Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๗๙

dhammajaree262 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

ใต้ร่มพระบารมี (๑๔) พระราชกรณียกิจในการพัฒนาพลังงานไทย (ตอนที่ ๔)

 

 


dhammajaree279


ในตอนนี้จะขอนำพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ ๙
เกี่ยวกับการพัฒนาพลังงานไทยมานำเสนอต่อจากตอนที่แล้วนะครับ


๗๐ ปีที่ทรงครองราชย์ คือ ๗๐ ปีแห่งพระราชกรณียกิจ
เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรทั่วแผ่นดิน ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงวางพื้นฐาน สร้างแนวคิด
และศึกษาวิจัยหาวิธีผลิตพลังงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องยาวนาน
ซึ่งช่วยบรรเทาวิกฤติการณ์พลังงานที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอย่างได้ผลเป็นรูปธรรม

แนวพระราชดำริอันเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาพลังงานนั้นครอบคลุมทุกด้าน อันได้แก่
๑. พลังน้ำ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงพระปรีชาสามารถในเรื่องเกี่ยวกับ “น้ำ”
ยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือน แนวพระราชดำริของพระองค์ท่าน
ทรงเน้นการสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์
และยังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับชุมชนในละแวกใกล้เคียงในพื้นที่ชนบทห่างไกล
เสริมการทำงานของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ของภาครัฐ

๒. พลังงานชีวภาพ ในขณะที่คนทั่วไปมองว่าการนำพืชมาทำเป็นเชื้อเพลิงไม่คุ้มค่า
แต่ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงศึกษาวิจัย
การนำพืชมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงมานานกว่า ๒๐ ปี
ทำให้ประเทศไทยมีทางเลือกมากขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์วิกฤตพลังงานในปัจจุบัน

๓. พลังงานทดแทน การพัฒนาพลังงานทดแทนอื่น ๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์
พลังงานลม เชื้อเพลิงอัดแท่ง พลังงานความร้อนจากแกลบ
ล้วนแต่มีตัวอย่างกระจายอยู่ในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา
และศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริในภูมิภาคต่าง ๆ

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงสนพระทัยเรื่อง "น้ำ" เป็นอันดับต้น ๆ
เพราะทรงทราบว่าเป็นปัญหาสำคัญของเกษตรกร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ
พระองค์ทรงมีพระราชดำริมากมายเกี่ยวกับการจัดการ “น้ำ”
เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำในการทำการเกษตรอย่างพอเพียง
ในเวลาเดียวกันพระองค์ยังทรงมีพระราชดำริให้นำ “น้ำ”
ที่กักเก็บเอาไว้มาใช้ประโยชน์ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า
แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาในการใช้ทรัพยากรอย่างองค์รวมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ในเรื่องพระราชอัจฉริยภาพเกี่ยวกับน้ำและการจัดการน้ำนี้
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงสนพระทัยในด้านวิศวกรรมศาสตร์มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์
ดังที่ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา บรรยายไว้ในหนังสือ “ทำเป็นธรรม”
ว่า เมื่อพระชันษาประมาณ ๓ พรรษา เริ่มสนพระทัยและโปรดที่จะทำบ่อน้ำเล็ก ๆ
ให้มีทางน้ำไหลไปตามต้องการ ทรงช่วยกันทำกับพระเชษฐา (ในหลวงรัชกาลที่ ๘)
ทำคลอง ทำเขื่อนเก็บน้ำ และรอบ ๆ บ่อหากิ่งไม้มาปักเป็นการปลูกต้นไม้
และประมาณ ๗-๘ พรรษา จึงได้ทรงสังเกตเห็นในการที่ผู้ใหญ่นำน้ำใส่อ่างให้เด็กเล็ก
วิธีที่จะนำน้ำจากที่แห่งหนึ่งมาสู่ที่อีกแห่งหนึ่ง โดยทำให้ที่รับน้ำต่ำกว่า
และทำทางให้น้ำไหลมาตามทาง ทำทางให้เรียบกันน้ำซึม
โดยใช้ดินเหนียวปะหน้าและถูให้เรียบใช้วัสดุที่กลมกลิ้งให้เรียบ
เพื่อน้ำจะได้ไหลได้สะดวก ไม่มีก้อนดินหรือหินขรุขระกีดขวาง
และทรงจำวิธีที่เขาได้ทำจนบัดนี้

