Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๓๑๐

ngodngam1 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

 

รูปธรรมไม่เที่ยง

 dhammajaree310

 

ในฉบับที่ ๒๙๕ (เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๑) เราได้สนทนาเรื่อง “ขันธ์ห้า” นะครับ
http://www.dharmamag.com/mag/index.php/dhammajaree-issues/1533-2018-02-14-14-28-23
ว่าใน “ขันธ์ห้า” ประกอบด้วย รูปขันธ์ เวทนาขันธ์
สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์
หากย่อลงมาเป็น ๒ ก็คือ “นามธรรม” และ “รูปธรรม”
กล่าวคือ “รูปขันธ์” จัดเป็น “รูปธรรม” ส่วนอีก ๔ ขันธ์นั้นเป็น “นามธรรม”
ซึ่งได้กล่าวไปแล้วว่า “ขันธ์ห้า” เป็นอนิจจัง หรือไม่เที่ยง
โดยในคราวนี้ เราจะมาสนทนากันในส่วนของ “รูปธรรม” กันครับ

ตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรมของ
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) อธิบายว่า
“นามธรรม” หมายถึง สิ่งที่ไม่มีรูป
คือรู้ไม่ได้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่รู้ได้ด้วยใจ
ได้แก่เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
“รูปธรรม” หมายถึง สิ่งที่มีรูป สิ่งที่เป็นรูป ได้แก่รูปขันธ์ทั้งหมด
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%C3%D9%BB&original=1
กล่าวคือ “นามธรรม” เป็นสิ่งที่รู้ไม่ได้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่รู้ได้ด้วยใจ
ดังนั้น “รูปธรรม” ก็เป็นสิ่งที่รู้ได้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น และกาย นะครับ

ในเวลาที่เรากล่าวถึงคำว่า “รูป” เรามักจะนึกถึง “รูป” ที่ปรากฏทางตา
เช่นเรามักจะได้ฟังว่า ตาเห็นรูป หูได้ยินฟังเสียง
จมูกดมกลิ่น ลิ้นรับรู้รส กายรู้สัมผัส ดังนี้
ทำให้เรามักจะนึกถึง “รูป” เฉพาะที่ปรากฏทางตา
แต่ “รูป” หรือ “รูปธรรม” ที่เรากล่าวถึงในที่นี้ แม้ว่าจะสะกดเหมือนกันก็ตาม
แต่มีความหมายกว้างกว่า โดยจะรวมถึง
สิ่งทั้งหลายที่รู้ได้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น และกาย
เช่นนี้แล้ว รูปที่เห็นด้วยตา ก็เป็นรูปธรรม
เสียงที่ได้ยินด้วยหู ก็เป็นรูปธรรม
กลิ่นที่รับรู้ได้ด้วยจมูก ก็เป็นรูปธรรม
รสที่รับรู้ได้ด้วยลิ้น ก็เป็นรูปธรรม
สัมผัส (หรือโผฏฐัพพะ) ที่รับรู้ได้ด้วยกาย ก็เป็นรูปธรรม
โดยเป็นของไม่เที่ยง หรือเป็นอนิจจัง

ใน “พาหิรอนิจจสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค) สอนว่า
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นของไม่เที่ยง
สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา
สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นท่านทั้งหลายพึงเห็น
ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า
นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=18&A=43&Z=53&pagebreak=0

ที่กล่าวว่า รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ ไม่เที่ยงนี้
เราสามารถพิจารณาเห็นได้โดยไม่ยากนะครับ
ยกตัวอย่างเช่น รูปที่เราเห็นด้วยตา ถามว่ารูปเที่ยงหรือไม่
มีรูปใดที่ปรากฏทางตาแล้วไม่เปลี่ยนไปหรือไม่
หากเราขยับตาเลื่อนการมอง หรือแม้กระพริบตาก็ตาม
รูปที่เห็นก็เป็นคนละรูปแล้ว รูปที่เห็นด้วยตา จึงไม่เที่ยง

เสียงที่ได้ยินด้วยหู ถามว่าเสียงเที่ยงหรือไม่
มีเสียงอะไรที่ได้ยินทางหูแล้วอยู่คงเดิมโดยไม่เปลี่ยนไปบ้างไหม
จะเห็นได้ว่าเสียงที่หูเราได้ยิน ก็เปลี่ยนไปอยู่ตลอด
ไม่ว่าจะเป็นเสียงคนชม หรือเสียงคนด่า เสียงก็เปลี่ยนไป
แม้แต่เพลงที่เราฟังแล้วรู้สึกว่าไพเราะก็ตาม
ทำนองหรือคำร้องในเพลงนั้นก็เปลี่ยนไป เสียงจึงไม่เที่ยง

กลิ่นได้รับรู้ได้ด้วยจมูก ถามว่ากลิ่นเที่ยงหรือไม่
อย่างเวลาที่เราได้กลิ่นหอมอะไรก็ตาม
เราได้กลิ่นหอมในคราวแรกก็อาจรู้สึกหอมเป็นที่พอใจ
แต่พอดมต่อเนื่องไปสักพักหนึ่ง ย่อมรู้สึกได้ว่ามันหอมน้อยลง
หรือในการหายใจของเรานั้น ไม่สามารถหายใจเข้าอย่างเดียวได้
โดยเราก็ต้องหายใจออกด้วย
เมื่อหายใจออก ในเวลานั้นเราก็ไม่ได้กลิ่นแล้ว กลิ่นจึงไม่เที่ยง

รสที่รับรู้ได้ด้วยลิ้น ถามว่ารสเที่ยงหรือไม่
อย่างเวลาที่เราทานอาหารที่อร่อยสักอย่างหนึ่ง
เราตักใส่ปากคำแรกรู้สึกว่าอร่อยมาก
แต่ถ้าเคี้ยวอาหารคำนั้นไปเรื่อย ๆ อมอาหารไว้ในปากนาน ๆ
เราย่อมจะรู้สึกได้ว่ารสอร่อยในอาหารเปลี่ยนไป รสจึงไม่เที่ยง

สัมผัส (หรือโผฏฐัพพะ) ที่รับรู้ได้ด้วยกาย ก็ไม่เที่ยง
อย่างเวลาที่เรานั่งเก้าอี้ที่รู้สึกนุ่มสบายสักตัวหนึ่ง
นั่งคราวแรกก็รู้สึกว่านุ่มสบาย
แต่สัมผัสความนุ่มสบายนั้นก็ไม่ได้อยู่ตลอด
นั่งไปสักพักหนึ่งแล้ว ความนุ่มสบายก็เปลี่ยนไป สัมผัสจึงไม่เที่ยง

นอกจากนี้แล้ว หากเราฝึกเจริญสติแล้ว เราย่อมจะเห็นได้ว่า
ตาเห็นรูป หูได้ยินฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นรับรู้รส กายรู้สัมผัส เหล่านี้
ล้วนอยู่เพียงชั่วคราว เกิดและดับหายไปอย่างรวดเร็ว
ซึ่งย่อมจะทำให้เราสามารถเห็นตามความเป็นจริงได้ว่า
รูปธรรมคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เหล่านี้เป็นสิ่งไม่เที่ยง
สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา
สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นท่านทั้งหลายพึงเห็น
ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า
นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา
เมื่อเราเริ่มเห็นตามความเป็นจริงในรูปธรรมเหล่านี้แล้ว
ความยึดถือใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เหล่านี้ก็ย่อมจะลดลง
และช่วยให้ใจไม่หลงไปยึดติดในรูปธรรมเหล่านี้จนเกินไปครับ