Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๗๘

dhammajaree262 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

ใต้ร่มพระบารมี (๑๒)
พระราชกรณียกิจในการพัฒนาพลังงานไทย (ตอนที่ ๓)

 


dhammajaree278

ในตอนนี้จะขอนำพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ ๙
เกี่ยวกับการพัฒนาพลังงานไทยมานำเสนอต่อจากตอนที่แล้วนะครับ


เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์
ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์แห่งราชบัณฑิตสถาน
และดร.อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
ได้มาเป็นวิทยากรในการเสวนา
ในหัวข้อ “การพัฒนาพลังงานทางเลือก : ทางออกของประเทศไทย”
เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ซึ่งจัดงานขึ้นโดย
กระทรวงพลังงานร่วมมือกับสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งจากการบรรยายดังกล่าว ดังต่อไปนี้

ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระราชทานโครงการในพระราชดำริ
อันเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาพลังงานทางเลือกมากมาย

อยากขอยกตัวอย่างโครงการในพระราชดำริ อาจไม่เกี่ยวกับพลังงานทดแทนโดยตรง
แต่เป็นผลพลอยได้คือ เรื่องเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ก่อนมีเขื่อน กรุงเทพฯน้ำท่วมทุกปี
เสียหายปีละเป็นพันล้าน เมื่อสร้างเขื่อนเสร็จ ปัญหาน้ำท่วมหายไปเลย
เพราะฉะนั้น ในแง่การป้องกันน้ำท่วม ก็ได้ประโยชน์คุ้มค่าไม่รู้กี่เท่าตัว
นอกจากนั้นชาวบ้านที่อยู่รอบ ๆ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์หลาย ๆ จังหวัด
อาศัยน้ำในการทำเกษตรกรรม
สมัยก่อนไม่เห็นไร่องุ่นแถว ๆ นั้น มาตอนนี้เต็มไปหมดเลย
และล่าสุดก็เพิ่งติดตั้งกังหันน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้า
เท่ากับเป็นผลพลอยได้จากการสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
เขื่อนป่าสักฯเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่สร้างโดยไม่มีปัญหา

ผมเข้าใจว่าท่านที่ดูแลโครงการนี้มาตั้งแต่ต้นคือ
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า
ท่านใช้เวลา ๒ ปี อธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจก่อน จึงเข้าไปทำเขื่อน
เขื่อนนี้เป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้ประโยชน์ในลักษณะหลายวัตถุประสงค์

ถ้าใครมีโอกาสได้เข้าไปเยี่ยมชมโครงการของในหลวงรัชกาลที่ ๙
โดยเฉพาะโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา
เราจะได้เห็นพระปรีชาสามารถของพระเจ้าอยู่หัวมาก
พระองค์ท่านทรงมีสายพระเนตรยาวไกลมากในเรื่องปัญหาต่าง ๆ
โดยเฉพาะเรื่องพลังงาน เพราะฉะนั้น ในหลวงรัชกาลที่ ๙
ทรงมีโครงการหลาย ๆ โครงการที่สวนจิตรลดา
โครงการสำคัญที่เราคุยกันมากก็คงเป็นโครงการผลิตเอทานอล
ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงทำมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๘
แต่สมัยก่อนผลิตขึ้นมาแล้ว เอาไปทดแทนน้ำมัน
ดูเหมือนว่าไม่ค่อยคุ้ม เพราะเอทานอลราคาแพง เมื่อเทียบกับราคาน้ำมัน
เพราะว่าเมื่อก่อนเราใส่ตะกั่วลงในน้ำมัน ต่อมาเรายกเลิกไม่ใส่ตะกั่ว
ไปใส่ MTBE (Methyl Tertiary Butyl Ether) ซึ่งต้องไปซื้อจากเมืองนอก
พอมาเทียบราคากับเอทานอลซึ่งใส่แทน MTBE ได้
ก็ปรากฏว่าราคาใกล้เคียงกัน
เพราะฉะนั้นไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะต้องไปนำเข้าสิ่งที่เราผลิตได้ภายในประเทศ

