Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๙๕

pom auther งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 
ขันธ์ ๕

dhammajaree295

 

เวลาที่เราฟังธรรมเทศนาของครูบาอาจารย์นั้น
เราย่อมมักจะได้ยินได้ฟังคำว่า “ขันธ์ ๕” นะครับ
ในคราวนี้ เรามาสนทนากันถึงเรื่องขันธ์ ๕ กันครับ
ตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรมของ
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้อธิบายว่า
“ขันธ์ ๕” หรือ “เบญจขันธ์” หมายถึง
กองแห่งรูปธรรมและนามธรรม ๕ หมวด ที่ประชุมกันเข้าเป็นหน่วยรวม
ซึ่งบัญญัติเรียกว่า สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นต้น
หรือหมายถึง ส่วนประกอบ ๕ อย่างที่รวมเข้าเป็นชีวิต ได้แก่
๑. รูปขันธ์ คือ กองรูป ได้แก่ ส่วนที่เป็นรูป, ร่างกาย พฤติกรรม
และคุณสมบัติต่างๆ ของส่วนที่เป็นร่างกาย, ส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมด,
สิ่งที่เป็นร่างพร้อมทั้งคุณและอาการ
๒. เวทนาขันธ์ คือ กองเวทนา ได้แก่ ส่วนที่เป็นการเสวยอารมณ์,
ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉย ๆ
๓. สัญญาขันธ์ คือ กองสัญญา ได้แก่ ส่วนที่เป็นความกำหนดหมาย,
ความกำหนดได้หมายรู้ในอารมณ์ เช่นว่า ขาว เขียว ดำ แดง เป็นต้น
๔. สังขารขันธ์ คือ กองสังขาร ได้แก่ ส่วนที่เป็นความปรุงแต่ง,
สภาพที่ปรุงแต่งจิตให้ดีหรือชั่วหรือเป็นกลาง ๆ,
คุณสมบัติต่างๆ ของจิต มีเจตนาเป็นตัวนำ
ที่ปรุงแต่งคุณภาพของจิต ให้เป็นกุศล อกุศล อัพยากฤต
(“อัพยากฤต” แปลว่า ไม่จัดเป็นกุศล หรืออกุศล, กลาง ๆ ไม่ดีไม่ชั่ว)
๕. วิญญาณขันธ์ คือ กองวิญญาณ ได้แก่ ส่วนที่เป็นความรู้แจ้งอารมณ์,
ความรู้อารมณ์ทางอายตนะทั้ง ๖ มีการเห็น การได้ยิน เป็นต้น ได้แก่ วิญญาณ ๖

ขันธ์ ๕ นี้ ย่อลงมาเป็น ๒ คือ นาม และ รูป
โดยรูปขันธ์จัดเป็นรูป ส่วนอีก ๔ ขันธ์นั้นเป็นนาม
หากจะจัดอีกแบบหนึ่งเข้าในปรมัตถธรรม ๔ แล้ว วิญญาณขันธ์เป็น จิต
ส่วนเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ เป็น เจตสิก
รูปขันธ์เป็นรูป ส่วนนิพพานเป็นขันธวินิมุต คือ พ้นจากขันธ์ ๕
http://www.84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%A2%D1%B9%B8%EC&original=1

คำสอนในเรื่องขันธ์ ๕ นี้มีมากมายหลายพระสูตร
แต่หากจะสรุปโดยย่อแล้ว ผมจะขอยก “จูฬสัจจกสูตร” ซึ่งสอนว่า
(พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์)
ท่านพระอัสสชิกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแนะนำสาวกทั้งหลายอย่างนี้
และคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า มีส่วนอย่างนี้ ที่เป็นไปมากในสาวกทั้งหลายว่า
ภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง
รูปไม่ใช่ตน เวทนาไม่ใช่ตน สัญญาไม่ใช่ตน สังขารทั้งหลายไม่ใช่ตน วิญญาณไม่ใช่ตน
สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตน ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตน
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแนะนำสาวกทั้งหลายอย่างนี้
และคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า มีส่วนอย่างนี้ ที่เป็นไปมากในสาวกทั้งหลาย
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=12&A=7323&Z=7551&pagebreak=0
ซึ่งถ้าหากเราสวดมนต์ทำวัตรเช้า (แปล) แล้ว ก็คงจะจำได้ว่า
ข้อความเหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในบท “สังเวคปริกิตตนปาฐะ” ครับ