พลอากาศตรี กำธน สินธวานนท์ องคมนตรี เล่าถึง
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เมื่อยังทรงพระเยาว์ว่า เมื่อทรงเป็นพระอนุชา
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีรถไฟเล็ก เป็นรถไฟไฟฟ้า
พระองค์ท่านทรงประดิษฐ์ระบบการจ่ายไฟให้รถไฟเล็กวิ่งด้วยพระองค์เอง
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีความสนพระทัยและเข้าพระทัยเรื่องเกี่ยวกับการช่าง
เรื่องไฟฟ้าเป็นอย่างดีมาตั้งยังทรงพระเยาว์

หลังจากในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จขึ้นครองราชย์
ทรงเปลี่ยนจากทรงศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์มาทรงศึกษาด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์
แต่พระองค์ท่านก็ยังทรงศึกษาหาความรู้ในเรื่องต่าง ๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาทุกข์สุขของราษฎร
พระองค์ท่านทรงมีความรู้เรื่องเขื่อนว่าผลิตไฟฟ้าได้อย่างไร
ถ้าสร้างเขื่อนที่นี่ต้องเป็นเขื่อนกว้างยาวเท่าไหร่
ถ้าปล่อยน้ำขนาดนี้ ควรใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดเท่าใด
เขื่อนควรสูงเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงติดตามเรื่องระดับน้ำในเขื่อนอยู่ตลอดเวลา
บางครั้งพระองค์ท่านก็ทรงมีความเห็นว่าเขื่อนแห่งนี้ปล่อยน้ำมากไปหรือน้อยไป
เพราะเขื่อนบางเขื่อนหากเก็บน้ำไว้มากเกินไป ไม่ปล่อยไป
ปีถัดมาฝนตกหนัก ก็จะไม่มีพื้นที่ให้เก็บน้ำ
แต่ถ้าปล่อยน้ำมากเกินไป หน้าแล้งก็อาจไม่มีน้ำให้เกษตรกรทำการเกษตรได้

แนวพระราชดำริอันเกี่ยวกับการใช้พลังงานน้ำในการผลิตกระแสไฟฟ้านั้น
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ จะทรงเน้นการก่อสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก
เพื่อเก็บกักน้ำและผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ใช้ในชุมชนใกล้เคียง
ซึ่งจะเป็นการเสริมการทำงานของเขื่อนขนาดใหญ่ที่จัดทำโดยภาครัฐ
ด้วยทรงมีพระราชประสงค์ให้แต่ละชุมชนใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
พึ่งพาตนเองได้ และเป็นตัวอย่างในการพัฒนาพลังงานในทุกภาคส่วนของประเทศ
ด้วยน้ำพระทัย และพระปรีชาแห่งในหลวงรัชกาลที่ ๙
การพัฒนาพลังน้ำในประเทศจึงเติบโตอย่างมั่นคง
และเอื้อประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปอย่างแท้จริง

โครงการไฟฟ้าพลังน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ยกตัวอย่างเช่น
๑. โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านสันติ จังหวัดยะลา
ในการก่อสร้างเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา
ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแห่งแรกของภาคใต้ตอนล่างนั้น
เต็มไปด้วยความยากลำบากในการก่อสร้าง
เนื่องด้วยในขณะนั้นยังมีการต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย
แต่ในระหว่างการก่อสร้าง ในหลวงรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ได้เสด็จพระราชดำเนินมาที่เขื่อนแห่งนี้หลายครั้ง
ด้วยพระราชประสงค์จะพระราชทานกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน
และทรงมีพระราชกระแสรับสั่งว่า
"คนที่เข้าถึงพื้นที่ได้ ย่อมมีโอกาสทำงานสำเร็จ"