โครงการเอทานอลของในหลวงรัชกาลที่ ๙ เริ่มมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๘
แต่เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมามาก ๆ คงเป็นเมื่อปี ๒๕๔๔ เป็นต้นมา
ตอนนั้นทั้ง ปตท. และบางจากร่วมกันนำเอทานอลมาผลิตเป็นแก๊สโซฮอล์จำหน่าย
เราทำมาหลายปีแล้ว ตอนนี้ก็เป็นที่นิยม

ส่วนเรื่องไบโอดีเซล ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีโครงการไบโอดีเซลมาหลายปี
เดิมทีพระองค์ท่านมองเรื่องการใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์
ต่อมามีการสร้างโรงงานไบโอดีเซลในสวนจิตรลดา
ปัจจุบันโรงงานไบโอดีเซลที่ทำอยู่สามารถผลิตน้ำมันที่มีคุณภาพค่อนข้างดีมาก
ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทางโครงการส่วนพระองค์ฯ จัดทำขึ้นมา
และวันนี้ก็มีการนำเทคโนโลยีเหล่านี้แพร่หลายกลายเป็นไบโอดีเซลชุมชนมากขึ้น

พระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ ๙ เป็นแนวทางให้
ทั้งรัฐบาลและเอกชนดำเนินการพัฒนาพลังงาน
เพื่อขยายการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพให้เป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอทานอลและไบโอดีเซล

เอทานอล
เอทานอลสามารถผลิตได้จากพืชหลายชนิด
เช่น อ้อย มันสำปะหลัง เซลลูโลส ฯลฯ
พืชแต่ละชนิดมีแนวโน้มในการพัฒนาและข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป

ประมาณ ๕ ปีก่อนที่รัฐบาลจะมีนโยบายเรื่องเอทานอล
คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติตามแนวพระราชดำริดำเนินการวิจัย
เกี่ยวกับวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเอทานอล ซึ่งประเทศไทยใช้อ้อยและมันสำปะหลัง
พืชอีกสองชนิดที่คาดว่าน่าจะนำมาผลิตเอทานอลได้คือ ข้างฟ่างหวาน
ซึ่งใช้ในการผลิตส่าเหล้า ราคาไม่ได้แพงกว่ามันสำปะหลัง
น่าสนใจมาก เพราะปลูกได้ดีในแถบอีสาน
ตอนนี้กำลังทำวิจัยว่าถ้ามีการผลิตในเชิงพาณิชย์ ราคาจะเป็นอย่างไร
ซึ่งมีโอกาสมากที่จะเป็นพืชสำรองให้กับมันสำปะหลัง

ส่วนพืชอีกชนิดหนึ่งคือ แก่นตะวัน หรือเจรูซาเลม อาร์ติโชก
เป็นพืชรับประทานที่มีน้ำตาลสูงมาก ใช้เวลาเติบโต ๔ เดือน ก็น่าสนใจมาก
แต่ข้อมูลยังน้อยอยู่ ต้องวิจัยเพิ่มเติม
ในสหรัฐอเมริกา เขาเป็นห่วงเรื่องพืชอาหารมาก เพราะเขาทำเอทานอลจากข้าวโพด
ปีที่แล้วประธานาธิบดีบุชให้เงินวิจัยเรื่องเซลลูโลส ซึ่งมันคือน้ำตาลที่ใช้ทำแอลกอฮอล์
รวมไปถึงฟางข้าว ต้นพืชทั้งหลายที่อยู่ในไร่นาว่าสามารถนำมาทำเอทานอลได้หรือไม่
เพราะต้องการสงวนพืชอาหารเอาไว้

แม้ว่าประเทศไทยยกเลิกการเติมสารตะกั่วในน้ำมันเบนซินในปี พ.ศ.๒๕๓๙
แต่ก็ต้องนำเข้าสารเพิ่มออกเทนอีกตัวคือ MTBE
ต่อมาพบว่าสามารถนำเอทานอลมาใช้แทนสาร MTBE ได้
ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นต้นไป จะมีการยกเลิกการเติมสาร MTBE
ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษในอากาศเช่นกัน โดยเปลี่ยนมาใช้เอทานอลแทน
นโยบายดังกล่าวนอกจากจะดีกับสิ่งแวดล้อมแล้ว
ยังช่วยให้ประเทศประหยัดเงินตราต่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก

ประเทศเราต้องนำเข้าพลังงานปีหนึ่งประมาณแปดแสนล้านบาท
ขณะที่เราส่งออกพืชผลทางการเกษตร
ไม่ว่า ข้าว มัน อ้อย ไม่กี่แสนล้าน เทียบกับการนำเข้าพลังงานไม่ได้เลย
การนำเอทานอลไปทดแทน MTBE หรือทดแทนน้ำมันในเบนซิน ๙๕ และ ๙๑
ได้ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ เท่ากับต้องใช้เอทานอลประมาณวันละสองล้านกว่าลิตร
ซึ่งทำให้รัฐเสียรายได้จากการเก็บภาษีสรรพสามิตไปปีละสามพันล้านบาท
แต่ถ้ามองในทางกลับกันการใช้เอทานอลทดแทน MTBE
จะช่วยให้เราลดการนำเข้าไปหนึ่งหมื่นเจ็ดพันล้านบาทต่อปี
เท่ากับมีเงินหมุนเวียนอยู่ในประเทศหนึ่งหมื่นเจ็ดพันล้านบาท

ทุกวันนี้เรามีเอทานอลที่ค้าขายกันอยู่ประมาณห้าแสนกว่าลิตรต่อวัน
สิ้นปีนี้ โรงงานผลิตเอทานอลที่กำลังจะเปิด
คาดว่าจะผลิตเอทานอลได้เก้าแสนถึงหนึ่งล้านลิตรต่อวัน
ปีหน้าเราต้องการเอทานอลประมาณแปดแสนลิตรต่อวัน
ซึ่งหมายความว่าการผลิตและความต้องการใกล้เคียงกันมาก
สิ่งที่ภาครัฐกำลังทำอยู่ตอนนี้ก็คือ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า
หากโรงงานที่ผลิตเอทานอลเกิดปิดโรงงาน
หรือมีเหตุขัดข้องผลิตเอทานอลไม่ได้ตามจำนวนที่ต้องใช้
รัฐบาลก็เลยบอกว่าจะนำเข้าสัก ๓๐ ล้านลิตร เก็บไว้เป็น stock ในยามฉุกเฉิน
คือในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน แล้วไม่มี supply เพียงพอเข้ามาในตลาด
ก็สามารถใช้เอทานอลที่เก็บเอาไว้มาใช้ได้
ปัจจุบันประเทศไทยเติมเอทานอลแทนน้ำมันเบนซิน ๑๐ เปอร์เซ็นต์
ในขณะที่ประเทศอื่นอย่างเช่น บราซิล
ใช้เอทานอลผสมน้ำมันเบนซินในอัตราส่วนที่มากกว่านี้

ทุกวันนี้มีโรงงานมาขออนุญาตกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดโรงงานเอทานอล ๓๐ แห่ง
ซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิตได้ถึงประมาณวันละ ๕ - ๖ ล้านลิตร
ในขณะที่เราใช้แค่วันละ ๒ ล้านลิตร ที่เหลืออีก ๓ ล้านลิตรจะเอาไปไว้ที่ไหน
การจะส่งออกอาจไม่ง่าย เพราะบราซิลก็ผลิต
รัฐอาจต้องมองต่อไปเหมือนในต่างประเทศซึ่งเขามี E20, E25, E85, E100
(คือใส่เอทานอลแทนน้ำมัน ๒๐, ๒๕, ๘๕, ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ)
ประเทศไทยจึงไม่น่าจะหยุดที่ E10 อย่าง E100 มีคนมาคุยกับผมว่า
ทำไมเราต้องทำแอลกอฮอล์ ๙๙.๕ ด้วย
เพราะจาก ๙๕ เปอร์เซ็นต์ ไปเป็น ๙๙.๕ เปอร์เซ็นต์นี่
เอาน้ำออกอีก ๕ เปอร์เซ็นต์ มันใช้เงินอีกเยอะมากเลย
เลยมีคำถามว่า ทำไมเราไม่ทำเป็น E100 เหมือนในบราซิล
ในบราซิล E100 ที่เขาขาย เขาเรียกแอลกอฮอล์ครับ
ความเข้มข้นไม่ใช่ ๙๙.๕ เปอร์เซ็นต์ แต่แค่ ๙๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง
เขาอนุญาตให้มีน้ำได้อีก ๕ เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่มีปัญหากับการใช้งาน
มันก็เลยเกิดเป็นความคิดขึ้นมาว่า ถ้าเรามี E100 เกิดขึ้น
เรามีแอลกอฮอล์ ๙๕ เปอร์เซ็นต์ก็พอนะ ไม่ต้องไปถึง ๙๙.๕ นะ
เพราะไอ้ ๕ เปอร์เซ็นต์หลังนี่ ระบบแยกน้ำออกนี่มันแพงเหลือเกิน

