Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๙๓

pom auther งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

หนังสือห้ามยื้อชีวิต

dhammajaree293

ในฉบับที่ ๒๙๑ ผมได้เล่าถึงเรื่องญาติท่านหนึ่งที่ประสบอุบัติเหตุ
และต้องรับการผ่าตัดสมอง แล้วก็มีอาการเป็นผักไม่รู้สึกตัวมาถึงปัจจุบัน
ซึ่งก็มีญาติธรรมบางท่านได้เคยถามผมนะครับว่า
หากตัวเราต้องประสบเหตุการณ์เช่นนั้นแล้ว
เราจะเลือกไม่รับการรักษาและขอจากไปอย่างสงบได้หรือไม่
ในคราวนี้ ผมก็จะขออธิบายในเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ครับ

เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา
ได้มีข่าวเกี่ยวกับโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา
ว่าได้มีการนำส่งผู้ป่วยชายอายุ ๗๐ ปี ซึ่งถูกพบหมดสติอยู่ที่ข้างถนน
โดยผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูง และไม่มีเอกสารใด ๆ ติดตัว
โดยผู้ป่วยได้ถูกนำตัวเข้าห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล

ในการช่วยเหลือชีวิตนั้น แพทย์จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
แต่ปรากฏว่าได้พบรอยสักตัวหนังสือบนหน้าอกของผู้ป่วยว่า
“Do Not Resuscitate” (DNR) แปลว่า ห้ามช่วยให้คืนชีพ หรือ ห้ามกู้ชีพ
ซึ่งหมายความว่าผู้ป่วยได้แสดงเจตนาไว้ว่าไม่ให้ทำการกู้ชีพผู้ป่วย
คณะแพทย์ภายในโรงพยาบาลจึงได้ทำการหารือกันว่าจะทำอย่างไร
กรณีดังกล่าวไม่ใช่ว่าจะสามารถตัดสินใจได้โดยง่าย
เพราะกฎหมายของรัฐฟลอริดามีข้อกำหนดที่ชี้เฉพาะเจาะจงมากเกี่ยวกับเรื่องนี้
โดยระบุว่า คำสั่งปฏิเสธการกู้ชีพจะต้องระบุเป็นลายลักษณ์อักษรลงบนกระดาษ
โดยมีแพทย์และผู้ป่วยลงชื่อยอมรับร่วมกัน
เพราะฉะนั้น ข้อความที่เป็นรอยสักจึงไม่มีผลในทางกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม คณะแพทย์ก็ไม่สามารถตัดประเด็นที่ว่า
ข้อความดังกล่าวเป็นความต้องการของผู้ป่วยทิ้งไปได้
โดยระหว่างที่กำลังตัดสินใจนั้น ผู้ป่วยมีชีพจรต่ำ
และความดันเลือดตกอยู่ในระดับที่น่าเป็นกังวล
ทางคณะแพทย์ตัดสินใจว่าต้องทำอะไรสักอย่าง
ซึ่งเชื่อว่าดีกว่าไม่ทำอะไรเลย และปล่อยให้ผู้ป่วยตาย
แพทย์จึงได้ทำการฉีดยาเพื่อกระตุ้นความดันเลือด
โดยหากสมมุติว่าตัวของผู้ป่วยไม่มีรอยสักคำสั่งดังกล่าวแล้ว
คณะแพทย์ก็ย่อมจะใช้เครื่องช่วยหายใจกับผู้ป่วยนี้ไปแล้ว

ต่อมา คณะกรรมการจริยธรรมของโรงพยาบาลได้เข้ามาร่วมหารือกับคณะแพทย์
และได้พิจารณาว่า ข้อความรอยสักดังกล่าวน่าจะเป็นความปรารถนาของคนไข้จริง ๆ
โดยเหตุผลหนึ่งที่สนับสนุนข้อสันนิษฐานนี้คือ
ที่ใต้รอยสักคำสั่งดังกล่าวมีลายเซ็นของเขากำกับอยู่ด้วย (คือสักลายเซ็นไว้ด้วย)
ขณะที่แพทย์ได้กล่าวถึงเรื่องรอยสักว่า บางคนอาจจะสักเพราะเมา
หรือสักในตอนที่ยังเป็นเด็กวัยรุ่น แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความคิดหรือความเชื่อเปลี่ยนไป
อาจจะไม่ได้ชอบหรือต้องการรอยสักนั้นแล้ว แต่ก็ไม่สามารถลบทิ้งได้ก็ได้
จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้คณะแพทย์ไม่สามารถสรุปการตัดสินใจที่แน่ชัดได้

