Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๘๒

dhammajaree262 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

ใต้ร่มพระบารมี (๑๗)
พระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และการสาธารณสุข


dhammajaree282

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีความห่วงใยต่อประชาชนในทุก ๆ ด้าน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสุขภาพอนามัยของประชาชน
ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามท้องที่ต่าง ๆ
จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีคณะแพทย์ที่ประกอบด้วย
แพทย์อาสาสมัครผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาจากโรงพยาบาลต่าง ๆ
พร้อมด้วยเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์
เพื่อที่จะสามารถให้การรักษาพยาบาลราษฎรผู้เจ็บป่วยไข้ได้ในทันที
พระองค์ท่านทรงมีพระราชกรณียกิจ และโครงการพระราชดำริ
ในด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างมากมาย
ยกตัวอย่างพระราชกรณียกิจบางส่วน เช่น

๑. ในปี ๒๔๘๙ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงรับดำรงตำแหน่ง
พระบรมราชูปถัมภกสภากาชาดไทย

๒. ในปี ๒๔๙๓ ประชาชนไทยประสบปัญหาวัณโรคร้ายแรง
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท แก่สภากาชาดไทย
เพื่อให้สร้างอาคารสำหรับเป็นสถานที่ค้นคว้าและทดลองทางวิทยาศาสตร์
และผลิตวัคซีนบีซีจีขึ้นใช้ภายในประเทศ แทนการสั่งซื้อจากต่างประเทศ
โดยได้โปรดเกล้าพระราชทานนามว่า “ตึกมหิดลวงศานุสรณ์”
วัคซีนบีซีจีที่ผลิตได้เองนั้น นอกจากจะใช้คุ้มกันวัณโรคได้ผลดีให้แก่คนไทยแล้ว
กองทุนสงเคราะห์เด็กแห่งสหประชาชาติหรือยูนิเซฟยังได้สั่งซื้อ
เพื่อส่งไปให้ประเทศอื่น ๆ ในทวีปเอเชียได้ใช้ด้วย

๓. ในปี ๒๔๙๕ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญ
เพลงพระราชนิพนธ์ “ยามเย็น” พระราชทานแก่วงดนตรี
นำไปบรรเลงในงานแสดงดนตรีการกุศล เพื่อหารายได้ช่วยเหลือ
โครงการรณรงค์ต่อต้านวัณโรคแห่งชาติ
ของสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
นอกจากนี้ พระองค์ยังได้พระราชทานแบบจำลองเรือรบหลวงศรีอยุธยา
ซึ่งเป็นผลงานฝีพระหัตถ์ออกประมูลในงานเดียวกัน
เพื่อนำรายได้สมทบทุนช่วยเหลือผู้ป่วยวัณโรค

๔. ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงริเริ่มสร้างภาพยนตร์ส่วนพระองค์
พระราชทานจัดฉายเพื่อหารายได้มาช่วยเหลือในทางการแพทย์
เช่น สร้างตึกอานันทมหิดล โรงพยาบาลศิริราช
สร้างตึกวิจัยประสาท โรงพยาบาลประสาท พญาไท
ทั้งพระราชทานทุนวิจัยโรคประสาทแต่ละชนิดให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
สร้างตึกราชสาทิส โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา เพื่อให้คนไข้มีสถานที่เพิ่มขึ้น
สร้างตึกวชิราลงกรณ์ สภากาชาดไทย
สร้างอาคารทางการแพทย์ โรงพยาบาลภูมิพล
และจัดตั้งสถาบันราชประชาสมาสัยเพื่อผู้ป่วยโรคเรื้อน เป็นต้น