ไบโอดีเซล
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำรัสให้
กองงานส่วนพระองค์ดำเนินการวิจัยและพัฒนาทดลอง
การนำน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์มาใช้กับเครื่องยนต์ดีเซล
เพราะว่าช่วงเวลาดังกล่าวน้ำมันปาล์มล้นตลาด ทำให้ราคาตกต่ำ
เป็นผลให้เกษตรกรเดือดร้อน

ปัจจุบันโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาผลิตไบโอดีเซล
จากน้ำมันพืชใช้แล้ว จากห้องเครื่องสำนักพระราชวัง
มาผลิตด้วยกระบวนการเอทิลเอสเทอริฟิเคชั่น (Ethyl Esterification)
โดยใช้เอทานอลจากหอกลั่นในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา
สามารถผลิตได้วันละ ๑,๐๐๐ ลิตร และยังได้ผลิตภัณฑ์ข้างเคียงคือกลีเซอรีน
ซึ่งนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่อเรื่องอื่น ๆ เพื่อจำหน่ายต่อไป
วัตถุดิบที่สามารถนำมาใช้ในการผลิตไบโอดีเซล
นอกจากปาล์มแล้ว น้ำมันพืชชนิดอื่นก็นำมาใช้ได้เช่นกัน

น้ำมันพืชทุกอย่างใช้ได้อยู่แล้ว เคยลองน้ำมันพืช ๕-๖ ตัว
กับเครื่องยนต์ประเภทความเร็วต่ำ (low-speed engine) เมื่อ ๒๐ ปีมาแล้ว
ก็ไม่มีปัญหาอะไร ขณะนี้ใช้ปาล์มน้ำมันมากที่สุด
เนื่องจากเป็นอาหารด้วย และมีสำรองประมาณ ๑ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง

ในสภาพปัจจุบัน ถามว่าเพิ่มได้ไหม มีข้อแม้ว่าถ้าเพิ่มต้องไม่ไปถางป่าใช่ไหม
ถ้าไม่ถางป่าก็แปลว่าต้องไปปลูกแทนพืชอื่น
ช่วงหนึ่งบอกราคายางไม่ดี ก็เสนอทดแทนด้วยสวนปาล์ม
แต่ ๔-๕ ปีมานี้ อุตสาหกรรมรถยนต์กับความต้องการรถยนต์ในจีนมหาศาล
จีนซื้อยางไม่จำกัด ราคายางก็เลยขึ้น ก็ไม่มีใครเปลี่ยนมาปลูกปาล์ม
แม้กระทั่งทางภาคตะวันออก มีเพื่อปลูกเงาะกับทุเรียน
ยังบอกว่าจะโค่นต้นเงาะไปปลูกยางแทน เพราะมีดินกับน้ำคล้ายกัน
เลยน่าห่วงว่าพื้นที่ที่เหมาะสมจะปลูกน้ำมันปาล์มมีพอหรือเปล่า
เคยมีโครงการจะปลูกรอบ ๆ แถวทะเลสาบสงขลา ทางสงขลาไม่ยอม
เขากลัวน้ำเสียลงทะเลสาบ มันมีหลายเรื่องต้องดู

