Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๘๓

dhammajaree262 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

ใต้ร่มพระบารมี (๑๘)
พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา


dhammajaree283

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงให้ความสำคัญแก่เรื่องการศึกษาเป็นอย่างมาก
ดังพระองค์ได้ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่
คณะครูและนักเรียน ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๑๔ ว่า
“ปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งของทั้งชีวิตและส่วนรวม คือ การศึกษา
ซึ่งเป็นรากฐานส่งเสริมความเจริญมั่นคงเกือบทุกอย่างในบุคคล และประเทศชาติ”

พระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ในด้านการศึกษามีหลายเรื่อง
ซึ่งได้ก่อประโยชน์แก่ประชาชนอย่างมากมาย ยกตัวอย่างเช่น
๑. พระราชกรณียกิจด้านการศึกษาในระบบโรงเรียน
๑.๑ โรงเรียนจิตรลดา
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
ก่อสร้างโรงเรียนจิตรลดาขึ้นเมื่อปี ๒๕๐๑ ในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
เพื่อเป็นสถานศึกษาของพระราชโอรส พระราชธิดา บุตรหลานของพระบรมวงศานุวงศ์
มหาดเล็ก ข้าราชการบริหารและบุคคลทั่วไป
โดยทรงเห็นว่าการส่งพระราชโอรส พระราชธิดาไปเรียนโรงเรียนข้างนอก
อาจจะเป็นภาระแก่โรงเรียนและครูโรงเรียนดังกล่าว
ทั้งนี้ โรงเรียนจิตรลดาได้รับพระราชทานทุนทรัพย์เป็นค่าใช้จ่าย
นักเรียนไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน และค่าอาหาร

๑.๒ โรงเรียนราชวินิต
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานที่ดินสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ทางทิศใต้ของสวนสุนันทาให้แก่กรมสามัญศึกษา
เพื่อใช้เป็นที่ก่อสร้างโรงเรียนราชวินิต สำหรับให้บุตรหลานของ
ข้าราชการสำนักพระราชวัง และประชาชนในท้องถิ่นใช้เป็นที่เล่าเรียน
พระองค์ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบกับเงินที่มีผู้บริจาค
เป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโรงเรียน และต่อมาได้พระราชทาน
ที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่มุมสนามม้าราชตฤณมัยสมาคม
สำหรับก่อสร้างโรงเรียนราชวินิตมัธยมอีกด้วย

๑.๓ โรงเรียนวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ก่อตั้งขึ้นโดยพระบรมราชานุญาตของในหลวงรัชกาลที่ ๙
เพื่อให้การศึกษาแก่บุตรหลานของเจ้าหน้าที่ผู้ทำงานที่วังไกลกังวล
เปิดสอนชั้นเด็กเล็กไปจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖
และเปิดสอนหลักสูตรวิชาระยะสั้นเพิ่มเติมด้วย
และต่อมาได้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของในหลวงรัชกาลที่ ๙
โดยในปี ๒๔๙๗ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน
อาคารที่พักกองรักษาการณ์วังไกลกังวลให้เป็นอาคารเรียน
แทนอาคารไม้เก่าที่ชำรุดทรุดโทรม ต่อมาก็ได้สร้างเป็นอาคารเรียนเพิ่มขึ้น
ปัจจุบันเปิดสอนถึงระดับสารพัดช่าง วิชาชีพระยะสั้น และประกาศนียบัตรวิชาชีพช่างฝีมือ
มีจำนวนถึง ๑๗ แผนกวิชา อันเป็นการสนองโครงการตามพระราชดำริเกี่ยวกับศิลปาชีพพิเศษ
และเป็นที่ฝึกงานในชั่วโมงเรียนวิชาการวางพื้นฐานอาชีพด้วย

นอกจากนี้ โรงเรียนวังไกลกังวลยังเป็นศูนย์กลางการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม
เพื่อออกอากาศการเรียนการสอนและรายการทางการศึกษาของโรงเรียนต่าง ๆ
ของกรมสามัญศึกษาทั่วประเทศให้ครบ ๒,๕๐๐โรงเรียนในปี ๒๕๔๔

๑.๔ โรงเรียนราชประชาสมาสัย เริ่มเปิดสอนตั้งแต่วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๐๖
โดยในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานเงินทุนจำนวน ๑ ล้านบาท
ให้มูลนิธิราชประชาสมาสัยเป็นทุนจัดสร้างขึ้น
เพื่อให้บุตรธิดาของผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อนใช้เป็นสถานที่เล่าเรียน
ตั้งอยู่บนที่ดินราชพัสดุ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
เนื่องจากทรงเห็นว่าบุตรธิดาของผู้ป่วยโรคเรื้อนได้รับเคราะห์กรรมจากบิดามารดา
จะเข้าเรียนที่โรงเรียนใดก็ไม่ได้ เนื่องจากมีพระราชบัญญัติควบคุมโรคติดต่อ
ห้ามไม่ให้โรงเรียนรับบุตรธิดาผู้ป่วยโรคเรื้อนเข้าเรียน
และถ้าปล่อยทิ้งไว้กับบิดามารดาก็ทำให้ติดโรคได้
ทรงมีความห่วงใยชีวิตและอนาคตของเด็กเหล่านี้
จึงมีพระมหากรุณาธิคุณให้มูลนิธิราชประชาสมาสัยดำเนินการจัดสร้างโรงเรียนขึ้น

