Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๓๑๗

ngodngam1 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

ระวังในการเจรจา 

 

 dhammajaree317

 

เมื่อสัปดาห์ก่อน ได้มีข่าวน่าสลดใจเรื่องหนึ่งที่จังหวัดสมุทรสาคร
โดยในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีวัยรุ่นคนหนึ่งขับรถมอเตอร์ไซค์แต่งเสียงดัง
ชายคนหนึ่งอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน และมีลูกอายุ ๕ เดือน
ได้รับความเดือดร้อน เพราะว่าเสียงดังของรถมอเตอร์ไซค์แต่งนั้น
ทำให้ลูกน้อยตกใจตื่นขึ้นมาอยู่เสมอ ๆ
ชายคนนั้นจึงได้ไปสนทนากับวัยรุ่นที่ขับมอเตอร์ไซค์แต่งเสียงดัง
โดยขอให้วัยรุ่นนั้นขับรถเข้าออกเสียงเบา ๆ เพื่อไม่ทำให้เด็กตกใจตื่น
แต่ว่าสนทนากันไปแล้ว ก็เกิดโต้เถียงทะเลาะกัน
และวัยรุ่นนั้นได้ชักปืนออกมายิงชายคนนั้นหลายนัดจนถึงแก่ความตาย
โดยชายนั้นก็เป็นเสาหลักที่หาเลี้ยงครอบครัวเสียด้วย

ในปัจจุบัน หลายท่านคงได้เห็นข่าวทำนองนี้อยู่เนือง ๆ
ว่าเหตุเพียงเล็กน้อย เช่น ขับรถปาดหน้ากัน หรือตักเตือนกันในบางเรื่อง
ก็ทำให้คนชักปืนยิงฆ่ากัน หรือทำร้ายกันได้
ฉะนั้นแล้ว ยุคปัจจุบันนี้เป็นยุคที่อยู่ไม่ง่ายนะครับ
การที่เราจะไปเจรจาอะไรกับใครควรต้องระมัดระวัง

ธรรมะที่ขอแนะนำให้นำมาพิจารณาก่อนเจรจากับคนอื่น ได้แก่
“สัปปุริสธรรม” แปลว่า ธรรมของสัตบุรุษ หรือธรรมของคนดี
หรือธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ อันประกอบด้วย ๗ ประการ คือ
๑. ธัมมัญญุตา แปลว่า รู้หลักหรือรู้จักเหตุ
๒. อัตถัญญุตา แปลว่า รู้ความมุ่งหมายหรือรู้จักผล
๓. อัตตัญญุตา แปลว่า รู้จักตน
๔. มัตตัญญุตา แปลว่า รู้จักประมาณ
๕. กาลัญญุตา แปลว่า รู้จักกาล
๖. ปริสัญญุตา แปลว่า รู้จักชุมชน
๗. ปุคคลัญญุตา แปลว่า รู้จักบุคคล
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%CA%D1%BB%BB%D8%C3%D4%CA%B8%C3%C3%C1&original=1

สัปปุริสธรรม ๗ ประการนี้ เป็นธรรมที่สำคัญ
และสามารถนำมาใช้ได้ในทุกสถานการณ์
ยกตัวอย่างกรณีตามข่าวเรื่องวัยรุ่นขับรถมอเตอร์ไซค์แต่งเสียงดังนั้น
หากเราจะไปเจรจากับวัยรุ่นคนนี้แล้ว
ในเรื่อง “ปุคคลัญญุตา” คือ รู้จักบุคคล
เราพึงสืบทราบข้อมูลก่อนว่าวัยรุ่นคนนี้เป็นอย่างไร
ถ้าเราทราบว่าเขาเป็นคนพกปืน เราก็อาจจะเลี่ยงไม่ไปเจรจาด้วย
แต่อาจจะเลี่ยงไปเจรจากับพ่อแม่ของเขาแทน
หรือถ้าเราทราบว่าเป็นคนที่คุยไม่รู้เรื่องและไม่ฟังใคร
เราก็อาจจะไม่เสียเวลาไปเจรจาด้วย
และหาวิธีการอื่นในการแก้ไขปัญหาแทน

การเจรจากับคนพาลนั้น เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังให้มาก
โดยใน “จินตาสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต)
สอนว่า คนพาลในโลกนี้ ย่อมเป็นผู้คิดเรื่องที่คิดชั่ว ๑
พูดคำที่พูดชั่ว ๑ ทำกรรมที่ทำชั่ว ๑
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=20&A=2668&Z=2689&pagebreak=0
ใน “อัจจยสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต)
สอนว่า บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ พึงทราบว่าเป็นคนพาล
คือ ไม่เห็นโทษโดยความเป็นโทษ ๑
เห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้ว แต่ไม่ทำคืนตามธรรม ๑
เมื่อผู้อื่นชี้โทษอยู่ ไม่รับรู้ตามธรรม ๑
บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล พึงทราบว่าเป็นคนพาล
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=20&A=2690&Z=2699&pagebreak=0
ใน “สัพยาปัชชสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต)
สอนว่า บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ พึงทราบว่าเป็นคนพาล
คือ กายกรรมที่เป็นการเบียดเบียน ๑ วจีกรรมที่เป็นการเบียดเบียน ๑
มโนกรรมที่เป็นการเบียดเบียน ๑
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=20&A=2729&Z=2742&pagebreak=0

หากเราพิจารณาเรื่อง “ปุคคลัญญุตา” คือ รู้จักบุคคล แม้เพียงข้อเดียวก็ตาม
เมื่อเราทราบว่า บุคคลที่เราจะไปเจรจาด้วยเป็นคนพาลแล้ว
ซึ่งคนพาลย่อมไม่เห็นโทษโดยความเป็นโทษ
และแม้คนอื่นจะชี้โทษอยู่ ก็ย่อมไม่รับรู้
ในขณะที่เขาก็มีแต่จะคิด พูดและทำชั่ว หรือเบียดเบียนผู้อื่น
ดังนั้น เราอาจจะเลือกไม่ไปเจรจาด้วยก็ได้ และอาจจะเลือกวิธีการอื่นแทน
ซึ่งก็ย่อมจะไม่ทำให้เราได้รับอันตราย

นอกจากนี้ หากเราพิจารณาธรรม “อัตตัญญุตา” คือ รู้จักตน แล้ว
เราอาจพิจารณาว่าเราเองมีความสามารถไปสอนหรือเตือนเขาได้ไหม
สมมุติเราทราบว่าพ่อแม่เขาเองก็สอนเขาไม่ได้และเตือนเขาไม่ได้
คนอื่น ๆ ในหมู่บ้านก็เตือนเขาไม่ได้
แล้วเรามีความสามารถพิเศษกว่าอย่างไรที่จะเตือนเขาได้ เป็นต้น

โดยสรุปแล้ว ยุคปัจจุบันนี้เป็นยุคที่อยู่ไม่ง่ายนะครับ
เราพึงต้องระมัดระวังในการที่จะไปเจรจาอะไรกับใคร
เพราะไม่แน่ว่าคนที่เราไปเจรจาด้วยอาจคนใจร้อนที่พกปืนก็ได้
ดังนั้นแล้ว เราพึงพิจารณาใช้สัปปุริสธรรม ๗ ประการอยู่เสมอ
ซึ่งเมื่อเราประพฤติธรรมด้วยกาย วาจา และใจแล้ว ธรรมก็จะรักษาเราครับ