๕. ในปี ๒๔๙๕ เกิดโรคไขสันหลังอักเสบ (โปลิโอ) ระบาดอย่างรุนแรง
าผู้ที่เป็นโรคนี้ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และทันท่วงที จะมีอันตรายถึงชีวิตได้
และถึงแม้พ้นขีดอันตราย ก็มักเป็นอัมพาต จำเป็นต้องได้รับการบำบัดฟื้นฟู
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานทุนประเดิมสำหรับจัดตั้งทุน “โปลิโอ สงเคราะห์” ขึ้น
พร้อมทั้งออกประกาศเชิญชวนประชาชนชาวไทย โดยเสด็จพระราชกุศล
ด้วยการทรงเล่นแซ็กโซโฟนเพลงตามคำขอทางวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต
ในครั้งนั้น ทำให้ได้เงินจำนวนมากส่งไปพระราชทานแก่
โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าฯ และมหาวิทยาลัยมหิดล (โรงพยาบาลศิริราช)
เพื่อนำไปสร้างตึก และจัดซื้อเครื่องอุปกรณ์ เครื่องเวชภัณฑ์
สำหรับใช้ในการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วย

๖. ในปี ๒๔๙๖ ประชาชนไทยจำนวนมากประสบปัญหาเป็นโรคเรื้อน
โดยไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม และยังอาศัยอยู่กับคนอื่นปกติทั่วไป
พระองค์ได้พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์จัดตั้ง “ทุนอานันทมหิดล”
มอบให้แก่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เป็นทุนเริ่มแรก
ในการสร้างอาคารสถานพยาบาลโรคเรื้อนขึ้นที่จังหวัดสมุทรปราการ
และทรงให้จัดตั้งสถาบันราชประชาสมาสัย
เพื่อบำบัดฟื้นฟู และค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับโรคเรื้อน รวมทั้งฝึกอาชีพให้ผู้ป่วย
และสร้างสถานศึกษาเพื่อการอบรมเจ้าหน้าที่ในการบำบัดรักษาผู้ป่วย
พร้อมทั้งหาสมมติฐานของโรคเพื่อกำจัดโรคเรื้อน
ส่งผลทำให้ประชาชนไทยหายขาดจากโรคเรื้อน
และโรคเรื้อนนี้หมดไปจากประเทศไทยได้สำเร็จ
โดยผู้ป่วยประมาณ ๑๘๐,๐๐ คนได้รับการรักษาจนหาย
และสามารถดำรงตนเป็นปกติสุขในสังคมได้
อนึ่ง ในการรักษาโรคเรื้อนแก่ผู้ป่วยบางรายที่ต้องตัดแขนหรือขา
ของผู้ป่วยนั้น พระองค์ก็ได้ทรงจัดตั้งหน่วยแขนขาเทียมเพื่อพระราชทานให้ด้วย

๗. ในปี ๒๔๙๘ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ต่อเรือสำหรับบรรเทาทุกข์และรักษาพยาบาลประชาชนที่อยู่ตามลำน้ำ
เพื่อพระราชทานแก่สภากาชาดไทยด้วย ชื่อว่า “เรือเวชพาหน์”
ซึ่งจัดเป็นเรือหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ลำแรกของโลก
และปัจจุบันก็ยังออกให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนที่อยู่ตามลำน้ำ

๘. ในปี ๒๕๐๑ ได้เกิดเหตุอหิวาตกโรคระบาดอย่างรุนแรง
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระราชทานทุนประเดิมก่อตั้งทุนปราบอหิวาตกโรค
โดยมีผู้บริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลเป็นจำนวนมาก
และได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้แก่สภากาชาดไทย เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์
สำหรับผลิตวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้ได้ปริมาณมากขึ้นกว่าที่เคยผลิตได้หลายเท่าตัว
ทรงพระราชทานเครื่องผลิตน้ำกลั่นแก่โรงงานเภสัชกรรม
และแก่สถาบันพยาธิวิทยากรมแพทย์ทหารบก
นอกจากนี้ ได้พระราชทานเงินจัดซื้อเครื่องมือขนาดใหญ่
แก่สถาบันพยาธิวิทยา สำหรับทำการวิจัยหิวาตกโรคด้วย
ทำให้เจ้าหน้าที่ค้นคว้าหาสมมุติฐานของโรคได้ภายในเวลา ๓ เดือนต่อมา
โดยทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกองทัพบกสหรัฐอเมริกา
นอกจากนั้นแล้วยังได้พระราชทาน เครื่องมือแพทย์และเครื่องเวชภัณฑ์เพิ่มเติม
ให้แก่โรงพยาบาลหลายแห่ง และกรมอนามัยด้วย เนื่องจากทรงคาดว่า
จะต้องรับภาระปราบอหิวาตกโรคและรักษาคนไข้ในต่างจังหวัดที่โรคระบาดออกไป
ซึ่งจากการพระราชทานความช่วยเหลืออย่างรีบด่วน
และด้วยพระบรมราชวินิจฉัยอันรอบคอบ รวมถึงหน่วยราชการทุกหน่วยได้ร่วมมือกันเต็มที่
ทำให้ประเทศไทยสามารถปราบอหิวาตกโรค
ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากให้ยุติสิ้นเชิงได้ในเวลาประมาณ ๑ ปี ๕ เดือน

