Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๓๐๘

ngodngam1 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

เมื่อประสบปัญหาชีวิต

 

 dhammarajee308

 

ชีวิตคนเราทุกคนก็ย่อมประสบปัญหาชีวิตแตกต่างกันไป
ปัญหาชีวิตที่ประสบในแต่ละช่วงเวลาก็อาจจะหนักบ้างเบาบ้าง
หรืออาจจะมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา
เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้สนทนากับญาติธรรมท่านหนึ่ง
ซึ่งบอกว่าท่านประสบปัญหาชีวิตหนักถึงขั้นอยากจะตายเลยทีเดียว
ในคราวนี้ เราก็จะมาสนทนากันเรื่องปัญหาชีวิตกันนะครับ

ในเวลาที่เราประสบปัญหาชีวิตนั้น
เราพึงแยกสองเรื่องออกจากกันนะครับ ได้แก่
๑. ปัญหาชีวิตที่ประสบ และการแก้ไขปัญหา
๒. ความทุกข์ในจิตใจ และการแก้ทุกข์ในจิตใจ

ในเรื่องแรก คือ เรื่องปัญหาชีวิตที่ประสบ และการแก้ไขปัญหา
เมื่อเราประสบปัญหาชีวิตแล้ว เราพึงจะใช้สติปัญญา
ความเพียร ความอดทน คุณธรรมอื่น ๆ รวมทั้งความรู้ความสามารถ
เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหานั้น ๆ

สำหรับปัญหาบางอย่าง เราอาจจะแก้ไขไม่ได้
แต่เราก็พึงทำให้ดีที่สุดเพื่อบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดมีขึ้น
โดยหากเรามัวเอาแต่เศร้าโศก ท้อแท้ เหงาหงอย ซึมเศร้า ดราม่า
ย่อมไม่ได้เป็นการช่วยให้ปัญหาชีวิตนั้นดีขึ้น
แต่กลับเป็นการสูญเสียเวลาไปอย่างเปล่าประโยชน์
แทนที่จะนำเวลาที่ผ่านไปมาใช้ประโยชน์
ในการทำสิ่งต่าง ๆ รอบตัวให้ดีขึ้น เพื่อให้ปัญหาชีวิตเบาบางลง

ในบางที เราอาจจะคิดไม่ออกว่า เราจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างไร
สิ่งที่ควรลองทำก็คือ หยิบปากกาและกระดาษขึ้นมาสักแผ่นหนึ่ง
แล้วก็เขียนลงไปว่า เรามีทางเลือกอะไรบ้าง เราพอจะทำอะไรได้บ้าง
โดยก็ใช้สติปัญญา และความรู้เท่าที่มีของเรา
ลองวิเคราะห์ทางเลือกในการแก้ไขปัญหาออกมา
เมื่อได้ทางเลือกหลาย ๆ ทางแล้ว
เราก็พึงเลือกทำตามทางเลือกที่เห็นว่าเหมาะสมที่สุด

ในบางที เราอาจจะรู้สึกมึนและคิดอะไรไม่ออกเลย
หรือปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมันเกินความรู้และประสบการณ์ของเราที่มีอยู่
สิ่งที่ควรลองทำก็คือ ลองค้นในอินเตอร์เน็ตดูว่า
ปัญหาชีวิตประเภทนี้ คนอื่น ๆ เขาแก้ไขกันอย่างไร
หรือเคยมีการแนะนำให้แก้ไขอย่างไรบ้าง
โดยเราก็นำวิธีการแก้ไขหรือคำแนะนำต่าง ๆ
มาเขียนเป็นทางเลือกต่าง ๆ รวมกันไว้
แล้วเราก็เลือกทำตามทางเลือกหรือคำแนะนำที่เราเห็นว่าเหมาะสมที่สุด

