Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๓๐๓

ngodngam1 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

ธัมมุทเทส ๔

 

dhammajaree303

 

เหตุผลที่บุคคลออกบวชเป็นบรรพชิตนั้น ย่อมมีหลากหลายแตกต่างกัน
ในสมัยพุทธกาลนั้น พระเจ้าโกรัพยะได้ตรัสกับพระรัฐปาละว่า
คนบางพวกในโลกนี้เข้าถึงความเสื่อม ๔ ประการนี้แล้ว
ย่อมออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
ความเสื่อม ๔ ประการ ได้แก่ ความเสื่อมเพราะชรา ๑
ความเสื่อมเพราะความเจ็บไข้ ๑
ความเสื่อมจากโภคสมบัติ ๑
ความเสื่อมจากญาติ ๑

ความเสื่อมเพราะชราเป็นไฉน?
คนบางคนในโลกนี้ เป็นคนแก่แล้ว เป็นคนเฒ่า
เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ
เขาคิดเห็นดังนี้ว่า เดี๋ยวนี้เราเป็นคนแก่แล้ว เป็นคนเฒ่าแล้ว
เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ ก็การที่เราจะได้โภคสมบัติที่ยังไม่ได้
หรือการที่เราจะทำโภคสมบัติที่ได้แล้วให้เจริญ ไม่ใช่ทำได้ง่าย
อย่ากระนั้นเลย เราพึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด
เขาประกอบด้วยความเสื่อมเพราะชรานั้น จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
นี้เรียกว่าความเสื่อมเพราะชรา
ส่วนท่านรัฐปาละ เดี๋ยวนี้ก็ยังหนุ่มแน่น มีผมดำสนิท
ประกอบด้วยความเป็นหนุ่มกำลังเจริญเป็นวัยแรก
ไม่มีความเสื่อมเพราะชรานั้นเลย
ท่านรัฐปาละรู้เห็น หรือได้ฟังอะไร
จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเสียเล่า?

ความเสื่อมเพราะความเจ็บไข้เป็นไฉน?
คนบางคนในโลกนี้ เป็นคนมีอาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก
เขาคิดเห็นดังนี้ว่า เดี๋ยวนี้เราเป็นคนมีอาพาธ
มีทุกข์ เป็นไข้หนัก ก็การที่เราจะได้โภคสมบัติที่ยังไม่ได้
หรือการที่เราจะทำโภคสมบัติที่ได้แล้ว ให้เจริญ ไม่ใช่ทำได้ง่าย
อย่ากระนั้นเลย เราพึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด
เขาประกอบด้วยความเสื่อมเพราะความเจ็บไข้นั้น
จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
นี้เรียกว่าความเสื่อมเพราะความเจ็บไข้
ส่วนท่านรัฐปาละ เดี๋ยวนี้เป็นผู้ไม่อาพาธ ไม่มีทุกข์
ประกอบด้วยไฟธาตุที่ย่อยอาหารสม่ำเสมอดี ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก
ไม่มีความเสื่อมเพราะความเจ็บไข้นั้นเลย
ท่านรัฐปาละรู้เห็นหรือได้ฟังอะไร
จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเสียเล่า?

ความเสื่อมจากโภคสมบัติเป็นไฉน?
ท่านรัฐปาละ คนบางคนในโลกนี้ เป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก
โภคสมบัติเหล่านั้นของเขาถึงความสิ้นไปโดยลำดับ
เขาคิดเห็นดังนี้ว่า เมื่อก่อนเราเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก
โภคสมบัติเหล่านั้นของเราถึงความสิ้นไปโดยลำดับแล้ว
ก็การที่เราจะได้โภคสมบัติที่ยังไม่ได้
หรือการที่เราจะทำโภคสมบัติที่ได้แล้วให้เจริญ ไม่ใช่ทำได้ง่าย
อย่ากระนั้นเลย เราพึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด
เขาประกอบด้วยความเสื่อมจากโภคสมบัตินั้น
จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
นี้เรียกว่าความเสื่อมจากโภคสมบัติ
ส่วนท่านรัฐปาละเป็นบุตรของตระกูลเลิศในถุลลโกฏฐิตนิคมนี้
ไม่มีความเสื่อมจากโภคสมบัตินั้น ท่านรัฐปาละรู้เห็น หรือได้ฟังอะไร
จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเสียเล่า?

