Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๗๗

dhammajaree262 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

ใต้ร่มพระบารมี (๑๑)

พระราชกรณียกิจในการพัฒนาพลังงานไทย (ตอนที่ ๒)


dhammajaree277

ในตอนนี้จะขอนำพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ ๙
เกี่ยวกับการพัฒนาพลังงานไทยมานำเสนอต่อจากตอนที่แล้วนะครับ

เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๔๙ พลอากาศตรี กำธน สินธวานนท์ ในฐานะองคมนตรี
และอดีตผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
และประธานคณะกรรมการมูลนิธิเพื่อสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
และคุณเกษม จาติกวณิช ในฐานะอดีตผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ได้มาเป็นวิทยากรในการเสวนา ในหัวข้อ “ในหลวงกับน้ำ”
เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ซึ่งจัดงานขึ้นโดย
กระทรวงพลังงานร่วมมือกับสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งจากการบรรยายดังกล่าว ดังต่อไปนี้

ตลอดระยะเวลา ๖๐ ปีที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงครองสิริราชสมบัติ
พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ
และครอบคลุมการพัฒนาเกือบทุกแขนง
ทั้งในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ โครงการทางด้านการเกษตร
โครงการทางด้านพลังงาน ฯลฯ นับพันโครงการ
โดยเฉพาะโครงการพัฒนาแหล่งน้ำนั้น เป็นที่รู้กันมานานแล้วว่า
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงสนพระทัยและทรงเชี่ยวชาญเรื่องน้ำมากเป็นพิเศษ
อย่างไรก็ตาม โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเหล่านี้
นับตั้งแต่เริ่มแรกก็เป็นการดำเนินการที่ควบคู่ไปกับรัฐบาล
โดยระมัดระวังไม่ให้ซ้ำซ้อนกับงานพัฒนาของรัฐบาล
ซึ่งพระองค์ได้ทรงงานด้วยความละเอียดรอบคอบ
และเริ่มทรงงานจากโครงการขนาดเล็ก
อันเป็นการช่วยเสริมช่องว่างของรัฐบาลด้วย

หลังจากในหลวงรัชกาลที่ ๙ ขึ้นครองราชย์ในปี ๒๔๘๙
พระองค์ได้เสด็จฯกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
โดยทรงเปลี่ยนไปเรียนด้านการปกครองและกฎหมาย
แทนสาขาวิศวกรรมที่ทรงศึกษาแต่เดิม
หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาและเสด็จนิวัติประเทศไทยแล้ว
พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเพื่อเยี่ยมราษฎรดูแลทุกข์สุข
เพื่อทราบถึงต้นเหตุแห่งปัญหา
โดยเสด็จฯ ไปตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อเตรียมหาข้อเท็จจริงก่อน
จะเห็นได้ว่าในช่วงแรกของพระองค์ยังไม่มีโครงการพระราชดำริเลย

การที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินไปตามจังหวัดต่าง ๆ นั้น
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยกล่าวไว้ว่า
พระองค์ท่านไปตั้งออฟฟิศเล็ก ๆ เพื่อทรงดูแลประชาชนรอบ ๆ ที่ประทับ
อย่างไรก็ตาม พระราชกรณียกิจในช่วงเริ่มแรกนี้
พระองค์ไม่ได้ทรงสนพระทัยในเรื่องใหญ่โตมากนัก
แต่ทรงมองว่า ตรงจุดไหนมีเรื่องให้พระองค์ทรงช่วย พระองค์ก็จะทรงช่วย
และในระหว่างที่เสด็จฯไปเยี่ยมราษฎรทุกครั้ง
ยังทรงนำหน่วยงานของสำนักคณะกรรมพัฒนาการเศรษฐกิจ
และสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ฯ ไปด้วยทุกครั้ง
ซึ่งหน่วยงานนี้คล้าย ๆ กับเป็นเลขานุการส่วนพระองค์ไปในตัวด้วย
ต่อมาเราเรียกหน่วยงานนี้ว่า สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงาน
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.)