ถ้าหากเราลองค้นหาดูแล้ว แต่ไม่ปรากฏว่าเคยมีข้อมูลหรือตัวอย่าง
ว่าคนอื่น ๆ เขาแก้ไขอย่างไร หรือเขาแนะนำให้แก้ไขอย่างไร
สิ่งที่ควรลองทำก็คือ ลองสอบถามหรือปรึกษา
ผู้รู้หรือกัลยาณมิตรท่านอื่น ๆ ว่า จะแนะนำให้แก้ไขปัญหาอย่างไร
แล้วเราก็นำคำแนะนำของท่านมาพิจารณาทำตามที่เหมาะสม

ทั้งนี้ พึงทราบว่าปัญหาบางเรื่องที่เราคิดว่าเป็นปัญหา
แต่ในบางครั้งมันอาจจะไม่ใช่ปัญหานะครับ
อย่างสมมุติว่า บางคนแฟนบอกเลิก เราก็บอกว่ามีปัญหาชีวิต
แต่ในความเป็นจริงแล้ว แฟนคนที่บอกเลิกนั้นเป็นคนไม่ดีอยู่แล้ว
เช่น มีนิสัยเจ้าชู้ และไม่ได้ช่วยเหลือรับผิดชอบดูแลอะไรอยู่แล้ว
ที่ผ่านมามีแต่ทำให้เราเสียใจ และก่อปัญหาให้แก่เรา
ในกรณีเช่นนั้น เมื่อเราสามารถแยกทางกับคนไม่ดีเช่นนั้นได้
จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่ปัญหาชีวิตเลยนะครับ
แต่มันเป็นสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต และเราควรจะต้องดีใจเสียอีก เป็นต้น
ฉะนั้นในกรณีดังกล่าว เราไม่ต้องแก้ไขปัญหาอะไรเลย
แต่สิ่งที่ควรทำคือ เราพึงตั้งใจว่าจะไม่คบคนไม่ดีอีกแล้วในอนาคต

การที่เราจะไม่คบคนไม่ดีได้นั้น เราต้องแยกออกได้เสียก่อนว่า
คนไม่ดีเป็นอย่างไร และคนดีเป็นอย่างไร
และเราพึงต้องประพฤติตนเป็นคนดีด้วย
เช่นนั้นแล้ว เราก็จะสามารถเลี่ยงไม่คบคนไม่ดีได้ง่ายขึ้น
แต่ถ้าเราแยกไม่ออก หรือไม่แยกคนดีและคนไม่ดี
ใครเข้ามาก็ตาม เราก็คบกับเขาได้หมด
เราก็ย่อมจะลงเอยแบบเดิมสถานการณ์เดิมได้ง่าย ๆ
หรือหากเราไม่ประพฤติตนเองให้เป็นคนดีแล้ว
เราย่อมจะประพฤติไม่ดีจนเคยชิน
ซึ่งก็จะทำให้เราหลงไปคบคนไม่ดีได้โดยง่ายครับ

เรื่องที่สอง คือ ความทุกข์ในจิตใจ และการแก้ทุกข์ในจิตใจ
ทำไมเราจึงต้องแยกเรื่องความทุกข์ในจิตใจ
ออกจากเรื่องปัญหาชีวิตที่เกิดขึ้น?
ตอบว่า เพราะการประสบปัญหาชีวิตนั้น
ไม่ได้แปลว่า เราจะต้องทุกข์ไปตามปัญหาชีวิตนั้นเสมอไป
ในชีวิตจริง เราคงจะเคยเห็นหลายคนที่ประสบปัญหาชีวิตต่าง ๆ แล้ว
แต่พวกเขามีความทุกข์ใจในปัญหาเหล่านั้นแตกต่างกัน
บางคนทุกข์มาก บางคนทุกข์น้อย บางคนไม่ทุกข์เลย
และบางคนที่ทุกข์จนทนไม่ไหวถึงขนาดไปฆ่าตัวตายก็มี เป็นต้น

ในเมื่อชีวิตเราย่อมจะประสบปัญหาชีวิตต่าง ๆ เป็นธรรมดา
เช่น ย่อมจะได้ประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก
ได้ประสบกับความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก หรือบุคคลที่รัก
หรือประสบกับการปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น
ในเมื่อเราจะได้ประสบพบสิ่งเหล่านี้อย่างแน่แท้
กรณีจึงมีความสำคัญที่เราพึงหันมาสนใจศึกษาและปฏิบัติธรรม
เพื่อที่เวลาเกิดขึ้นสิ่งเหล่านี้แล้ว เราก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้
อย่างไม่ทุกข์มากนัก หรือไม่ทุกข์เลย