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จฯ ทรงวางศิลาฤกษ์
การก่อสร้างเขื่อนบางลางในวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๒๑
พระองค์ได้เสด็จฯ ฝายละแอ ซึ่งเป็นฝายทดน้ำขนาดเล็กจากคลองละแอ
ที่สร้างด้วยการเจาะอุโมงค์ขนาดเล็ก และต่อท่อส่งน้ำไปให้ประชาชนในหมู่บ้านสันติใช้
พลอากาศตรีกำธน สินธวานนท์ องคมนตรี
ซึ่งในเวลานั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
กราบบังคมทูลว่า น้ำประปาไหลแรง
เพราะต่อน้ำลงมาจากที่สูง ทำให้ก๊อกน้ำเสียเป็นประจำ
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีรับสั่งว่า
“ถ้าน้ำแรง ทำไมไม่คิดทำไฟฟ้าด้วย”

จากแนวพระราชดำริดังกล่าว การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจึง
ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านสันติขึ้นบริเวณเหนือเขื่อนบางลาง
โดยติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด ๑,๒๗๕ กิโลวัตต์ จำนวน ๑ เครื่อง
และติดตั้งท่อส่งน้ำยาว ๑,๘๐๐ เมตร สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ในปี ๒๕๒๕

โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านสันตินับเป็นโรงไฟฟ้าใต้ภูเขาแห่งแรกของประเทศไทย
ที่มีการควบคุมด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงด้วยการเดินเครื่องในระบบอัตโนมัติ
สามารถสั่งการและควบคุมการเดินเครื่องโดยตรงจากโรงไฟฟ้าเขื่อนบางลาง
สามารถอำนวยประโยชน์แก่ราษฎรในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

๒. โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านยาง จังหวัดเชียงใหม่
เป็นโรงไฟฟ้าอีกแห่งหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระราชอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ ๙
ในด้านการนำพลังงานน้ำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างเป็นอย่างดี
พลอากาศตรีกำธน สินธวานนท์ องคมนตรี เล่าว่า
"พระองค์ท่านทรงมีความรู้ว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำสามารถทำได้ ๒ แบบ
แบบแรกได้จากการที่น้ำไหลจากที่สูงลงมาพัดกังหันเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
ส่วนอีกแบบหนึ่งคือ น้ำไหลในทางราบ
ซึ่งหากไหลอยู่ตลอดเวลาก็ทำให้กังหันเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหมุนได้เช่นกัน

เมื่อพระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นทางน้ำไหลอยู่ตลอดเวลาที่บ้านยาง
จึงทรงมีพระราชดำริให้ศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการสร้างไฟฟ้าที่นี่
ทรงมีพระราชประสงค์ให้ผลิตไฟฟ้าเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินงานของโรงงานแปรรูปผลไม้
เพราะเวลานั้นยังไม่มีไฟฟ้าเข้าถึงหมู่บ้านดังกล่าว

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจึงเริ่มก่อสร้าง
โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านยางในเดือนกรกฎาคม ๒๕๑๖
เมื่อแล้วเสร็จในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จฯ ไปเปิดโรงไฟฟ้าในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๑๗
โรงไฟฟ้าบ้านยางสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ ๐.๔ ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง
นอกจากช่วยให้โรงงานแปรรูปผลไม้สามารถดำเนินงานได้แล้ว
ยังช่วยจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่หมู่บ้านยางและหมู่บ้านใกล้เคียงอีกด้วย

๓. โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านขุนกลาง จังหวัดเชียงใหม่
เป็นโรงไฟฟ้าสร้างขึ้นตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ ๙
ด้วยทรงมีพระราชดำริให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยศึกษา
และพัฒนาพลังน้ำของน้ำตกสิริภูมิ ซึ่งอยู่บนดอยอินทนนท์ในเขตหมู่บ้านขุนกลาง
มาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อส่งให้กับหมู่บ้านชาวไทยภูเขา
และพื้นที่การเกษตรของโครงการหลวงบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์

