Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๙๔

pom auther งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

สีลัพพตปรามาส

dhamajaree294

 

ในคราวนี้ เรามาสนทนากันถึงเรื่อง “สีลัพพตปรามาส” นะครับ
ตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ของ
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) นั้นให้ความหมาย
คำว่า “สีลัพพตปรามาส” แปลว่า
๑. ความยึดมั่นถือว่า บุคคลจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ด้วยศีลและวัตร
คือถือว่าเพียงประพฤติศีลและวัตรให้เคร่งครัดก็พอที่จะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้
โดยไม่ต้องอาศัยสมาธิและปัญญาก็ตาม
หรือถือศีลและวัตรที่งมงายหรืออย่างงมงายก็ตาม
๒. ความถือศีลพรต โดยสักว่า ทำตามๆ กันไปอย่างงมงาย
หรือโดยนิยมว่าขลังว่าศักดิ์สิทธิ์ ไม่เข้าใจความหมายและความมุ่งหมายที่แท้จริง
๓. ความเชื่อถือศักดิ์สิทธิ์ด้วยเข้าใจว่าจะมีได้ด้วยศีลหรือพรตอย่างนั้นอย่างนี้
ล่วงธรรมดาวิสัย
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%CA%D5%C5%D1%BE%BE%B5%BB%C3%D2%C1%D2%CA&original=1

“สีลัพพตปรามาส” เป็นในหนึ่งในสังโยชน์ ๓ ซึ่งประกอบด้วย
๑. สักกายทิฏฐิ หมายถึง ความเห็นว่าเป็นตัวของตน
๒. วิจิกิจฉา หมายถึง ความลังเลสงสัย
๓. สีลัพพตปรามาส หมายถึง ความถือมั่นศีลพรต
โดยที่จะสามารถละสังโยชน์ ๓ นี้ได้โดยเด็ดขาดนั้น
ก็ต่อเมื่อบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%CA%D1%A7%E2%C2%AA%B9%EC&original=1

ตั้งแต่อดีตก่อนพุทธกาลเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนั้น
ความถือศีลพรตที่ผิด ๆ ไม่ว่าจะเพราะสักว่าทำตามๆ กันอย่างงมงาย
หรือเพราะคิดขึ้นเองว่าทำอย่างนั้นอย่างนี้แล้วจะดีนั้น
ก็ได้มีการประพฤติปฏิบัติกันอยู่ทั่วไป และก็สอนให้ทำตาม ๆ กัน
โดยบางสิ่งนั้น กระทำไปแล้ว ไม่ได้เกิดประโยชน์ เพียงแค่ทำให้เสียเวลา
ในขณะที่บางสิ่งนั้นทำไปแล้ว กลับจะก่อให้เกิดโทษเสียด้วย
ซึ่งแม้ว่าเราจะยังไม่ใช่พระโสดาบันที่จะละสีลัพพตปรามาสได้เด็ดขาดก็ตาม
แต่หากเราทราบว่าสิ่งใดนั้นเป็นพรตที่ผิด ๆ แล้ว
เราก็ไม่ควรไปเสียเวลาชีวิตนำมาประพฤติปฏิบัติครับ

ใน “ตาลปุตตสูตร” เล่าว่าในสมัยพุทธกาลมีท่านที่เข้าใจว่า
ตนเองเป็นนักเต้นรำทำให้คนหัวเราะ รื่นเริง ด้วยคำจริงบ้าง คำเท็จบ้าง
ในท่ามกลางสถานเต้นรำ ในท่ามกลางสถานมหรสพ
เมื่อตนเองตายไป จะได้ไปสวรรค์
แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ไม่ใช่อย่างนั้น
เพราะนักเต้นรำสร้างความกำหนัด โทสะ และโมหะ ในท่ามกลางสถานเต้นรำ
ในท่ามกลางสถานมหรสพแก่สัตว์ทั้งหลายมากยิ่งขึ้น
นักเต้นรำเองนั้นก็มัวเมา ประมาท ตั้งอยู่ในความประมาท
เมื่อตายไป ย่อมบังเกิดในนรกหรือสัตว์เดียรัจฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=18&A=7768

ใน “โยธาชีวสูตร” เล่าว่าในสมัยพุทธกาลมีท่านที่เข้าใจว่า
ตนเองเป็นนักรบอาชีพได้อุตสาหะพยายามในสงคราม
เมื่อตนเองตายไป จะได้ไปสวรรค์
แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ไม่ใช่อย่างนั้น
เพราะนักรบอาชีพอุตสาหะพยายามในสงคราม ยึดหน่วงจิตกระทำไว้ไม่ดี
ตั้งจิตไว้ไม่ดีว่า สัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่า จงถูกแทง จงขาดสูญ จงพินาศ
ผู้นั้นเมื่อตายไป ย่อมเกิดในนรกหรือสัตว์เดียรัจฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=18&A=7823