หลังจากนั้นประมาณ ๒ ชั่วโมง ทางคณะแพทย์ได้พบเอกสารที่ยืนยันได้ว่า
ข้อความบนรอยสักของคนไข้รายนี้เป็นความปรารถนาของเขาจริง
และคนไข้รายนี้ได้มีการลงนามยอมรับคำสั่งปฏิเสธการกู้ชีพไว้ล่วงหน้าแล้ว
ซึ่งในขณะนั้น คนไข้มีอาการทรุดหนัก ทางคณะแพทย์จึงปล่อยให้เขาจากไปอย่างสงบ
https://hilight.kapook.com/view/164521
https://www.dailynews.co.th/foreign/613673
http://www.catdumb.com/unconscious-man-tattoo-339/

กรณีที่ยกมาข้างต้นนั้นเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในต่างประเทศนะครับ
ในกรณีประเทศไทยนั้น เรามีพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐
ซึ่งในมาตรา ๑๒ ของพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติว่า
“บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข
ที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน
หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้

การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง
ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่ง
แล้วมิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง”

ตามมาตรา ๑๒ ดังกล่าวข้างต้นนี้ ผมขอให้ข้อสังเกตบางประการ ดังต่อไปนี้

๑. บุคคลที่ทำหนังสือฉบับนี้ต้องเป็นผู้ป่วยทำเอง ไม่ใช่ให้บุคคลอื่นทำแทนให้
ซึ่งปัญหาก็คือ ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยจะไม่ได้ทำหนังสือแสดงเจตนานี้ไว้หรอก
บางรายก็อาจจะกล่าวด้วยวาจากับญาติไว้บ้าง แต่ก็ไม่ได้เคยทำหนังสือไว้เอง
พอเมื่อถึงเวลาที่ผู้ป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลจริง ๆ แล้ว
ก็กลายเป็นว่าญาติที่พาเข้าโรงพยาบาลต้องทำหนังสือ DNR นี้ให้
ซึ่งบางที แพทย์และโรงพยาบาลก็ไม่ค่อยสบายใจนะครับ
เพราะว่าถึงเวลาที่มีเรื่องทะเลาะเรียกค่าเสียหายกันจริง ๆ แล้ว
ญาติผู้ป่วยอาจจะไม่ได้มีคนเดียว โดยผู้ป่วยอาจจะมีญาติหลายคน
ซึ่งแม้ว่าญาติคนที่ทำหนังสือ DNR ไว้จะไม่ได้มาเรียกร้องอะไรก็ตาม
แต่ญาติคนอื่นที่ไม่ได้ทำหนังสือ DNR นี้เขาก็อาจจะอ้างว่าเขาไม่ได้รับรู้ด้วย
แล้วก็พยายามใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากโรงพยาบาลก็มี

ในบางกรณี ผู้ป่วยเองไม่ได้แต่งงานมีสามีและบุตร
ดังนั้น ญาติคนที่ทำหนังสือ DNR ให้
จึงอาจจะเป็นพี่น้อง ลูกพี่ลูกน้อง หรือหลาน ซึ่งก็จะห่างออกไป
ทำให้น้ำหนักของหนังสือ DNR นี้เบาลงไปอีก
หรือต้องพยายามไปตามญาติหลาย ๆ คนมาลงนาม ซึ่งก็จะไม่สะดวกกัน

๒. หนังสือที่ทำขึ้นดังกล่าวไม่ใช่จะสามารถปฏิเสธไม่รับการรักษาในทุกกรณี
แต่จะใช้เฉพาะกรณีที่ไม่รับการรักษาที่เป็นไป
เพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน
(กล่าวคือ รักษาไม่หายแล้ว ทำได้เพียงแค่ยื้อชีวิตไปเท่านั้น)
หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยเท่านั้น
ซึ่งหมายถึงว่า หากไม่ได้เจ็บป่วยร้ายแรงขึ้นขนาดวาระสุดท้ายรักษาไม่หาย
หรือไม่ใช่เป็นไปเพื่อยุติความทรมานจากการเจ็บป่วยแล้ว
หนังสือแสดงเจตนาดังกล่าวก็ไม่สามารถที่จะใช้ได้