๔. โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่
โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เดิมเป็นฝายกั้นน้ำขนาดเล็ก
ปิดกั้นลำน้ำแม่งัด ในพื้นที่ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
จนกระทั่งในปี ๒๕๑๖ ได้เกิดอุทกภัยขึ้น
ทำให้ฝายได้รับความเสียหายจนใช้การไม่ได้
กรมชลประทานจึงได้พิจารณาดำเนินการซ่อมแซมฝาย

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๒๐ ในหลวงรัชกาลที่ ๙
และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จฯ เยี่ยมโครงการดังกล่าว
และทรงมีพระราชดำริว่า “โครงการประเภทไหนถ้าพิจารณาดูแล้วเห็นว่า
สามารถอำนวยประโยชน์ได้มากกว่า ก็สมควรจะเลือกสร้างโครงการประเภทนั้น”
กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจึงได้
ร่วมมือกันก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลในปี ๒๕๒๐
โดยกรมชลประทานดำเนินการสร้างเขื่อน
และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยดูแลเรื่องโรงไฟฟ้า
สร้างแล้วเสร็จในปี ๒๕๒๘ ตัวเขื่อนมีลักษณะเป็นเขื่อนดินถมสูง ๕๙ เมตร
ยาว ๑,๙๕๐ เมตร อ่างเก็บน้ำมีความจุ ๒๖๕ ล้านลูกบาศก์เมตร
สามารถส่งน้ำ ให้พื้นที่เพาะปลูกได้ ๑๘๘,๐๐๐ ไร่

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ
และติดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด ๔,๕๐๐ กิโลวัตต์
จำนวน ๒ เครื่อง รวม ๙,๐๐๐ กิโลวัตต์
สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ปีละประมาณ ๒๙ ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานนามว่า “เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล” เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙
และเสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙

๕. เขื่อนพรมธารา จังหวัดชัยภูมิ
เมื่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการก่อสร้างเขื่อนจุฬาภรณ์
ทรงมีพระราชดำริว่า ลำห้วยซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำพรมเหนือเขื่อนจุฬาภรณ์
เป็นลำห้วยขนาดใหญ่ มีน้ำไหลตลอดปี
สมควรศึกษารายละเอียดเพื่อพิจารณาก่อสร้างเขื่อนหรือฝายขนาดเล็ก
และเจาะอุโมงค์ผันน้ำลงมายังเขื่อนจุฬาภรณ์
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจึงทำการศึกษา และก่อสร้างเขื่อนพรมธาราขึ้น
ทำให้สามารถผันน้ำมาลงเขื่อนจุฬาภรณ์ได้ถึงปีละ ๒ ล้านลูกบาศก์เมตร
ส่งผลให้เขื่อนจุฬาภรณ์สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นได้อีก
ปีละประมาณ ๒ ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง
เขื่อนพรมธาราแสดงให้เห็นถึงพระราชอัจฉริยภาพในการประดิษฐ์
คิดค้น ดัดแปลงสิ่งที่มีอยู่เพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้สูงสุด

๖. โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนห้วยกุ่ม จังหวัดชัยภูมิ
เมื่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จฯ เปิดเขื่อนจุฬาภรณ์
ทรงมีพระราชดำริให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยศึกษาถึงความเป็นไปได้
ในการสร้างเขื่อนอีกแห่งบริเวณใต้เขื่อนจุฬาภรณ์ห่างออกไปประมาณ ๔๐ กิโลเมตร
เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำของเกษตรกร
พลอากาศตรีกำธน สินธวานนท์ องคมนตรี เล่าถึงการเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนั้นว่า
พอกราบบังคมทูลว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม
ที่เสด็จมาเปิดเขื่อนเล็ก ๆ พระองค์ท่านก็ทรงมีรับสั่งว่า “นี่คือเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดของฉันแล้ว”

เขื่อนห้วยกุ่มนอกจากช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรบริเวณลำน้ำพรมตอนล่าง
ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรมประมาณ ๘๐,๐๐๐ ไร่แล้ว
ยังเป็นเขื่อนที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ปีละประมาณ ๑๓,๐๐๐ กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงอีกด้วย
เป็นอีกโครงการพระราชดำริที่ทรงคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนเป็นสำคัญ
ในขณะเดียวกันก็เป็นตัวอย่างของการใช้ทรัพยากรเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด

๗. โรงฟ้าพลังน้ำคลองช่องกล่ำ จังหวัดสระแก้ว
บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าเชิงเขาบรรทัดแถบชายแดนไทย-กัมพูชา จังหวัดสระแก้ว
ซึ่งแต่เดิมมีสภาพป่าเสื่อมโทรมถูกบุกรุกทำลาย
ราษฎรประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตร
และในเวลานั้นยังเป็นพื้นที่ที่มีการสู้รบกับผู้ก่อการร้ายอีกด้วย

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำริให้ก่อสร้างเขื่อนช่องกล่ำตอนบน
เขื่อนช่องกล่ำตอนล่าง และเขื่อนท่ากระบาก โดยแล้วเสร็จในปี ๒๕๒๔
เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๒๔ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในพื้นที่
ทรงมีพระราชดำริให้พิจารณานำน้ำที่ระบายจากเขื่อน
มาใช้ประโยชน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าก่อนระบายน้ำไปใช้ในการเกษตร
และทรงมีพระราชดำริให้เพิ่มความสูงของเขื่อนคลองช่องกล่ำตอนบนอีก ๒ เมตร
หรือตามความเหมาะสม เพื่อให้อ่างเก็บน้ำมีความจุมากขึ้น
และสามารถเพิ่มกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากขึ้นตามไปด้วย

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจึงพัฒนาสร้างเป็น
โรงไฟฟ้าพลังน้ำคลองช่องกล่ำตอนบน ที่ตำบลหนองน้ำใส
อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้กับเครื่องสีข้าว
และไฟฟ้าแสงสว่างสาธารณะในหมู่บ้าน ๓ แห่ง
คือ คลองทราย คลองคันโท และท่ากระบาก ของจังหวัดสระแก้ว

๘. โรงไฟฟ้าพลังน้ำไอกะเปาะ จังหวัดนราธิวาส
เมื่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมสมาชิกนิคมพัฒนาภาคใต้
ณ สำนักสงฆ์โต๊ะโมะ อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส
หลังจากทอดพระเนตรนาขั้นบันได นาข้าวไร่ บริเวณหมู่บ้านภูเขาทอง
และการทดลองปลูกข้าวที่โครงการฝายทดน้ำโต๊ะโมะแล้ว
พระองค์ท่านทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการชลประทานและงานต่าง ๆ
ทรงแนะนำให้พิจารณาวางโครงการและก่อสร้างฝายเก็บน้ำไอกะเปาะ
พร้อมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เพื่อนำไฟฟ้าเป็นเชื้อเพลิงให้กับเครื่องสีข้าวขนาด ๒๕ กิโลวัตต์
ที่ราษฎรน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย สำหรับติดตั้งบริเวณสำนักสงฆ์ต่อไป
นอกจากนั้น กำลังไฟฟ้าส่วนที่เหลือสามารถนำไปใช้ในหมู่บ้านบริเวณใกล้เคียง
อันได้แก่ หมู่บ้านไอกะเปาะ หมู่บ้านโต๊ะโมะ และหมู่บ้านลำธารทองได้อีกด้วย

หลังจากศึกษาความเป็นไปได้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
กระทรวงพลังงาน (สำนักงานพลังงานแห่งชาติในเวลานั้น)
จึงเริ่มก่อสร้างฝายเก็บน้ำไอกะเปาะ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ
ตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๒๖ และแล้วเสร็จในเดือน กันยายน ๒๕๒๗

๙. โรงไฟฟ้าพลังน้ำทุ่งเพล จังหวัดจันทบุรี
เมื่อปี ๒๕๒๙ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จฯ เปิดเขื่อนคิรีธาร อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี
เดิมชื่อโครงการห้วยสะพานหิน ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดกลาง
ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
ซึ่งคุณสิริพร ไศละสูต อดีตอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
เล่าถึงการถวายรายงานในครั้งนั้นว่า
เมื่อถวายรายงานว่า หลังจากนี้กรมฯ จะสร้างฝายยาง
เพื่อกั้นน้ำและปล่อยน้ำไปช่วยทางจังหวัดตราดพระองค์รับสั่งว่า
“ยังไม่วิกฤติ ยังน้อย คนที่ต้องช่วยเขาก่อนจะอยู่ทางด้านทุ่งเพล เพราะขาดน้ำมากกว่า”

