Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๓๐๔

ngodngam1 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

 

วิธีละมานะ

 dhammajaree304

 

เวลาที่เรากล่าวถึงคำว่า “มานะ”
เรามักจะนึกถึงความหมายว่า ความดื้อรั้น ความถือดี ทำนองนั้นนะครับ
แต่จริง ๆ แล้ว ความหมายทำนองนั้น จะตรงกับคำว่า “ทิฏฐิมานะ”
โดยในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้อธิบายว่า
คำว่า “ทิฏฐิมานะ” ประกอบด้วย ๒ คำ ได้แก่
“ทิฏฐิ” แปลว่า “ความเห็น” ในที่นี้ หมายถึง ความเห็นดื้อดึง ถึงผิดก็ไม่ยอมแก้ไข
“มานะ” แปลว่า ความถือตัว
รวม ๒ เป็น “ทิฏฐิมานะ” หมายถึง ถือรั้น อวดดี หรือดึงดื้อถือตัว
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%C1%D2%B9%D0&original=1

บางท่านหลงเข้าใจว่า วิธีการละ “มานะ”
สามารถกระทำได้ โดยการกราบไหว้อ่อนน้อม
โดยตนเองไปกราบไหว้ผู้ด้อยกว่า เช่น ไปกราบไหว้หลาน
หรือไปกราบไหว้บุคคลอื่นโดยไม่มีเหตุ เช่น ไปกราบเท้าสามีหรือภรรยา เป็นต้น
ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวเป็นความเข้าใจที่ผิดนะครับ

ในอันที่จริงแล้ว คำว่า “มานะ” ที่แปลว่า ความถือตัว
ไม่ได้หมายความว่า ความถือตัวว่าเราดีกว่าคนอื่นเท่านั้น
แต่หมายถึง ความถือตัวว่าเราเสมอคนอื่น และความถือตัวว่าเราด้อยกว่าคนอื่น
ใน “สมิทธิสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค)
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสอนถึง มานะ ๓ อย่าง ได้แก่
๑. มานะว่าเราดีกว่าเขา ๒. มานะว่าเราเสมอเขา และ ๓. มานะว่าเราเลวกว่าเขา
http://www.84000.org/tipitaka/_mcu/v.php?B=15&A=248&Z=374&pagebreak=0
หรือใน พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสอนถึง มานะ ๙ อย่าง ประกอบด้วย
๑. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา
๒. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าเสมอเขา
๓. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลวกว่า
๔. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา
๕. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตัวว่าเสมอเขา
๖. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา
๗. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา
๘. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตัวว่าเสมอเขา
๙. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา
http://www.84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=29&item=102&items=1&preline=0&pagebreak=0
ดังนี้แล้ว “มานะ” ไม่ได้หมายความเพียงว่า ความถือตัวว่าเราดีกว่าคนอื่นเท่านั้น
แต่ยังหมายความถึง ถือตัวว่าเราเสมอเขา และถือตัวว่าเราด้อยกว่าเขา อีกด้วย

ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าเราไปเห็นคนหนึ่งกำลังทำทาน
แล้วเรารู้สึกว่าเขาทำทาน แต่ไม่รู้จักละความโกรธ
ส่วนเรารู้จักละความโกรธ อย่างนี้ก็เป็นมานะ
หรือเราเห็นคนหนึ่งตั้งใจรักษาศีล ๕
แล้วเรารู้สึกว่าเขารักษาศีล ๕ เหมือนเราเลย อย่างนี้ก็เป็นมานะ
หรือเราเห็นคนหนึ่งภาวนาเก่งกว่าเรา
แล้วเรารู้สึกว่าเรายังภาวนาไม่ได้เท่าเขา อย่างนี้ก็เป็นมานะ
ไม่ว่าจะถือตัวว่าดีกว่า เสมอกัน หรือด้อยกว่าก็ตาม ก็ล้วนเป็นมานะ

ฉะนั้นแล้ว การที่เราไปฝึกกราบไหว้ผู้ที่ด้อยกว่าก็ตาม
ย่อมไม่ได้มีผลเป็นการละมานะ เพราะว่าเราถือตัวว่าเราดีกว่า
ตั้งแต่เราเลือกบุคคลด้อยกว่าที่จะไปกราบไหว้แล้ว
และการกราบไหว้แม้จะกระทำเพราะรู้สึกตัวว่า
ด้อยกว่าหรือเสมอกันก็ตาม ก็เป็นมานะเช่นกัน

ถ้าหากการกราบไหว้จะเป็นวิธีการละมานะได้แล้วนะครับ
พนักงานต้อนรับหรือพนักงานบริการในห้างร้านค้าหรือสถานที่ต่าง ๆ
ย่อมจะเป็นบุคคลที่ละมานะได้เก่งที่สุด
เพราะว่ากราบต้อนรับลูกค้าทุกคนด้วยความนอบน้อม
แต่ว่าวิธีการเช่นนั้น ไม่ใช่วิธีการละมานะครับ

