Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๘๑

dhammajaree262 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ใต้ร่มพระบารมี (๑๖) พระราชกรณียกิจในการพัฒนาพลังงานไทย (ตอนจบ)

 
dhammajaree281

ในตอนนี้จะขอนำพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ ๙
เกี่ยวกับการพัฒนาพลังงานไทยมานำเสนอต่อจากตอนที่แล้ว
ซึ่งในตอนนี้จะเป็นตอนจบครับ

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานทดแทน
เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เชื้อเพลิงอัดแท่ง พลังงานความร้อนจากแกลบ
โดยล้วนแต่มีการทดลองและใช้งานในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา
และศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริในภูมิภาคต่าง ๆ
เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนที่สนใจเข้ามาศึกษา
และนำไปปรับใช้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของตนเอง ยกตัวอย่างเช่น

๑. โครงการผลิตพลังงานทดแทนของโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา
ได้ศึกษา และใช้พลังงานทดแทน ดังต่อไปนี้

๑.๑ โครงการผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่ง (แกลบอัดแท่ง)
ปกติหลังการสีข้าว จะได้แกลบซึ่งอาจนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์
ทำเป็นปุ๋ย และเชื้อเพลิงได้ตามความต้องการ
โดยในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำริตั้งแต่ปี ๒๕๑๘ ว่า
ควรมีการนำแกลบมาใช้งานให้เป็นประโยชน์
ทั้งทางด้านการทำเป็นปุ๋ยสำหรับปรับปรุงสภาพดินและทำเป็นเชื้อเพลิง
ซึ่งจะสามารถใช้แทนถ่านไม้ และช่วยอนุรักษ์ป่าไม้ได้อีกทางหนึ่งด้วย

ต่อมาในปี ๒๕๒๓ ได้มีการทดลองนำแกลบมาอัดให้เป็นแท่ง และแปรสภาพให้เป็นเชื้อเพลิงแท่ง
เริ่มจากการนำแกลบที่ได้จากโรงสีข้าวตัวอย่างในสวนจิตรดามาทดลองใช้งาน
โดยได้รับความร่วมมือในการวิจัยและค้นคว้าจาก
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
ระหว่างการทำวิจัยและทดลองในเบื้องต้นพบว่า
การใช้งานแกลบอัดแท่งเป็นเชื้อเพลิงจะมีควันมาก
จึงต้องกำจัดควันโดยการนำแกลบอัดแท่งเข้าเตาเผาให้เป็นถ่าน
เมื่อต้องการนำถ่านแกลบไปใช้งาน จะต้องนำถ่านแกลบมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ
ถ่านแกลบจะให้ความร้อนประมาณ ๔,๗๓๐ กิโลแคลอรี่ ต่อ ๑ กิโลกรัม
ในขณะที่ถ่านไม้โดยทั่วไป ให้ความร้อนประมาณ ๗,๔๕๐ กิโลแคลอรี่ ต่อ ๑ กิโลกรัม

๑.๒ โครงการทดลองผลิตแก๊สโซฮอล์
งานทดลองผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงเริ่มขึ้นเมื่อปี ๒๕๒๘
โดยในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงรับสั่งให้ศึกษาต้นทุนการผลิตแอลกอฮอล์จากอ้อย
เพราะในอนาคตอาจเกิดเหตุการณ์น้ำมันขาดแคลนหรืออ้อยราคาต่ำ
การนำอ้อยมาแปรรูปเป็นแอลกอฮอล์เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน
จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานเงินทุนวิจัยในการดำเนินงาน ๙๒๕,๕๐๐ บาท
เพื่อใช้ในการจัดสร้างอาคาร และอุปกรณ์ต่างๆ ในการทดลองนี้