๓. หนังสือที่ทำขึ้นจะต้องทำตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
(ซึ่งในรายละเอียดนั้น ผมจะอธิบายให้ต่อไปนะครับว่ามีอะไรบ้างและทำอย่างไร)
โดยส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่าโอกาสที่ชาวบ้านทั่ว ๆ ไป
จะมาอ่านและเข้าใจรายละเอียดในกฎกระทรวงนี้ไม่ใช่ง่ายเลย
จึงกลายเป็นว่าโอกาสที่ชาวบ้านจะทำหนังสือนี้ได้เองเป็นเรื่องยากมาก

๔. ในตอนท้ายของมาตรา ๑๒ บอกว่า เมื่อแพทย์หรือพยาบาลได้ปฏิบัติตาม
เจตนาของบุคคลผู้ทำหนังสือดังกล่าวแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้น
เป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง
ที่ต้องระบุเช่นนี้ก็เพราะว่า หากไม่มีหนังสือดังกล่าวแล้ว
แพทย์และพยาบาลย่อมมีหน้าที่ทำการรักษาเพื่อช่วยชีวิต
โดยหากไม่ดำเนินการดังกล่าวแล้ว
แพทย์หรือพยาบาลที่เกี่ยวข้องในการรักษาย่อมอาจจะมีความรับผิดได้
ดังนี้แล้ว จึงเป็นเรื่องที่เราต้องเห็นใจแพทย์และพยาบาลที่เกี่ยวข้องด้วย
ว่าบางทีท่านเหล่านั้น ไม่ได้ต้องการยื้อชีวิตผู้ป่วยให้ทรมานไปเรื่อยหรอก
แต่หากไม่ทำแล้ว ตนเองก็อาจจะมีความรับผิดได้

ในทางธรรมแล้ว การทำหนังสือ DNR หรือห้ามยื้อชีวิตในลักษณะนี้
ไม่ถือว่าเป็นการฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นบาปอกุศลนะครับ
เพราะเราไม่ได้มีพฤติการณ์ใด ๆ ที่กระทำการฆ่าตัวตาย
เราเพียงแต่ปล่อยให้ร่างกายตายไปตามอายุขัย
โดยไม่ให้มีการยื้อร่างกายเพื่อให้ทรมานต่อไปเรื่อย ๆ เท่านั้น
นอกจากนี้ ในเมื่อไม่สามารถรักษาหายแล้ว
เราก็อาจจะไม่ต้องการให้ญาติพี่น้องหรือบุคคลใดต้องมา
รับภาระหรือค่าใช้จ่ายดูแลร่างกายเราไปเรื่อย ๆ

จากที่ได้ให้ข้อสังเกตในมาตรา ๑๒ ข้างต้นแล้ว ผมจึงแนะนำว่า
สิ่งที่ดีที่สุดคือ ผู้ป่วยควรจะทำหนังสือนี้ไว้ด้วยตนเองครับ
จะช่วยเหลือทั้งญาติ แพทย์ และพยาบาลให้ไม่ต้องลำบากใจ หรือมีปัญหาภายหลัง
โดยการทำหนังสือเช่นนี้ เราเองสามารถทำได้แม้ในเวลาที่ยังไม่ป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ
เพราะถ้าหากจะรอจนเราป่วยหรือประสบอุบัติเหตุขึ้นมาแล้ว
บางครั้งเราเองอาจจะไม่อยู่ในสถานการณ์ที่จะทำหนังสือดังกล่าวได้แล้ว
เช่น ประสบอุบัติเหตุทำให้หมดสติไม่รู้สึกตัว
หรือกรณีอยู่ในสภาวะที่ไม่แน่ใจว่าสติสัมปชัญญะยังดีหรือไม่ เป็นต้น
ดังนั้นแล้ว เราจึงควรทำหนังสือนี้ไว้ตั้งแต่เวลาที่ยังไม่ป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ
และสั่งญาติสนิททุกคนไว้ให้เข้าใจตรงกัน ก็จะดีที่สุด

ในการทำหนังสือห้ามยื้อชีวิตตามหลักเกณฑ์ในกฎกระทรวงนั้น มีรายละเอียด ดังนี้
๑. หนังสือต้องมีความชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินการตามความประสงค์ได้
โดยมีข้อมูลเป็นแนวทางในการทำหนังสือ ดังต่อไปนี้
(๑.๑) รายการที่แสดงข้อมูลของผู้ทำหนังสือโดยระบุชื่อ นามสกุล อายุ
หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน และที่อยู่หรือหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้
(๑.๒) วัน เดือน ปีที่ทำหนังสือ
(๑.๓) ชื่อ นามสกุล หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนของพยาน
และความเกี่ยวข้องกับผู้ทำหนังสือ
(๑.๔) ระบุประเภทของบริการสาธารณสุขที่ไม่ต้องการจะได้รับ
(๑.๕) ในกรณีที่ผู้ทำหนังสือให้ผู้อื่นเขียนหรือพิมพ์หนังสือแล้ว
ให้ระบุชื่อ นามสกุล และหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เขียนหรือผู้พิมพ์ไว้ด้วย

