Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๓๐๐

pom auther งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

การคบมิตรดีและมิตรชั่ว

 

dhammajaree300

 

ในคราวนี้เรามาสนทนาในเรื่องของการคบมิตรดีและมิตรชั่วกันนะครับ
การคบมิตรที่ดีนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อมุ่งพ้นสิ้นเชิง
หรือผู้ที่มุ่งหาความสุขอันแน่นอน
ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนถึงความสำคัญของความเป็นผู้มีมิตรดี
ว่าความมีมิตรดีเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์
โดยมีอยู่คราวหนึ่ง ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดีนี้
เป็นกึ่งหนึ่งแห่งพรหมจรรย์เชียวนะ พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า อานนท์ เธออย่าได้กล่าวอย่างนั้น
ก็ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นทีเดียว
ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังข้อนี้ได้ว่า
จักเจริญอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘
จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘

ก็ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ย่อมเจริญอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘
ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไร?
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก
อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ
ย่อมเจริญสัมมาสังกัปปะ อันอาศัยวิเวก
อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ
ย่อมเจริญสัมมาวาจา อันอาศัยวิเวก
อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ
ย่อมเจริญสัมมากัมมันตะ อันอาศัยวิเวก
อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ
ย่อมเจริญสัมมาอาชีวะ อันอาศัยวิเวก
อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ
ย่อมเจริญสัมมาวายามะ อันอาศัยวิเวก
อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ
ย่อมเจริญสัมมาสติ อันอาศัยวิเวก
อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ
ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก
อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ
ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ย่อมเจริญอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘
ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล
(พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค)
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=19&A=27&w=%C1%D4%B5%C3

ในอีกคราวหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสอนภิกษุทั้งหลาย
ว่า ความเป็นผู้มีมิตรดีเป็นเหตุให้เกิดอริยมรรค ดังนี้
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันหนึ่งมีอุปการะมาก
เพื่อความเกิดขึ้นแห่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘
ธรรมอันหนึ่งเป็นไฉน? คือ ความเป็นผู้มีมิตรดี
ภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้มีมิตรดี พึงหวังข้อนี้ได้ว่า
จักเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘
จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘
(พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค)
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=19&A=905&w=%C1%D4%B5%C3

นอกจากนี้แล้ว ความเป็นผู้มีมิตรดียังเป็น ๑ ในธรรม ๗ ประการ
เพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ อันประกอบด้วย
ความเป็นผู้เคารพในพระศาสดา ๑ ความเป็นผู้เคารพในธรรม ๑
ความเป็นผู้เคารพในสงฆ์ ๑ ความเป็นผู้เคารพในสิกขา ๑
ความเป็นผู้เคารพในสมาธิ ๑ ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ และ
ความเป็นผู้มีมิตรดีงาม ๑
(พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต)
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=23&A=726&w=%C1%D4%B5%C3

ในทางกลับกัน หากเราคบมิตรชั่วแล้ว ผลเสียหายย่อมเกิดแก่เราเอง
โดยพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถึงโทษแห่งการคบมิตรชั่วไว้ว่า
ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง
ที่เป็นเหตุให้อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น
หรือกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เสื่อมไป เหมือนความเป็นผู้มีมิตรชั่ว
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลมีมิตรชั่ว อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น
และกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป
(พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต)
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=20&A=247&w=%C1%D4%B5%C3

นอกจากนี้ การคบมิตรชั่วยังถือเป็นทางแห่งความเสื่อมจากทรัพย์สิน
(หรือที่เรียกกันว่าเป็นอบายมุข) ประการหนึ่ง
โดยการคบมิตรชั่วย่อมนำมาซึ่งโทษ ๖ ประการ ได้แก่
นำให้เป็นนักเลงการพนัน ๑ นำให้เป็นนักเลงเจ้าชู้ ๑
นำให้เป็นนักเลงเหล้า ๑ นำให้เป็นคนลวงผู้อื่นด้วยของปลอม ๑
นำให้เป็นคนโกงเขาซึ่งหน้า ๑ นำให้เป็นคนหัวไม้ ๑
โดยการคบมิตรชั่วย่อมทำให้บุคคลไม่ถึงประโยชน์สุขที่ตนเองจะพึงได้
(พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค)
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=11&A=3923&w=%C1%D4%B5%C3

ถ้าหากจะเปรียบเทียบแล้ว การที่เราจะมีศัตรูผู้มีปัญญา
ยังจะดีกว่าการที่เรามีมิตรผู้ไม่มีปัญญาเสียอีก
โดยยกตัวอย่างถึงกรณีบุตรช่างไม้ผู้โง่เขลาคนหนึ่ง
เห็นยุงกำลังเกาะศีรษะบิดาที่กำลังหลับอยู่
เขาต้องการจะประหารยุงนั้น จึงได้นำขวานมาฟันลงไปที่ยุง
ผลปรากฏว่ายังไม่ตาย แต่ศีรษะของบิดานั้นแตกเป็นเสี่ยง
เช่นนี้แล้ว ต่อให้เราจะมีศัตรูเป็นผู้มีปัญญา ก็ยังจะดีกว่า
เพราะศัตรูย่อมจะเกรงอาญาแผ่นดินและย่อมไม่มาฆ่าเราเช่นนี้
(มกสชาดก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก)
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=27&A=294&w=%C1%D4%B5%C3
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=44

เมื่อเราทราบถึงประโยชน์แห่งการคบมิตรดี
และโทษแห่งการคบมิตรชั่วแล้ว
คำถามต่อมาคือ เราจะพิจารณาอย่างไรว่า
มิตรที่เราคบอยู่นั้น เป็นมิตรดีหรือมิตรชั่วกันแน่?
โดยขอแนะนำให้ใช้หลักการพิจารณา ดังต่อไปนี้ว่า
เมื่อคบบุคคลใดแล้ว อกุศลธรรมย่อมเสื่อมไป กุศลธรรมย่อมเจริญขึ้น
บุคคลเช่นนั้นถือเป็นมิตรดี และเราควรคบหา
เมื่อคบบุคคลใดแล้ว อกุศลธรรมย่อมเจริญขึ้น กุศลธรรมย่อมเสื่อมไป
บุคคลเช่นนั้นถือเป็นมิตรชั่ว และเราไม่ควรคบหา
(เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์)
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=2899&Z=3431&pagebreak=0

โดยสรุปแล้ว บุคคลผู้ปรารถนาความสุขอันแน่นอน พึงเว้นจากการคบมิตรชั่ว
แล้วพึงคบหากัลยาณมิตร และพึงตั้งอยู่ในโอวาทของกัลยาณมิตรนั้น
เสมือนดังเต่าตาบอดเกาะขอนไม้เล็ก ๆ จมอยู่ในห้วงน้ำใหญ่ ฉันใด
บุคคลอาศัยคนเกียจคร้านเป็นอยู่ ย่อมจมลงในสังสารวัฏ ฉันนั้น
เพราะฉะนั้น บุคคลพึงเว้นการคบคนเกียจคร้าน มีความเพียรเลวทราม
แต่พึงอยู่ร่วมกับบัณฑิตทั้งหลาย ผู้สงัดเป็นอริยะ มีใจเด็ดเดี่ยว
เพ่งฌาน ปรารภความเพียรเป็นนิตย์
(วิมลเถรคาถา พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา)
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=26&A=6171&w=%C1%D4%B5%C3