นก็ถือเป็น “อุทเทสิกเจดีย์ ได้เช่นกัน
แต่หากต้นโพธิ์อื่น (ที่ไม่ใช่ต้นศรีมหาโพธิ์) นั้นไม่เป็นสิ่งระลึกถึงพระพุทธเจ้า
ก็ย่อมจะไม่ถือเป็น “อุทเทสิกเจดีย์” ครับ

ถึงตรงนี้คงจะพอเข้าใจว่าทำไม “อรรถกถาพหุธาตกสูตร” ใช้ถ้อยคำว่า
“เป็นกรรมหนัก เสมอด้วยอนันตริยกรรม” นะครับ
เพราะเหตุว่าการทำลายเจดีย์ ก็คือการทำลายสิ่งที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้านั่นเอง

อย่างไรก็ดี ในส่วนของคำสอนในพุทธศาสนาเรานี้
เราพึงต้องเข้าใจว่า คำว่า “กรรม” ให้ดีนะครับ
ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้อธิบายว่า
คำว่า “กรรม” หมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา
คือทำด้วยความจงใจหรือจงใจทำ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม
เช่น ขุดหลุมพรางดักคนหรือสัตว์ให้ตกลงไปตาย เป็นกรรม
แต่ขุดบ่อน้ำไว้กินใช้ สัตว์ตกลงไปตายเอง ไม่เป็นกรรม
(แต่ถ้ารู้อยู่ว่าบ่อน้ำที่ตนขุดไว้อยู่ในที่ซึ่งคนจะพลัดตกได้ง่าย
แล้วปล่อยปละละเลย มีคนตกลงไปตาย ก็ไม่พ้นเป็นกรรม)
การกระทำที่ดีเรียกว่า “กรรมดี” ที่ชั่ว เรียกว่า “กรรมชั่ว”
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%A1%C3%C3%C1&original=1

นอกจากนี้แล้ว ใน “คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑” (พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต) กล่าวว่า
“ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วแต่ใจ”
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=25&A=268&Z=329&pagebreak=0

ในเมื่อธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า สำเร็จแล้วแต่ใจ
และคำว่า “กรรม” หมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา
คือทำด้วยความจงใจหรือจงใจทำแล้ว
ดังนั้น ในการกระทำ “กรรม” ต่าง ๆ
ไม่ว่าจะเป็น “กรรมหนัก” ใด ๆ หรือ “อนันตริยกรรม” ก็ตาม
ก็ย่อมจะต้องประกอบด้วย “ความจงใจหรือจงใจทำ”
ถ้าไม่มีความจงใจแล้ว ย่อมไม่เป็น “กรรม”
ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าเราขุดบ่อน้ำไว้กินใช้ โดยก่ออิฐกั้นไว้อย่างดี
แต่ต่อมา มีคนไปกระโดดบ่อตาย เช่นนี้ไม่เป็นกรรม
เพราะว่าเราไม่ได้มีเจตนาที่จะฆ่าคนนั้น
ในทางกลับกัน สมมุติว่าเราลืมวางของกินเอาไว้
ต่อมา มีชายคนหนึ่งหิวใกล้ตายได้นำไปกินทำให้รอดชีวิตได้
เช่นนี้ก็ไม่เป็นกรรม เพราะเราไม่มีเจตนาที่จะทำทานช่วยชีวิตคนนั้น

ดังนี้แล้วการทำลายเจดีย์ไม่ใช่ว่าจะเป็นอนันตริยกรรมเสมอไป
แต่จะต้องเป็นการทำลายซึ่งประกอบด้วยความจงใจจะทำลาย
ยกอย่างเช่น เจดีย์พระธาตุแห่งหนึ่งเก่าแก่ทรุดโทรม
ทางวัดจึงต้องการจัดสร้างเจดีย์พระธาตุใหม่
จึงได้รื้อทำลายเจดีย์พระธาตุเก่าลง และสร้างเจดีย์พระธาตุใหม่ขึ้นแทน
เช่นนี้แล้วย่อมไม่ถือเป็นอนันตริยกรรม
เพราะไม่ได้มีเจตนาที่จะทำลายเจดีย์พระธาตุ
แต่มีเจตนาที่จะทำนุบำรุงสร้างเจดีย์พระธาตุให้ดี เป็นต้น