๒. หนังสือต้องลงลายมือชื่อหรือลายพิมพ์นิ้วมือของ (๒.๑) ผู้ทำหนังสือ
(๒.๒) พยาน และ (๒.๓) ผู้เขียนหรือผู้พิมพ์ไว้ด้วย

๓. ผู้ทำหนังสืออาจระบุชื่อบุคคลเพื่อทำหน้าที่อธิบายความประสงค์ที่แท้จริง
ของผู้ทำหนังสือที่ระบุไว้ไม่ชัดเจนได้ โดยบุคคลดังกล่าวต้องลงลายมือชื่อ
หรือลายพิมพ์นิ้วมือ และหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนไว้ในหนังสือด้วย

๔. หนังสืออาจระบุรายละเอียดอื่น ๆ เช่น ความประสงค์ในการเสียชีวิต ณ สถานที่ใด
ความประสงค์ที่จะได้รับการเยียวยาทางจิตใจ
และการปฏิบัติตามประเพณีและความเชื่อทางศาสนา
และให้สถานบริการสาธารณสุขให้ความร่วมมือตามสมควรได้

๕. หนังสือจะทำ ณ สถานที่ใดก็ได้

เมื่ออ่านหลักเกณฑ์การทำหนังสือแสดงเจตนาตามกฎกระทรวงข้างต้นแล้ว
คงจะเห็นได้ว่า ไม่ใช่ว่าจะจัดร่างได้เองโดยง่ายนะครับ
ในกรณีนี้ ผมจึงขอแนะนำให้ลองพิจารณาตัวอย่างหนังสือแสดงเจตนา
จากในเว็บไซต์ www.thailivingwill.in.th/
ซึ่งได้มีตัวอย่างหนังสือทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษตามลิงก์ ต่อไปนี้
ฉบับภาษาไทย
http://www.thailivingwill.in.th/sites/default/files/024_livingwill.pdf
ฉบับภาษาอังกฤษ
http://www.thailivingwill.in.th/sites/default/files/Living_Will_Samples_1_2_Final_1.pdf

นอกจากนี้แล้ว ผมได้จัดทำร่างฉบับภาษาไทยอีกแบบหนึ่ง
ที่ผมเห็นว่าน่าจะใช้ได้ง่ายไว้ด้วย โดยท่านผู้อ่านสามารถดาวน์โหลดได้
จาก Google Drive ตามลิงค์ ดังต่อไปนี้ครับ
https://drive.google.com/drive/folders/14vibL8K5MJv6RmjSvgXOZHxV_MmWiIWZ?usp=sharing
โดยไฟล์จะชื่อว่า “ตัวอย่างหนังสือแสดงเจตนา (Thai)” ครับ
ซึ่งใน Folder ใน Google Drive นี้ผมได้โหลดตัวอย่างหนังสือแสดงเจตนา
ภาษาไทยและภาษาอังกฤษของ เว็บไซต์ www.thailivingwill.in.th/ ใส่ไว้ด้วย
รวมทั้งใส่พระราชบัญญัติ และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องไว้ด้วยครับ

ดังนี้ จากคำถามของญาติธรรมที่เคยถามผมว่า
หากตัวเราต้องประสบเหตุการณ์เช่นนั้นแล้ว
เราจะเลือกไม่รับการรักษาและขอจากไปอย่างสงบได้หรือไม่
ผมก็ขอตอบว่าแนะนำให้ทำหนังสือห้ามยื้อชีวิตดังกล่าวไว้
และแจ้งญาติที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจตรงกัน และปฏิบัติตามนะครับ
เพราะแม้ว่าเราจะทำหนังสือไว้ก็ตาม แต่หากถึงเวลาจริงแล้ว
ญาติที่เกี่ยวข้องไม่เอาหนังสือให้โรงพยาบาล และไม่ทำตามหนังสือที่เราทำไว้แล้ว
ขณะนั้นเราอาจจะอยู่ในสภาวะที่ทำอะไรไม่ได้แล้ว
ก็ต้องโดนยื้อชีวิตและทรมานต่อไปเรื่อยครับ