๑.๓ โครงการเครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์
เมื่อปี ๒๕๓๘ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ร่วมกับสถาบันวิศวกรรมเกษตรสำหรับเมืองร้อนและกึ่งร้อน มหาวิทยาลัยโฮเฮนไฮม์
สถาบันไอเซลเลน และบริษัทเกวุสมิลเลอร์ ประเทศเยอรมันนี
ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบอุโมงค์ลมร้อน
(tunnel solar dryer) โดยมีแผงรับความร้อนจากแสงอาทิตย์
และมีพัดลมเป็นตัวเป่าลมร้อนที่เกิดขึ้นสามารถนำไปใช้อบผลิตผลทางการเกษตรต่าง ๆ
เช่น เมล็ดธัญพืช เมล็ดถั่ว ผัก ผลไม้ พืชสมุนไพร
ตลอดจนผลิตภัณฑ์เนื้อ และผลิตภัณฑ์ประมง
เพื่อเป็นการประหยัดพลังงานไฟฟ้าในการอบแห้งผลิตภัณฑ์อบแห้งของโครงการส่วนพระองค์
ได้แก่ การทำกล้วยตาก และผลไม้อบแห้งอื่น ๆ

๑.๔ โครงการกังหันลมสูบน้ำ
ในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา มีกังหันลมสูบน้ำจำนวน ๒ เครื่อง
ปริมาณน้ำที่สูบได้ ๒,๐๐๐ – ๒๔,๐๐๐ ลิตรต่อชั่วโมง
(ที่ความเร็วลม ๔ - ๓๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
กังหันลมทั้ง ๒ เครื่องใช้สูบน้ำจากคลองรอบพระตำหนัก
เข้ามาที่บ่อเลี้ยงปลานิลที่ด้านหน้าโครงการฯ และนำน้ำจากคลองมาใช้ในการอุปโภค

๑.๕ โครงการบ้านพลังงานแสงอาทิตย์
โครงการบ้านพลังงานแสงอาทิตย์เป็นโครงการที่กระทรวงกลาโหม
กรมการพลังงานทหาร ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพัฒนาพลังงานทหาร
ได้จัดทำขึ้นเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙
ณ พระราชวังสวนจิตรลดา เนื่องในวโรกาสที่ทรงครองราชย์เป็นปีที่ ๕๐
วัตถุประสงค์ของโครงการคือเพื่อปูพื้นฐานการอนุรักษ์พลังงานและใช้พลังงานทดแทน
เพื่อสาธิตการผลิตกระแสไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์
สาธิตการประจุกระแสไฟฟ้าตรงลงในแบตเตอรี่
และสาธิตเทคโนโลยีการป้อนกระแสไฟฟ้าเข้าสู้ระบบจำหน่ายของการไฟฟ้านครหลวง

ในกรณีที่กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเซลล์แสงอาทิตย์มีมากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในขณะนั้น
กระแสไฟฟ้าส่วนเกินจะถูกขายคืนเข้าในระบบสายส่งของการไฟฟ้าฯ
ในทางกลับกันหากความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าในขณะนั้นมีมากกว่ากระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้
กระแสไฟฟ้าส่วนที่ขาดก็จะถูกซื้อเสริมเข้ามาจากระบบสายส่งของการไฟฟ้าฯ ตามปกติ
ซึ่งการทำงานของระบบได้รับการออกแบบให้เป็นการทำงานแบบอัตโนมัติ
ดังนั้นจึงไม่ต้องมีการปิด-เปิดระบบแต่อย่างใดในแต่ละวัน

 

๒. โครงการนำพลังงานทดแทนไปใช้งานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน
อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้นำพลังงานทดแทนไปใช้ในโครงการ ดังนี้

๒.๑ ระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์พร้อมหอถังสูง
เครื่องสูบน้ำจะทำงานด้วยการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ถูกสะสมไว้ในแบตเตอรี่
และจากเซลล์แสงอาทิตย์โดยผ่านเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าในช่วงกลางวัน
หรือใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่สูบน้ำเมื่อต้องการ
โดยสามารถสูบน้ำได้วันละประมาณ ๔๕ ลูกบาศก์เมตร