ความเสื่อมจากญาติเป็นไฉน?
ท่านรัฐปาละ คนบางคนในโลกนี้ มีมิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิตเป็นอันมาก
ญาติเหล่านั้นของเขาถึงความสิ้นไปโดยลำดับ
เขาคิดเห็นดังนี้ว่า เมื่อก่อนเรามีมิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิตเป็นอันมาก
(เดี๋ยวนี้) ญาติของเรานั้นถึงความสิ้นไปโดยลำดับ
ก็การที่เราจะได้โภคสมบัติที่ยังไม่ได้
หรือการที่เราจะทำโภคสมบัติที่ได้แล้วให้เจริญ ไม่ใช่ทำได้ง่าย
อย่ากระนั้นเลย เราพึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด
เขาประกอบด้วยความเสื่อมจากญาตินั้น จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
นี้เรียกว่าความเสื่อมจากญาติ
ส่วนท่านรัฐปาละ มีมิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิตในถุลลโกฏฐิตนิคมนี้เป็นอันมาก
ไม่ได้มีความเสื่อมจากญาติเลย ท่านรัฐปาละ รู้เห็นหรือได้ฟังอะไร
จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเสียเล่า?

ท่านรัฐปาละ ความเสื่อม ๔ ประการนี้
ที่คนบางพวกในโลกนี้ถึงเข้าแล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
ท่านรัฐปาละไม่ได้มีความเสื่อมเหล่านั้นเลย ท่านรัฐปาละรู้เห็นหรือได้ฟังอะไร
จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเสียเล่า?

ท่านพระรัฐปาละได้กราบทูลตอบว่า มีอยู่ มหาบพิตร
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงแสดงธัมมุทเทส ๔ ข้อ
ที่อาตมภาพรู้เห็นและได้ฟังแล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
ธัมมุทเทส ๔ ข้อเป็นไฉน? คือ
ข้อที่หนึ่งว่า โลกอันชรานำเข้าไป ไม่ยั่งยืน
ข้อที่สองว่า โลกไม่มีผู้ต้านทาน ไม่เป็นใหญ่เฉพาะตน
ข้อที่สามว่า โลกไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละสิ่งทั้งปวงไป
ข้อที่สี่ว่า โลกบกพร่องอยู่เป็นนิตย์ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา

โลกอันชรานำไป ไม่ยั่งยืน จะพึงเห็นได้อย่างไร?
ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตรจะทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นเป็นไฉน
มหาบพิตรเมื่อมีพระชนมายุ ๒๐ ปีก็ดี ๒๕ ปีก็ดี
ในเพลงช้างก็ดี เพลงม้าก็ดี เพลงรถก็ดี เพลงธนูก็ดี เพลงอาวุธก็ดี
ทรงศึกษาอย่างคล่องแคล่ว ทรงมีกำลังพระเพลา มีกำลังพระพาหา
มีพระกายสามารถ เคยทรงเข้าสงครามมาแล้วหรือ?

ท่านรัฐปาละ ข้าพเจ้าเมื่อมีอายุ ๒๐ ปีก็ดี ๒๕ ปีก็ดี ในเพลงช้างก็ดี
เพลงม้าก็ดี เพลงรถก็ดี เพลงธนูก็ดี เพลงอาวุธก็ดี ได้ศึกษาอย่างคล่องแคล่ว
มีกำลังขา มีกำลังแขน มีตนสามารถ เคยเข้าสงครามมาแล้ว
บางครั้งข้าพเจ้าสำคัญว่ามีฤทธิ์ ไม่เห็นใครจะเสมอด้วยกำลังของตน

ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตรจะทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นเป็นไฉน
แม้เดี๋ยวนี้ มหาบพิตรก็ยังมีกำลังพระเพลา มีกำลังพระพาหา
มีพระกายสามารถเข้าสงครามเหมือนฉะนั้นได้หรือ?