ถึงตรงนี้ ก็จะขอตอบคำถามญาติธรรมในตอนต้นนะครับ
ในการตัดและทำลายรากต้นโพธิ์นี้ ก็พึงพิจารณาตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
๑. พิจารณาว่า เป็นต้นโพธิ์ที่ปลูก โดยกิ่งหรือเมล็ดจากต้นศรีมหาโพธิ์หรือไม่
ถ้าไม่ใช่ ต้นโพธิ์นั้นก็ไม่ใช่ “บริโภคเจดีย์”
๒. พิจารณาว่า เราเคยใช้ต้นโพธิ์นั้นเป็นสิ่งระลึกถึงพระพุทธเจ้าหรือไม่
เช่น เคยกราบไหว้ต้นโพธิ์นั้นในฐานะที่เป็นสิ่งระลึกถึงพระพุทธเจ้าหรือไม่
ถ้าไม่เคยเลย ต้นโพธิ์นั้นก็ไม่ใช่ “อุทเทสิกเจดีย์” ครับ
๓. ถ้าต้นโพธิ์นั้นไม่ใช่ “บริโภคเจดีย์” และ “อุทเทสิกเจดีย์” แล้ว
ก็ถือว่าเป็นต้นไม้ปกติเหมือนต้นไม้อื่น ๆ ทั่วไป ก็สามารถตัดและทำลายได้
๔. แต่หากต้นโพธิ์เป็น “บริโภคเจดีย์” หรือ “อุทเทสิกเจดีย์” แล้ว
(กล่าวคือ เป็นต้นโพธิ์ที่ปลูกโดยกิ่งหรือเมล็ดจากต้นศรีมหาโพธิ์ หรือ
เราเคยใช้ต้นโพธิ์นั้นเป็นสิ่งระลึกถึงพระพุทธเจ้ามาก่อน)
การตัดหรือทำลายต้นโพธิ์นั้นย่อมมีความสุ่มเสี่ยงที่เป็นกรรมหนักได้
ดังนั้นแล้ว ขอแนะนำให้ดำเนินการตามที่ “อรรถกถาพหุธาตกสูตร” กล่าวไว้
ว่า “การตัดกิ่งไม้โพธิ์ที่ขึ้นเบียดพระสถูปที่บรรจุพระธาตุหรือพระปฏิมาควรทำ”
หรือ “หากพวกนกจับที่กิ่งโพธิ์นั้นถ่ายอุจจาระรดพระเจดีย์ ก็ควรตัดเหมือนกัน”
ดังนั้นแล้ว หากเราในเรือนมีพระบรมสารีริกธาตุ หรือพระพุทธรูป
ก็น่าจะอนุโลมได้ว่าสามารตัดกิ่งไม้โพธิ์ที่ขึ้นเบียดเรือนได้

นอกจากนี้ หากรากโพธิ์จะออกไปทำลายถนน
ซึ่งทำให้ประชาชนและสาธารณะเดือดร้อนแล้ว
การทำลายรากต้นโพธิ์ในส่วนที่จะออกไปทำลายถนน
ก็ควรจะถือว่าสามารถทำได้เช่นกัน
เพราะไม่เช่นนั้น เราทราบอยู่แล้วว่า
รากต้นโพธิ์จะก่ออันตรายหรือความเดือดร้อนแก่บุคคลอื่น
แต่เราไม่ทำอะไร
เมื่อมีคนอื่นเป็นอันตรายหรือได้รับความเดือดร้อนนั้นแล้ว
ย่อมถือว่าเราผิดศีลได้ เพราะเราทราบดีอยู่แล้ว
การที่เราจะตัดรากหรือทำลายรากบางส่วนที่จะก่ออันตราย
เพื่อเป็นการรักษาศีล ย่อมเป็นสิ่งพึงกระทำครับ