Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๓๐๗

ngodngam1 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

 

 

 

เตรียมพร้อมรับภัยพิบัติ

 

 dhammajaree307

 

ในช่วงรอบเดือนที่ผ่านมานี้ เราได้พบข่าวภัยพิบัติในหลายประเทศนะครับ
เช่น ข่าวเขื่อนแตกในประเทศลาว ข่าวพายุถล่มและน้ำท่วมในประเทศญี่ปุ่น
ข่าวน้ำท่วมในประเทศเมียนม่าร์ ข่าวน้ำท่วมในประเทศเวียดนาม
แม้ในประเทศไทยเองก็เริ่มมีข่าวอุทกภัยในหลายจังหวัดแล้ว
https://www.thairath.co.th/content/1341246
https://www.thairath.co.th/content/1332617
https://www.posttoday.com/world/505134
https://workpointnews.com/2018/06/26/เวียดนามอ่วม-น้ำท่วมฉั/

ซึ่งแม้ว่าบางท่านอาจจะไม่ได้อยู่ในบริเวณที่ต้องประสบภัยพิบัติบ่อยก็ตาม
แต่ภัยพิบัติก็เป็นสิ่งที่สามารถจะเกิดขึ้นกับเราได้ตลอดเวลา
ไม่ได้จำเป็นว่าเราจะต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติบ่อย ๆ เท่านั้น
ในคราวนี้ เราจะมาสนทนากันในเรื่องการเตรียมพร้อมรับกันครับ
เพื่อเตรียมรับภัยพิบัติแล้ว เราควรเตรียมความพร้อมในหลายเรื่อง ดังต่อไปนี้

๑. เตรียมพร้อมในเรื่องการทำสิ่งสำคัญในชีวิต
ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นนั้นอาจจะถึงกับทำให้เราเสียชีวิตเลยก็ได้
ไม่มีอะไรมารับประกันได้ว่า เราจะรอดจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเสมอไป
ดังนั้น เราจึงไม่ควรประมาท และหมั่นพิจารณาอยู่เสมอ
ถึงสิ่งสำคัญในชีวิตที่เราต้องทำ และเร่งรีบทำสิ่งสำคัญนั้นเสียก่อน
ไม่ควรไปรอเวลาว่าจะไปทำในอนาคต
เพราะหากเกิดภัยพิบัติและทำให้เราเสียชีวิตแล้ว
ก็จะกลายเป็นว่าเราไม่มีโอกาสได้ทำสิ่งสำคัญนั้น ๆ

๒. เตรียมพร้อมในเรื่องจิตใจ
ในช่วงประสบภัยพิบัติ เราย่อมจะต้องประสบกับเรื่องทุกข์ใจ
หรือเรื่องไม่น่าพอใจในหลาย ๆ เรื่อง
เราจึงควรเตรียมความพร้อมทางด้านจิตใจด้วยการหมั่นฝึกฝนภาวนา
เพื่อพร้อมที่จะประสบเรื่องทุกข์ใจหรือไม่พอใจที่จะเกิดขึ้นดังกล่าว
โดยแม้ว่าเราจะต้องประสบเรื่องทุกข์ใจหรือไม่พอใจก็ตาม
จิตใจเราก็สามารถยอมรับได้ และสามารถมีความสุขได้

๓. เตรียมพร้อมในเรื่องสุขภาพ
ในช่วงประสบภัยพิบัติ ย่อมจะมีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์
หรือการหายารักษาโรค ซึ่งหากเราเจ็บป่วยในช่วงนั้นแล้ว
ย่อมจะทำให้ไม่สะดวกแก่เราอย่างมาก
ดังนั้น เราพึงศึกษาหาความรู้ในเรื่องการดูแลสุขภาพตนเอง
และหมั่นดูแลสุขภาพตนเองให้ดีตั้งแต่ในปัจจุบัน
เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องการเจ็บป่วยที่จะเกิดขึ้น