ต่อมาในปี ๒๕๐๗ ก็ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ให้ก่อสร้างโรงเรียนอีกหนึ่งหลัง
ปัจจุบันโรงเรียนราชประชาสมาสัยได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง
โดยเปิดรับเด็กทั่วไปเข้าเรียนร่วมกับบุตรธิดาผู้ป่วยโรคเรื้อน
ซึ่งก็ไม่มีปัญหาการอยู่และเรียนร่วมกันแต่อย่างใด

๑.๕ โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์
โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์
เดิมคือโรงเรียนราชวิทยาลัย ซึ่งตั้งขึ้นในรัชกาลที่ ๕ เมื่อปี๒๔๔๐
และต่อมาในรัชกาลที่ ๖ ได้มีการรวมโรงเรียนราชวิทยาลัยเข้ากับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
และอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ พระราชทานนามว่า “โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย”

ต่อมา ในรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ ๙ คณะครูและศิษย์เก่าได้ร่วมกันจัดตั้ง
และดำเนินกิจการโรงเรียนราชวิทยาลัยขึ้นใหม่
โดยขอใช้สถานที่ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สามพรานเดิมจากกระทรวงศึกษาธิการ
และขอพระราชทานอักษรย่อพระปรมาภิไชย ภ.ป.ร. นำหน้าชื่อโรงเรียน
จึงได้รับพระราชทานนามว่า “โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย”
และทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ตั้งแต่ปี ๒๕๐๗
โดยปัจจุบัน โรงเรียนสอนสายสามัญศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๖

๑.๖ โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระเมตตาต่อพสกนิกรอย่างทั่วถึง
ทั้งที่เป็นชาวไทยภูเขาหรือประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นชายแดนห่างไกลการคมนาคม
โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ร่วมสร้างโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน
เพื่อสอนหนังสือให้แก่ชาวเขาและประชาชนไกลคมนาคม
พระราชทานนามว่า “โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์”
เป็นอาคารเรียนถาวรสำหรับเด็กนักเรียนชาวเขา
เป็นโรงเรียนในระดับก่อนประถมและประถมศึกษา ตั้งอยู่บริเวณชายแดนภาคเหนือ
ซึ่งราษฎรส่วนใหญ่เป็นชาวเขา ทำให้เยาวชนชาวไทยภูเขาเหล่านี้ได้มีโอกาสเรียนรู้หนังสือไทย
ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมไทย
เป็นการสร้างสำนึกของความเป็นคนไทยมากยิ่งขึ้น
ซึ่งมีผลต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของชาติ

โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน
มีจำนวนรวมทั้งสิ้น ๑๐ แห่ง ต่อมาเมื่อท้องถิ่นนั้นมีความเจริญขึ้น
หน่วยราชการที่รับผิดชอบโดยตรงสามารถเข้าไปดำเนินการได้
ก็จะได้โอนโรงเรียนให้กับส่วนราชการนั้น ๆ รับไปดำเนินการต่อไป

๑.๗ โรงเรียนร่มเกล้า
ในอดีตนั้น โรงเรียนที่อยู่ในเขตชายแดนภาคอีสานหลายแห่งต้องปิดลง
เพราะเยาวชนส่วนใหญ่ถูกชักจูงให้เข้าป่าไปร่วมกับ
กลุ่มที่มีอุดมการณ์ที่แตกต่างทางการเมือง และอยู่รวมกันในบริเวณที่เรียกว่าสีแดงเข้ม
กองทัพบกได้กราบบังคมทูลในหลวงรัชกาลที่ ๙
ขอพระราชทานสร้างโรงเรียนที่บ้านหนองแดน
เพื่อให้การศึกษาและป้องกันมิให้เด็กถูกชักจูงเข้าป่า
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ในการก่อสร้างโรงเรียน
และพระราชทานกำลังใจมิให้ย่อท้อ ให้ทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

นอกจากนี้ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงห่วงใยการศึกษาของเยาวชนที่ขาดโอกาสการศึกษา
มีพระราชดำริโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงเรียนร่มเกล้าในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร
และในพื้นที่ปฏิบัติการของผู้มีอุดมการณ์ที่แตกต่างทางการเมืองอีกหลายจังหวัด
จึงเป็นการนำการศึกษาและการพัฒนา มาใช้แทนการต่อสู้ด้วยความรุนแรง
การดำเนินการโรงเรียนร่มเกล้า นอกจากเน้นด้านวิชาการแล้ว
ยังเน้นด้านคุณธรรม จริยธรรม การใฝ่รู้ ใฝ่เรียน ทักษะการทำงานโดยเฉพาะด้านอาชีพ
โรงเรียนร่มเกล้าได้พัฒนาด้านการจัดการศึกษา
และการจัดกิจกรรมสนองตามพระราชดำริที่พระราชทานไว้เป็นสำคัญตลอดมาจนปัจจุบัน