ในเรื่องการแก้ทุกข์ในจิตใจนี้ ผมจะขอสรุปแยกเป็น ๓ วิธีการนะครับ

วิธีการแรก สำหรับท่านที่เจริญสมถะและวิปัสสนาไม่ได้
คือพยายาม “ทำใจ” เพื่อให้ทุกข์เบาบางลง
ซึ่งก็มีหลายวิธีการที่จะนำมาใช้นะครับ เช่น
• เปรียบเทียบกับคนอื่น ๆ ที่มีปัญหาชีวิตหนักกว่าเรา
และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบากกว่าเรา
แล้วเราก็ทำใจว่ากรณีเรานี้ก็ยังดีนะ คนอื่นที่แย่กว่าเราก็มี
• เปรียบเทียบกับคนอื่น ๆ ที่มีปัญหาชีวิตเหมือน ๆ เรา
แล้วเราก็ทำใจว่าคนอื่น ๆ ที่เจอปัญหาเหมือนเราก็มีเยอะแยะ
• ทำใจว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต
เมื่อเราเกิดมาแล้ว เราก็ต้องประสบปัญหาชีวิตเป็นธรรมดา
• ทำใจว่าปัญหาชีวิตต่าง ๆ ผ่านมาแล้วก็จะผ่านไป
ไม่มีปัญหาชีวิตใดคงอยู่ไปตลอด
ชีวิตเราก็มีช่วงเวลาที่สุขบ้างทุกข์บ้างเป็นธรรมดา
ตอนนี้อาจจะทุกข์มาก แต่เดี๋ยวมันก็จะผ่านไป หรือทุกข์น้อยลงได้
• ทำใจยอมรับว่าเป็นวิบากกรรมที่เราได้ทำไว้และต้องรับ
แต่เมื่อเราได้พยายามสร้างกรรมใหม่ที่ดี ๆ แล้ว
ก็ย่อมจะได้รับผลเบาบางลงหรือผลที่ดีขึ้นในอนาคต

แต่ทั้งนี้ ถ้าความทุกข์มันหนักหนาจริง ๆ และเราทำใจไม่ได้เลย
เราก็อาจจะต้องใช้วิธีหลบชั่วคราว โดยการหาอะไรทำ
เพื่อให้ลืมความทุกข์เหล่านี้ไปชั่วครู่ เช่น
อาจจะไปอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง หรือทำงานก็ได้
โดยเอาใจไปมุ่งจดจ่อกับกิจกรรมอื่น ๆ ชั่วคราว
หรือถ้าทำกิจกรรมอะไรก็ไม่ไหว ก็จะไปนอนหลับก็ได้

วิธีการที่สอง สำหรับท่านที่เจริญสมถะได้ แต่เจริญวิปัสสนาไม่ได้
โดยในกรณีนี้ ท่านก็ย่อมจะสามารถเจริญสมถะได้นะครับ
เมื่อไรที่ใจมีความทุกข์เพราะครุ่นคิดเรื่องปัญหาชีวิตแล้ว
เราก็สามารถเจริญสมถะ เพื่อทำใจให้สงบตามวิธีการที่ตนเองถนัดได้
เช่น ดูลมหายใจ ท่องพุทโธ ดูท้องพองยุบ เป็นต้น
หรือบางท่านจะสวดมนต์ก็ได้ หรือเดินจงกรม หรือบริกรรมก็ได้
ซึ่งในเวลาที่ใจสงบนั้น เราก็จะไม่ถูกโทสะหรือโลภะครอบงำใจ