สิ่งที่พระองค์ท่านรับสั่งเป็นเรื่องที่เราคาดไม่ถึง
ในสายพระเนตรของพระเจ้าอยู่หัว ทุกคนคือราษฎร
พระองค์ท่านไม่ได้โปรดใครเป็นพิเศษเป็นการเฉพาะ
แต่ทรงมองถึงเหตุและความจำเป็น ในขณะที่เราเห็นว่าการสร้างฝายแห่งหนึ่งดีกว่า
พระองค์ท่านไม่ได้รับสั่งให้เราหยุดทำ แต่รับสั่งให้ไปพิจารณาว่าควรทำอีกแห่งหนึ่งด้วย

พระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ไม่ได้หมายความว่า พระองค์ท่านรับสั่งให้ไปทำ
แต่เหมือนพระองค์ท่านพระราชทานคำแนะนำ
และทรงกระตุ้นผู้ปฏิบัติงานให้ทบทวนว่าทำงานละเอียดรอบคอบแล้วหรือไม่
การที่พระองค์ท่านทรงมีแนวพระราชดำริ ผู้นำไปปฏิบัติต้องคิดพิจารณาต่อด้วย
ถ้าศึกษาแล้วไม่คุ้ม ทำไม่ได้ พระองค์ก็ไม่ทรงว่าอะไร
เท่าที่เคยรับพระราชดำริมา ยังไม่มีพระราชดำริใดที่ทำไม่ได้หรือทำแล้วไม่คุ้ม

โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำคลองทุ่งเพล ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
อยู่ในเขตกิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ และอำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี
มีขนาดกำลังผลิตรวม ๙.๘ เมกะวัตต์
สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ปีละ ๒๘.๑๖ ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง

กล่าวได้ว่าในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเป็นเอตทัคคะทางด้านน้ำและฝน
แทนที่หน่วยงานราชการจะถวายรายงานพระองค์ท่าน
แต่กลายเป็นพระองค์ท่านมีพระราชดำริ
และพระราชทานคำแนะนำแก่หน่วยงานราชการต่าง ๆ
พระองค์ท่านทรงห่วงใยประชาชนที่ยากลำบาก เช่น ชาวเขา ชาวบ้านในชนบท
ที่ยังขาดปัจจัยด้านน้ำและไฟฟ้า ทรงมีพระราชดำริให้มีการสร้างฝายเล็ก ๆ ขึ้น
เพราะน้ำเป็นปัจจัยที่จำเป็นด้านอุปโภคบริโภค
ไฟฟ้าเองก็มีใช้กันในเมือง แต่ชนบทยังขาดแคลน
ทรงเห็นว่าน่าจะใช้น้ำไปเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเล็ก ๆ
เพื่อให้ชาวบ้านในชนบทได้มีไฟฟ้าใช้
ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้นำแนวพระราชดำริ
มาพัฒนาจัดทำเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก ๆ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

พระองค์ทรงดูแลทุกข์สุขของประชาชนที่ขาดปัจจัยพื้นฐาน โดยเฉพาะเรื่องน้ำ
ในยามปกติจะทรงขอทราบข้อมูลเรื่องน้ำในเขื่อนเป็นประจำ
ดูเรื่องน้ำที่จะใช้อุปโภคบริโภค รวมถึงในยามที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย
ก็มีโครงการตามพระราชดำริต่าง ๆ เช่น โครงการแก้มลิง ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน


ข้อมูลอ้างอิง:
http://www.eppo.go.th/royal/m1700_0017.html
http://www.eppo.go.th/royal/m1700_0018.html
หนังสือ “พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย” จัดทำโดยกระทรวงพลังงาน
ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์กระทรวงพลังงาน
http://www.energy.go.th/international/index.php?action_content=article-single&id=61