๑.๘ โรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาสงเคราะห์เด็กยากจน ซึ่งขาดที่พึ่ง
และเด็กในถิ่นกันดาร ให้ได้รับการศึกษาควรแก่อัตภาพ
จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นในวัดเป็นประเภทโรงเรียนราษฎร์
ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้จัดการโรงเรียน
ขอความร่วมมือจากคณะสงฆ์ช่วยอุปถัมภ์
และอาราธนาพระภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้สอน
โดยใช้ทุนทรัพย์พระราชทาน และทุนที่ได้รับบริจาค โดยเสด็จพระราชกุศล เช่น
(๑) โรงเรียนมัธยมวัดศรีจันทร์ประดิษฐ์ ตำบลบางปูใหม่ จังหวัดสมุทรปราการ
เพื่อสงเคราะห์เด็กยากจนชายฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
(๒) โรงเรียนนนทบุรีวิทยา อำเภอเมือง จังหวัดน่าน
ยกเว้นไม่เก็บค่าเล่าเรียน แจกชุดนักเรียนให้นักเรียนที่ยากจนและจัดหนังสือให้ยืมเรียน
(๓) โรงเรียนวัดบึงเหล็ก อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
จัดการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และตอนปลายแบบให้เปล่าทั้งหมด

๑.๙ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์
เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๐๕ ได้เกิดมหาวาตภัยในภาคใต้ที่แหลมตะลุมพุก
อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ยังความเสียหายแก่จังหวัดภาคใต้ถึง ๑๒ จังหวัด
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงห่วงผู้ประสบภัย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้เชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์ สิ่งของช่วยผู้ประสบภัยโดยเสด็จพระราชกุศล
ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
และเงินที่มีผู้บริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลให้กระทรวงศึกษาธิการสร้าง
โรงเรียนประชาบาลที่ถูกพายุพัดพังรวม ๑๒ โรงเรียนใน ๖ จังหวัดภาคใต้
พระราชทานชื่อว่าโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๑ และ ๒ ที่จังหวัดกระบี่
โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๓ ที่จังหวัดชุมพร
โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๔ - ๘ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช
โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๙ และ ๑๐ ที่จังหวัดนราธิวาส
โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๑๑ ที่จังหวัดสงขลา
และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๑๒ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี

นอกจากนี้ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์
เพื่อนำดอกผลสำหรับสงเคราะห์เด็กที่ประสบวาตภัย ขาดอุปการะเลี้ยงดู
และช่วยเหลือราษฎรที่ประสบสาธารณภัยทั่วประเทศ
ต่อมาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์
ร่วมกับจังหวัดที่ประสบภัย จัดสร้างโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ขึ้นในจังหวัดอื่น ๆ
รวมทั้งหมดเป็น ๑๘ แห่งได้แก่
โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๑๓ ที่จังหวัดอุตรดิตถ์
โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๑๔ ที่จังหวัดหนองคาย
โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๑๕ ที่จังหวัดเชียงราย
โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๑๖ – ๑๘ ที่จังหวัดมหาสารคาม

ต่อมา กรมสามัญศึกษาได้ประกาศจัดตั้งโรงเรียนราชประชานุเคราะห์
ขึ้นอีก ๑๒ แห่ง เป็นประเภทศึกษาสงเคราะห์
เป็นโรงเรียนประจำสอนชั้นประถมศึกษาปี ๑ ถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๓
โดยรัฐเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเรื่องอาหาร ที่อยู่ เสื้อผ้าและอุปกรณ์การเรียน
รวมโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ที่มีอยู่เดิมด้วยเป็นทั้งหมด ๓๐ แห่ง

 

๒. ระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม
ในปี ๒๕๓๙ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้
จัดตั้งสถานีส่งโทรทัศน์ขึ้นที่โรงเรียนวังไกลกังวล หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
เพื่อจัดการเรียนการสอนผ่านระบบโทรคมนาคมในส่วนที่เกี่ยวกับ
โรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริ
และเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว และคล่องตัว
คณะผู้บริหารโรงเรียนจึงเห็นสมควรให้จัดตั้งเป็นมูลนิธิขึ้นเพื่อบริหารงานใช้ชื่อว่า
“มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม” มีสำนักงานอยู่ที่กรมสามัญศึกษา

มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมได้ดูแลบริหารการจัดการเรียนการสอน
ผ่านระบบโทรคมนาคมในส่วนที่เกี่ยวกับโรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริ
เช่น โรงเรียนวังไกลกังวล และโรงเรียนในสังกัดกรมสามัญศึกษา
เป็นการนำเอาเทคโนโลยีทันสมัย เพื่อพัฒนากระบวนการเรียนการสอน
ให้ก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพ ช่วยโรงเรียนที่ขาดแคลนครูสาขาวิชาต่าง ๆ
และช่วยโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลได้รับโอกาสเท่าเทียมกับโรงเรียนในเมือง
โดยออกอากาศผ่านดาวเทียมไทยคมจำนวน ๖ ช่อง
และใช้โรงเรียนวังไกลกังวลเป็นแม่ข่าย
ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานเงินจำนวน ๕๐ ล้านบาทเป็นทุนประเดิม
สำหรับการดำเนินการในชั้นแรก นอกจากนี้ยังมีหน่วยงาน บริษัท
ตลอดจนบุคคลทั่วไปเข้าร่วมโครงการนี้เป็นจำนวนมาก
และกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ตั้งงบประมาณสนับสนุนเป็นรายปีทุกปี
ตั้งแต่ ๒๕๓๙ เป็นต้นมา

 

๓. พระราชกรณียกิจด้านการศึกษานอกโรงเรียน
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงริเริ่มโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษานอกระบบหลายโครงการ
เพื่อให้การศึกษาแก่ผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาให้มีความรู้
และความสามารถประกอบสัมมาอาชีพอย่างมีความสุข