๙. โครงการแพทย์หลวงเคลื่อนที่พระราชทาน
เริ่มเมื่อปี ๒๕๑๐ โดยเมื่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จฯ
แปรพระราชฐานเพื่อไปประทับ และทรงพระราชกรณีกิจในพื้นที่ต่าง ๆ
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดเจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล เครื่องมือเครื่องใช้
ตลอดจนยารักษาโรค ออกทำการตรวจรักษา และพยาบาลราษฎร โดยไม่คิดมูลค่า
ในพื้นที่ท้องถิ่นกันดาร โดยเริ่มต้นในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ราชบุรีและประจวบคีรีขันธ์

๑๐. โครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน
เริ่มเมื่อปี ๒๕๑๒ โดยในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้แพทย์ประจำพระองค์ที่ตามเสด็จฯ ตรวจและรักษาคนไข้
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการชาวเขา
และทรงพบว่าราษฎรที่มารอรับเสด็จป่วยเป็นไข้กันมาก

โครงการดังกล่าวประกอบด้วยการบำบัดรักษา
จากคณะแพทย์พระราชทาน และอบรมหมอหมู่บ้าน
เป็นการช่วยแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของราษฎรที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล
และมีอุปสรรคที่ระบบปกติยากจะดูแลได้ทั่วถึง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราษฎรส่วนใหญ่ มีฐานะยากจน
และขาดความรู้ในการดูแลรักษาตนเอง
การมีคณะแพทย์พระราชทานออกไปบำบัดรักษาผู้ป่วย
ทำให้ราษฎรมีโอกาสได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง โดยไม่ต้องเสียทุนทรัพย์ใด ๆ
สำหรับการอบรมหมอหมู่บ้านนั้น จะช่วยให้ราษฎรมีความรู้เกี่ยวกับการป้องกัน
รู้จักวิธีรักษาพยาบาลแบบปัจจุบัน และรู้จักวิธีติดต่อกับหน่วยราชการ
ในกรณีที่เกินขีดความสามารถที่จะดูแลรักษาตนเองได้

โครงการหน่วยแพทย์พระราชทานได้แก้ไขปัญหาในด้านสุขภาพอนามัย
ช่วยแก้ปัญหาการเจ็บป่วยหรือทุพพลภาพได้ปีหนึ่ง ๆ เป็นจำนวนมาก
จำนวนราษฎรทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ
ในการบำบัดรักษาจากหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทาน
จะเป็นชาวชนบทที่ยากจน ที่มีอาชีพเป็นเกษตรกร อันเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
ในแต่ละปีจะมีราษฎรที่เจ็บป่วยจากทุกภาคที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณรับไว้
เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ทั้งที่เป็นคนไข้ในโรงพยาบาล
และผู้ที่มาขอรับการตรวจ ตลอดจนถึงการที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตามเสด็จฯ
ไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ มีจำนวนมากมายนับหมื่นนับแสนคน