ในสมัยพุทธกาลนั้น ก็มีนักบวชนอกศาสนา (หรือที่เรียกว่า “นิครนถ์”) มากมาย
ที่ไม่เห็นด้วยกับคำสอนในพระพุทธศาสนา
โดยพวกเขาเหล่านั้นเห็นว่า ขันธ์ ๕ เป็นตัวตน ยกตัวอย่างเช่น
มีนิครนถ์คนหนึ่งชื่อว่า “สัจจกนิครนถ์” อาศัยอยู่ในเมืองเวสาลี
เป็นนักโต้ตอบ พูดยกตนว่าเป็นนักปราชญ์ ชนเป็นอันมากยอมยกว่าเป็นผู้มีความรู้ดี.
สัจจกนิครนถ์ได้กล่าวในที่ชุมชนเมืองเวสาลีอย่างนี้ว่า
เขาไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์ที่เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์
แม้ที่ปฏิญญาตนว่า เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ปรารภโต้ตอบวาทะกับเขาแล้ว
จะไม่พึงประหม่า ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว ไม่มีเหงื่อไหลจากรักแร้ แม้แต่คนเดียวเลย
หากแม้เขาจะปรารภโต้ตอบวาทะกับเสา (ที่ไม่มีเจตนา) ก็ตาม
หากเสานั้นจะปรารภโต้ตอบวาทะกับเขา ก็ต้องประหม่า สะทกสะท้าน หวั่นไหวเช่นกัน
สัจจกนิครนถ์เข้าใจว่าตนเองเป็นผู้มีปัญญามากถึงขนาดที่ว่าเขากลัวว่าท้องเขาจะแตก
เพราะว่าเต็มด้วยปัญญาเกินไป ทำให้เขาต้องเอาแผ่นเหล็กมาคาดท้องตนเอง

ต่อมา สัจจกนิครนถ์ได้เข้าไปหาเจ้าลิจฉวี ๕๐๐ องค์
เพื่อขอให้เจ้าลิจฉวีจงไปชมการสนทนาระหว่างเขากับพระผู้มีพระภาคเจ้า
โดยเขาอ้างว่าเขาจะลากถ้อยคำพระผู้มีพระภาคเจ้าให้เป็นไปตามคำของเขา
เสมือนบุรุษที่มีกำลังจับแกะอันมีขนยาวที่ขนแล้วลากมาลากไป ฉะนั้น
ในบรรดาเจ้าลิจฉวีเหล่านั้น ก็มีทั้งฝ่ายที่เห็นว่าสัจจกนิครนถ์จะเป็นฝ่ายชนะ
แล้วก็มีทั้งฝ่ายที่เห็นว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงเป็นฝ่ายชนะ
ในเวลานั้น เจ้าลิจฉวีประมาณ ๕๐๐ จึงได้ติดตามสัจจกนิครนถ์ไปยังป่ามหาวัน

พวกเขาเหล่านั้นได้เข้าไปสู่ป่ามหาวันจนถึงที่ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ
และได้ทูลปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว
สัจจกนิครนถ์ได้ทูลถามปัญหาพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ท่านพระโคดมผู้เจริญ ทรงแนะนำพวกสาวกอย่างไร
และคำสั่งสอนของพระองค์มีส่วนอย่างไรที่เป็นไปมากในพวกสาวก

