Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๓๑๒

ngodngam1 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

 

บุญกฐิน

 dhammajaree312

 

วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๑ ที่จะถึงนี้ เป็นวันปวารณาออกพรรษา
ซึ่งช่วงระยะเวลา ๑ เดือนหลังจากนั้นก็จะเป็นช่วงเวลาถวายกฐิน
ตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้อธิบาย
คำว่า “กฐิน” ตามศัพท์แปลว่า ไม้สะดึง คือ ไม้แบบสำหรับขึงเพื่อตัดเย็บจีวร
ในทางพระวินัยใช้เป็นชื่อเรียกสังฆกรรมอย่างหนึ่ง
ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่สงฆ์ผู้จำพรรษาแล้ว
เพื่อแสดงออกซึ่งความสามัคคีของภิกษุที่ได้จำพรรษาอยู่ร่วมกัน
โดยให้พวกเธอพร้อมใจกันยกมอบผ้าผืนหนึ่งที่เกิดขึ้นแก่สงฆ์
ให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในหมู่พวกเธอ ที่เป็นผู้มีคุณสมบัติสมควร
แล้วภิกษุรูปนั้นนำผ้าที่ได้รับมอบไปทำเป็นจีวร
(จะทำเป็นอันตรวาสก หรืออุตตราสงค์ หรือสังฆาฏิก็ได้
และพวกเธอทั้งหมดจะต้องช่วยภิกษุนั้นทำ)

ครั้นทำเสร็จแล้ว ภิกษุรูปนั้นแจ้งให้ที่ประชุมสงฆ์
ซึ่งได้มอบผ้าแก่เธอนั้นทราบเพื่ออนุโมทนา
เมื่อสงฆ์คือที่ประชุมแห่งภิกษุเหล่านั้นอนุโมทนาแล้ว
ก็ทำให้พวกเธอได้สิทธิพิเศษที่จะขยายเขตทำจีวรให้ยาวออกไป
(เขตทำจีวรตามปกติ ถึงกลางเดือน ๑๒ ขยายต่อออกไปถึงกลางเดือน ๔)
ผ้าที่สงฆ์ยกมอบให้แก่ภิกษุรูปหนึ่งนั้น เรียกว่า ผ้ากฐิน (กฐินทุสสะ)
สงฆ์ผู้ประกอบกฐินกรรมต้องมีจำนวนภิกษุอย่างน้อย ๕ รูป
ระยะเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ประกอบกฐินกรรมได้
มีเพียง ๑ เดือน ต่อจากสิ้นสุดการจำพรรษา เรียกว่า เขตกฐิน
คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒

คำว่า “กฐินทาน” แปลว่า การทอดกฐิน, การถวายผ้ากฐิน
คือการที่คฤหัสถ์ผู้ศรัทธาหรือแม้ภิกษุสามเณร
นำผ้าไปถวายแก่สงฆ์ผู้จำพรรษาแล้ว ณ วัดใดวัดหนึ่ง เพื่อทำเป็นผ้ากฐิน
เรียกสามัญว่า ทอดกฐิน (นอกจากผ้ากฐินแล้ว
ปัจจุบันนิยมมีของถวายอื่น ๆ อีกด้วยจำนวนมาก เรียกว่า บริวารกฐิน)

คำว่า “ผ้ากฐิน” แปลว่า ผ้าผืนหนึ่งที่ใช้เป็นองค์กฐินสำหรับกราน
แต่บางทีพูดคลุมๆ หมายถึงผ้าทั้งหมดที่ถวายพระในพิธีทอดกฐิน,
เพื่อกันความสับสน จึงเรียกแยกเป็นองค์กฐิน หรือผ้าองค์กฐิน อย่างหนึ่ง
กับผ้าบริวารหรือผ้าบริวารกฐิน อีกอย่างหนึ่ง

คำว่า “กรานกฐิน” แปลว่า ขึงไม้สะดึง
คือเอาผ้าที่จะเย็บเป็นจีวรเข้าขึงที่ไม้สะดึง เย็บเสร็จแล้ว
บอกแก่ภิกษุทั้งหลายผู้ร่วมใจกันยกผ้าให้ในนามของสงฆ์เพื่ออนุโมทนา
ภิกษุผู้เย็บจีวรเช่นนั้นเรียกว่า ผู้กราน
พิธีทำในบัดนี้คือ ภิกษุซึ่งจำพรรษาครบ ๓ เดือนในวัดเดียวกัน
(ต้องมีจำนวน ๕ รูปขึ้นไป) ประชุมกันในอุโบสถ
พร้อมใจกันยกผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปหนึ่งในหมู่พวกเธอ
ภิกษุรูปนั้นทำกิจตั้งแต่ ซัก กะ ตัด เย็บ ย้อม ให้เสร็จในวันนั้น
ทำพินทุกัปปะอธิษฐานเป็นจีวรครองผืนใดผืนหนึ่งในไตรจีวร
แล้วบอกแก่ภิกษุสงฆ์ผู้ยกผ้าให้ เพื่ออนุโมทนา
และภิกษุสงฆ์นั้นได้อนุโมทนาแล้ว เรียกว่า กรานกฐิน
ถ้าผ้ากฐินเป็นจีวรสำเร็จรูป กิจที่จะต้อง ซัก กะ ตัด เย็บย้อม ก็ไม่มี
(กราน เป็นภาษาเขมร แปลว่า ขึง คือทำให้ตึง
กฐิน เป็นภาษาบาลี แปลว่า ไม้สะดึง
กรานกฐินก็คือขึงไม้สะดึง คือเอาผ้าที่จะเย็บเป็นจีวรเข้าขึงที่ไม้สะดึง)
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%A1%B0%D4%B9&original=1

