Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๓๐๑

pom auther งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

 

เผากิเลส

 

dhammajaree301

 

เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้สนทนากับญาติธรรมท่านหนึ่ง
ในเรื่องวิธีการภาวนาโดยการจุดธาตุไฟในกายมาเผากิเลส
อันแตกต่างจากเตโชกสิณที่ทำสมาธิโดยการเพ่งไฟจากภายนอก
ซึ่งผู้ภาวนาในวิธีการเช่นนี้ เชื่อว่าเป็นเทคนิควิธีการ
ที่ทำให้เกิดธาตุไฟในกายจุดขึ้นมาเผากิเลส ทำให้จิตบริสุทธิ์อย่างรวดเร็ว
เป็นวิปัสสนาทางลัดตัดตรงสู่นิพพาน
โดยนำวิธีการภาวนานี้มาจากคำว่า “อาตาปี สัมปชาโณ สติมา”

ในคราวนี้ เราก็จะมาพิจารณากันนะครับว่า
วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการที่ตรงตามพระธรรมคำสอนหรือไม่
เริ่มต้น ขอให้เรามาพิจารณา “มหาสติปัฏฐานสูตร” กันครับ
ในพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีนั้น ได้บรรยายไว้ว่า
“อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ อาตาปี สมฺปชาโน สติมา
วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ
เวทนาสุ เวทนานุปสฺสี วิหรติ อาตาปี สมฺปชาโน สติมา
วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ
จิตฺเต จิตฺตานุปสฺสี วิหรติ อาตาปี สมฺปชาโน สติมา
วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ
ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ อาตาปี สมฺปชาโน สติมา
วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ ฯ”
http://www.84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=10&item=273&items=28

โดยในพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยได้แปลว่า
“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑
พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑
พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑”
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=10&A=6257&Z=6764&pagebreak=0

ในอรรถกถาของ “มหาสติปัฏฐานสูตร” (ฉบับภาษาไทย) ได้อธิบายว่า
“บทว่า อาตาปี ผู้มีความเพียร ความว่า อาตาปะ ความเพียรในคำนั้นเป็นอย่างไร
การปรารภความเพียรเป็นไปทางใจ ฯลฯ สัมมาวายามะใด นี้เรียกว่า อาตปะ
บุคคลผู้ประกอบด้วยอาตาปะนี้ เหตุนั้น บุคคลนั้นจึงเรียกว่า อาตาปี.

บทว่า สมฺปชาโน ความว่า สัมปชัญญะในคำนั้นเป็นอย่างไร
ความรอบรู้ ความรู้ทั่ว ฯลฯ ความเห็นชอบ นี้เรียกว่า สัมปชัญญะ
บุคคลใดประกอบแล้ว ฯลฯ มาตามพร้อมแล้ว ด้วยสัมปชัญญะนี้
เหตุนั้น บุคคลนั้นจึงเรียกว่า สมฺปชาโน.

บทว่า สติมา ความว่า สติในคำนั้นเป็นอย่างไร
ความระลึกได้ ความระลึกถึง ฯลฯ ความระลึกชอบ นี้เรียกว่า สติ
บุคคลใดประกอบแล้ว ฯลฯ มาตามพร้อมแล้วด้วยสตินี้
เหตุนั้น บุคคลนั้นจึงเรียกว่า สติมา.
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=10&i=273&p=2#อุทเทสวารแห่งเวทนาจิตตธัมมานุปัสสนา

เราจะสังเกตได้ว่าทั้งใน “มหาสติปัฏฐานสูตร” และในอรรถกถา
ไม่ได้กล่าวถึงการใช้ธาตุไฟมาเผากิเลสเลยนะครับ
ดังนั้นวิธีการเช่นนี้ไม่ใช่วิธีการในแนวทางสติปัฏฐาน

ถามต่อไปว่าแล้วในพระธรรมคำสอนนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนให้เผากิเลสหรือไม่
ตอบว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนไว้นะครับ
โดยขอให้เราพิจารณาพระธรรมคำสอนดังต่อไปนี้

ใน “อสังขตสังยุตต์” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค) สอนว่า
[๖๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทางที่จะให้ถึงอสังขตะเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความเพียรเครื่องเผากิเลส
มีสัมปชัญญะ มีสติ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่
พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ นี้เรียกว่าทางที่จะให้ถึงอสังขตะ ฯ
[๖๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทางที่จะให้ถึงอสังขตะเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความเพียรเครื่องเผากิเลส
มีสัมปชัญญะ มีสติ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่
พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ นี้เรียกว่าทางที่จะให้ถึงอสังขตะ ฯ
[๖๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทางที่จะให้ถึงอสังขตะเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความเพียรเครื่องเผากิเลส
มีสัมปชัญญะ มีสติ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่
พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ นี้เรียกว่าทางที่จะให้ถึงอสังขตะ ฯ
[๖๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทางที่จะให้ถึงอสังขตะเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความเพียรเครื่องเผากิเลส
มีสัมปชัญญะ มีสติ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่
พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ นี้เรียกว่าทางที่จะให้ถึงอสังขตะ ฯ
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=18&A=9079&w=%E0%BC%D2%A1%D4%E0%C5%CA