๓.๑ โรงเรียนพระดาบส
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวัง
เช่าที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์บริเวณตรงข้ามหอสมุดแห่งชาติ
สร้างเป็นโรงเรียนสำหรับฝึกวิชาชีพ โดยมีพระบรมราโชบาย
ให้ดำเนินการเป็นแบบอาศรมพระดาบส เป็นศูนย์กลางประสิทธิ์ประสาทวิชาทุกสาขา
เพื่อเป็นวิทยาทานแก่บุคคลทั่วไป โดยเน้นความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์
คุณวุฒิของผู้สำเร็จการศึกษาไม่ต้องเทียบกับทางราชการ
เพียงแต่ให้ประกอบอาชีพได้เท่านั้น

โรงเรียนพระดาบสได้เปิดอบรมสอนเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๑๙
รับนักเรียนเข้าอบรมช่างไฟฟ้าและช่างวิทยุเบื้องต้น
โดยมีครูอาสาสมัครสอบจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งจากของรัฐ และบริษัทเอกชน
เงินทุนที่ใช้ในการดำเนินโครงการโรงเรียนพระดาบสครั้งแรก
เป็นเงินพระราชทานจากเงินที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย
ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาปี ๒๕๑๘ จำนวน ๒,๕๗๒,๐๐๐ บาท
ซึ่งนำไปใช้เป็นค่าซ่อมแซมอาคารเรียนและที่พักนักเรียน
รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในการเรียนการสอน
ที่เหลือได้ฝากธนาคารนำดอกผลไปใช้ในการดำเนินกิจการของโครงการ

ต่อมาในปี ๒๕๓๓ ได้ทรงพระกรุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต
ให้จดทะเบียนจัดตั้ง “มูลนิธิพระดาบส” เพื่อดูแลการดำเนินงานของโรงเรียนพระดาบส
โดยในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงพระราชทานทุนประเดิมจัดตั้งจำนวน ๕ ล้านบาท
และทรงดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์
และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่งรองประธานกิตติมศักดิ์
ในปัจจุบันได้เปิดสอนใน ๘ หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรวิชาชีพช่างไฟฟ้า
หลักสูตรวิชาชีพช่างอิเล็กทรอนิกส์ หลักสูตรวิชาชีพช่างยนต์
หลักสูตรวิชาชีพการเกษตรพอเพียง หลักสูตรวิชาชีพช่างซ่อมบำรุง
หลักสูตรวิชาชีพเคหบริบาล หลักสูตรวิชาชีพช่างไม้เครื่องเรือน และหลักสูตรวิชาชีพช่างเชื่อม

๓.๒ ศาลารวมใจ
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงริเริ่มจัดตั้ง “ศาลารวมใจ” เพื่อใช้เป็นห้องสมุดประจำหมู่บ้าน
สำหรับประชาชนในชนบทหรือในถิ่นทุรกันดาร
เพื่อเข้าไปศึกษาหาความรู้เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และหนังสือประเภทต่าง ๆ แก่ห้องสมุด

๓.๓ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ถือเป็น
การศึกษานอกระบบโรงเรียนที่สำคัญที่ได้พระราชทานแก่ประชาชน
โดยเป็นศูนย์รวมของการศึกษาค้นคว้าทดลองวิจัย
และแสวงหาแนวทางและวิธีการพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม
และการประกอบอาชีพของราษฎรที่อาศัยอยู่ในภูมิประเทศนั้น ๆ
ศูนย์การพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีหลายแห่งกระจายอยู่ใน ๔ ภาค เช่น
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นต้น