๒.๒ ระบบสูบน้ำด้วยกังหันลม
บริเวณพื้นที่เขาหินซ้อน ความเร็วลมมีค่าเฉลี่ยประมาณ ๗ กิโลกรัมต่อชั่วโมง
วันละประมาณ ๑๓ ชั่วโมง ดังนั้น โครงการจึงนำกังหันลมสูบน้ำจำนวน ๓ ระบบ
มาติดตั้งใน ๓ พื้นที่คือ พื้นที่แปลงเกษตรบริเวณอ่างเก็บนำห้วยเจ๊ก
ศูนย์ส่งเสริมพืชสวนบริเวณห้วยน้ำโจน และโครงการพืชอายุสั้นบริเวณห้วยน้ำโจน
กังหันลมจะเริ่มทำงานที่ความเร็วลมประมาณ ๔ กิโลเมตรต่อชั่งโมง
จะสูบน้ำไปเก็บไว้ในหอถังสูงที่ระยะหัวยกน้ำประมาณ ๑๘ เมตร
โดยสูบน้ำได้วันละประมาณ ๑๐-๒๐ ลูกบาศก์เมตร ขึ้นอยู่กับความเร็วลม
จากนั้นจึงปล่อยน้ำจากหอถังสูงผ่านระบบหัวฉีดย่อยหรือน้ำหยดให้กับแปลงเกษตรกรรมต่อไป

๒.๓ ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์เชื่อมต่อสายส่ง
ประกอบด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด ๒,๑๐๐ วัตต์
กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเซลล์แสงอาทิตย์นี้สามารถใช้ได้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีอยู่ทุกชนิด
โดยในกรณีที่กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเซลล์แสงอาทิตย์มีมากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้า
ส่วนเกินจะถูกขายคืนเข้าในระบบสายส่งของการไฟฟ้าฯ

๒.๔ ระบบแสงไฟถนนด้วยเซลล์แสงอาทิตย์
เซลล์แสงอาทิตย์จะประจุกระแสไฟฟ้าลงในแบตเตอรี่ในเวลากลางวัน
โดยผ่านอุปกรณ์ควบคุมที่ทำหน้าที่ประจุให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ
ภายในเครื่องมีอุปกรณ์สั่งให้หลอดไฟสว่างโดยอัตโนมัติเมื่อท้องฟ้าเริ่มมืด
และสั่งให้หลอดไฟดับโดยอัตโนมัติเมื่อท้องฟ้าเริ่มสว่าง

๒.๕ ชุดแสงไฟล่อแมลงด้วยเซลล์แสงอาทิตย์
เซลล์แสงอาทิตย์จะประจุกระแสไฟฟ้าลงในแบตเตอรี่ในเวลากลางวัน
เมื่อดวงอาทิตย์ตกดิน เซนเซอร์วัดความสว่างจะสั่งให้หลอดไฟสว่าง
และพัดลมหมุนเป็นเวลา ๒ ชั่วโมง เพราะโดยปกติแมลงจะออกมาเล่นไฟประมาณ ๒ ชั่วโมง
ในขณะที่หลอดไฟสว่างและพัดลมหมุนนั้น หากมีแมลงบินเข้าใกล้ก็จะถูกดูดให้ตกลงไปในถุง
และแมลงที่ได้นี้สามารถนำไปใช้เลี้ยงปลาได้
นอกจากนี้ ชุดแสงไฟล่อแมลงยังสามารถติดตั้งไว้กลางบ่อเลี้ยงปลา
เพื่อให้แมลงตกลงไปในบ่อปลาโดยตรงได้ด้วย

๒.๖ ชุดกรองน้ำดื่มระบบรีเวิร์สออสโมซิลทำงานด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์
ชุดกรองน้ำดื่มระบบรีเวิร์สออสโมซิสเป็นเครื่องฟอกน้ำจืด
น้ำกร่อย หรือ น้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดบริสุทธิ์
หลักในการทำงาน คือ ใช้เยื่อเมมเบรน (membrane) ซึ่งเป็นเยื่อบางๆ
คล้ายแผ่นกระดาษแต่มีเนื้อละเอียดถึง ๐.๐๐๐๑ ไมครอน
ทำให้โมเลกุลของสารละลายในน้ำไม่สามารถลอดผ่านไปได้
โดยเยื้อเมมเบรนจะทำงานควบคู่กับเครื่องสูบน้ำแรงดันสูง
ที่ทำหน้าที่ผลักดันน้ำดิบให้ผ่านเยื่อเมมเบรน
เครื่องสูบน้ำดังกล่าวทำงานด้วยไฟฟ้าที่ผลิตจากเซลล์แสงอาทิตย์