นอกจากนี้ โครงการหน่วยแพทย์พระราชทานได้แก้ไขปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ
เพราะการที่ราษฎรเจ็บป่วยจะเป็นปัญหาในการประกอบอาชีพของราษฎร
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ที่จะต้องใช้กำลังในการทำงาน
เมื่อได้รับการบำบัดรักษาให้มีสุขภาพพลานามัยที่ดีแล้ว
ราษฎรเหล่านั้นก็สามารถมีร่างกายที่สามารถประกอบอาชีพได้
ซึ่งจะได้ส่งผลให้เศรษฐกิจส่วนรวมของสังคมดีขึ้น

๑๑. หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน
ในปี ๒๕๑๓ ภายหลังจากที่ทันตแพทย์ประจำพระองค์ได้ทำพระทนต์ถวายแล้ว
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงรับสั่งถามว่า “เวลาที่พระองค์ท่านมีปัญหาเกี่ยวกับฟัน
มีทันตแพทย์มาช่วยกันดูแลรักษา แล้วราษฎรที่อยู่ห่างไกลความเจริญ
มีหมอช่วยดูแลรักษาหรือเปล่า” เมื่อได้ทรงทราบจากทันตแพทย์ผู้ถวายการรักษาว่า
ไม่มี แม้แต่จังหวัดบางจังหวัด ไม่มีทันตแพทย์ประจำ
อำเภอแทบทุกอำเภอในขณะนั้น ไม่มีทันตแพทย์เลย
เมื่อพระองค์ท่านทรงทราบ จึงรับสั่งว่า “โรคฟัน เป็นโรคของทุกคน
การที่จะให้ราษฎรผู้ยากไร้ และอยู่ห่างไกลความเจริญ
ต้องทิ้งท้องไร่ท้องนา เข้ามารับการรักษาในเมือง คงเป็นไปไม่ได้
น่าที่ทันตแพทย์ จะเดินทางไปดูแลเป็นครั้งคราว”

หน่วยทันตกรรมพระราชทานจึงก่อกำเนิดขึ้น
โดยในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์
จัดซื้อรถยนต์ พร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือทำฟัน
มีทันตแพทย์อาสาออกปฏิบัติงานโดยเริ่มครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๑๓
โดยมีทันตแพทย์ประจำพระองค์ เป็นหัวหน้าคณะ
เพื่อส่งทันตแพทย์อาสาสมัครออกช่วยเหลือบำบัดโรคเกี่ยวกับฟัน
ตลอดจนสอนการรักษาอนามัยของปากและฟัน
แก่เด็กนักเรียนและประชาชนที่อยู่ในท้องที่ทุรกันดารโดยไม่คิดมูลค่า

หน่วยทันตกรรมพระราชทานได้ให้บริการแก่ราษฎรผู้ยากไร้ และด้อยโอกาส
มาเป็นเวลานานหลายสิบปีได้มีการพัฒนาไปอย่างมาก
จากในอดีตที่สามารถให้การรักษาได้วันละ ๕๐ - ๗๐ คน โดยถอนฟันเป็นส่วนใหญ่
แต่ในปัจจุบันนี้ สามารถให้บริการได้ถึง ๑,๒๐๐ - ๑,๕๐๐ คนต่อวัน
โดยสามารถให้บริการได้ เช่นเดียวกับโรงพยาบาลใหญ่ ๆ
นับตั้งแต่การตรวจรักษาโรคในช่องปาก ถ้าพบโรคร้ายแรง เช่น มะเร็งในช่องปาก
ปากแหว่งเพดานโหว่ ฯลฯ ก็จะส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลใหญ่ ๆ
นอกจากนั้น ยังให้ความรู้ทางทันตสุขภาพ บริการถอนฟัน ทั้งยากและง่าย
รวมทั้งการผ่าตัด ที่สามารถทำในหน่วยเคลื่อนที่ได้ บริการรักษาโรคเหงือก
การอุดฟันทั้งยากและง่าย และยังสามารถให้บริการรักษาคลองรากฟัน
ซึ่งโดยปกติไม่สามารถให้การรักษาในหน่วยเคลื่อนที่ได้
แต่หน่วยทันตกรรมพระราชทานสามารถให้การรักษาให้เสร็จสิ้นภายในวันเดียวได้
รวมทั้งการบริการด้านการใส่ฟันเทียม หรือการใส่ฟันทั้งปาก
ช่วยเหลือผู้สูงอายุได้เป็นจำนวนมาก
หน่วยทันตกรรมพระราชทานนี้นับเป็นหน่วยทำฟันเคลื่อนที่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
มีทันตแพทย์สนใจมาสมัครเป็นอาสาสมัครในหน่วยนี้
ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นค่าใช้จ่ายทุกประการ