ในการทรงงานนั้น ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีวิธีของพระองค์เอง
ทรงทอดพระเนตร ทรงศึกษาและสอบถามจากชาวบ้าน
ตรวจสอบแผนที่ เรียกเจ้าหน้าที่มาถาม แล้วจึงทรงคิดออกมาเป็นแผนงาน
จากนั้นจะทรงเรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาดู
เมื่อเห็นว่าสามารถทำโครงการพัฒนาเหล่านั้นได้ จึงทรงตัดสินพระทัยทำ
สภาพัฒน์ฯ จะคอยถวายรายงานว่า
โครงการพัฒนาที่จะทรงทำนั้นมีโครงการที่ตรงกับรัฐบาลหรือไม่
ถ้ารัฐบาลทำ จะทรงเลี่ยงมาทำเรื่องเล็ก ๆ ที่ไม่ซ้ำซ้อนกัน
แต่หากเป็นเรื่องใหญ่หรือเป็นโครงการที่ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก
พระองค์จะทรงให้สภาพัฒน์ฯไปเสนอต่อรัฐบาล
เพราะฉะนั้น แต่ละโครงการจึงไม่ซ้ำกัน เรียกได้ว่า
พระองค์ทรงทำงานของพระองค์ รัฐบาลก็ทำงานของรัฐบาล

แต่พระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาเหล่านี้ บางครั้งก็ใหญ่โตขึ้นเรื่อย ๆ
อาจเป็นโครงการที่เสนอรัฐบาลแล้วไม่มีความคืบหน้า
ซึ่งอาจเกิดจากรัฐบาลยังไม่พร้อม
อย่างเช่น โครงการปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช
ซึ่งได้เสนอรัฐบาลไปสามปีแล้ว ทว่ายังไม่มีการดำเนินการใด ๆ
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ จึงทรงรับไว้เป็นโครงการส่วนพระองค์

นอกจากนี้ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ยังทรงระวังพระองค์เองว่า
โครงการพัฒนาต่าง ๆ ตามพระราชดำรินั้น ต้องไม่ใช่เป็นการไปแย่งงานของรัฐบาล
แต่เป็นการช่วยเสริมช่องว่าง เดิมทีโครงการตามพระราชดำริต่าง ๆ เหล่านี้
ใช้เงินจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
ต่อมาจึงมีการจัดตั้งมูลนิธิชัยพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ
เนื่องจากเป็นที่รู้กันว่าเงินของราชการนั้นเป็นเงินงบประมาณ ซึ่งจะหมดในปลายปี
เมื่อรัฐไม่มีค่าใช้จ่ายในการทำงานต่าง ๆ
มูลนิธิจึงจะเข้ามาช่วยเหลือด้วยการให้ยืมเงินไปทำงานก่อน

หลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ ๙ นั้นจะทรงถือหน้าที่เป็นสำคัญ
ไม่ได้ถือเรื่องตำแหน่งหรือยศของคนทำงาน
การทรงงานของพระองค์นั้นเปรียบได้กับเรือลำหนึ่งที่มีเรือเอกเป็นกัปตัน
แต่ถ้าเรือลำนั้นใช้เครื่องยนต์ปรมาณู คนที่รู้เรื่องเครื่องยนต์อาจเป็นจ่า
แต่ก็ต้องฟังเรือเอกว่าจะให้เลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา จะหยุดหรือยิงอย่างไร
เป็นการทำงานด้วยหน้าที่ พระองค์จะทรงละเอียดอ่อนเรื่องนี้
ซึ่งทำให้สามารถดำเนินพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาได้อย่างราบรื่น

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีความรอบรู้เรื่องเขื่อน
ทรงศึกษาเรื่องเขื่อนมาเป็นอย่างดี ทรงมีสายพระเนตรยาวไกล
คือ ทรงคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนชาวไทยโดยรวมก่อน
ดังนั้น การสร้างเขื่อนแต่ละเขื่อนจึงไม่ใช่เพียงการเอื้อประโยชน์แก่
ผู้ใช้ไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังเอื้อประโยชน์ถึงเกษตรกร ชาวนา
หรือเพื่อการป้องกันน้ำท่วมอีกด้วย
โครงการพระราชดำริหลายโครงการสำเร็จได้
ด้วยพระบารมีของในหลวงรัชกาลที่ ๙ เช่น โครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
ซึ่งเป็นโครงการที่มีประโยชน์เรื่องการป้องกันน้ำท่วมได้อย่างชัดเจน
ถึงแม้จะไม่มากเท่ากับเขื่อนภูมิพล
ทว่าผลประโยชน์อื่น ๆ ที่เกษตรกรจะได้รับมีมากมายมหาศาล
เนื่องจากเป็นเขื่อนที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ที่มีการทำนาเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ ในการสร้างเขื่อนแต่ละครั้ง
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ จะทรงให้ความสำคัญกับเรื่องการย้ายชาวบ้าน
ทรงกำชับว่าต้องหางบประมาณเพื่อจ่ายค่าตอบแทนชาวบ้านอย่างเป็นธรรม
ประชาชนที่จะต่อต้าน พอรู้ว่าเป็นพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ ๙
ก็ยอมทำตามพระราชประสงค์ ยกตัวอย่างเช่น การสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
หากให้ทางราชการเป็นผู้สร้าง เชื่อว่าอีก ๑๐๐ ปีก็อาจยังคงไม่ได้สร้าง
เพราะผู้ที่ผู้อาศัยคงไม่ยอมย้ายออก
แต่เมื่อเป็นพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ ๙
ที่ทรงชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของโครงการ ทุกคนจึงเชื่อและรับสนองพระราชดำริ
ไม่แต่เฉพาะเรื่องเขื่อนเท่านั้น
เรื่องอื่น ๆ ประชาชนชาวไทยก็อาศัยพระบารมีของพระองค์เช่นกัน
เรียกว่าด้วยพระบารมีสามารถเปลี่ยนเรื่องใหญ่โตให้จบลงได้ในวันเดียว