อนึ่ง ผมไม่ได้บอกว่า เราไม่สมควรกราบไหว้
หรือไม่สมควรประพฤติตนนอบน้อมนะครับ
การกราบไหว้ก็ดี การประพฤติตนนอบน้อมก็ดี
เป็นสิ่งที่ดี และเป็นมารยาทอันดีที่พึงกระทำ
แต่ว่าเราไม่ควรหลงเข้าใจผิดว่าข้อประพฤติดังกล่าวจะทำให้ละมานะได้

อีกประการหนึ่งก็คือ ในการกราบไหว้ของเรานั้น
เราไม่สมควรที่จะไปกราบไหว้มั่วซั่วนะครับ
การที่เราไปกราบไหว้บุคคลที่ไม่สมควรกราบไหว้ ย่อมไม่ใช่สิ่งสมควรทำ
เช่น อยู่ ๆ ก็ไปกราบไหว้หลาน โดยไม่มีเหตุสมควร เป็นต้น
(ถ้าหลานบวชเป็นเณร ก็ถือว่ามีเหตุสมควร)
พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ทรงสอนให้เรากราบไหว้มั่วซั่วนะครับ

ใน “จูฬกัมมวิภังคสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์)
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้
จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นคนไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง
ย่อมกราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ลุกรับคนที่ควรลุกรับ
ให้อาสนะแก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง
สักการะคนที่ควรสักการะ เคารพคนที่ควรเคารพ นับถือคนที่ควรนับถือ
บูชาคนที่ควรบูชา เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=7623&Z=7798&pagebreak=0

เราจะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนให้ กราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้
สักการะคนที่ควรสักการะ เคารพคนที่ควรเคารพ นับถือคนที่ควรนับถือ
ไม่ใช่ว่าเราจะไปกราบไหว้มั่วซั่ว แม้กระทั่งบุคคลที่ไม่ควรกราบไหว้
เช่นนั้นแล้ว ย่อมไม่ใช่วิธีการประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน

ทีนี้ เรามาพิจารณาต่อไปว่า แล้วเราจะละมานะได้อย่างไร
เราพึงเข้าใจว่า “มานะ” เป็นหนึ่งในสังโยชน์ ๑๐
และเป็นหนึ่งในอุทธัมภาคิยสังโยชน์ คือสังโยชน์เบื้องสูง ๕
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%CA%D1%A7%E2%C2%AA%B9%EC&original=1
ที่จะสามารถละได้ก็ต่อเมื่อเป็นพระอรหันต์แล้ว
กล่าวคือ แม้จะบรรลุธรรมเป็นพระอนาคามีแล้วก็ตาม
ก็ยังไม่สามารถละมานะได้

ดังนั้นแล้ว วิธีการละมานะที่เป็นสมุจเฉท คือไม่กำเริบเกิดขึ้นอีกนั้น
ก็คือ การประพฤติมรรคมีองค์ ๘ หรือประพฤติไตรสิกขา
(ได้แก่ ศีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา) นั่นเอง
โดยที่เราในฐานะที่เป็นปุถุชนจึงยังไม่ต้องไปมุ่งละมานะในเวลานี้
เพราะเรามุ่งไปแค่ชั้นแรกคือพระโสดาบันก่อน
แล้วเอาไว้ถึงเวลาที่เป็นพระอนาคามีแล้ว ค่อยไปละมานะในเวลานั้น

อย่างไรก็ดี มานะก็เป็นธรรมที่เกิดแล้วดับ เป็นไตรลักษณ์เช่นกัน
หากเราเจริญสติไม่เป็นนะครับ เมื่อใดที่มานะเกิดขึ้นแล้ว
เราไม่มีสติรู้ทัน เราก็จะไหลไปตามมานะนั้น
หรือเราอาจจะไม่ชอบใจ แล้วก็พยายามต้านมานะนั้น
เราจะไปพยายามทำตัวอ่อนน้อมหรือกราบไหว้เพื่อแก้ไขมานะอย่างไร
ก็คือกำลังโดนมานะนั้นครอบงำอยู่ดี
แต่หากเราเจริญสติเป็นนะครับ เมื่อใดที่มานะเกิดขึ้นแล้ว
เรามีสติรู้ทัน ก็จะเห็นได้ว่ามานะนั้นจะดับเองไปเป็นธรรมดา
(ไม่ได้หมายความว่าเราละเป็นสมุจเฉทแล้ว เดี๋ยวมันก็เกิดขึ้นอีก)
เราก็จะไม่ถูกมานะดังกล่าวครอบงำจิตใจครับ