Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๘๙

pom auther งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

ทิฏฐิขวางการภาวนา

dhammajaree289

สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ
ช่วงนี้ได้ผ่านพ้นงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงในหลวงรัชกาลที่ ๙ แล้ว
คอลัมน์เพื่อนธรรมจารีก็จะกลับมาสนทนาเรื่องธรรมะกันเหมือนเดิมครับ

ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผมได้สนทนากับญาติธรรมท่านหนึ่งทางเว็บบอร์ด
ในปัญหาที่ว่าญาติธรรมท่านนี้ต้องการจะไปปฏิบัติธรรมที่วัดแห่งหนึ่ง
แต่ว่าไม่ทราบเพราะเหตุใด วัดแห่งนั้นไม่อนุญาตให้ญาติธรรมท่านนี้ไปพักที่วัด
ญาติธรรมท่านนี้เสียดายว่าตนเองไม่ได้ไปภาวนาที่วัดดังกล่าว
โดยเห็นว่าถ้าได้ภาวนาในสถานที่ที่มีคนอยู่ด้วยเยอะ ๆ จะมีกำลังใจดีมาก
ในขณะที่หากตนเองภาวนาที่บ้านแล้ว จะโดนเสียงดังรบกวน
ไม่สงบ และจิตไม่ตั้งมั่น

หลายท่านอาจจะมีปัญหาเช่นเดียวกัน หรือมีปัญหาในทำนองเดียวกันนะครับ
ว่าเรารู้สึกหรือเข้าใจว่าเรามีข้อจำกัดบางอย่างที่ทำให้เราไม่สามารถภาวนาได้
หรือไม่สามารถจะภาวนาได้ดี โดยจะต้องแก้ไขหรือผ่านข้อจำกัดนั้นให้ได้เสียก่อน
ยกตัวอย่างเช่น ต้องภาวนาที่วัดแห่งใดแห่งหนึ่ง จึงจะภาวนาได้ หรือภาวนาดี
ต้องภาวนาพร้อมกันกับกลุ่มคนหมู่มาก จึงจะภาวนาได้ หรือภาวนาดี
ต้องภาวนาในสถานที่เงียบสงัด ไม่มีเสียงดัง จึงจะภาวนาได้ หรือภาวนาดี
ต้องมีฐานะร่ำรวยก่อน จึงจะภาวนาได้ หรือภาวนาดี
ต้องแก้ปัญหาชีวิตให้หมดไปก่อน จึงจะภาวนาได้ หรือภาวนาดี
ต้องทำงานที่คั่งค้างให้เสร็จหมดเสียก่อน จึงจะภาวนาได้ หรือภาวนาดี
ต้องรอให้หายเครียด หายฟุ้งซ่าน หรือให้สบายใจเสียก่อน
จึงจะภาวนาได้ หรือภาวนาดี เป็นต้น

แต่หากเราพิจารณาพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว
จะเห็นได้ว่าท่านไม่ได้ทรงกำหนดข้อจำกัดต่าง ๆ ดังที่กล่าวเลย
ว่าจะต้องผ่านหรือข้ามข้อจำกัดต่าง ๆ ก่อน จึงจะภาวนาได้นะครับ

หากเราพิจารณาคำสอนในมหาสติปัฏฐานสูตรแล้ว
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=10&A=6257&Z=6764&pagebreak=0
จะเห็นได้ว่าใน “อิริยาปถบรรพ” ใน “กายานุปัสนา” สอนว่า
ภิกษุย่อมทำความรู้สึกตัวในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว
ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงผ้าสังฆาฏิบาตรและจีวร
ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ
ย่อมทำความรู้สึกตัว ในการเดิน การยืน การนั่ง
การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง ดังพรรณนามาฉะนี้

ใน “จิตตานุปัสสนา” สอนว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ จิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ
หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ
จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ
จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ
จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่ จิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน
จิตเป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต หรือจิตไม่เป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต
(“มหรคต” หมายถึงว่า จิตที่ประกอบด้วยฌาน ได้แก่ รูปฌานหรืออรูปฌาน)
จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า
หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า
จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ
จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น ดังพรรณนามาฉะนี้

ใน “เวทนานุปัสสนา” สอนว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เสวยสุขเวทนาอยู่ ก็รู้ชัดว่า เราเสวยสุขเวทนา
เสวยทุกขเวทนา ก็รู้ชัดว่า เราเสวยทุกขเวทนา
เสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า เราเสวยอทุกขมสุขเวทนา
เสวยสุขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่า เราเสวยสุขเวทนามีอามิส
เสวยสุขเวทนาไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า เราเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิส
เสวยทุกขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่า เราเสวยทุกขเวทนามีอามิส
เสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า เราเสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิส
เสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่า เราเสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิส
เสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า เราเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส
ดังพรรณนามาฉะนี้