๓.๔ โครงการพระราชดำริต่าง ๆ ในการจัดให้การศึกษาแก่ประชาชน
โดยหน่วยงานต่าง ๆ ของกรมการศึกษานอกโรงเรียนได้เข้าร่วมดำเนินการ
ในโครงการพระราชดำริต่าง ๆ ตั้งแต่ปี ๒๕๒๔ เป็นต้นมา เพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชน ดังนี้
(๑) โครงการอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ได้จัดการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จ
เพื่อพัฒนาชาวเขาเผ่าแม้ว และเผ่ากะเหรี่ยง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี ๒๕๒๔ เป็นต้นมา
(๒) โครงการพัฒนาชุมชนตำบลบ้านจันทร์ ได้จัดการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จขั้นพื้นฐาน
โดยจัดหนังสือหมุนเวียนทุกหมู่บ้าน และจัดการศึกษาผู้ใหญ่ทางวิทยุและไปรษณีย์
จัดอบรมกลุ่มแม่บ้านและจัดโครงการศึกษาวิชาชีพเคลื่อนที่สู่ชนบท
เพื่อพัฒนาชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดชียงใหม่ ตั้งแต่ปี ๒๕๒๔ เป็นต้นมา
(๓) โครงการพัฒนากลุ่มห้วยแม่เพรียง ได้จัดการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จขั้นพื้นฐาน
และจัดสอนวิชาชีพระยะสั้น จัดที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน
จัดกลุ่มสนใจ และจัดโสตทัศนศึกษาให้ราษฎร อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี
(๔) โครงการศูนย์ศึกษาพัฒนาเขาหินซ้อน ได้จัดการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จขั้นพื้นฐาน
ที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน โครงการอบรมวิชาชีพในการให้การศึกษาผู้ใหญ่ในชนบท
และดำเนินตามโครงการรณรงค์เพื่อการรู้หนังสือแห่งชาติให้แก่ราษฎร
ในอำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งแต่ปี ๒๕๒๗ เป็นต้นมา
(๕) โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง ได้จัดการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จขั้นพื้นฐาน
สอนวิชาชีพต่าง ๆ จัดที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน บริการหนังสือเคลื่อนที่จัดกลุ่มสนใจ
จัดบริการโสตทัศนศึกษาและโครงการรณรงค์เพื่อการรู้หนังสือแห่งชาติ
ในพื้นที่อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส ตั้งแต่ปี ๒๕๒๗ เป็นต้นมา
(๖) โครงการศิลปาชีพ จังหวัดสกลนคร ได้พัฒนาอาชีพของประชาชน
ในด้านศิลปกรรมและหัตถกรรมพื้นบ้าน การศึกษาและอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้าน
โดยได้มีการสอนวิชาชีพระยะสั้นที่จังหวัดสกลนคร ตั้งแต่ปี ๒๕๒๖ เป็นต้นมา
(๗) โครงการพัฒนาที่ราบเชิงเขา จังหวัดปราจีนบุรี ได้ดำเนินการสอนวิชาชีพระยะสั้น
จัดกลุ่มสนใจ การศึกษานอกโรงเรียนแบบเบ็ดเสร็จ ที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน
และโสตทัศนศึกษาแก่ประชาชนในพื้นที่ตั้งแต่ปี ๒๕๒๗ เป็นต้นมา
(๘) โครงการสวนป่าเปิดเขาเขียว ได้ดำเนินการสอนวิชาชีพระยะสั้น
จัดกลุ่มสนใจ การศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จขั้นพื้นฐาน จัดที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน
จัดโสตทัศนศึกษาแก่ราษฎรในโครงการนี้
(๙) โครงการศิลปาชีพเพื่อความมั่นคง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้จัดการสอนให้
ชาวเขา เผ่ามูเซอ ม้ง กะเหรี่ยง อำเภอแม่สะเรียง อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน
รู้จักทำมาหากินเป็นหลักแหล่ง และได้มีการสอนวิชาชีพระยะสั้น
และการศึกษาผู้ใหญ่เบ็ดเสร็จแบบพื้นฐาน
(๑๐) โครงการอาศรมวัดญาณสังวราราม เป็นโครงการตามพระราชดำริให้ราษฎรบริเวณชายแดน
ภาคตะวันออก มารับการฝึกอบรมด้านการเกษตร ด้านคุณธรรม จริยธรรม
การรู้หนังสือที่วัดญาณสังวราราม อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
และได้มีการจัดสอนวิชาชีพระยะสั้นให้กลุ่มสนใจ
และจัดที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้านตั้งแต่ปี ๒๕๒๔ เป็นต้นมา

 

๔. โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชปรารภว่า
การเรียนรู้ในเรื่องราว และวิชาการสาขาต่าง ๆ โดยกว้างขวาง
เป็นเหตุให้เกิดความรู้ ความคิด และความฉลาด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับชีวิต
ช่วยให้บุคคล สามารถสร้างประโยชน์สุข สร้างความเจริญมั่นคง
ให้แก่ตนเอง ทั้งแก่สังคม และบ้านเมือง อันเป็นที่พึ่งอาศัยได้
ทุกคนจึงควรมีโอกาสที่จะศึกษาหาความรู้ได้
ตามความประสงค์ และกำลังความสามารถ โดยทั่วกัน

ทรงพระราชดำริว่า หนังสือประเภทสารานุกรมนั้น
บรรจุสรรพวิชาการอันเป็นสาระไว้ครบทุกแขนง
เมื่อมีความต้องการ หรือพอใจจะเรียนรู้เรื่องใด
ก็สามารถค้นหา อ่านทราบโดยสะดวก
นับว่า เป็นหนังสือที่มีประโยชน์ เกื้อกูลการศึกษา
เพิ่มพูนปัญญาด้วยตนเองของประชาชนอย่างสำคัญ
โดยเฉพาะในยามที่มีปัญหาการขาดแคลนครู และที่เล่าเรียน
หนังสือสารานุกรมจะช่วยคลี่คลายให้บรรเทาเบาบางลงได้เป็นอย่างดี

พระองค์จึงมีพระราชดำรัสให้จัดทำโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
เพื่อดำเนินการสร้างหนังสือสารานุกรมสำหรับเยาวชน
โดยมีความมุ่งหมายที่จะนำวิชาการแขนงต่าง ๆ ที่ควรศึกษา
ออกเผยแพร่แก่เยาวชน ให้แพร่หลายทั่วถึง เพื่อเยาวชนจักได้หาความรู้ ช่วยตัวเองได้
จากการอ่านหนังสือ และเพื่อให้ได้ประโยชน์อันกว้างขวางยิ่งขึ้น