๑๒. โครงการแพทย์พิเศษตามพระราชประสงค์
โครงการนี้เริ่มขึ้นเมื่อปี ๒๕๑๗ เพื่อบรรเทาความเจ็บป่วยของราษฎร
ที่นิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส
นิคมนี้มีสถานีอนามัยเพียงแห่งเดียว ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดแพทย์หมุนเวียนเข้าไปให้บริการตรวจรักษา
ซึ่งแพทย์และเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลนราธิวาส และโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก
ได้ไปปฏิบัติการสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง เป็นประจำ

๑๓. โครงการศัลยแพทย์อาสาราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย
เริ่มขึ้นเมื่อปี ๒๕๑๘ หลังจากที่เปิดโครงการแพทย์พิเศษตามพระราชประสงค์ในปี ๒๕๑๗
กลุ่มแพทย์อาสาสมัครเล็งเห็นความสำคัญ และความจำเป็น
ที่จะต้องมีศัลยแพทย์อาสาไปช่วยปฏิบัติงาน ณ โรงพยาบาลประจำจังหวัดสกลนคร
ในช่วงที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จฯ แปรพระราชฐาน
เพื่อทรงพระราชกรณียกิจที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์
จึงได้มีการรวบรวมหาข้อมูล และความต้องการของโรงพยาบาลต่าง ๆ ในด้านศัลยกรรม
และจัดทำทำเนียบศัลยแพทย์อาสา แล้วก่อตั้งวิทยาลัยศัลยแพทย์ขึ้น
ต่อมา ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงรับวิทยาลัยศัลยแพทย์ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์
และเปลี่ยนชื่อเป็นราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย

๑๔. โครงการแพทย์ หู คอ จมูก และโรคภูมิแพ้พระราชทาน
เริ่มในปี ๒๕๒๒ เนื่องจากมีราษฎรเป็นจำนวนมากที่เจ็บป่วยด้วยโรคหู คอ จมูก
และโรคภูมิแพ้ ซึ่งจำเป็นต้องรับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาเหล่านี้
จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดหน่วยแพทย์อาสาสมัครในโรคดังกล่าว
ผลัดกันออกไปปฏิบัติหน้าที่ประจำโรงพยาบาลประจำจังหวัด
ที่เสด็จแปรพระราชฐาน และปฏิบัติพระราชกรณียกิจ
โดยอาศัยแพทย์หู คอ จมูกอาสาสมัครจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลราชวิถี
โรงพยาบาลประจำจังหวัดนครราชสีมา และโรงพยาบาลประจำจังหวัดนครพนม
ผลัดเปลี่ยนกันมาปฏิบัติราชการชุดละ ๒ สัปดาห์ โดยเริ่มที่จังหวัดนราธิวาสก่อน
ต่อมาขยายการปฏิบัติงานไปที่จังหวัดสกลนคร และจังหวัดเชียงใหม่