ท่านรัฐปาละ ข้อนี้หามิได้ เดี๋ยวนี้ ข้าพเจ้าแก่แล้ว เจริญวัยแล้ว
เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาล ผ่านวัยมาโดยลำดับแล้ว วัยของข้าพเจ้าล่วงเข้าแปดสิบ
บางครั้งข้าพเจ้าคิดว่า จักย่างเท้าที่นี้ก็ไพล่ย่างไปทางอื่น

ดูกรมหาบพิตร เนื้อความนี้แล ที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ทรงหมายถึงตรัสธัมมุทเทสข้อที่หนึ่งว่า โลกอันชรานำเข้าไปไม่ยั่งยืน
ที่อาตมภาพรู้เห็นและได้ฟังแล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

ดูกรท่านรัฐปาละ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว
ข้อว่าโลกอันชรานำเข้าไป ไม่ยั่งยืนนี้
อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ตรัสดีแล้ว
ดูกรท่านรัฐปาละ เป็นความจริง โลกอันชรานำเข้าไป ไม่ยั่งยืน

โลกไม่มีผู้ต้านทาน ไม่เป็นใหญ่เฉพาะตน จะพึงเห็นได้อย่างไร?
ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตรจะทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นเป็นไฉน
มหาบพิตรเคยทรงประชวรหนักบ้างหรือไม่?

ดูกรท่านรัฐปาละ ข้าพเจ้าเคยเจ็บหนักอยู่ บางครั้ง บรรดามิตร อำมาตย์
ญาติสาโลหิตแวดล้อมข้าพเจ้าอยู่ ด้วยสำคัญว่า
พระเจ้าโกรัพยะจักสวรรคตบัดนี้ พระเจ้าโกรัพยะจักสวรรคตบัดนี้ ดังนี้

ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตรจะทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นเป็นไฉน
มหาบพิตรได้มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิต (ที่มหาบพิตรจะขอร้อง) ว่า
มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิต ผู้เจริญ ของเราที่มีอยู่ทั้งหมด
จงมาช่วยแบ่งเวทนานี้ไป โดยให้เราได้เสวยเวทนาเบาลง ดังนี้
หรือว่ามหาบพิตรต้องเสวยเวทนาแต่พระองค์เดียว?

ดูกรท่านรัฐปาละ ข้าพเจ้าจะได้มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิต (ที่ข้าพเจ้าจะขอร้อง) ว่า
มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิตที่มีอยู่ทั้งหมด จงมาช่วยแบ่งเวทนานี้ไป
โดยให้เราได้เสวยเวทนาเบาลงไป ดังนี้ หามิได้
ที่แท้ ข้าพเจ้าต้องเสวยเวทนานั้นแต่ผู้เดียว.

ดูกรมหาบพิตร เนื้อความนี้แล
ที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงหมายถึงตรัสธัมมุทเทสข้อที่สองว่า
โลกไม่มีผู้ต้านทาน ไม่เป็นใหญ่เฉพาะตน
ที่อาตมภาพรู้เห็นและได้ฟังแล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

ดูกรท่านรัฐปาละ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีแล้ว
ข้อว่า โลกไม่มีผู้ต้านทาน ไม่เป็นใหญ่เฉพาะตนนี้
อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นตรัสดีแล้ว
ท่านรัฐปาละ เป็นความจริง โลกไม่มีผู้ต้านทาน ไม่เป็นใหญ่เฉพาะตน

โลกไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องทิ้งสิ่งทั้งปวงไป จะพึงเห็นได้อย่างไร?
ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตรจะทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นเป็นไฉน
เดี๋ยวนี้ มหาบพิตรเอิบอิ่ม พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ บำเรอพระองค์อยู่ ฉันใด
มหาบพิตรจักได้สมพระราชประสงค์ว่า แม้ในโลกหน้า เราจักเป็นผู้เอิบอิ่ม
พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ บำเรอตนอยู่ ฉันนั้น
หรือว่าชนเหล่าอื่นจักปกครองโภคสมบัตินี้
ส่วนมหาบพิตรก็จักเสด็จไปตามยถากรรม?

ท่านรัฐปาละ เดี๋ยวนี้ ข้าพเจ้าเอิบอิ่ม พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ บำเรอตนอยู่ ฉันใด
ข้าพเจ้าจักไม่ได้ความประสงค์ว่า แม้ในโลกหน้า เราจะเป็นผู้เอิบอิ่ม
พรั่งพร้อมกามคุณ ๕ บำเรอตนอยู่ ฉันนั้น
ที่แท้ ชนเหล่าอื่นจักปกครองโภคสมบัตินี้ ส่วนข้าพเจ้าก็จักไปตามยถากรรม.