สำหรับประวัติของกฐินนั้น ใน “กฐินขันธกะ” (พระวินัยปิฎก มหาวรรค)
เล่าว่า ในสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน
พระนครสาวัตถี ในครั้งนั้น ภิกษุปาไฐยรัฐจำนวน ๓๐ รูป
ล้วนถืออารัญญิกธุดงค์ บิณฑปาติกธุดงค์ และเตจีวริกธุดงค์
เดินทางไปพระนครสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจวนถึงวันเข้าพรรษา
และไม่สามารถจะเดินทางไปถึงในพระนครสาวัตถี ให้ทันวันเข้าพรรษา
จึงจำพรรษา ณ เมืองสาเกต ในระหว่างทาง
ภิกษุเหล่านั้นจำพรรษามีใจรัญจวนว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ใกล้ ๆ เรา
ระยะทางห่างเพียง ๖ โยชน์ แต่พวกเราก็ไม่ได้เฝ้าพระองค์

ครั้นล่วงไตรมาส ภิกษุเหล่านั้นออกพรรษาทำปวารณาเสร็จแล้ว
เมื่อฝนยังตกชุก พื้นภูมิภาคเต็มไปด้วยน้ำ เป็นหล่มเลน
มีจีวรชุ่มชื้นด้วยน้ำ ลำบากกาย เดินทางไปถึงพระนครสาวัตถี พระวิหารเชตวัน
เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ในครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า
ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอยังพอทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ
พวกเธอเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน
จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ?

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า พวกข้าพระพุทธเจ้ายังพอทนได้
พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้ พระพุทธเจ้าข้า
อนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน
จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต พระพุทธเจ้าข้า
พวกข้าพระพุทธเจ้าในชุมนุมนี้เป็นภิกษุปาไฐยรัฐจำนวน ๓๐ รูป
เดินทางมาพระนครสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจวนถึงวันเข้าพรรษา
ไม่สามารถจะเดินทางมาในพระนครสาวัตถีให้ทันวันเข้าพรรษา
จึงจำพรรษา ณ เมืองสาเกต ในระหว่างทาง
พวกข้าพระพุทธเจ้านั้นจำพรรษามีใจรัญจวนว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ใกล้ ๆ เรา ระยะทางห่างเพียง ๖ โยชน์
แต่พวกเราก็ไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นล่วงไตรมาส
พวกข้าพระพุทธเจ้าออกพรรษาทำปวารณาเสร็จแล้ว
เมื่อฝนยังตกชุก พื้นภูมิภาคเต็มไปด้วยน้ำ เป็นหล่มเลน
มีจีวรชุ่มชื้นด้วยน้ำ ลำบากกาย เดินทางมา พระพุทธเจ้าข้า.

ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น
ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาแล้วได้กรานกฐิน
พวกเธอผู้ได้กรานกฐินแล้ว จักได้อานิสงส์ ๕ ประการ คือ
๑. เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา
๒. ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ
๓. ฉันคณะโภชน์ได้
๔. ทรงอติเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา
๕. จีวรอันเกิดขึ้น ณ ที่นั้นจักได้แก่พวกเธอ
ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๕ ประการนี้ จักได้แก่เธอทั้งหลายผู้ได้กรานกฐินแล้ว

ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงกรานกฐินอย่างนี้ คือ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ
พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผ้ากฐินผืนนี้เกิดแล้วแก่สงฆ์
ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว
สงฆ์พึงให้ผ้ากฐินผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน นี้เป็นญัตติ
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผ้ากฐินผืนนี้เกิดแล้วแก่สงฆ์
สงฆ์ให้ผ้ากฐินผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้เพื่อกรานกฐิน
การให้ผ้ากฐินผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน
ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
ผ้ากฐินผืนนี้ สงฆ์ให้แล้วแก่ภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน
ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=5&A=2648&w=%A1%B0%D4%B9

สำหรับอานิสงส์ของ “กฐิน” นั้น
“กฐิน” ถือเป็น “กาลทาน” ประเภทหนึ่ง
ซึ่งคำว่า “กาลทาน” แปลว่า ทานที่ให้ตามกาล,
ทานที่ให้ได้เป็นครั้งคราวภายในระยะเวลาที่กำหนด ไม่ใช่ให้ได้ตลอดเวลา
เช่น การถวายผ้ากฐิน การถวายผ้าอาบน้ำฝน เป็นต้น
ซึ่งทายกจะถวายได้ตามกำหนดเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตเท่านั้น
ก่อนหรือเลยเขตกำหนดไปทำไม่ได้
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%A1%D2%C5%B7%D2%B9&original=1