๒.๗ เครื่องสกัดสารกำจัดศัตรูพืชด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
เป็นอุปกรณ์ที่นำพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์
มาใช้ประโยชน์ในการต้มสกัดสารชีวภาพ ซึ่งมีอยู่ในสมุนไพรบางชนิด
เช่น ตะไคร้ หอม สะเดา ข่า และอื่น ๆ
โดยการทำงานจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อแสงอาทิตย์ตกกระทบแผงรับแสงอาทิตย์
พลังงานความร้อนจะถูกดูดซับและส่งถ่ายความร้อนให้กับน้ำที่อยู่ในระบบ
น้ำในหม้อต้มจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงประมาณ ๙๐ องศาเซลเซียส
ใช้เวลาวันละ ๖-๘ ชั่วโมง ก็จะได้น้ำสารสกัดจากพืชสมุนไพร ๗๕-๑๐๐ ลิตรต่อวัน
สามารถนำน้ำสารสกัดไปฉีดพ่นพืชผักผลไม้ เพื่อป้องกันศัตรูพืชที่จะมาทำลายได้

๒.๘ ระบบเครื่องขยายเสียงพลังงานแสงอาทิตย์
เครื่องขยายเสียงพลังงานแสงอาทิตย์มีขนาดกำลังขยาย ๕๐ วัตต์
โดยสามารถใช้งานได้ทั้งไมโครโฟนแบบมีสาย และแบบไร้สาย
สามารถใช้งานในภาคสนามและเลือกใช้ตามความเหมาะสม

๒.๙ มุ้งแอร์สุขภาพรุ่นประหยัดพลังงาน
ตัวมุ้งผลิตจากผ้าชนิดพิเศษและมีน้ำหนักเบาเป็นลักษณะ ๒ ชั้น
ชั้นนอกโปร่งและชั้นในทึบเพื่อเป็นฉนวนความร้อน
โดยมีช่องแอร์สำหรับต่อเข้ากับเครื่องปรับอากาศเคลื่อนที่ขนาดเล็กที่มีระบบฟอกอากาศ
ด้านหน้าพ่นลมเย็น ด้านหลังพ่นลมร้อน ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องทำความอุ่นให้กับมุ้งติดแอร์ได้
เครื่องปรับอากาศเคลื่อนที่ขนาดเล็กนี้สามารถนำมาใช้ทดแทนพัดลม ซึ่งให้ลมเย็นกว่าพัดลมไอน้ำ
โดยเนื่องจากเป็นเครื่องปรับอากาศเล็ก จึงสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าน้อยมาก

 

๓. โครงการนำพลังงานทดแทนไปใช้งานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน
อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้นำพลังงานทดแทนไปใช้ในโครงการ ได้แก่
ระบบสูบน้ำบาดาลด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์
ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์เชื่อมต่อสายส่ง
ระบบเติมอากาศลงบ่ออนุบาลปลาด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์
ชุดแสงไฟล่อแมลงด้วยเซลล์แสงอาทิตย์
เครื่องสกัดสารกำจัดศัตรูพืชด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
ชุดกรองน้ำดื่มระบบรีเวิร์สออสโมซิลทำงานด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์
ระบบเครื่องขยายเสียงพลังงานแสงอาทิตย์ และมุ้งแอร์สุขภาพรุ่นประหยัดพลังงาน

 