ดูกรมหาบพิตร เนื้อความนี้แล
อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงหมายถึงตรัสธัมมุทเทสข้อที่สามว่า
โลกไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป
ที่อาตมภาพรู้เห็นและได้ฟังแล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

ดูกรท่านรัฐปาละ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีแล้ว
ข้อว่า โลกไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไปนี้
อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ตรัสดีแล้ว
ท่านรัฐปาละ เป็นความจริง ไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป

โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา จะพึงเห็นได้อย่างไร?
ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตรจะเข้าพระทัยความข้อนั้นเป็นไฉน
มหาบพิตรทรงครอบครองกุรุรัฐอันเจริญอยู่หรือ?

อย่างนั้น ท่านรัฐปาละ ข้าพเจ้าครอบครองกุรุรัฐอันเจริญอยู่.

มหาบพิตรจักเข้าพระทัยความข้อนั้นเป็นไฉน
ราชบุรุษของมหาบพิตรที่กุรุรัฐนี้ มาจากทิศบูรพา เขาเข้าเฝ้ามหาบพิตร
แล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะมหาราชเจ้า พระองค์พึงทรงทราบว่า
ข้าพระพุทธเจ้ามาจากทิศบูรพา ในทิศนั้น ข้าพระพุทธเจ้า ได้เห็นชนบทใหญ่
มั่งคั่งและเจริญ มีชนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น ในชนบทนั้น
มีพลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้ามาก มีสัตว์อชินะที่ฝึกแล้วมาก
มีเงินและทองทั้งที่ยังไม่ได้ทำ ทั้งที่ทำแล้วก็มาก ในชนบทนั้น สตรีปกครอง
พระองค์อาจจะรบชนะได้ด้วยกำลังพลประมาณเท่านั้น
ขอพระองค์จงไปรบเอาเถิด มหาราชเจ้า ดังนี้
มหาบพิตรจะทรงทำอย่างไรกะชนบทนั้น?

ดูกรท่านรัฐปาละ พวกเราก็ไปรบเอาชนบทนั้นมาครอบครองเสียน่ะซิ.

มหาบพิตรจักเข้าพระทัยความข้อนั้นเป็นไฉน
ราชบุรุษของมหาบพิตรที่กุรุรัฐนี้ มาจากทิศประจิม เขาเข้าเฝ้ามหาบพิตร
แล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะมหาราชเจ้า พระองค์พึงทรงทราบว่า
ข้าพระพุทธเจ้ามาจากทิศประจิม ในทิศนั้น ข้าพระพุทธเจ้า ได้เห็นชนบทใหญ่
มั่งคั่งและเจริญ มีชนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น ในชนบทนั้น
มีพลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้ามาก มีสัตว์อชินะที่ฝึกแล้วมาก
มีเงินและทองทั้งที่ยังไม่ได้ทำ ทั้งที่ทำแล้วก็มาก ในชนบทนั้น สตรีปกครอง
พระองค์อาจจะรบชนะได้ด้วยกำลังพลประมาณเท่านั้น
ขอพระองค์จงไปรบเอาเถิด มหาราชเจ้า ดังนี้
มหาบพิตรจะทรงทำอย่างไรกะชนบทนั้น?

ดูกรท่านรัฐปาละ พวกเราก็ไปรบเอาชนบทนั้นมาครอบครองเสียน่ะซิ.

มหาบพิตรจักเข้าพระทัยความข้อนั้นเป็นไฉน
ราชบุรุษของมหาบพิตรที่กุรุรัฐนี้ มาจากทิศอุดร เขาเข้าเฝ้ามหาบพิตร
แล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะมหาราชเจ้า พระองค์พึงทรงทราบว่า
ข้าพระพุทธเจ้ามาจากทิศอุดร ในทิศนั้น ข้าพระพุทธเจ้า ได้เห็นชนบทใหญ่
มั่งคั่งและเจริญ มีชนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น ในชนบทนั้น
มีพลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้ามาก มีสัตว์อชินะที่ฝึกแล้วมาก
มีเงินและทองทั้งที่ยังไม่ได้ทำ ทั้งที่ทำแล้วก็มาก ในชนบทนั้น สตรีปกครอง
พระองค์อาจจะรบชนะได้ด้วยกำลังพลประมาณเท่านั้น
ขอพระองค์จงไปรบเอาเถิด มหาราชเจ้า ดังนี้
มหาบพิตรจะทรงทำอย่างไรกะชนบทนั้น?