สบู่ดำเป็นตัวเลือกที่ดี แต่จากโครงการที่ให้ไปทำวิจัยสบู่ดำดีที่สุดของบ้านเรา
มันจะได้ประมาณพันกิโลกรัมต่อไร่ ความคุ้มค่ายังไม่ดีพอ
เพราะภาระอยู่ที่การพัฒนาสายพันธุ์สบู่ดำ
ที่น่าสนใจคือ สบู่ดำไม่ใช่อาหาร ตัวใบและต้นมันมีคุณสมบัติเป็นสมุนไพร
เนื่องจากมันไม่เป็นอาหาร มันน่าจะตัดต่อพันธุกรรมเพื่อขยายพันธุ์ได้
ถ้าบอกจะไปตัดต่อพันธุกรรมกับน้ำมันปาล์ม อุตสาหกรรมคงไม่ยอม
เพราะจะมีปัญหาเรื่องส่งออกไปต่างประเทศ
โดยเฉพาะประเทศที่เคร่งศาสนา เขาถือว่ามนุษย์ไม่มีสิทธิ์ไปสร้างชีวิต
แต่สบู่ดำไม่ใช่อาหาร มันก็น่าจะเลี่ยงได้

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีโครงการต้นแบบที่สำคัญ
โดยเฉพาะเรื่องเอทานอล ไบโอดีเซล
ในฐานะที่ตนเองทำงานอยู่ในบริษัทน้ำมัน
หน้าที่ก็คือทำพระราชดำริออกมาเป็นรูปธรรมในเชิงปฏิบัติให้ได้มากที่สุด
การที่จะทำให้เป็นไปได้ในทางปฏิบัติและยั่งยืน จะต้องผสมผสานกันหลายเรื่อง
เพราะมีหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องตั้งแต่วัตถุดิบ
และต้องพยายามส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีของเราเอง
เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่ประเทศที่มีพลังงานทดแทนใช้ในประเทศได้
อย่างยั่งยืนและยาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้

++++++++++++++++++++++++++

เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๙ คุณเมตตา บันเทิงสุข
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน
และดร.ส่งเกียรติ ทานสัมฤทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่
สำนักงานแผนกลยุทธ์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้มาเป็นวิทยากรในการเสวนา
ในหัวข้อ “การพัฒนาพลังงานทดแทน”
เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ซึ่งจัดงานขึ้นโดย
กระทรวงพลังงานร่วมมือกับสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งจากการบรรยายดังกล่าว ดังต่อไปนี้

แนวพระราชดำริในด้านการพัฒนาพลังงานของในหลวงรัชกาลที่ ๙
เป็นแนวพระราชดำริซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระวิสัยทัศน์ สายพระเนตรอันยาวไกล
ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างยอมรับว่าช่วยให้การพัฒนาพลังงานทดแทน
โดยเฉพาะแก๊สโซฮอลล์และไบโอดีเซลในปัจจุบันเป็นไปอย่างรวดเร็ว
ทันต่อสถานการณ์วิกฤติพลังงานที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน

ประมาณปี พ.ศ.๒๕๒๔ เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในอิหร่าน
มีการสู้รบกัน น้ำมันขาดแคลน และราคาพุ่งสูงมาก
ประเทศไทยตอนนั้นยังพึ่งพาน้ำมันยิ่งกว่าตอนนี้อีก
ก๊าซธรรมชาติก็ยังไม่ได้ขุดขึ้นมาใช้ ช่วงนั้นลำบากมากเรื่องราคาน้ำมัน

จำได้ว่าเริ่มมีข่าวโครงการพระราชดำริแล้ว ในขณะที่รัฐบาลยังไม่คิดกันเลย
เพราะคิดแต่ว่าราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงเพราะการเมือง
ทุกคนคิดว่าเดี๋ยวเลิกรบ ราคาก็ถูกลงเอง
ปี ๒๕๒๘-๒๕๒๙ ราคาถูกลง ทุกคนก็สบายใจว่าคงไม่มีปัญหาอะไร
ตอนนั้น โครงการพระราชดำริเรื่องเอทานอลและ ไบโอดีเซล
ก็มีการวิจัยทดลองเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
รัฐบาลเพิ่งจะมามองเรื่องนี้ช่วงปี ๒๕๔๐
ถ้าจำไม่ผิดเป็นเรื่องของพืชผลการเกษตรราคาตกต่ำ
น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์มขายไม่ออก
ถึงได้เริ่มหันมามองว่าเอามาเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงได้ไหม