๑๕ โครงการอบรมหมอหมู่บ้านในพระราชประสงค์
เนื่องด้วยในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเล็งเห็นว่าปัญหาด้านการแพทย์และสาธารณสุข
เกิดจากการที่ราษฎรไม่ได้รับการรักษาพยาบาลที่ถูกต้อง
อีกทั้งยังไม่มีสถานพยาบาลอยู่ใกล้ หรือบ้างก็เกิดจากการอุปโภคบริโภคที่ไม่ถูกสุขลักษณะ
ด้วยเหตุนี้ จึงมีพระราชดำริจัดตั้งโครงการอบรมหมอหมู่บ้านในพระราชประสงค์
โดยคัดเลือกประชาชนในหมู่บ้านต่าง ๆ มาเข้ารับการฝึกอบรม
ในด้านการรักษาพยาบาลเบื้องต้น การรักษาโรคอย่างง่าย
เพื่อให้หมอหมู่บ้านเหล่านี้ สามารถช่วยเหลือประชากรในหมู่บ้านได้อย่างถูกวิธี

๑๖. โครงการอบรมปฐมพยาบาลเบื้องต้น และการช่วยคลอดฉุกเฉิน
โครงการพระราชดำริสำหรับตำรวจจราจร
โดยโครงการนี้เกิดขึ้นเนื่องจากในหลวงรัชกาลที่ ๙
ทรงห่วงใยพสกนิกรในเรื่องปัญหาการจราจร
ซึ่งส่งผลให้เกิดวามเดือดร้อนของประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
เช่น การนำผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บ หญิงใกล้คลอดส่งโรงพยาบาล รวมถึงการคลอดฉุกเฉิน
ดังนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรต้องได้รับการฝึกอบรมให้เกิดทักษะ ความรู้
ความชำนาญเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการทำคลอดฉุกเฉิน
เพื่อนำไปช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน
สำหรับการฝึกอบรมจะฝึกปฏิบัติการช่วยเหลือฉุกเฉินเบื้องต้น การช่วยชีวิตพื้นฐาน
การฝึกและทดสอบปฏิบัติการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน
การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค การช่วยเหลือการคลอดในสถานการณ์ต่าง ๆ
และการดูแลทารกแรกคลอดก่อนนำส่งโรงพยาบาล
โดยได้พระราชทานแนวทางปฏิบัติให้แก่ตำรวจ
และพระราชทานทุนจากทรัพย์สินส่วนพระองค์ในการจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้
รถจักรยานยนต์พร้อมอุปกรณ์อำนวยความสะดวก
และพัฒนาบุคลากรเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาจราจร
อันจะบรรเทาความเดือดร้อนของพสกนิกรได้อย่างรวดเร็ว
โดยโครงการนี้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ เรื่อยมา

๑๗. โครงการเจลลี่พระราชทาน เพื่อผู้ป่วยมะเร็งช่องปาก
สืบเนื่องจากความทุกข์ทรมานในการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งช่องปาก
ซึ่งจะมีแผลในช่องปากทำให้เคี้ยวและกลืนอาหารลำบาก
และในที่สุดก็จะทำให้ร่างกายผู้ป่วยขาดสารอาหารจำพวกโปรตีนและพลังงาน
โครงการเจลลี่พระราชทานจึงได้กำเนิดขึ้น
โดยในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานทุนในการคิดค้นและวิจัยผลิตภัณฑ์นี้
เพื่อช่วยยกระดับชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งช่องปากให้ดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุขมากขึ้น

จากเดิมที่จะต้องให้อาหารทางสายยาง เพื่อแก้ปัญหาขาดสารอาหารให้ผู้ป่วย
ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารในรูปแบบเจล คล้ายเต้าหู้อ่อน
ทำให้ผู้ป่วยสามารถเคี้ยวและกลืนอาหารได้ โดยไม่สำลักหรือติดคอ
อีกทั้งผลิตภัณฑ์นี้ยังมีสารอาหารและให้พลังงานที่เหมาะสมอีกด้วย
ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าการใส่สายยางให้อาหารเป็นอย่างมาก