ดูกรท่านรัฐปาละ พวกเราก็ไปรบเอาชนบทนั้นมาครอบครองเสียน่ะซิ.

มหาบพิตรจักเข้าพระทัยความข้อนั้นเป็นไฉน
ราชบุรุษของมหาบพิตรที่กุรุรัฐนี้ มาจากทิศทักษิณ เขาเข้าเฝ้ามหาบพิตร
แล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะมหาราชเจ้า พระองค์พึงทรงทราบว่า
ข้าพระพุทธเจ้ามาจากทิศทักษิณ ในทิศนั้น ข้าพระพุทธเจ้า ได้เห็นชนบทใหญ่
มั่งคั่งและเจริญ มีชนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น ในชนบทนั้น
มีพลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้ามาก มีสัตว์อชินะที่ฝึกแล้วมาก
มีเงินและทองทั้งที่ยังไม่ได้ทำ ทั้งที่ทำแล้วก็มาก ในชนบทนั้น สตรีปกครอง
พระองค์อาจจะรบชนะได้ด้วยกำลังพลประมาณเท่านั้น
ขอพระองค์จงไปรบเอาเถิด มหาราชเจ้า ดังนี้
มหาบพิตรจะทรงทำอย่างไรกะชนบทนั้น?

ดูกรท่านรัฐปาละ พวกเราก็ไปรบเอาชนบทนั้นมาครอบครองเสียน่ะซิ.

มหาบพิตรจักเข้าพระทัยความข้อนั้นเป็นไฉน
ราชบุรุษของมหาบพิตรที่กุรุรัฐนี้ มาจากสมุทรฟากโน้น เขาเข้าเฝ้ามหาบพิตร
แล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะมหาราชเจ้า พระองค์พึงทรงทราบว่า
ข้าพระพุทธเจ้ามาจากสมุทรฟากโน้น ในสมุทรฟากโน้น
ข้าพระพุทธเจ้า ได้เห็นชนบทใหญ่ มั่งคั่งและเจริญ มีชนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น
ในชนบทนั้น มีพลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้ามาก มีสัตว์อชินะที่ฝึกแล้วมาก
มีเงินและทองทั้งที่ยังไม่ได้ทำ ทั้งที่ทำแล้วก็มาก ในชนบทนั้น สตรีปกครอง
พระองค์อาจจะรบชนะได้ด้วยกำลังพลประมาณเท่านั้น
ขอพระองค์จงไปรบเอาเถิด มหาราชเจ้า ดังนี้
มหาบพิตรจะทรงทำอย่างไรกะชนบทนั้น?

ดูกรท่านรัฐปาละ พวกเราก็ไปรบเอาชนบทนั้นมาครอบครองเสียน่ะซิ.

ดูกรมหาบพิตร เนื้อความนี้แล
อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงหมายถึงตรัสธัมมุทเทสข้อที่สี่ว่า
โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา
ที่อาตมภาพรู้เห็นและได้ฟังแล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

ดูกรท่านรัฐปาละ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว
ข้อว่า โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหานี้
อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ตรัสดีแล้ว
ท่านรัฐปาละ เป็นความจริง โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา

(รัฐปาลสูตร พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์)
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=6825&Z=7248&pagebreak=0

ธัมมุทเทส ๔ ข้อดังกล่าวเป็นธรรมที่ท่านพระรัฐปาละได้ฟังแล้ว
จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
ในส่วนของเราเอง แม้ว่าจะไม่ถึงขั้นออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตก็ตาม
แต่ก็สามารถน้อมนำธัมมุทเทส ๔ ข้อดังกล่าวมาพิจารณาและระลึก
เพื่อสนใจใส่ใจในการประพฤติปฏิบัติธรรมได้ครับ