ในเรื่องต้นกำเนิดของเขื่อนสำหรับผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย
เดิมทีประเทศไทยมีโรงงานผลิตไฟฟ้าวัดเลียบและโรงไฟฟ้าสามเสน
ใช้ฟืนและแกลบเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า
เมื่อครั้งสงครามที่ข้าวเปลือกขายไม่ได้ราคา
ก็เคยใช้ข้าวเปลือกเหล่านี้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้ามาแล้ว
แต่ไฟฟ้าก็ยังไม่พอใช้ ต้องดับไฟเป็นเขต ๆ ทุกวัน

เมื่อมีพระราชบัญญัติการไฟฟ้ายันฮีในปี ๒๕๐๐
จึงก่อให้เกิดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตขึ้น
มีการก่อสร้างเขื่อนภูมิพล หรือชื่อเดิมว่าเขื่อนยันฮี
ซึ่งเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และแทบจะใหญ่ที่สุดในเอเชียในเวลานั้น
ซึ่งในขณะนั้น ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงครองราชย์มาได้ ๑๑ ปี
จึงอาจเรียกได้ว่าพัฒนาการของเขื่อนผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยนั้น
มีระยะเวลาที่เท่า ๆ กับการครองราชย์ของพระองค์

เขื่อนภูมิพลเป็นเขื่อนที่ให้ประโยชน์ทั้งการเกษตร และการไฟฟ้า
ในตอนเริ่มต้นประเมินกันว่ามีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างประมาณ ๕๐ ล้านดอลลาร์
ซึ่งในขณะนั้นอัตราแลกเปลี่ยนเงินไทย และเงินดอลลาร์สหรัฐ
ประมาณ ๑๒ บาทต่อดอลลาร์ เมื่อคิดเป็นเงินไทยประมาณหนึ่งพันล้านบาท
ซึ่งค่อนข้างสูงมากในเวลานั้น
มีคำถามมากมายว่าจะไปเอาเงินจำนวนมากขนาดนั้นมาจากไหน
ในที่สุดก็ไปกู้จากธนาคารโลก ซึ่งคิดดอกเบี้ย ๕ เปอร์เซ็นต์เป็นเวลา ๒๐ ปี
ซึ่งหลายคนไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่าเป็นการสร้างหนี้สินให้คนรุ่นลูกหลานนานถึง ๒๐ ปี
แต่อย่างไรก็ตาม ในที่สุดก็มีการสร้างเขื่อนจนเป็นผลสำเร็จ
โดยธนาคารโลกมีข้อกำหนดว่า ต้องนำเงินรายได้จากเขื่อนมาใช้คืน
ไม่ใช่นำเงินงบประมาณมาใช้หนี้ ซึ่งเมื่อคำนวณรายได้จากการขายไฟฟ้าแล้ว
ปรากฏว่าพอเลี้ยงตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณ เขื่อนภูมิพลจึงเกิดขึ้นมา

แต่ทุกคนก็รู้ว่าเขื่อนนี้เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ ใช้ได้ทั้งไฟฟ้าและเกษตรกรรม
โดยเฉพาะทุ่งราบภาคกลางที่สามารถทำนาได้มากกว่าปีละครั้ง
และเกษตรกรก็ไม่ต้องเสียค่าน้ำที่เขื่อนส่งมาให้ด้วย
เพราะเขื่อนมีเงินรายได้จากการขายไฟฟ้าไปใช้หนี้คืนธนาคารโลกอยู่แล้ว