พระองค์ทรงกำหนดหลักการทำคำอธิบายเรื่องต่าง ๆ แต่ละเรื่อง
เป็น ๓ ตอน หรือ ๓ ระดับ ได้แก่
ระดับเบื้องต้น สำหรับให้เด็กรุ่นเล็กอ่านเข้าใจได้
ระดับกลาง สำหรับเด็กรุ่นกลางอ่านเข้าใจได้
ระดับสูง สำหรับเด็กรุ่นใหญ่ รวมถึงผู้ใหญ่ผู้สนใจอ่านได้
เพื่ออำนวยโอกาสให้บิดามารดา สามารถใช้หนังสือนั้น
เป็นเครื่องมือแนะนำวิชาแก่บุตรธิดา และให้พี่แนะนำวิชาแก่น้องเป็นลำดับกันลงไป
นอกจากนี้ เมื่อเรื่องหนึ่งเรื่องใดมีความเกี่ยวพันต่อเนื่องถึงเรื่องอื่น ๆ
ก็ให้อ้างอิงถึงเรื่องนั้น ๆ ด้วยทุกเรื่องไป ด้วยประสงค์จะให้ผู้ศึกษาทราบตระหนักว่า
วิชาการแต่ละสาขา มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องถึงกัน พึงจะศึกษาให้ครบถ้วนทั่วถึง

โครงการนี้ได้เริ่มดำเนินงานในปี ๒๕๑๒ โดยได้เชิญคณาจารย์
และผู้รู้ในสาขาวิชาต่าง ๆ ๗ สาขาวิชา คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เกษตรศาสตร์ คณิตศาสตร์ และแพทยศาสตร์
มาเป็นกรรมการประสานงานเพื่อจัดทำสารานุกรมไทยฯ
โดยมีการร่วมมือจากฝ่ายต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น ฝ่ายศิลป์ ฝ่ายภาษา ฝ่ายการพิมพ์
จนกระทั่งสารานุกรมไทยฯ เล่มที่ ๑ ได้จัดพิมพ์แล้วเสร็จในปี ๒๕๑๖
เป็นจำนวน ๑๐,๐๐๐ เล่ม และครึ่งหนึ่งของจำนวนพิมพ์
ได้นำทูลเกล้าฯ ถวายในหลวงรัชกาลที่ ๙ เพื่อพระราชทานให้แก่
โรงเรียน และห้องสมุดต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักรต่อไป
ส่วนจำนวนที่เหลือก็ได้นำออกจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป

โครงการฯ นี้ได้ผลิตหนังสือสารานุกรมไทยฯ ออกมาแล้วเป็นจำนวน ๓๙ เล่ม
โดยท่านผู้อ่านที่สนใจสามารถดาวน์โหลได้ฟรีตามลิงค์ด้านล่างนี้ครับ
http://saranukromthai.or.th/sub/Ebook/Ebook.php

 

๕. การพัฒนาบุคลากร และการพระราชทานทุนการศึกษา
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคลากร
โดยพระองค์ได้ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนการศึกษาจำนวนมาก
ซึ่งเป็นทุนให้เปล่า โดยไม่มีข้อผูกมัดใด ๆ
และต่อมาผู้มีจิตศรัทธาบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลอีกเป็นจำนวนมาก
โดยมีหลายทุนการศึกษา ยกตัวอย่างเช่น

๕.๑ ทุนมูลนิธิภูมิพล
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
ให้แก่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ตั้งเป็นทุนภูมิพลขึ้น ตั้งแต่ปี ๒๔๙๕
เพื่อเก็บดอกผลพระราชทานเป็นทุนแก่
นักศึกษามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ที่เรียนดีแต่ขัดสนทุนทรัพย์
ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานภาพยนตร์
ซึ่งถ่ายทำขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
ไปฉายเพื่อเก็บเงินค่าเข้าชมมาจัดตั้งเป็นทุนการศึกษา
ในเวลาต่อมาได้พระราชทานพระราชทรัพย์เข้าสมทบในทุนนี้อีก
เพื่อให้ทุนภูมิพลนี้มีเพียงพอที่จะขยายประโยชน์ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

๕.๒ ทุนมูลนิธิอานันทมหิดล
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงตระหนักว่าประเทศไทยต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในวิชาเทคนิคชั้นสูง
เพื่อมาช่วยพัฒนาประเทศมากขึ้น จึงควรส่งเสริมนักศึกษาที่มีความสามารถอย่างยอดเยี่ยม
ให้มีโอกาสไปศึกษาต่อในวิชาชั้นสูงบางวิชา ณ ต่างประเทศ
เมื่อสำเร็จแล้วจะได้ทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่เรียนมาต่อไป
จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทดลองดำเนินการด้วยการพระราชทานทุนอานันทมหิดลในปี ๒๔๙๘

ในขั้นแรกพระราชทานทุนนี้ให้แก่นักศึกษาในสาขาวิชาแพทยศาสตร์ก่อน
เพราะทรงเห็นความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญในด้านการแพทย์
เพื่อเจริญรอยตามพระยุคลบาทสมเด็จพระบรมราชชนก ผู้ทรงใฝ่พระทัยในวิชาแพทย์
ที่เคยพระราชทานทุนให้นักศึกษาไปศึกษาวิชาแพทย์ในต่างประเทศมาก่อนแล้ว
และเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่ในหลวงรัชกาลที่ ๘
ต่อมาทรงเห็นว่าได้ผลสมพระราชประสงค์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิอานันทมหิดล เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๐๒

ปัจจุบันทุนมูลนิธิอานันทมหิดลได้ขยายขอบเขตการพระราชทานทุนแก่นักศึกษาสาขาต่าง ๆ
คือ สาขาแพทยศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์ สาขาวิศวกรรมศาสตร์
สาขาเกษตรศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมวิทยา
วารสารศาสตร์ และอักษรศาสตร์ โดยมีคณะกรรมการประจำแต่ละสาขาคัดเลือก
บัณฑิตที่มีความสามารถยอดเยี่ยมแต่ละสาขาดังกล่าวไปศึกษาเพิ่มเติม ณ ต่างประเทศ
เพื่อจะได้กลับมาทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญในวิชาที่ได้ศึกษามา

