Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๘๖

dhammajaree262 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

ใต้ร่มพระบารมี (๑๙)
พระราชกรณียกิจด้านทรัพยากรน้ำ


dhammajaree286

พระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ ๙
ในเรื่องเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำมีมากมายหลายเรื่อง
ซึ่งผมได้เคยนำมานำเสนอท่านผู้อ่านไปแล้วบางเรื่องนะครับ
เช่น การทำฝนเทียม การสร้างเขื่อนและนำน้ำมาผลิตพลังงานไฟฟ้า
การป้องกันน้ำท่วมโดยพื้นที่แก้มลิง การบำบัดน้ำเสียโดยใช้กังหันน้ำชัยพัฒนา เป็นต้น

ในคราวนี้ ขอนำพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติน้ำในเรื่องอื่น ๆ
มาเล่าเพิ่มเติมให้ท่านผู้อ่านครับ (ทั้งนี้ พระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านมีมากมาย
ผมไม่สามารถจะบรรยายให้ครบถ้วนทั้งหมดได้ คงนำมาเสนอได้เพียงบางส่วนเท่านั้น)

จากการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ทุรกันดารในหลายภูมิภาค
ทรงพบว่า ราษฎรขาดแคลนน้ำทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภคและเพื่อเกษตรกรรม
มีสภาพการดำรงชีวิตอย่างอัตคัดขัดสน ซึ่งสาเหตุของความขาดแคลนคือ
การขาดประสิทธิภาพในการกักเก็บยามน้ำมากไว้ใช้
และแหล่งน้ำตามธรรมชาติตื้นเขิน
ทำให้ขาดแคลนแหล่งน้ำในการอุปโภคบริโภคให้เพียงพอตลอดปี
จึงมีพระราชดำริแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำที่นับวันจะมีขึ้นทุกหนทุกแห่ง
และรุนแรงมากขึ้นทุกปี เพื่อช่วยให้พสกนิกรมีน้ำอย่างเพียงพอ
แก่การอุปโภคบริโภคและการเกษตร

พระราชกรณียกิจเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำมีหลายเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น
๑. ฝนหลวงพระราชทาน
ในรายละเอียดเรื่องฝนหลวงพระราชทานนั้น ได้เคยนำเสนอไปแล้วในฉบับที่ ๒๗๑
โดยขอท่านผู้อ่านได้อ่านรายละเอียดตามลิงก์ด้านล่างนี้ครับ
http://www.dharmamag.com/mag/index.php/dhammajaree-issues/1422-2017-03-15-02-35-30

๒. การจัดการชลประทาน
แนวพระราชดำริลำดับแรกๆ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำของเกษตรกร คือ
การสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อเก็บกักน้ำมิให้ไหลล้นไปอย่างสูญเปล่า
ทรงศึกษาสภาพภูมิประเทศในเบื้องต้นด้วยพระองค์เอง
พร้อมทั้งพระราชทานแนวพระราชดำริแก่หน่วยงานที่รับผิดชอบ
เพื่อไปดำเนินงานในขั้นรายละเอียดต่อไป
ยังผลให้ปัจจัยการเกษตรของราษฎรในพื้นที่เหล่านั้นได้รับการพัฒนา

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทางด้านชลประทานโครงการแรก
คืออ่างเก็บน้ำเขาเต่า อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ขนาดประมาณ ๖๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร
จากนั้นได้ขยายไปยังพื้นที่แห้งแล้งในภูมิภาคอื่น ๆ อย่างกว้างขวาง
ปัจจุบันมีอ่างเก็บน้ำ และเขื่อนเกิดขึ้นจากโครงการตามแนวพระราชดำริ
กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริให้มีการสร้างฝายทดน้ำ
ในกรณีที่มีพื้นที่ทำการเกษตรสูงกว่าลำห้วย
ทรงเลือกใช้วิธีการทำสิ่งก่อสร้างปิดขวางทางน้ำไหล
เพื่อทดน้ำที่ไหลมาให้มีระดับสูงขึ้นจนสามารถผันน้ำเข้าไปตามคลองหรือคูส่งน้ำ
ส่วนน้ำที่เหลือจะไหลล้นข้ามฝายไปเอง
รวมถึงพระราชทานแนวพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขุดลอกหนองบึง
เพื่อให้การระบายน้ำตามธรรมชาติเป็นไปอย่างสะดวก
ทรงแนะนำให้ขุดสระเก็บน้ำในไร่นาซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ
ในการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูก

ยกตัวอย่างโครงการต่าง ๆ เช่น
- โครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ลพบุรี จ.ลพบุรี
- โครงการเขื่อนคลองท่าด่าน จ.นครนายก
- โครงการเขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก
- โครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก
- โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่อาว จ.ลำพูน
- โครงการห้วยองคต จ.กาญจนบุรี
- โครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่ปิง จ.เชียงใหม่ และ จ.ลำพูน
- โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำทอน จ.หนองคาย
- โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ จ.นครพนม
- โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยัง จ.กาฬสินธุ์
- โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช
- โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ จ.เพชรบุรี
- โครงการฝายทดน้ำบ้านฆอรอราแม จ.ยะลา
- โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบน จ.มุกดาหาร
- โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ยอนตอนบน อ.แม่ทะ จ.ลำปาง
- โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหัวช้าง อ.ตะโหมด จ.พัทลุง
- โครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิง จ.ลำพูน
- โครงการอ่างเก็บน้ำแม่แคม จ.แพร่
- โครงการฝายแม่งาวพร้อมระบบส่งน้ำบ้านประชาภักดี ต.ตับเต่า อ.เทิง จ.เชียงราย
- โครงการฝายคลองช่องเรือ ต.ทรายขาว อ.โคกธิ์ จ.ปัตตานี
- โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบน อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์
- โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยหวด ต.จันทร์เพ็ญ อ.เต่างอย จ.สกลนคร
- โครงการอ่างเก็บน้ำคลองท่างิ้ว ต.ท่างิ้ว อ.ห้วยยอด จ.ตรัง
- โครงการอ่างเก็บน้ำผาน้ำหยด จ.เพชรบุรี
- โครงการอ่างเก็บน้ำบางกำปรัด อ.เขาพนม จ.กระบี่
- โครงการชลประทานเมืองกาญจนบุรี-พนมทวน สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านหนองโรง 2 จ.กาญจนบุรี
- โครงการคลองตำหนัง บ้านตำหนัง หมู่ที่ 2 ต.บางวัน อ.คุระบุรี จ.พังงา
- โครงการจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุนโครงการมูลนิธิชัยพัฒนา ศูนย์รวมพรรณไม้ภูมิภาค จ.พังงา
- โครงการฝายทดน้ำคลองใน พร้อมระบบส่งน้ำ บ้านปากคลอง ต.รมณีย์ อ.กะปง จ.พังงา
- โครงการขุดสระเก็บกักน้ำตามทฤษฎีใหม่ ในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ เป็นต้น

๓. การจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงศึกษาข้อมูลหลายด้าน
และมีพระบรมราชวินิจฉัยลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ที่เกิดปัญหาน้ำท่วม
โดยทรงเลือกใช้วิธีการแก้ไขต่าง ๆ ให้เหมาะกับสภาพท้องที่
และประสิทธิภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรวมทั้งงบประมาณ
ยกตัวอย่างวิธีการเช่น การจัดสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ คันดินกั้นน้ำ
ทางผันน้ำ หรือทางระบายน้ำ เป็นต้น

ในการสร้างคันดินกั้นน้ำ และสร้างทางผันน้ำ หรือทางระบายน้ำนั้น
นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ส่วนภูมิภาคแล้ว
ยังได้มีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เขตเมือง เช่น
การก่อสร้างคันดินกั้นน้ำป้องกันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา
และน้ำตามคลองรอบ ๆ กรุงเทพฯ ด้านทิศเหนือและด้านตะวันออก
ไม่ให้ไหลบ่าเข้าท่วมกรุงเทพฯ ชั้นใน
และโครงการขุดลอกและปรับปรุงคลองลัดโพธิ์
พร้อมประตูระบายน้ำที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
เพื่อประโยชน์สำหรับเร่งระบายน้ำออกจากกรุงเทพฯ
โดยสามารถย่นระยะทางการไหลบ่าของแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อลงสู่อ่าวไทย
จาก ๑๖-๑๘ กิโลเมตร เหลือเพียง ๖๐๐ เมตร
ทำให้บรรเทาวิกฤตน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ ได้ในช่วงปี ๒๕๔๙ เป็นต้น