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูกรอัคคิเวสสนะ เราแนะนำสาวกทั้งหลายอย่างนี้
และคำสั่งสอนของเรามีส่วนอย่างนี้ ที่เป็นไปมากในสาวกทั้งหลายว่า
รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง
รูปไม่ใช่ตน เวทนาไม่ใช่ตน สัญญาไม่ใช่ตน สังขารทั้งหลายไม่ใช่ตน วิญญาณไม่ใช่ตน
สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตน ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตน ดังนี้
ดูกรอัคคิเวสสนะ เราแนะนำสาวกทั้งหลายอย่างนี้ และคำสั่งสอนของเรามีส่วนอย่างนี้
ที่เป็นไปมากในสาวกทั้งหลาย

จากนั้น สัจจกนิครนถ์ได้ยกตัวอย่างว่า เปรียบเสมือนพืชพันธุ์ไม้เหล่าใดเหล่าหนึ่ง
ที่ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ พืชพันธุ์เหล่านั้นทั้งหมด ต้องอาศัยแผ่นดิน
ตั้งอยู่ในแผ่นดิน จึงถึงความเจริญงอกงาม ไพบูลย์ได้
หรือเปรียบเสมือนการงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ต้องทำด้วยกำลัง
อันบุคคลทำอยู่ การงานเหล่านั้นทั้งหมด บุคคลต้องอาศัยแผ่นดิน
ต้องตั้งอยู่บนแผ่นดิน จึงทำกันได้ ฉันใด
ปุริสบุคคลนี้ มีรูปเป็นตน มีเวทนาเป็นตน มีสัญญาเป็นตน มีสังขารเป็นตน
มีวิญญาณเป็นตน ต้องตั้งอยู่ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
จึงได้ประสบผลบุญ ผลบาป ฉันนั้น

(ถ้าเราพิจารณาถ้อยคำของสัจจกนิครนถ์นี้แล้ว
ก็จะเห็นได้ว่าเขาก็มีเหตุผล และไม่ใช่ง่ายที่จะถกเถียงกับเขานะครับ
โดยเขาอธิบายว่า บุคคลจะรับผลบุญหรือผลบาปได้
ก็ต้องมีตัวตนเสียก่อน ถ้าไม่มีตัวตนแล้ว จะรับผลบุญผลบาปได้อย่างไร)

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามสัจจกนิครนถ์ว่า ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า
รูปเป็นตนของเรา เวทนาเป็นตนของเรา สัญญาเป็นตนของเรา
สังขารทั้งหลายเป็นตนของเรา วิญญาณเป็นตนของเรา ใช่หรือไม่?
ซึ่งสัจจกนิครนถ์ได้กราบทูลตอบว่า เป็นความจริง ข้าพเจ้ากล่าวอย่างนี้
รูปเป็นตนของเรา เวทนาเป็นตนของเรา สัญญาเป็นตนของเรา
สังขารทั้งหลายเป็นตนของเรา วิญญาณเป็นตนของเรา

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสถามสัจจกนิครนถ์ต่อไปว่า
อำนาจของพระราชามหากษัตริย์ ผู้ได้ราชาภิเษกแล้ว เช่น
พระเจ้าปเสนทิโกศล หรือพระเจ้าอชาตศัตรู ย่อมสามารถฆ่าคนที่ควรฆ่า
ริบราชบาตรคนที่ควรริบ เนรเทศคนที่ควรเนรเทศพึงให้เป็นไปได้
ในพระราชอาณาเขตของพระองค์ใช่หรือไม่?

สัจจกนิครนถ์ได้กราบทูลตอบว่า อำนาจของพระราชามหากษัตริย์
ผู้ได้ราชาภิเษกแล้ว เช่น พระเจ้าปเสนทิโกศล หรือพระเจ้าอชาตศัตรู
ย่อมสามารถฆ่าคนที่ควรฆ่า ริบราชบาตรคนที่ควรริบ เนรเทศคนที่ควรเนรเทศ
พึงให้เป็นไปได้ในพระราชอาณาเขตของพระองค์
แม้แต่อำนาจของหมู่คณะเหล่านี้ คือ วัชชี มัลละ ย่อมสามารถฆ่าคนที่ควรฆ่า
ริบราชบาตรคนที่ควรริบ เนรเทศคนที่ควรเนรเทศ ยังเป็นไปได้ในแว่นแคว้นของตน
เหตุไรเล่า อำนาจเช่นนั้นของพระราชามหากษัตริย์ ผู้ได้ราชาภิเษกแล้ว
เช่น พระเจ้าปเสนทิโกศล หรือพระเจ้าอชาตศัตรู จะทำเช่นนั้นให้เป็นไปไม่ได้
อำนาจของพระราชามหากษัตริย์ ผู้ได้ราชาภิเษกแล้วย่อมกระทำได้