ทุนอานันทมหิดลนี้ไม่ได้กำหนดระยะเวลาเรียน
ผู้ได้รับทุนสามารถเรียนถึงขึ้นสูงสุดตามความสามารถ และไม่มีสัญญาผูกมัดว่า
ผู้ได้รับพระราชทานทุนจะต้องกลับมาปฏิบัติงานตามเวลาที่กำหนดดังเช่นทุนอื่น ๆ
เพราะมีพระราชประสงค์จะให้ผู้รับทุนได้เกิดความสำนึกรับผิดชอบเอง
การจัดตั้งทุนอานันทมหิดลเป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งในการส่งเสริมการศึกษาชั้นสูง
เป็นการช่วยสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ
แก่วงราชการสามารถปฏิบัติงาน และถ่ายทอดความรู้ให้แก่บุคคลอื่นได้เป็นอย่างดี

๕.๓ ทุนเล่าเรียนหลวง
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชประสงค์ให้ฟื้นฟู “ทุนเล่าเรียนหลวง” (King's Scholarship)
ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงริเริ่มพระราชทานทุน
ให้นักเรียนไปเรียนต่อต่างประเทศ ด้วยการจัดสอบแข่งขันอย่างเป็นทางการเมื่อปี ๒๔๔๐
และได้พระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงสืบต่อเนื่องกันมาจนถึง
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงยุติไปในปี ๒๔๗๖

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ มีพระราชปรารภฟื้นฟูการให้ทุนเล่าเรียนหลวงขึ้นใหม่
โดยการประกาศใช้ ระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยทุนเล่าเรียนหลวง พ.ศ. ๒๕๐๘
ทุนเล่าเรียนหลวงเป็นทุนพระราชทานแก่นักเรียนที่สอบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการได้คะแนนดีเยี่ยมปีละ ๙ ทุน
คือแผนกศิลปะ ๓ ทุน แผนกวิทยาศาสตร์ ๓ ทุน และแผนกทั่วไป ๓ ทุน
ให้ไปศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในต่างประเทศ และไม่มีข้อผูกมัดที่จะต้องกลับมารับราชการ
ทั้งนี้ มีพระราชประสงค์ให้ผู้รับทุนได้ศึกษาวิชาการ
และได้รับการอบรมให้รู้และเข้าใจขนบประเพณีของชาวตะวันตกไปด้วย
เพราะอายุยังอยู่ในวัยที่สามารถช่วยตัวเองและปรับตัวให้เข้ากับสังคมตะวันตกได้
ในปัจจุบัน ผู้ได้รับทุนเล่าเรียนหลวงได้กลับมารับใช้ประเทศชาติ
เป็นบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถอยู่ในระดับผู้นำประเทศหลายคน

๕.๔ ทุนการศึกษาสงเคราะห์ในมูลนิธิราชประชานุเคราะห์
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ก่อตั้งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์
ชื่อ “มูลนิธิราชประชานุเคราะห์” หมายความว่า
"พระราชา" และ "ประชาชน" อนุเคราะห์ ซึ่งกันและกัน
โดยมีพระราชดำริให้ตั้งทุนเพื่อหาดอกผลสงเคราะห์
เด็กที่ครอบครัวต้องประสบวาตภัยภาคใต้ ที่แหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช
และขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู รวมทั้งช่วยเหลือราษฎรผู้ซึ่งประสบสาธารณภัยทั่วประเทศด้วย

งานสำคัญของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ก็คือ
การช่วยสร้างอาคารเรียน หรือสร้างโรงเรียนขึ้นใหม่
และขอพระราชทานนามโรงเรียนว่า “โรงเรียนราชประชานุเคราะห์”
โดยโรงเรียนแรกกำเนิดที่บ้านปลายแหลม ตำบลแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง
จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยในปัจจุบันมีอยู่ ๓๐ โรงเรียน
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงให้มูลนิธิฯ จัดทุนพระราชทานการศึกษาให้แก่
นักเรียนที่เรียนดีแต่ขาดทุนทรัพย์ในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ทั้ง ๓๐ แห่ง

๕.๕ ทุนมูลนิธิราชประชาสมาสัยในพระบรมราชูปถัมภ์
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้มีพระมหากรุณาธิคุณต่อผู้ป่วยโรคเรื้อน
โดยเมื่อปี ๒๔๙๙ ซึ่งโรคเรื้อนกำลังระบาดอยู่ในประเทศไทย
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้าง
สถาบันวิจัยค้นคว้าเรื่องโรคเรื้อน ณ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
โดยพระราชทานนามสถาบันนั้นว่า “ราชประชาสมาสัย”
รวมทั้งพระราชทานเงินทุนที่เหลือจากการก่อสร้าง
ให้กระทรวงสาธารณสุขเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการของสถาบันต่อไป

ต่อมากระทรวงสาธารณสุขได้ขอพระราชทานนำเงินดังกล่าว
ไปจดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิราชประชาสมาสัย
และได้ขอพระราชทานพระมหากรุณาให้ทรงรับมูลนิธินี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์
โดยมีพระราชกระแสตอบมาเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๐๔ ว่า
ถ้าจะขอให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิจะต้องเพิ่มวัตถุประสงค์ขึ้นอีกข้อหนึ่งว่า
จะจัดตั้งโรงเรียนสำหรับบุตรผู้ป่วยที่เลี้ยงแยกจากบิดามารดาแต่แรกเกิด