นอกจากนี้แล้ว ยังทรงพระราชทานพระราชดำริโครงการแก้มลิง
เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และสามารถช่วยเก็บกักน้ำไว้ใช้ในยามหน้าแล้งได้ด้วย
ในรายละเอียดเรื่องโครงการแก้มลิงนั้น ได้เคยนำเสนอไปแล้วในฉบับที่ ๒๗๕
โดยขอท่านผู้อ่านได้อ่านรายละเอียดตามลิงก์ด้านล่างนี้ครับ
http://www.dharmamag.com/mag/index.php/dhammajaree-issues/1438-2017-05-04-04-24-44

๔. การจัดการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย
ปัญหาน้ำเสียเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของประเทศไทย
ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และในเขตชุมชนเมืองของจังหวัดต่าง ๆ

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงพระราชทานแนวทางบำบัดน้ำเสีย
อย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดค่าใช้จ่าย
ทั้งโดยวิธีการทางธรรมชาติ และการใช้เทคโนโลยีง่าย ๆ
เพื่อให้เป็นต้นแบบสำหรับการนำไปใช้ในการบำบัดน้ำเสียในพื้นที่ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

๔.๑ ทฤษฎี “น้ำดีไล่น้ำเสีย” ซึ่งบำบัดน้ำเสียโดยการทำให้เจือจาง
โดยใช้หลักการตามธรรมชาติแห่งแรงโน้มถ่วงของโลก
เป็นการใช้น้ำคุณภาพดีมาช่วยบรรเทาน้ำเน่าเสีย
ดังพระราชดำรัสเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ในอำเภอธัญบุรี เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๓๒ ว่า
“๓,๐๐๐ ไร่นั่นมันอยู่สูง จะนำน้ำโสโครกจากที่นี่ไปที่โน้นต้องสูบไปไม่ไหว
แต่ว่าจะทำเป็นบึงใหญ่ที่จะเก็บน้ำได้ สำหรับเวลาหน้าน้ำมีน้ำเก็บเอาไว้
หน้าแล้งก็ปล่อยลงมา ส่วนหนึ่งอาจปล่อยลงมาสำหรับล้างกรุงเทพฯ ได้
เจือจางน้ำโสโครกในคลองต่าง ๆ”

นอกจากนี้ ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริ
ในการรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาส่งเข้าไปตามคลองต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ
เช่น คลองบางเขน คลองบางซื่อ คลองแสนแสบ คลองเทเวศร์ และคลองบางลำภู เป็นต้น
โดยกระแสน้ำจะไหลแผ่กระจายขยายไปตามคลองซอยที่เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา
อันย่อมจะช่วยเจือจางน้ำเน่าเสียได้มากโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง

๔.๒ การบำบัดน้ำเสียด้วยผักตบชวา
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงพระราชทานแนวทางในการปรับปรุงคุณภาพของแหล่งน้ำ
เช่น บึงและหนองต่าง ๆ โดยใช้ผักตบชวา
เนื่องจากทรงพบว่า ผักตบชวา มีส่วนช่วยในการบำบัดน้ำเสียได้
โดยทำหน้าที่ดูดซับความโสโครกและโลหะหนัก
เช่น สารตะกั่ว สารแขวนลอยในน้ำ เสมือนเป็นเครื่องกรองน้ำธรรมชาติ
และได้ทรงทดลองในโครงการบำบัดน้ำเสียบึงมักกะสัน
ซึ่งเดิมใช้เป็นแหล่งระบายน้ำเสียจากชุมชนและโรงงานในพื้นที่ใกล้เคียง
โดยนำผักตบชวามาล้อมด้วยคอกไม้เป็นระยะ ๆ ตลอดตัวบึง
แต่ละกอจะทำงานร่วมกับจุลินทรีย์ในน้ำเมื่อผักตบชวาสังเคราะห์แสง
จะทำให้เกิดก๊าซออกซิเจน จุลินทรีย์ในน้ำจะนำไปใช้ในการย่อยสลายของเสีย
และสารอินทรีย์ได้ ซึ่งการดำเนินงานบำบัดน้ำเสียตามโครงการบึงมักกะสันได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