ใน “พรหมชาลสูตร” (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค) สอนว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้
อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส อาศัยความเพียรที่ตั้งมั่น อาศัยความประกอบเนืองๆ
อาศัยความไม่ประมาท อาศัยมนสิการโดยชอบ
แล้วบรรลุเจโตสมาธิอันเป็นเครื่องตั้งมั่นแห่งจิต”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=9&A=1&w=%E0%BC%D2%A1%D4%E0%C5%CA

ใน “ปาฏิกสูตร” (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค) สอนว่า
“ดูกรท่านทั้งหลาย บรรดาสัตว์จำพวกนั้นสัตว์ใดเกิดก่อน สัตว์นั้นมีอายุยืนกว่า
มีผิวพรรณงามกว่า มีศักดิ์มากกว่า ส่วนสัตว์ที่เกิดภายหลังมีอายุน้อยกว่า
มีผิวพรรณทรามกว่า มีศักดิ์น้อยกว่า
ดูกรท่านทั้งหลาย ก็เป็นฐานะที่จะมีได้แล
ที่สัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งจุติจากชั้นนั้นแล้วมาเป็นอย่างนี้
เมื่อมาเป็นอย่างนี้แล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
เมื่อบวชแล้ว อาศัยความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส อาศัยความเพียรที่ตั้งมั่น
อาศัยความประกอบเนืองๆ อาศัยความไม่ประมาท
อาศัยมนสิการโดยชอบ แล้วบรรลุเจโตสมาธิ”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=11&A=1&w=%E0%BC%D2%A1%D4%E0%C5%CA

จะเห็นได้ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ทรงสอนว่าให้ใช้ธาตุไฟเผากิเลส
แต่ท่านทรงสอนไว้ว่าให้ใช้ “ความเพียร” เป็นเครื่องเผากิเลสครับ
ในลำดับต่อไป เรามาพิจารณากันว่าการใช้ความเพียรเผากิเลสนั้นเป็นอย่างไร
ใน “อโนตตัปปิสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค) ได้เล่าถึง
บทสนทนาธรรมระหว่างท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหากัสสปะ
โดยท่านพระสารีบุตรได้ถามว่า
“อาวุโส ก็ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีความเพียรเครื่องเผากิเลสอย่างไร ฯ”
ท่านพระมหากัสสปะได้ตอบว่า “อาวุโส ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
ทำความเพียรเครื่องเผากิเลส โดยคิดว่า อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดขึ้นแก่เรา
เมื่อเกิดขึ้น จะพึงเป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์
ทำความเพียรเครื่องเผากิเลส โดยคิดว่า อกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
เมื่อเรายังละไม่ได้ จะพึงเป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์
ทำความเพียรเครื่องเผากิเลส โดยคิดว่า กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นแก่เรา
เมื่อไม่เกิดขึ้น จะพึงเป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์
ทำความเพียรเครื่องเผากิเลส โดยคิดว่า กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
เมื่อดับ จะพึงเป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์
อาวุโส ด้วยอาการอย่างนี้แล ภิกษุจึงจะชื่อว่าเป็นผู้มีความเพียรเครื่องเผากิเลส ฯ”
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=16&A=5151&Z=5211&pagebreak=0

โดยสรุปแล้ว เรื่องของการเผากิเลสนั้นเป็นเรื่องของการใช้ความเพียร
หรือใช้ “สัมมาวายามะ” (ความเพียรชอบ) ไม่ใช่การใช้ธาตุไฟแต่อย่างใด
นอกจากนี้แล้ว เราย่อมไปสั่งธาตุไฟภายในกายไม่ได้นะครับ
หากเราสามารถสั่งธาตุไฟได้แล้ว เวลาที่เราเจ็บป่วยเพราะมีอาการร้อนใน
เราก็ควรสั่งธาตุไฟภายในกายได้ว่าให้ร้อนน้อยลงได้ แต่เราสั่งเช่นนั้นไม่ได้
เพราะธาตุไฟซึ่งเป็นหนึ่งในธาตุสี่นั้น ก็เป็นอนัตตาเช่นกันที่เราไปสั่งไม่ได้
เราเรียนภาวนาก็เพื่อให้จิตเห็นและยอมรับความจริงว่า
ขันธ์ห้านี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ไม่ใช่ว่าเพื่อให้เราสามารถไปสั่งขันธ์ หรือธาตุใด ๆ ในกายได้