ใน “ภูมกสูตร” เล่าว่าในสมัยพุทธกาลมีท่านที่เข้าใจว่า
พราหมณ์อาบน้ำทุกเช้าเย็น และบำเรอไฟ เมื่อตายแล้วจะไปสวรรค์
แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ไม่ใช่อย่างนั้น
ตราบใดที่บุคคลนั้นยังฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม
พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ
มากไปด้วยอภิชฌา มีจิตพยาบาท มีความเห็นผิดแล้ว
ย่อมพึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก อยู่ดี
โดยการอาบน้ำ และบำเรอไฟทุกวัน ไม่ได้มีผลช่วยให้ไปสวรรค์ได้
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=18&A=7904

ใน “กุกกุโรวาทสูตร” เล่าว่าในสมัยพุทธกาลมีท่านที่เข้าใจว่า
ตนเองประพฤติวัตรดังสุนัข เช่น บริโภคโภชนะที่วางไว้ ณ พื้นดิน เป็นต้น
หรือประพฤติตนเองดังโคแล้ว เมื่อตายไป จะได้ไปเป็นเทวดา
แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ไม่ใช่อย่างนั้น
บุคคลผู้บำเพ็ญปกติของสุนัข บำเพ็ญกิริยาของสุนัขให้บริบูรณ์ ไม่ขาดสาย
ครั้นแล้วเมื่อตายไป เขาย่อมเข้าถึงนรกหรือสัตว์ดิรัจฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง
ในขณะที่บุคคลผู้บำเพ็ญปกติของโค บำเพ็ญกิริยาของโคให้บริบูรณ์ ไม่ขาดสาย
ครั้นแล้วเมื่อตายไป เขาย่อมเข้าถึงนรกหรือสัตว์ดิรัจฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=1478&Z=1606&pagebreak=0

ก่อนหน้านี้ ผมก็ได้เห็นญาติธรรมบางท่านสอนให้ถือศีลพรตแบบผิด ๆ นะครับ
เช่น แนะนำให้ทำทาน โดยเอาตัวเองไปยืนให้ยุงกัดทุกวัน
เพื่อเป็นการทำทานให้เลือดยุง ซึ่งอันนี้เป็นความเข้าใจผิดนะครับ
ถ้าเลือกทำทานแบบนี้แล้วเราเกิดเป็นไข้เลือดออก หรือติดเชื้อไวรัสอื่นขึ้นมา
ทำให้ต้องไปนอนโรงพยาบาลหลายวัน มันจะเป็นโทษมากกว่าเป็นประโยชน์
ทำให้คนอื่น ๆ ในครอบครัวต้องเดือดร้อน
และเสียเวลาแพทย์และพยาบาลอีกด้วยแทนที่จะไปรักษาคนอื่นที่จำเป็น
นอกจากนี้ โดยสภาพแล้ว ยุงที่ไม่ได้เลือดเราในวันนั้น มันก็ไม่อดตายหรอกครับ
ยุงเหล่านั้นก็ยังสามารถหาอาหารทานได้ตามธรรมชาติตามปกติ
ดังนั้นแล้ว หากต้องการบริจาคเลือดแล้วล่ะก็
วิธีการง่าย ๆ ก็คือไปบริจาคที่สภากาชาด
ซึ่งก็จะนำเลือดไปบริจาคให้แก่มนุษย์ที่ต้องการ
โดยนอกจากจะได้บุญมากกว่าแล้ว ก็ยังปลอดภัย และไม่มีโทษด้วย

อีกกรณีหนึ่งนะครับ ญาติธรรมบางท่านแนะนำให้นำศีลของพระภิกษุมาถือ
โดยเข้าใจว่ายิ่งถือศีลมากข้อแล้วจะยิ่งทำให้บรรลุธรรมเร็ว
ซึ่งอันนี้ก็เป็นความเข้าใจผิดนะครับ
เพราะข้อปฏิบัติหลาย ๆ อย่างของพระภิกษุนั้นไม่เหมาะกับฆราวาส
ยกตัวอย่างเช่นว่าจะให้เราเลิกใส่เสื้อผ้าตามปกติ แล้วไปใส่สบงจีวร ก็ไม่ได้แล้ว
หรือจะให้เราไม่ต้องหุงหาอาหารทานเอง แล้วไปเดินขอเขาก็คงไม่ได้
หรือจะห้ามไม่ให้เรารับเงิน เราก็คงทำไม่ได้เช่นกัน
ดังนั้นแล้ว การที่ไปนำศีลของพระภิกษุมาถือนั้น เป็นความเข้าใจผิดที่ผิดครับ
ศีลของพระภิกษุก็เหมาะกับท่านทีเป็นภิกษุ
ส่วนเราเป็นฆราวาสเราก็พึงถือศีลของฆราวาสครับ

การสอนให้ถือศีลพรตแบบผิด ๆ นั้นยังมีอื่น ๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วนนะครับ
ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่เราต้องระวังก็คือพึงตรวจสอบกับคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ว่าสอดคล้องหรือตรงกันหรือไม่ ซึ่งก็จะช่วยให้เราไม่ต้องไปเสียเวลาชีวิตตนเอง
โดยเปล่าประโยชน์ หรือไปหลงเดินทางผิด ๆ ก่อให้เกิดโทษแก่ชีวิตตนเอง