Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๓๑๓

ngodngam1 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

 

ศีล ๘ และ อาชีวัฏฐมกศีล


 dhammajaree313

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้เห็นคำถามญาติธรรมท่านหนึ่งว่า
ระหว่าง “ศีล ๘” และ “อาชีวัฏฐมกศีล” ถือศีลอย่างไหนจะได้บุญมากกว่า
ในเรื่องนี้ ก่อนอื่นเรามาพิจารณาว่า ศีลทั้งสองอย่างนี้คืออะไร
“ศีล ๘” ประกอบด้วย
๑. เว้นจากการทำลายชีวิต
๒. เว้นจากการถือเอาของที่เขามิได้ให้
๓. เว้นจากร่วมประเวณี
๔. เว้นจากการพูดเท็จ
๕. เว้นจากของเมา คือ สุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
๖. เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล
๗. เว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี ดูการเล่นอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์
การทัดทรงดอกไม้ ของหอมและเครื่องลูบไล้ เครื่องประดับตกแต่ง
๘. เว้นจากที่นอนอันสูงใหญ่ หรูหราฟุ่มเฟือย
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%C8%D5%C5+%F8&original=1

สังเกตว่าข้อ ๓ ในศีล ๘ นั้น จะแตกต่างในศีล ๕ กล่าวคือ
ข้อ ๓ ในศีล ๕ ให้ “เว้นจากการประพฤติผิดในกาม”
หมายความว่า ยังสามารถร่วมประเวณีกับสามีภรรยาตนเองได้
แต่ห้ามไม่ให้ร่วมประเวณีกับบุคคลที่มิใช่สามีภรรยาตนเอง
แต่ข้อ ๓ ในศีล ๘ นั้น ให้ “เว้นจากการร่วมประเวณี”
กล่าวคือไม่สามารถร่วมประเวณีได้ แม้ว่ากับสามีภรรยาตนเองก็ตาม
ส่วนข้อ ๑ ข้อ ๒ ข้อ ๔ และข้อ ๕ ในศีล ๕ และในศีล ๘ นั้นเหมือนกัน

“อาชีวัฏฐมกศีล” ประกอบด้วย ๘ ข้อดังต่อไปนี้
๑. เว้นจากการทำลายชีวิต
๒. เว้นจากการถือเอาของที่เขามิได้ให้
๓. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๔. เว้นจากการพูดเท็จ
๕. เว้นจากการพูดส่อเสียด
๖. เว้นจากการพูดคำหยาบ
๗. เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
๘. เว้นจากอาชีพที่ผิด (กล่าวคือ ประกอบสัมมาอาชีวะ)
http://www.84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=241
คำว่า “สัมมาอาชีวะ” หมายถึง เลี้ยงชีวิตชอบ
คือเว้นจากเลี้ยงชีวิตโดยทางที่ผิด เช่น โกงเขาหลอกลวง สอพลอ
บีบบังคับขู่เข็ญ ค้ามนุษย์ ค้ายาเสพติด ค้ายาพิษ เป็นต้น
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%CA%D1%C1%C1%D2%CD%D2%AA%D5%C7%D0&original=1

สังเกตว่าองค์ของ “ศีล ๘” และ “อาชีวัฏฐมกศีล” เหมือนกัน ๓ ข้อ
ได้แก่ ๑. เว้นจากการทำลายชีวิต ๒. เว้นจากการถือเอาของที่เขามิได้ให้
และ ๓. เว้นจากการพูดเท็จ
แต่แตกต่างกัน ๕ ข้อ กล่าวคือ ใน “ศีล ๘” ให้เว้นจากร่วมประเวณี
เว้นจากของเมา เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล
เว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี ดูการเล่น
การใช้ของหอม เครื่องประดับตกแต่ง และเว้นจากที่นอนอันสูงใหญ่ หรูหรา
แต่ใน “อาชีวัฏฐมกศีล” เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
การพูดส่อเสียด การพูดคำหยาบ การพูดเพ้อเจ้อ การประกอบอาชีพที่ผิด

ในความแตกต่างกันนี้ หากถามว่าถืออย่างไหนจะได้บุญมากกว่า
เห็นว่า ไม่ใช่ประเด็นที่ควรจะให้ความสำคัญนะครับ
โดยเหตุที่ตั้งคำถามนี้ เพราะกำลังจะเลือกว่าจะถือศีลอย่างไหน
ถ้าศีลอย่างไหนได้บุญมากกว่า ก็จะถือศีลที่ได้บุญมากกว่านั้น
ซึ่งการพิจารณาเลือกศีลเกินกว่าศีล ๕ มาถือนั้น
ไม่ควรพิจารณาว่าจะได้บุญมากน้อยเป็นสำคัญ
เพราะว่าสภาพของแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน
แต่ละคนจึงควรที่จะพิจารณาตนเองมากกว่าว่า
เรื่องไหนที่เหมาะสมกับตนเอง
และเป็นประโยชน์แก่การประพฤติธรรมแก่ตนเองมากกว่า