วิธีการที่สาม สำหรับท่านที่เจริญวิปัสสนาได้
ถ้าเราเจริญวิปัสสนาเป็นนะครับ วิธีการนี้ดีที่สุดครับ
โดยเมื่อจิตไปคิดเรื่องปัญหาชีวิตแล้ว
เราสามารถแยกได้ว่าเรื่องที่คิดอยู่ส่วนหนึ่ง
ความไม่พอใจปัญหาชีวิต (คือโทสะ) อยู่อีกส่วนหนึ่ง
ความอยากจะพ้นไปจากปัญหาชีวิต (คือโลภะ) อยู่อีกส่วนหนึ่ง
จิตซึ่งเป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่อีกส่วนหนึ่ง
ซึ่งสิ่งที่ทำให้เราทุกข์ใจนี้ ไม่ใช่ตัวปัญหาชีวิต
เพราะเมื่อใดที่เราไม่ได้หลงไปคิดเรื่องปัญหาชีวิต
เราก็จะไม่ทุกข์เพราะเรื่องปัญหาชีวิตนั้น

แต่สิ่งที่ทำให้เราทุกข์ใจนี้คือ
โทสะ (ไม่พอใจปัญหาชีวิต) หรือโลภะ (อยากจะพ้นไปจากปัญหาชีวิต) นี้เอง
ทั้งโทสะและโลภะนี้ ล้วนแต่ก็เป็นไตรลักษณ์ คือเป็นอนิจจัง (ไม่เที่ยง)
เป็นทุกขัง (ทนอยู่ไม่ได้) และเป็นอนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน)
ซึ่งเมื่อจิตมีสติ มีปัญญาเห็นดังนี้แล้ว
จิตก็ย่อมไม่ถูกโทสะ หรือโลภะนี้ครอบงำ แล้วก็ย่อมจะไม่ทุกข์ครับ

อนึ่ง ทั้งโทสะและโลภะนี้ก็เกิดดับตามเหตุปัจจัย
ซึ่งเหตุปัจจัยที่ทำให้โทสะ หรือโลภะนี้เกิดขึ้น
ก็คือจิตหลงไปคิดเรื่องปัญหาชีวิต
หลังจากนั้น จิตก็ปรุงแต่งโทสะ หรือโลภะ เหล่านี้ขึ้นมา

ปัญหาชีวิตนั้นก็เป็นเพียงเหตุปัจจัยหนึ่ง
ที่จะสร้างสภาวธรรมให้จิตใจได้เรียนรู้ความเป็นไตรลักษณ์
ของสภาวธรรมต่าง ๆ ที่จะผ่านเข้ามาในจิตใจ

ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ก็ตาม การฆ่าตัวตายนั้นย่อมไม่ใช่ทางแก้ไขปัญหา
แต่กลับจะเป็นทางที่ทำให้เราประสบปัญหาเดือดร้อนกว่าเดิมในอนาคตครับ
ใน “วัตถูปมสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์)
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า “เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นอันหวังได้”
และ “เมื่อจิตไม่เศร้าหมองแล้ว สุคติเป็นอันหวังได้”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=12&A=1136&Z=1236&pagebreak=0

เราลองพิจารณานะครับว่า เวลาที่เราฆ่าตัวตายนั้น จิตเราผ่องใสหรือเศร้าหมอง?
ถ้าเราไม่ทุกข์ใจจนทนไม่ไหวแล้ว เราก็คงไม่คิดจะฆ่าตัวตัวตายใช่ไหม?
ดังนั้นแล้ว จิตที่เศร้าหมองในเวลาฆ่าตัวตายนี้แหละ จะนำเราไปสู่ทุคติ
กล่าวคือ นำเราไปสู่อบายภูมิ เช่น นรก หรือเปรต เป็นต้น
ซึ่งก็ย่อมจะแย่กว่าปัญหาชีวิตที่เราประสบอยู่ในปัจจุบันนี้อย่างแน่นอน

โดยสรุปนะครับ ในส่วนของการแก้ไขปัญหาชีวิต เราก็พยายามแก้ไขไป
แต่ในขณะที่เราประสบปัญหาชีวิต หรือแก้ไขปัญหาชีวิตนั้น
ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องทุกข์ไปตลอดด้วย
โดยเราก็สามารถแก้ให้ทุกข์น้อยลงหรือทุกข์ไม่มีได้ครับ