เรื่องเอทานอล มีนักวิชาการบางท่านเริ่มทำ
แต่สิ่งที่พวกเราเห็นกันต่อเนื่องมาตลอดคือ
โครงการพระราชดำริมีการพัฒนาไม่เคยหยุดหย่อน พัฒนาต่อเนื่อง
ต้องถือว่าผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการพระราชดำริคือ
องค์ความรู้แห่งเดียวของเมืองไทยที่มีอย่างต่อเนื่อง
พัฒนาจากสิ่งที่เรามีอยู่ จากวัสดุในเมืองไทย
และนำมาใช้กับรถยนต์ในเมืองไทย ไม่ใช่จากตำราต่างประเทศ

นอกจากนั้น เมื่อรัฐบาลเริ่มพัฒนาโครงการนี้อย่างจริงจัง คนไทยก็เชื่อว่ามันทำได้
เพราะโครงการส่วนพระองค์ทดลองใช้มานานแล้ว
ผมว่ารัฐบาลได้ประโยชน์เต็ม ๆ เพราะเมื่อถึงเวลาที่ตนเองมาส่งเสริม
ไม่ต้องพูดมาก กระแสยอมรับมีอยู่แล้ว ประเทศเพื่อนบ้านเรายังติดขัดกันอยู่เลย
เพราะประชาชนไม่เชื่อว่าใช้แล้วรถไม่พัง
การที่เรามีองค์ความรู้ต่อเนื่องกันมามีส่วนส่งเสริมกับภาวการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน

ถ้าเราไม่ได้มีพื้นฐานที่ได้ศึกษากันไว้เลย ต้องช้ากว่านี้แน่นอน
ถ้าเราไม่รู้จักแก๊สโซฮอล์หรือไบโอดีเซลเลย ไม่เคยมีในประเทศไทยมาก่อน
มาเริ่มต้นกันใหม่ มันก็ต้องไปเริ่มจากพืช ว่าจะเอาพืชอะไรมาผลิตแอลกอฮอล์
แล้วคุณสมบัติควรจะต้องเป็นอย่างไร เติมเครื่องยนต์แล้วมีผลเสียอะไรหรือไม่
สิ่งเหล่านี้ต้องมีประสบการณ์จริงเท่านั้น จึงจะนำไปยืนยันกับผู้คนได้
อันนี้ชัดเจนว่าองค์ความรู้ที่รัฐบาลนำมาใช้เป็นพื้นฐานคือ
องค์ความรู้จากประสบการณ์ที่เป็นผลมาจากโครงการพระราชดำริทั้งนั้น
แถมเมื่อเริ่มต้นออกสู่ตลาด อาจพูดได้ว่าเหมือนน้ำมันพระราชทาน
เพราะน้ำมันที่ผสม ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ๕ เปอร์เซ็นต์ มีแหล่งเดียวที่ผลิตในประเทศไทย
คือขอรับไปจากโครงการพระราชดำริ

เราจะพบว่าพระองค์ท่านทรงทำการวิจัยค้นคว้ามาโดยตลอด
บางช่วงราคาน้ำมันลงไป พระองค์ท่านก็ไม่ได้หยุดยั้งยังทรงให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
มีการสร้างโรงงานขึ้นในสวนจิตรลดา
เชื่อหรือไม่ เมื่อประเทศเผชิญวิกฤติราคาน้ำมันครั้งที่ ๓
ปั๊มในสวนจิตรลดาเป็นปั๊มแรกที่นำเอทานอลมาผสม
และจำหน่ายบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
หลังจากนั้นจึงเป็นภาคเอกชนค่อย ๆ เกิดตามมา
จึงเรียนว่าจะไม่ประทับใจต่อพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านได้อย่างไร


ข้อมูลอ้างอิง:
http://www.eppo.go.th/royal/m1700_0016.html
http://www.eppo.go.th/royal/m1700_0017.html
หนังสือ “พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย” จัดทำโดยกระทรวงพลังงาน
ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์กระทรวงพลังงาน
http://www.energy.go.th/international/index.php?action_content=article-single&id=61