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสถามสัจจกนิครนถ์ต่อไปว่า
เช่นนี้แล้ว ในข้อที่ท่านกล่าวว่า รูปเป็นตนของเรา
อำนาจของท่านเป็นไปในรูปนั้นว่า รูปของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด
อย่าได้เป็นอย่างนี้เลย ดังนี้หรือ?
(กล่าวคือ ตรัสถามว่าท่านสามารถสั่งรูปได้หรือว่า ให้รูปจงเป็นอย่างนั้น
อย่าได้เป็นอย่างนี้ เช่น สั่งเล็บว่าอย่าได้ยาว สั่งร่างกายอย่าได้หิวกระหาย
สั่งใบหน้าไม่ให้มีสิวขึ้น สิ่งผมไม่ให้หลุดร่วง เป็นต้น)

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามอย่างนี้แล้วถึงสองครั้ง
สัจจกนิครนถ์ก็นิ่งเสีย ถึงสองครั้ง
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับสัจจกนิครนถ์ว่า
ดูกรอัคคิเวสสนะ กาลบัดนี้ ท่านจงตอบ ไม่ใช่กาลที่ท่านควรนิ่ง
ดูกรอัคคิเวสสนะ ผู้ใดที่ตถาคตถามปัญหาที่ชอบแก่เหตุแล้วถึงสามครั้ง มิได้ตอบ
ศีรษะของผู้นั้นจะแตกเป็นเจ็ดเสี่ยงในที่เช่นนั้น

ในเวลานั้น ท้าววชิรปาณีสักกเทวราช ได้ถือกระบองเพชรลุกเป็นไฟลอยอยู่ในอากาศ
ณ เบื้องบนศีรษะสัจจกนิครนถ์ ประกาศว่า ถ้าสัจจกนิครนถ์นี้
อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามปัญหาที่ชอบแก่เหตุแล้วถึงสามครั้ง มิได้ตอบปัญหา
เราจักผ่าศีรษะสัจจกนิครนถ์นั้น ๗ เสี่ยงในที่นี้แหละ
โดยมีเฉพาะ พระผู้มีพระภาคเจ้าและสัจจกนิครนถ์เท่านั้นที่เห็นท้าววชิรปาณีอยู่
สัจจกนิครนถ์ตกใจกลัวจนขนชัน แสวงหาพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นที่พึ่ง ได้กราบทูลว่า
ท่านพระโคดมผู้เจริญ ขอท่านจงทรงถามเถิด ข้าพเจ้าจักตอบ ณ บัดนี้