จะเห็นได้ว่าในการเจริญสติปัฏฐานตามคำสอนใจมหาสติปัฏฐานสูตรนั้น
ไม่ได้มีการกำหนดข้อจำกัดต่าง ๆ ที่กล่าวในตอนต้นไว้เลย
กรณีจึงไม่ได้เป็นเงื่อนไขว่าเราจะต้องผ่านหรือข้ามข้อจำกัดดังกล่าวเสียก่อน
จึงจะภาวนาหรือเจริญสติปัฏฐานได้นะครับ
แต่ในความเป็นจริงแล้ว การเจริญสติปัฏฐานสามารถทำได้ทุกที่และทุกเวลา

ถามว่า ข้อจำกัดต่าง ๆ ที่กล่าวในตอนต้นมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
ตอบว่า เราสร้างและยึดทิฏฐิในข้อจำกัดต่าง ๆ ดังกล่าวเอง
แล้วข้อจำกัดต่าง ๆ เหล่านั้นก็กลับมาขวางการภาวนาของเราเอง
ยกตัวอย่างเช่น หากหลงยึดทิฏฐิว่า ต้องแก้ปัญหาชีวิตให้ได้ก่อน
จึงจะภาวนาได้แล้ว หากปัญหาชีวิตมันมีเข้ามาเรื่อย ๆ ไม่มีหยุด
ก็เท่ากับว่าเราไม่มีโอกาสภาวนาไปจนตาย

หรือหากหลงยึดทิฏฐิว่า ต้องมีฐานะร่ำรวยให้ได้ก่อน
จึงจะภาวนาได้แล้ว หากเราไม่สามารถมีฐานะร่ำรวยได้ในชีวิตนี้
ก็เท่ากับว่าเราไม่มีโอกาสภาวนาไปจนตาย

หรือหากหลงยึดทิฏฐิว่า ต้องไปภาวนาที่วัดหรือสถานปฏิบัติธรรม
เราจึงจะภาวนาได้ หรือภาวนาได้ดี
เราควรพิจารณาว่า เวลาที่เราจะได้ภาวนาที่วัด
หรือสถานปฏิบัติธรรมนั้น เป็นเวลาส่วนใหญ่หรือส่วนน้อยในชีวิต?
ซึ่งเราทุกคนก็คงตอบตรงกันว่าเป็นเวลาส่วนน้อยนะครับ
เพราะเราเป็นฆราวาส เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตเราก็อยู่ที่บ้าน
ดังนั้น หากเอาการภาวนาของเราไปฝากไว้ในเวลาส่วนน้อยของชีวิตแล้ว
ก็เท่ากับว่าชีวิตเรานี้มีโอกาสและเวลาในภาวนาได้น้อย

ในทางกลับกัน หากเราสามารถละวางทิฏฐิต่าง ๆ ดังกล่าวไปได้
เราก็ย่อมจะสามารถภาวนาได้ในชีวิตประจำวัน
ซึ่งเป็นเวลาส่วนใหญ่ในชีวิตเรา โดยไม่มีข้อจำกัดต่าง ๆ มาขวาง
ก็เท่ากับว่าเราได้ใช้เวลาในชีวิตเราให้เกิดประโยชน์สูงสุด
โดยที่ไม่ต้องมาคอยกังวลหรือต้องพยายามทำโน่นทำนี่
เพื่อผ่านหรือข้ามข้อจำกัด ๆ ต่าง ๆ ด้วย

เช่นนี้ แล้วเราก็พึงสังเกตตนเองนะครับว่า
จิตใจเราไปหลงสร้างทิฏฐิหรือข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ขวางการภาวนาหรือไม่
ซึ่งถ้ามีอยู่ ก็ให้พึงรู้ทัน แล้วก็ละวางทิฏฐิเหล่านั้นลง
เพื่อไม่ให้ทิฏฐิเหล่านั้นมาขวางการภาวนาเราเอง
ในเมื่อลมหายใจก็มีตอนนี้ ร่างกายก็มีตอนนี้
จิตใจก็มีตอนนี้ ขันธ์ห้าก็มีเวลานี้ แล้วเราจะภาวนาไม่ได้อย่างไร
เราย่อมสามารถภาวนาได้ในทันทีในเวลานี้ครับ