๔.๓ การบำบัดน้ำเสียด้วยการผสมผสานระหว่างพืชน้ำกับระบบเติมอากาศ
ด้วยทรงห่วงใยในปัญหาน้ำเน่าเสียที่เกิดขึ้นในหนองหนองหาน จังหวัดสกลนคร
ซึ่งเป็นแหล่งรับน้ำเสียจากครัวเรือนในเขตเทศบาลเมืองสกลนคร
ที่มีสภาพเกินขีดความสามารถในการรองรับของเสีย
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริ
ทฤษฎีการบำบัดน้ำเสียด้วยการผสมผสานระหว่างพืชน้ำกับระบบการเติมอากาศ
ณ บริเวณหนองสนม-หนองหาน จังหวัดสกลนคร
ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างวิธีธรรมชาติกับเทคโนโลยีแบบประหยัด
โดยมีกรมประมงร่วมกับกรมชลประทานดำเนินการศึกษา
และก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียในบริเวณดังกล่าว
โดยมีระบบบำบัดด้วยพืชน้ำ ซึ่งเป็นวิธีการบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีธรรมชาติในพื้นที่ ๘๔.๕ ไร่
และได้มีการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี ๒๕๓๗

๔.๔ การบำบัดน้ำเสียด้วยระบบบ่อบำบัดและวัชพืชบำบัด
โครงการวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
ด้วยในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงตระหนักถึงปัญหาน้ำเสียที่มีผลต่อการดำรงชีพของประชาชน
อันเนื่องมาจากชุมชนเมืองต่าง ๆ ยังขาดระบบบำบัดน้ำเสียและกำจัดขยะที่ดีและมีประสิทธิภาพ
จึงทรงให้มีการดำเนินการตามโครงการดังกล่าวขึ้นในพื้นที่ ๑,๑๓๕ ไร่
โดยเป็นโครงการศึกษาวิจัยวิธีการบำบัดน้ำเสีย
กำจัดขยะมูลฝอยและการรักษาสภาพป่าชายเลนด้วยวิธีธรรมชาติ

๔.๕ กังหันน้ำชัยพัฒนา
ในรายละเอียดเรื่องกังหันน้ำชัยพัฒนานั้น ได้เคยนำเสนอไปแล้วในฉบับที่ ๒๗๒
โดยขอท่านผู้อ่านได้อ่านรายละเอียดตามลิงก์ด้านล่างนี้ครับ
http://www.dharmamag.com/mag/index.php/dhammajaree-issues/1427-2017-03-26-13-31-12

๔.๖ การกำจัดน้ำเสียโดยปลาบางชนิด
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำริให้ทำการศึกษาทดลองวิจัยว่า
จะใช้ปลาบางชนิดกำจัดน้ำเสียได้หรือไม่
โดยปลาเหล่านี้น่าจะเข้าไปกินสารอินทรีย์ในบริเวณแหล่งน้ำเสีย
ซึ่งปรากฏว่าปลาบางชนิดมีอวัยวะพิเศษในการหายใจ
เช่น ปลากระดี่ ปลาสลิด เหมาะแก่การเลี้ยงในน้ำเสีย และชอบกินสารอินทรีย์
จึงช่วยลดมลภาวะในแหล่งน้ำได้ โดยวิธีการนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการกำจัดน้ำเสียได้
ซึ่งมีต้นทุนต่ำ และสามารถเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำได้อีกทางหนึ่ง

ด้วยพระราชกรณียกิจที่มีมากมายในด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ
อันเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั้งประเทศ
ในมหามงคลสมัยที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงศิริราชสมบัติ ครบ ๕๐ ปี
ในปี ๒๕๓๙ คณะรัฐบาลไทย ได้เทิดพระเกียรติคุณโดยได้ถวายพระราชสมัญญาว่า
“พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ” เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๙


ข้อมูลอ้างอิง:
https://king.kapook.com/job_duties_natural_resource.php
http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9590000103330
http://202.129.59.73/5dec/kingandwater.htm
หนังสือ “พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ” โดยสามารถดาวน์โหลดได้จาก
www.mof.or.th/king89/k1-04.pdf