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสถามว่า ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า รูปเป็นตนของเรา
ดังนี้ อำนาจของท่านเป็นไปในรูปนั้นว่า รูปของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด
อย่าได้เป็นอย่างนี้เลย ดังนี้หรือ?
สัจจกนิครนถ์กราบทูลตอบว่า ข้อนี้เป็นไปไม่ได้เลย ท่านพระโคดมผู้เจริญ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามต่อไปว่า ดูกรอัคคิเวสสนะ
ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า เวทนาเป็นตนของเรา สัญญาเป็นตนของเรา
สังขารทั้งหลายเป็นตนของเรา วิญญาณเป็นตนของเรา
ดังนี้ อำนาจของท่านเป็นไปในเวทนา ในสัญญา ในสังขารทั้งหลาย
และในวิญญาณว่า เวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย และวิญญาณของเรา
จงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลย ดังนี้หรือ?
สัจจกนิครนถ์กราบทูลตอบว่า ข้อนี้เป็นไปไม่ได้เลย ท่านพระโคดมผู้เจริญ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามต่อไปว่า ดูกรอัคคิเวสสนะ
รูป เวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย และวิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
สัจจกนิครนถ์กราบทูลตอบว่า ไม่เที่ยง พระโคดมผู้เจริญ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามต่อไปว่า ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข?
สัจจกนิครนถ์กราบทูลตอบว่า สิ่งนั้นเป็นทุกข์ พระโคดมผู้เจริญ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามต่อไปว่า ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์
มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า
นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตนของเรา?
สัจจกนิครนถ์กราบทูลตอบว่า ข้อนั้นไม่ควรเลย พระโคดมผู้เจริญ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามต่อไปว่า ผู้ใดติดทุกข์ เข้าถึงทุกข์อยู่แล้ว
กล้ำกลืนทุกข์แล้ว ยังตามเห็นทุกข์ว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตนของเรา
ดังนี้ ผู้นั้นกำหนดรู้ทุกข์ได้เอง หรือจะทำทุกข์ให้สิ้นไปได้จะมีอยู่บ้างหรือ?
สัจจกนิครนถ์กราบทูลตอบว่า จะพึงมีได้อย่างไร ข้อนี้มีไม่ได้เลย พระโคดมผู้เจริญ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสต่อไปว่า ดูกรอัคคิเวสสนะ
เปรียบเหมือนบุรุษมีความต้องการแก่นไม้ เสาะหาแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้อยู่
ถือเอาผึ่งที่คมเข้าไปสู่ป่า เขาเห็นต้นกล้วยใหญ่ต้นหนึ่งในป่านั้น มีต้นตรง
ยังกำลังรุ่น ไม่คด เขาจึงตัดต้นกล้วยนั้นที่โคนต้น แล้วตัดยอด ริดใบออก
เขาไม่พบแม้แต่กระพี้ แล้วจะพบแก่นได้แต่ที่ไหน แม้ฉันใด
ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่านอันเราซักไซ้ไล่เลียง สอบสวน ในถ้อยคำของตนเอง
ก็เปล่า ว่าง แพ้ไปเอง ท่านได้กล่าววาจานี้ในที่ชุมชนในเมืองเวสาลีว่า
ท่านไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์ที่เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์
แม้ที่ปฏิญญาตนว่า เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ปรารภโต้ตอบวาทะกับท่าน
จะไม่พึงประหม่า ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว ไม่มีเหงื่อไหลจากรักแร้
แม้แต่คนเดียวเลย หากท่านได้ปรารภโต้ตอบวาทะกับเสา (ที่ไม่มีเจตนา)
แม้เสานั้นปรารภโต้ตอบวาทะกับท่านก็ต้องประหม่า สะทกสะท้าน หวั่นไหว
ดูกรอัคคิเวสสนะ หยาดเหงื่อของท่านบางหยาด
หยดจากหน้าผากลงยังผ้าห่มแล้วตกที่พื้น
ส่วนเหงื่อในกายของเราในเดี๋ยวนี้ไม่มีเลย
เมื่อตรัสดังนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคทรงเปิดพระกายมีพระฉวีดังทองในบริษัทนั้น
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว
สัจจกนิครนถ์นั่งนิ่งอึ้ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=12&A=7323&Z=7551&pagebreak=0

ดังนี้ จะเห็นได้ว่าเราไม่สามารถสั่งขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)
ให้เป็นไปตามใจปรารถนาเราได้ เราจึงไม่ควรจะเข้าใจว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวตน
แต่เราควรจะภาวนา เพื่อให้เห็นตามความเป็นจริงว่า
ขันธ์ ๕ นี้มีความแปรปรวนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน
ตามบทสนทนาในพระสูตรที่กล่าวแล้วข้างต้นครับ