๔. การนำพลังงานทดแทนไปใช้งานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง
อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส ได้นำพลังงานทดแทนไปใช้ในโครงการ ได้แก่
ระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อปรับสภาพน้ำเปรี้ยว
ชุดแสงไฟล่อแมลงด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ กังหันลมสูบน้ำ
ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์เชื่อมต่อสายส่ง
เครื่องสกัดสารกำจัดศัตรูพืชด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
ชุดกรองน้ำดื่มระบบรีเวิร์สออสโมซิสทำงานด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์
ชุดแสงไฟล่อแมลงด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ ระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์
เครื่องวัดพลังงานแสงอาทิตย์ มุ้งแอร์สุขภาพรุ่นประหยัดพลังงาน
ระบบเครื่องขยายเสียงพลังงานแสงอาทิตย์

 

๕. โครงการนำพลังงานทดแทนไปใช้งานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย
อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้นำพลังงานทดแทนไปใช้ในโครงการ ได้แก่
ระบบสูบน้ำเพื่อทำระบบป่าเปียกด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์
ระบบสูบน้ำเพื่อการเกษตรด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์
ระบบสูบน้ำสำหรับประปาหมู่บ้านด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์
ระบบไฟฟ้าแสงสว่างด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ ชุดแสงไฟล่อแมลงด้วยเซลล์แสงอาทิตย์
ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์เชื่อมต่อสายส่ง
เครื่องสกัดสารกำจัดศัตรูพืชด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
เครื่องวัดพลังงานแสงอาทิตย์มุ้งแอร์สุขภาพรุ่นประหยัดพลังงาน
ชุดกรองน้ำดื่มระบบรีเวิร์สออสโมซิสทำงานด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์
ระบบเครื่องขยายเสียงพลังงานแสงอาทิตย์

 

๖. โครงการนำพลังงานทดแทนไปใช้งานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน
อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้นำพลังงานทดแทนไปใช้ในโครงการ ได้แก่
ระบบน้ำบาดาลด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์
ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์เชื่อมต่อสายส่ง
เครื่องสกัดสารจำกัดศัตรูพืชด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
ชุดกรองน้ำดื่มระบบรีเวิร์สออสโมซิสทำงานด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์
ชุดแสงไฟล่อแมลงด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ เครื่องวัดพลังงานแสงอาทิตย์
ระบบเครื่องขยายเสียงพลังงานแสงอาทิตย์

 

๗. โครงการนำพลังงานทดแทนไปใช้งานที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน)
อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้นำพลังงานทดแทนไปใช้ในโครงการ ได้แก่
ระบบประจุแบตเตอรี่ด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ ชุดแสงไฟล่อแมลงด้วยเซลล์แสงอาทิตย์
โทรศัพท์สาธารณะเคลื่อนที่ระบบ 470 เมกะเฮร์ต ด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์
เครื่องสกัดสารกำจัดศัตรูพืชด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
เครื่องวัดพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบเครื่องขยายเสียงพลังงานแสงอาทิตย์

 

๘. โครงการนำพลังงานทดแทน ไปใช้งานที่โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย
อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้นำพลังงานทดแทนไปใช้ในโครงการ ได้แก่
ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์เชื่อมต่อสายส่ง
ชุดกรองน้ำดื่มระบบรีเวิร์สออสโมซิสทำงานด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์
เครื่องวัดพลังงานแสงอาทิตย์ มุ้งแอร์สุขภาพรุ่นประหยัดพลังงาน
ชุดแสงไฟล่อแมลงด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ ระบบเครื่องขยายเสียงพลังงานแสงอาทิตย์

 

๙. การนำพลังงานทดแทนไปใช้ในโครงการเกษตรผสมผสานมูโนะ
อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส
โครงการชลประทานมูโนะเริ่มก่อนสร้างนี้ โดยการขุดคลองมูโนะเพื่อรับน้ำดีจากแม่น้ำโก-ลก
และก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม
ซึ่งเมื่อระบบต่างๆ ที่ก่อนสร้างไว้เริ่มได้ผลตามวัตถุประสงค์แล้ว
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้มีพระราชดำริเพิ่มเติมให้ก่อสร้างระบบชลประทาน
ในแปลงนาในรูปแบบของเกษตรผสมผสาน เพื่อเป็นแปลงตัวอย่างนำร่องให้เกษตรกร
ซึ่งได้พิจารณาเลือกพื้นที่บริเวณบ้านมูโนะ ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก
เพราะเป็นจุดที่อยู่ต้นคลองมูโนะ ไม่มีปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำ

แต่การส่งน้ำด้วยแรงโน้มถ่วงของโลกไม่สามารถกระทำได้
เพราะเป็นพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำสูงสุดในคลองระบายน้ำมูโนะ
ดังนั้น การส่งน้ำตลอดฤดูกาลเพาะปลูกจะใช้ระบบสูบน้ำแล้วกระจายสู่พื้นที่เพาะปลูก
ระบบชลประทานที่มีอยู่เดิมของโครงการเกษตรผสมผสานมูโนะฯ นั้น
เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๕ โดยใช้เครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้า
ซึ่งปัญหาจากระบบสูบน้ำเดิมนี้คือ ปัญหาด้านภาระค่ากระแสไฟฟ้า
จึงได้ทำการใช้ระบบสูบน้ำเพื่อการเกษตรด้วยเซลล์แสงอาทิตย์
เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าในการสูบน้ำ
และสาธิตระบบผลิตไฟฟ้าที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมันหรือถ่านหินซึ่งทำลายสิ่งแวดล้อม
และเผยแพร่ให้ประชาชนรับรู้ถึงเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด
รวมทั้งเป็นการปลูกจิตสำนึกของความร่วมมือกันประหยัดพลังงานด้วย

 

๑๐. การนำพลังงานทดแทนไปใช้งานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาการอนุรักษ์
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
ได้นำระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์แบบอิสระ
และระบบสูบน้ำแบบต่อตรงด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ มาใช้ในโครงการ

 

๑๑. โครงการนำพลังงานทดแทนไปใช้งานที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จังหวัดนครพนม
ได้นำ ระบบสูบน้ำบาดาลด้วยไฟฟ้าจากเซลส์แสงอาทิตย์ มาใช้ในโครงการ

 

๑๒. โครงการนำพลังงานทดแทนไปใช้งานที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง
ได้นำพลังงานทดทนมาใช้ในโครงการ ได้แก่
ระบบผลิตก๊าซชีวภาพ จากมูลช้าง ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลส์แสงอาทิตย์เพื่อแสงสว่าง
ระบบสูบน้ำบาดาลด้วยไฟฟ้าจากเซลส์แสงอาทิตย์


โดยประการที่ได้ยกตัวอย่างมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานทดแทน
ซึ่งท่านได้ทรงให้ศึกษาและใช้งานในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา
และศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริในภูมิภาคต่าง ๆ
ก่อนหน้านี้ล่วงหน้ามาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว
ซึ่งก็ย่อมเป็นประโยชน์ และเป็นพื้นฐานองค์ความรู้
สำหรับการนำพลังงานทดแทนมาใช้ในประเทศไทยจนถึงปัจจุบันนี้


ข้อมูลอ้างอิง:
http://www.eppo.go.th/royal/m1700_0002.html
http://www.eppo.go.th/royal/m1700_0003.html
http://www.eppo.go.th/royal/m1700_0004.html
http://www.eppo.go.th/royal/m1700_0005.html
http://www.eppo.go.th/royal/m1700_0006.html
http://www.eppo.go.th/royal/m1700_0008.html
http://www.eppo.go.th/royal/m1700_0009.html
http://www.eppo.go.th/royal/m1700_0010.html
http://www.eppo.go.th/royal/m1700_0011.html
http://www.eppo.go.th/royal/m1700_0012.html
http://www.eppo.go.th/royal/m1700_0013.html
หนังสือ “พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย” จัดทำโดยกระทรวงพลังงาน
ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์กระทรวงพลังงาน
http://www.energy.go.th/international/index.php?action_content=article-single&id=61