ใน “กาลทานสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต)
ได้สอนเรื่องกาลทานไว้ ดังนี้
“ภิกษุทั้งหลาย กาลทาน ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ
ทายกย่อมให้ทานแก่ผู้มาสู่ถิ่นของตน ๑
ทายกย่อมให้ทานแก่ผู้เตรียมจะไป ๑
ทายกย่อมให้ทานแก่ผู้เป็นไข้ ๑
ทายกย่อมให้ทานในสมัยข้าวแพง ๑
ทายกย่อมให้ข้าวอย่างดีและผลไม้ใหม่แก่ผู้มีศีล ๑
ภิกษุทั้งหลายกาลทาน ๕ ประการนี้แล

ผู้มีปัญญา รู้ความประสงค์ ปราศจากความตระหนี่
ย่อมให้ทานในกาลที่ควรให้ เพราะผู้ให้ทานตามกาลในพระอริยเจ้าทั้งหลาย
ผู้ปฏิบัติซื่อตรง ผู้มีใจคงที่ เป็นผู้มีใจผ่องใส ทักขิณาทานจึงจะมีผลไพบูลย์
ชนเหล่าใดย่อมอนุโมทนา หรือช่วยเหลือในทักขิณาทานนั้น
ทักขิณาทานนั้นย่อมไม่มีผลบกพร่อง เพราะการอนุโมทนาหรือการช่วยเหลือนั้น
แม้พวกที่อนุโมทนาหรือช่วยเหลือ ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งบุญ
เพราะฉะนั้น ผู้มีจิตไม่ท้อถอยจึงควรให้ทานในเขตที่มีผลมาก
บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในปรโลก”
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=22&A=900&Z=915&pagebreak=0

ในเรื่องของ “กฐิน” นี้ มีข้อสังเกตว่าในสมัยพุทธกาลนั้น
“กฐิน” เป็นเรื่องของที่เน้นการถวายผ้ากฐินแก่สงฆ์
แล้วสงฆ์นำผ้ากฐินมากราน และมีญัตติมอบให้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง
ในแต่สมัยปัจจุบันนี้ มักจะมุ่งเน้นในเรื่องของบริวารกฐิน
เพื่อนำบริวารกฐินไปทำนุบำรุงวัดหรือสร้างสิ่งต่าง ๆ ภายในวัด
อย่างไรก็ดี ในการร่วมทำบุญ “บริวารกฐิน” นี้ก็มีมาแต่อดีตแล้ว
เช่น เรื่องนายติณณปาละได้ถวายผ้านุ่งตนเอง
เป็นบริวารกฐินแด่ภิกษุสงฆ์ ในสมัยของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า
ซึ่งก็ถือเป็นสังฆทาน และกาลทานที่ได้อานิสงส์เช่นกัน
http://www.84000.org/anisong/12.html

ในปัจจุบันนี้ การร่วมทำบุญบริวารกฐินทำได้สะดวกมากขึ้น
แม้ว่าเราจะไม่ได้ไปร่วมงานกฐินที่วัด ในวันงานกฐินก็ตาม
เราก็สามารถร่วมทำทำบุญบริวารกฐินได้ อย่างเช่น
ในช่วงเวลานี้ บางวัดก็จะเริ่มวางกล่องทำบุญ หรือวางต้นโฟม
หรือต้นที่ทำด้วยไม้ เพื่อให้ญาติธรรมได้ร่วมทำบุญกฐินแล้ว
หรือบางวัดก็อาจจะให้ญาติธรรมโอนเงินร่วมทำบุญกฐินเข้าบัญชีได้
บางวัดมีการใช้ QR Code เพื่อเปิดโอกาสให้ญาติธรรมโอนเงิน
โดยใช้ Application ในโทรศัพท์มือถือได้ด้วย

นอกจากนี้ หากเราลองค้นในอินเตอร์เน็ตแล้ว
ก็จะพบว่ามีหลายหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพงานกฐินพระราชทาน
ได้แจ้งเลขที่บัญชีธนาคารเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร่วมบุญกฐินพระราชทานด้วย
หรืออย่างเมื่อวันก่อนนี้ ผมได้ไปประชุมที่หน่วยงานแห่งหนึ่ง
ก็ได้มีการวางกล่องทำบุญเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมบุญกฐินด้วย
ซึ่งก็ทำให้สะดวกแก่ประชาชนที่สนใจจะร่วมทำบุญกฐินพระราชทานนั้น
ฉะนั้นแล้ว การร่วมทำบุญกฐินในปัจจุบันนี้ เราสามารถทำได้สะดวกมาก

สรุปแล้ว การทำบุญกฐินนั้นถือเป็นกาลทานที่มีอานิสงส์
ซึ่งการร่วมทำบุญกฐินในปัจจุบันนั้น เราสามารถทำได้สะดวกมากในปัจจุบัน
เราจึงควรพิจารณาร่วมทำบุญกฐินในโอกาสที่จะถึงนี้ตามสมควรครับ