๔. เตรียมพร้อมในเรื่องเอกสารสำคัญ
ระดับความรุนแรงของภัยพิบัติมีหลายกรณี
ในบางกรณีอาจจะทำให้ทรัพย์สินในบ้านของเราสูญหายไปทั้งหมด
อย่างเช่นกรณีที่เขื่อนแตกในประเทศลาวนั้น
น้ำได้พัดพาบ้านหายไปทั้งหลังเลยทีเดียว
ฉะนั้น เราเองควรจะที่จะเก็บสำรองสำเนาเอกสารสำคัญ
ไว้ในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเก็บไว้ในระบบ Cloud ด้วย
เพื่อที่จะสามารถนำสำเนาเอกสารดังกล่าวมาใช้ได้ในคราวที่จำเป็น
(โดยต้องตั้ง Password ให้ปลอดภัย เพื่อป้องกันการถูก Hack ข้อมูลด้วย)
ซึ่งการเก็บข้อมูลสำเนาเอกสารในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันนี้
สามารถทำได้ไม่ยาก และไม่ได้มีค่าใช้จ่ายอะไร
โดยเราสามารถใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายรูปไว้ หรือสแกนเอกสารไว้
แล้วนำไฟล์ไปฝากไว้ในระบบ Cloud ที่มีให้บริการฟรีอยู่หลายแห่งได้

๕. เตรียมพร้อมในเรื่องวิถีการดำเนินชีวิต
หากเราใช้ชีวิตในปัจจุบันแบบฟุ่มเฟือยและใช้สิ่งของต่าง ๆ มากมาย
ในเวลาที่ประสบภัยพิบัตินั้น สิ่งของต่าง ๆ ขาดแคลน
ก็จะทำให้เราอยู่ยาก และประสบความทุกข์มาก
แต่ถ้าเราฝึกวิถีชีวิตปัจจุบันของเราให้อยู่ง่าย ใช้น้อย สันโดษแล้ว
เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติที่สิ่งของต่าง ๆ ขาดแคลน
เราก็ย่อมจะสามารถปรับตัวได้ง่าย และไม่ประสบความทุกข์มากนัก

๖. เตรียมพร้อมในเรื่องการเงิน
ในเวลาที่ประสบภัยพิบัตินั้น เราย่อมจะไม่สามารถทำงานหารายได้ตามปกติ
แต่เราก็ยังคงมีความจำเป็นต้องใช้เงิน หรืออาจต้องใช้เงินมากกว่าปกติ
ดังนั้น การเตรียมความพร้อมโดยการจัดสรรเก็บเงินไว้ตามสมควร
เพื่อสำหรับไว้ใช้จ่ายยามจำเป็นในเวลาฉุกเฉิน จึงเป็นสิ่งจำเป็น

๗. เตรียมพร้อมในเรื่องความรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติ
ในยุคปัจจุบันนี้ ข้อมูลการเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติประเภทต่าง ๆ
มีอยู่มากมายและเราสามารถค้นหาได้ไม่ยากในอินเตอร์เน็ต
การเตรียมความพร้อมด้วยการแบ่งเวลาศึกษาข้อมูลต่าง ๆ
ในส่วนของภัยพิบัติที่น่าจะเกี่ยวข้องกับเรา
ย่อมจะเป็นประโยชน์ในเวลาที่เกิดภัยพิบัติขึ้นจริง

๘. หมั่นติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานของรัฐ
การหมั่นติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานของรัฐ
ในเรื่องภัยพิบัติต่าง ๆ ย่อมจะช่วยให้เราสามารถหลีกเลี่ยง
หรือเตรียมความพร้อมในเรื่องภัยพิบัติต่าง ๆ ได้ดีขึ้น
โดยเมื่อหน่วยงานของรัฐได้เตือนหรือให้คำแนะนำใด ๆ แล้ว
เราก็ควรที่จะปฏิบัติตามข้อเตือนหรือข้อห้ามต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด

๙. ตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงภัยก่อนเดินทาง
ก่อนที่เราจะเดินทางไปในพื้นที่ใด ๆ ก็ตาม
การตรวจสอบข้อมูลข่าวสารก่อนล่วงหน้า
ก็ย่อมจะเป็นประโยชน์ในการลดความเสี่ยงที่ประสบภัยพิบัติได้
เช่น ในบางพื้นที่กำลังจะประสบภัยน้ำท่วม
เราก็พึงหลีกเลี่ยงในการเดินทางไปพื้นที่ดังกล่าวเป็นต้น