ในปี ๒๕๕๔ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้คณะกรรมการมูลนิธิทันตนวัตกรรมในพระราชูปถัมภ์ฯ
พร้อมคณะผู้วิจัยเข้ากราบบังคมทูลผลการดำเนินงาน
ซึ่งในครั้งนั้น ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงแนะนำให้ปรับรูปแบบของบรรจุภัณฑ์
เพราะมีลักษณะคล้ายกล่องนมจนเกินไป
จนอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดและเขย่ากล่องเจลลี่ได้
โดยทรงแนะนำให้ปรับกล่องบรรจุภัณฑ์เป็นแนวนอน
แทนแบบเดิมที่เป็นกล่องแนวตั้งคล้ายกล่องนม
นอกจากนี้ ยังทรงมีพระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับแนวทางการปรับปรุง
ความหลากหลายของรสชาติอาหาร โดยทรงพระราชทานข้อคิดไว้ว่า
“อาหารผู้ป่วยดีอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอร่อยด้วย เพราะคนไข้คือคนป่วย
เราจึงต้องคำนึงถึงการดูแลด้านจิตใจของเขาให้มาก
เพราะผู้ป่วยมีความทุกข์ทางร่างกายอยู่แล้ว”

ในปีเดียวกันนั้น ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้หน่วยทันตกรรมพระราชทานนำเจลลี่โภชนาจำนวน ๘๔๐,๐๐ กล่อง
ไปแจกจ่ายแก่ผู้ป่วยมะเร็งและผู้ป่วยทันตกรรมทั่วประเทศ
ในปัจจุบัน มูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระราชูปถัมภ์ฯ ได้จัดทำ
โครงการอาหารพระราชทานสำหรับผู้ป่วยมะเร็งช่องปาก
ซึ่งจะแจกจ่ายแก่ ผู้ป่วยมะเร็งช่องปาก หรือผู้ป่วยอื่น ๆ ที่มีปัญหาการเคี้ยว
หรือการกลืน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

๑๘. ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงพระราชทานทุนการศึกษาต่าง ๆ
และผ่านทางมูลนิธิต่าง ๆ แก่นักศึกษาเพื่อศึกษาสาขาวิชาแพทย์ศาสตร์
เช่น ทุนมูลนิธิภูมิพล ทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ทุนเล่าเรียนหลวง เป็นต้น

๑๙. น้ำพระราชหฤทัยที่เปี่ยมด้วยพระเมตตาของในหลวงรัชกาลที่ ๙
ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ความเจ็บป่วยของประชาชนเท่านั้น
แต่ได้เผื่อแผ่ไปถึงแม้บรรดาสัตว์ที่เจ็บป่วยด้วย
โดยในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานเงินรายได้จากการจำหน่ายเสื้อคุณทองแดง
ให้แก่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เพื่อดำเนินโครงการตามพระราชกระแสในหลายโครงการด้วยกัน เช่น
โครงการตรวจหาเครื่องหมายดีเอ็นเอของสุนัขสายพันธุ์ไทย
โครงการเฝ้าระวังและการพัฒนาวินิจฉัยโรคฉี่หนู (เลปโตสไปโรซิส)
โครงการระวังโรคระบาดในสัตว์ปีก โครงการพัฒนาน้ำเชื้อแข่แข็งสุนัข
โครงการกองทุนรักษาสัตว์ป่วยอนาถา เป็นต้น รวมถึงมีการสร้างสระว่ายน้ำ “สุวรรณชาด”
สำหรับบำบัดรักษาสุนัขที่ป่วยด้วยโรคข้อกระดูก และระบบประสาทแบบธาราบำบัด
โดยได้เสด็จฯ ทรงเปิดนิทรรศการ “สระสุวรรณชาด” เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๔๘