การถือศีลย่อมจะต้องพิจารณาความเหมาะสมแก่ตนเอง
ในเรื่องของศีล ๕ นั้นเป็นเรื่องพื้นฐานที่เราต้องถือให้ครบถ้วน
แต่ในส่วนที่จะถือศีลมากกว่าศีล ๕ นั้นควรต้องพิจารณาว่า
เหมาะสมกับตนเองหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น
นายแดงมีอาชีพเป็นดารานักแสดง แต่จะถือศีล ๘
ซึ่งห้ามใช้ของหอม และเครื่องประดับตกแต่ง อย่างนี้ก็ไม่เหมาะแก่ตนเอง
หรือนายเขียวมีอาชีพเป็นดีเจ แต่จะถือศีล ๘
ซึ่งห้ามการขับร้อง บรรเลงดนตรี ดูการเล่น อย่างนี้ก็ไม่เหมาะแก่ตนเอง
หรือนายดำมีอาชีพขับแท็กซี่เวลากลางคืน แต่จะถือศีล ๘
ซึ่งห้ามบริโภคอาหารในเวลาวิกาล อย่างนี้ก็ไม่เหมาะแก่ตนเอง
หรือนายเหลืองมีอาชีพทำร้านฟาร์มเลี้ยงสัตว์ขายให้โรงฆ่า
หรือทำร้านอาหาร ซึ่งในร้านอาหารมีการขายสุรา
แต่จะถืออาชีวัฏฐมกศีล ซึ่งห้ามมิจฉาอาชีวะ
อย่างนี้ก็ไม่เหมาะสมแก่ตนเอง
กลายเป็นว่ามุ่งถือศีลเกินกว่าศีล ๕ เพราะต้องการได้บุญ
แต่กลับไปเลือกถือศีลที่ตนเองปฏิบัติไม่ได้
ย่อมกลายเป็นว่าเราทำผิดศีลข้อที่ถือเกิน (และทำให้จิตเศร้าหมองเอง)
กรณีก็ย่อมจะเป็นโทษมากกว่าเป็นประโยชน์
ฉะนั้นแล้ว การเลือกถือศีลอื่น ๆ ที่เกินกว่าศีล ๕ นี้
ไม่ควรจะเน้นความสำคัญว่าต้องการได้บุญมากแค่ไหน
แต่พึงพิจารณาความเหมาะสมเป็นสำคัญ
เพราะหากถือแล้ว ทำไม่ได้จริง
เท่ากับว่าหาเรื่องให้ตนเองประพฤติผิดศีลที่ตนเองถือเกินนั้นเอง

อีกประการหนึ่งที่เราควรพิจารณาคือ
แม้ว่าเราไม่เน้นให้ความสำคัญว่าจะได้บุญแค่ไหนก็ตาม
แต่เราก็ควรพิจารณาให้ความสำคัญว่า
ถ้าหากเราไม่งดเว้นแล้ว จะเป็นบาปอกุศลหรือไม่
เช่น หากเราพูดส่อเสียด พูดคำหยาบ หรือพูดเพ้อเจ้อ
ย่อมถือว่าเป็นอกุศลกรรมบถ หรือเป็นบาป
หรือหากเราประกอบอาชีพที่ผิด หรือมิจฉาอาชีวะ
ก็ย่อมถือว่าเป็นการก่อบาปด้วย
ในทางกลับกัน หากเรา (ซึ่งเป็นฆราวาส) ไปขับร้อง บรรเลงดนตรี
ใช้ของหอม หรือเครื่องประดับตกแต่ง หรือนอนนอนที่นอนอันสูงใหญ่ก็ตาม
ไม่ได้ถือว่าเป็นบาปนะครับ เพราะไม่ได้ผิดศีล ๕
และก็ไม่ได้เป็นการทำอกุศลกรรมบถด้วย

ดังนี้ หากสมมุติว่าบางท่านเข้าใจว่าถือ “ศีล ๘” จะได้บุญมากกว่า
แล้วก็เลยมุ่งไปถือศีล ๘ ก็ไม่ได้แปลว่า จะสมควรพูดส่อเสียด
พูดคำหยาบ หรือพูดเพ้อเจ้อ หรือประกอบมิจฉาอาชีวะ
(ซึ่งห้ามใน “อาชีวัฏฐมกศีล”) ได้นะครับ
หรือในทางกลับกัน หากบางท่านเข้าใจว่า
ถือ “อาชีวัฏฐมกศีล” จะได้บุญมากกว่า แล้วก็เลยมุ่งถือ “อาชีวัฏฐมกศีล”
ก็ไม่ได้แปลว่าจะสมควรดื่มของเมา (ซึ่งห้ามในศีล ๘) ได้ครับ

เมื่อเข้าใจเช่นนี้แล้ว ประเด็นที่เราควรให้ความสำคัญคือ
ศีลที่เกินกว่าศีล ๕ นั้น อย่างไหนที่เหมาะสมแก่เราในเวลานั้น
ถ้าเราตั้งใจจะถือศีลเพื่อเป็นศีลสิกขา (ในไตรสิกขา) แล้ว
โดยขั้นต่ำ เราก็ควรจะต้องมีศีล ๕ ให้ครบ
ส่วนศีลในเรื่องอื่น ๆ ที่ถือเกินกว่านั้น
ก็ควรพิจารณาเลือกเฉพาะข้อที่เหมาะสม และเป็นประโยชน์แก่ตนเอง
โดยในส่วนของอกุศลกรรมบถ (ในส่วนที่เกินกว่าศีล ๕) หรือมิจฉาอาชีวะนั้น
แม้ว่าบางข้อจะไม่ใช่ศีลที่เราถืออยู่ก็ตาม
แต่เราก็พึงหลีกเลี่ยงหรืองดเว้นโดยสภาพอยู่แล้วครับ