๕.๖ ทุนนวฤกษ์
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงก่อตั้งทุนนวฤกษ์
เพื่อช่วยให้นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์แต่มีผลการเรียนดี ความประพฤติดี
ได้มีโอกาสเข้ารับการศึกษาต่อในระดับต่าง ๆ
ทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา ฝึกหัดครู และอุดมศึกษา
ด้วยทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นทุนริเริ่ม
และจากผู้บริจาคทรัพย์โดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุน
โดยก่อสร้างโรงเรียนตามวัดในชนบททั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา
เพื่อสงเคราะห์เด็กยากจนและกำพร้าให้มีสถานที่สำคัญสำหรับศึกษาเล่าเรียน
โดยอาราธนาพระภิกษุเป็นครูสอนวิชาสามัญศึกษาที่ไม่ขัดต่อพระวินัย
และอบรมศีลธรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับการศึกษาแก่
เด็กที่จะได้เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติในอนาคตต่อไป

๕.๗ ทุนการศึกษาพระราชทานแก่นักเรียนเฉพาะกรณีอื่น ๆ ได้แก่
(๑) ทุนพระราชทานแก่นักเรียนชาวเขา
โดยพระราชทานให้แก่นักเรียนชาวเขา เพื่อให้ศึกษาต่อตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาตอนปลาย
ตั้งแต่ปี ๒๕๑๔ เป็นต้นมา เป็นการส่งเสริมให้ชาวเขาส่งบุตรหลานมาศึกษาในโรงเรียนมากขึ้น
ทำให้มีโอกาสใช้ภาษาไทยได้ดียิ่งขึ้น และกลับไปช่วยพัฒนาท้องถิ่นของตน
ส่วนใหญ่ผู้ได้รับทุนพระราชทานนี้เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว
จะไปเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนชาวเขาหรือทำงานเกี่ยวกับชาวเขา

(๒) ทุนพระราชทานแก่นักเรียนเฉพาะสถานศึกษา
เป็นทุนการศึกษาที่พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่งจัดตั้งเป็นทุน
และให้มีการบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลเป็นรายโรงเรียนไป
เพื่อให้มีดอกผลเพิ่มขึ้นสามารถจัดสรรเป็นทุนการศึกษาพระราชทานแก่นักเรียนดีเยี่ยม
นักเรียนที่เรียนดีแต่ขาดทุนทรัพย์ในโรงเรียนในพระองค์ และโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์
เช่น โรงเรียนจิตรลดา โรงเรียนวังไกลกังวล โรงเรียนราชวินิต โรงเรียนราชประชาสมาสัย

(๓) รางวัลพระราชทานแก่นักเรียนและโรงเรียนดีเด่น
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชปรารภเมื่อคราวเสด็จฯ
ทรงเปิดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ณ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๐๖ ว่า “มีนักเรียนจำนวนมาก
ซึ่งมีความประพฤติดีและมีความมานะพยายามศึกษาเล่าเรียนได้ผลดี
รวมทั้งโรงเรียนซึ่งจัดการศึกษาดี นักเรียนและโรงเรียนที่มีคุณสมบัติดังกล่าว
สมควรจะได้รับพระราชทานรางวัล”

กระทรวงศึกษาธิการจึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาจัดทำรางวัลพระราชทานให้แก่
นักเรียนที่สอบประโยคมัธยมศึกษาตอนปลายได้คะแนนสูงสุดทั้ง ๓ แผนก
และโรงเรียนที่นักเรียนสอบประโยคมัธยมศึกษาตอนปลายได้คะแนนมากที่สุด
จำนวน ๙ โรงเรียน เมื่อนำความกราบบังคมทูลในหลวงรัชกาลที่ ๙ แล้ว
พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุน
ตามหลักเกณฑ์แห่งระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วย
รางวัลพระราชทานแก่นักเรียนและโรงเรียน พุทธศักราช ๒๕๐๗
และโปรดเกล้า ฯ ให้เพิ่มหลักเกณฑ์รางวัลพระราชทานสำหรับระดับประถมศึกษา
เพิ่มรางวัลชมเชย พระราชทานแก่นักเรียนในภาคการศึกษาทั้ง ๑๒ ภาค ภาคละ ๑ คน
รางวัลสำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษาได้เพิ่มโล่รางวัลสำหรับพระราชทานแก่
โรงเรียนที่ได้รับพระราชทานติดต่อกันถึง ๓ ปี
การพระราชทานรางวัลนี้ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๐๘ จนถึงปัจจุบัน


ข้อมูลอ้างอิง:
http://www.chaoprayanews.com/2009/02/06/%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87-%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2/
http://www.thaihealth.or.th/Content/21633-%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2.html
https://web.ku.ac.th/king72/2542-08/page02.html
https://web.ku.ac.th/king72/2542-08/main1.htm
https://web.ku.ac.th/king72/2542-08/main2.htm
http://phradabos.or.th/about_1.php
http://www.kamphorsorn.org/?page_id=32
http://saranukromthai.or.th/sub/Ebook/Ebook.php
https://web.ku.ac.th/king72/2542-08/main3.htm
https://web.ku.ac.th/king72/2542-08/main4.htm
http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9590000108339