Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๙๗

pom auther งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 
ที่พึ่งของชีวิต (ตอนจบ)

 

dhammajaree297

 

(ต่อจากตอนที่แล้ว)
ในคราวที่แล้วได้สนทนาถึง “นาถกรณธรรม ๑๐”
ได้แก่ ธรรม ๑๐ ประการที่จะทำให้ตนเองเป็นที่พึ่งของตนเองได้นะครับ

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนให้มีธรรมเป็นที่พึ่ง และมีตนเองเป็นที่พึ่ง
โดยใน “คิลานสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค)
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า
เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง
คือ จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่เถิด
คิลานสูตร ว่าด้วยมีตนเป็นเกาะ

การมีธรรมเป็นที่พึ่ง มีตนเองเป็นที่พึ่ง จะต้องทำอย่างไร
ในทางแรกคือ ประพฤติ “นาถกรณธรรม ๑๐” ดังที่ได้กล่าวในคราวที่แล้ว
ซึ่งบางท่านอาจจะบอกว่าไม่สามารถจำได้ครบทั้ง ๑๐ ประการ
จึงขอแนะนำอีกวิธีหนึ่ง สำหรับท่านที่สามารถเจริญสติปัฏฐาน ๔ ได้นั้น
การเจริญสติปัฏฐาน ๔ ก็เป็นการมีธรรมเป็นที่พึ่ง มีตนเองเป็นที่พึ่งนั่นเอง
โดยใน “จักกวัตติสูตร” (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า ภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง
จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่
ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง
มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง เป็นไฉน?

๑. ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ฯ

๒. ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ฯ

๓. ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ฯ

๔. ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ฯ

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง
มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ อย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวไปในโคจร ซึ่งเป็นวิสัยอันสืบมาจากบิดาของตน
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในโคจร ซึ่งเป็นวิสัยอันสืบมาจากบิดาของตน
มารจักไม่ได้โอกาส มารจักไม่ได้อารมณ์
ภิกษุทั้งหลาย บุญนี้เจริญขึ้นอย่างนี้ เพราะเหตุถือมั่นธรรมทั้งหลายอันเป็นกุศล ฯ

จักกวัตติสูตร (๒๖)


ในอรรถกถาของ “จักกวัตติสูตร” (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค)
อธิบายว่า เมื่อภิกษุเที่ยวไปในแดนอโคจร อันเป็นถิ่นของปรปักษ์
มารย่อมได้ช่อง มารย่อมได้อารมณ์
ถามว่าอะไรคือ “อโคจร” ถิ่นของปรปักษ์สำหรับภิกษุ
ตอบว่า คือ กามคุณ ๕ ได้แก่รูป รส กลิ่น เสียง และโผฏฐัพพะอันน่าปรารถนา
น่าใคร่น่าพึงใจ ประกอบด้วยความใคร่เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
แต่เมื่อเที่ยวไปในแดนโคจร มารย่อมไม่ได้ช่อง มารย่อมไม่ได้อารมณ์
ถามว่าอะไรคือ “โคจร” ของภิกษุ ซึ่งเป็นถิ่นของบิดามารดาของตน
ตอบว่า คือสติปัฏฐาน ๔
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=11&i=33

ใน “คาถาธรรมบท พุทธวรรคที่ ๑๔” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย
ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต) ได้สอนว่า
มนุษย์เป็นอันมาก ถูกภัยคุกคามแล้ว ย่อมถึงภูเขา ป่า
อารามและรุกขเจดีย์ว่า เป็นที่พึ่ง ที่พึ่งนั้นแลไม่เกษม ที่พึ่งนั้นไม่อุดม
เพราะบุคคลอาศัยที่พึ่งนั้น ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้
ส่วนผู้ใดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง
ย่อมเห็นอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความก้าวล่วงทุกข์
และอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ อันให้ถึงความสงบระงับทุกข์ ด้วยปัญญาอันชอบ
ที่พึ่งนั้นแลเป็นที่พึ่งอันเกษม ที่พึ่งนั้นอุดม
เพราะบุคคลอาศัยที่พึ่งนั้นย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้

คาถาธรรมบท พุทธวรรคที่ ๑๔

ซึ่งเนื้อหาในคาถาธรรมบทในส่วนนี้ก็เป็นเนื้อหาที่ได้นำมาใส่ไว้ใน
บทสวดมนต์ที่ชื่อว่า “เขมาเขมสรณทีปิกคาถา” ครับ
การมีพระธรรมเป็นที่พึ่งนั้น ย่อมถือว่าเป็นที่พึ่งอันเกษม
โดยแม้พระผู้มีพระภาคเจ้าเองก็ทรงมีพระธรรมเป็นที่พึ่ง
ใน “จักกวัตติสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชา ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ทรงอาศัยธรรมนั่นเอง สักการะธรรม เคารพธรรม ยำเกรงธรรม
มีธรรมเป็นธง มีธรรมเป็นตรา มีธรรมเป็นใหญ่ ทรงจัดการรักษาป้องกัน
และคุ้มครองที่ประกอบด้วยธรรมไว้ในกายกรรมว่า
กายกรรมเช่นนี้ควรเสพ กายกรรมเช่นนี้ไม่ควรเสพ ฯ

อีกประการหนึ่ง พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงธรรม
เป็นธรรมราชา ทรงอาศัยธรรมนั่นเอง สักการะธรรม เคารพธรรม ยำเกรงธรรม
ทรงมีธรรมเป็นธง มีธรรมเป็นตรา มีธรรมเป็นใหญ่ ทรงจัดการรักษาป้องกัน
และคุ้มครองที่ประกอบด้วยธรรมไว้ในวจีกรรมว่า
วจีกรรมเช่นนี้ควรเสพ วจีกรรมเช่นนี้ไม่ควรเสพ ฯ

อีกประการหนึ่ง พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงธรรม
เป็นธรรมราชา ทรงอาศัยธรรมนั่นเอง สักการะธรรม เคารพธรรมยำเกรงธรรม
มีธรรมเป็นธง มีธรรมเป็นตรา มีธรรมเป็นใหญ่ ทรงจัดการรักษาป้องกัน
และคุ้มครองที่ประกอบด้วยธรรมไว้ในมโนกรรมว่า
มโนกรรมเช่นนี้ควรเสพ มโนกรรมเช่นนี้ไม่ควรเสพ ฯ

พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชา
ทรงอาศัยธรรมนั่นเอง สักการะธรรม เคารพธรรม ยำเกรงธรรม
มีธรรมเป็นธง มีธรรมเป็นตรา มีธรรมเป็นใหญ่ ครั้นทรงจัดการรักษา
ป้องกันและคุ้มครองที่ประกอบด้วยธรรมไว้ในกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมแล้ว
ทรงยังธรรมจักรอันยอดเยี่ยมให้เป็นไปโดยธรรมเท่านั้น
จักรนั้น อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลก ให้เป็นไปด้วยไม่ได้ ฯ

จักกวัตติสูตร

โดยสรุปแล้ว ชีวิตคนเราที่ไม่มีที่พึ่งย่อมจะเป็นทุกข์นะครับ
ซึ่งในการที่จะหาที่พึ่งแห่งชีวิตนั้น เราก็พึงขวนขวายหาที่พึ่งอันเป็นที่เกษม
และพึ่งหาได้อย่างแท้จริง ซึ่งก็คือการมีธรรม มีตนเองเป็นที่พึ่งนั่นเอง