๒๐. ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง “ศูนย์รักษ์สุนัขหัวหิน”
เพื่อช่วยเหลือดูแลรักษาและฟื้นฟูสุขภาพสุนัขจรจัด
ซึ่งโครงการนี้ยังช่วยแก้ไขปัญหาในการควบคุมปริมาณของสุนัขจรจัด
ที่ส่งผลกระทบในเขตพื้นที่อำเภอหัวหิน และพื้นที่ใกล้เคียง
โดยเฉพาะสถานที่ท่องเที่ยวอย่างบริเวณชายหาดและแหล่งชุมชนอีกด้วย
ในการนี้ ศูนย์รักษ์สุนัขหัวหินยังได้ร่วมกับโรงพยาบาลสัตว์เกษตร หัวหิน
จัดตั้งธนาคารเลือดจากน้องหมาจร เพื่อช่วยเพื่อนหมาตัวอื่น ๆ
โดยคัดเลือกสุนัขจรจัดที่แข็งแรงมาเจาะตรวจเลือด ดูว่าจะสามารถให้เลือดได้ไหม
หากผ่านการตรวจคัดแล้วว่าไม่ติดโรค ไม่เป็นพยาธิ และเกล็ดเลือดไม่จาง
จึงจะสามารถให้เลือดได้ เพื่อนำไปช่วยเหลือสุนัขตัวอื่น ๆ ต่อไป

โครงการนี้แสดงให้เห็นว่าสุนัขจรจัดเหล่านี้ที่ใครเห็นว่าไม่มีคุณค่า
ก็ยังช่วยเหลือทำประโยชน์ต่อสังคมได้
ที่ผ่านมา เลือดของสุนัขเหล่านี้ได้ช่วยสุนัขที่มีเจ้าของมาแล้วหลายตัว
ซึ่งเจ้าของสุนัขที่ได้รับเลือด เมื่อทราบว่าเลือดของสุนัขจรจัดมาช่วยสุนัขของเขา
ต่างก็แสดงความประทับใจ และรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ
ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ได้ทรงริเริ่มก่อตั้งศูนย์รักษ์สุนัขหัวหินแห่งนี้

ด้วยพระราชกรณียกิจมากมายในด้านการอนามัยและการสาธารณสุข
ที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงช่วยเหลือต่อประชาชนมาตลอดรัชสมัย
จึงได้มีการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลหลายรางวัล เช่น
เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ นาย Hiroshi Nakajema
ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization)
ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองสาธารณสุขเพื่อมวลชน (Health for All Gold Medal)
เนื่องจากทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ
เพื่อประโยชน์ทางด้านการสาธารณสุขของประเทศไทย

เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ วิทยาลัยแพทย์โรคทรวงอกแห่งสหรัฐอเมริกา
รัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทูลเกล้าฯ ถวาย
รางวัล Partnering for World Health Award

เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๐ องค์การสภาการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนนานาชาติ
(ICCIDD : International Council for the Control of Iodine Deficiency Disorders )
กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดาได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองสดุดีพระเกียรติคุณ
(ICCIDD Gold Medal) ในฐานะที่ทรงเป็นผู้นำและชี้แนะแนวทาง
การแก้ไขปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนในประเทศไทย

เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ สหพันธ์องค์กรต่อต้านวัณโรคและโรคปอดนานาชาติ
กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสเหรียญทอง ได้ถวายเหรียญทองสดุดีพระเกียรติคุณ
ในฐานะที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อการรณรงค์เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพปอด

เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๔๒ สโมสรไลออนส์สากล รัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลในฐานะที่ทรงอุทิศพระองค์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต
ของประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะด้านสาธารณสุขและการศึกษา

เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๓ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization)
ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลสดุดีพระเกียรติคุณขององค์กรอนามัยโลก
โล่เฉลิมพระเกียรติ WHO Plague

ในวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๙ เลขาธิการสหประชาชาติได้ทูลเกล้าถวาย
รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์
(The Human Development Lifetime Achievement Award)
ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในโลกที่ได้มีการถวายรางวัลดังกล่าวนี้
พร้อมทั้งได้ทูลเกล้าฯ ถวาย “เหรียญทองสุขภาพดีถ้วนหน้า”
ของสหประชาชาติอีกด้วย


ข้อมูลอ้างอิง:
http://www.vencure.com/7e/%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%8C/
http://km.rdpb.go.th/Project/View/8585
http://saovabha.com/th/product_vaccine.asp?nTopic=2
https://www.thairath.co.th/content/545303
http://www.thaihealth.or.th/Content/21634-%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82.html