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเริ่มโครงการพัฒนาจากการเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรทั่วประเทศ
ทรงรับทราบปัญหาสำคัญเรื่องการขาดแคลนแหล่งน้ำของพสกนิกรส่วนใหญ่
ซึ่งมีอาชีพเกษตรกรรม ดังนั้น การแปรพระราชฐานไปที่ใดก็ตาม
พระองค์จะสนใจแต่เรื่องน้ำเป็นหลัก
เพื่อหาทางให้มีการชลประทานไปสู่พื้นที่ที่ราษฎรเพาะปลูก
และหากพบว่ามีแหล่งน้ำที่ใด พระองค์ก็จะทรงส่งเสริมให้มีการสร้างฝาย
สร้างเขื่อน และด้วยเหตุนี้พระองค์จึงให้ความสนพระทัยในเรื่องเขื่อนด้วย
ทรงสนพระทัยว่าเขื่อนขนาดนี้ สูงเท่านี้ ควรจะมีเครื่องผลิตไฟฟ้าและจ่ายไฟอย่างไร
ทรงเข้าพระทัยดีแม้กระทั่งว่า
พื้นที่อ่างน้ำขนาดเท่านี้ จะโดนแดดส่งลงมาน้ำระเหยไปเท่าไร
ทรงเคยรับสั่งว่า โครงการทฤษฎีใหม่ที่ว่าให้มีการขุดบ่อน้ำ พื้นที่เท่านี้มีน้ำเท่านี้
ถ้าราษฎรไม่ใช้น้ำในอ่างภายในเวลาเท่าไร น้ำจะระเหยไปหมด
เพราะฉะนั้น ตอนน้ำเต็มอ่างก็ควรใช้ประโยชน์เสียก่อนที่
น้ำจะระเหยไปในอากาศหมด

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงไม่ได้เจาะจงเรื่องการใช้น้ำเพียงอย่างเดียว
ทรงเข้าใจระบบของการไฟฟ้าอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขั้นตอนการผลิตไฟฟ้า
เรื่องเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และยังทรงรู้ลึกไปกว่านั้น
คือการพระราชทานแนวพระราชดำริ
ในการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำในการผลิตไฟฟ้าด้วย
เช่น ที่หมู่บ้าน “บ้านยาง” บริเวณเชิงดอยของอ่างขาง
ซึ่งหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ทรงดูแลอยู่ เดิมทีมีแหล่งน้ำไหลอยู่ตลอดในบริเวณนั้น
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ไปแล้วก็ตรัสว่า ที่นั่นพระองค์มีโรงงานทำผลไม้กระป๋อง
(ปัจจุบันคือโรงงานผลิตเครื่องกระป๋องตรา “ดอยคำ”)
แต่ไม่มีไฟฟ้า จึงทรงให้ท่านชายภีศเดชมาตาม กฟผ.
ไปดูว่ามีน้ำมากพอสำหรับทำไฟฟ้าหรือไม่
กฟผ. รับพระราโชบายมา และทำการก่อสร้างโรงไฟฟ้าบ้านยาง
โดยติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องละ ๕๖ กิโลวัตต์ ๒ เครื่อง
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จไปทรงเปิด ให้ด้วยพระองค์เอง
โรงงานเครื่องกระป๋องและชาวบ้านในบริเวณนั้น
จึงได้ใช้ประโยชน์จากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดังกล่าวด้วย

ในการสร้างเขื่อนขนาดเล็ก เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้านั้น
หากปล่อยให้ กฟผ. ไปทำลำพังอาจมีคนแย้งเรื่องความคุ้มค่า
และอาจมีคนถามว่า มันเรื่องอะไรของ กฟผ. ที่จะไปทำโรงไฟฟ้าขนาดเล็กบนดอย
แต่เนื่องจากในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงดูแลทุกข์สุขของประชาชน
เมื่อทรงรับสั่ง กฟผ. จึงได้สนองพระราชดำริ อยากให้พวกเราเห็นว่า
การดูแลผลประโยชน์และผลตอบแทนเหล่านี้ ไม่ควรมองพียงด้านเดียว
แต่ต้องดูประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน
เรียกว่าพระวิสัยทัศน์ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ นั้นทรงกว้างขวางมาก

แม้แต่เรื่องเขื่อนภูมิพล เมื่อครั้งที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จฯ เยือนประเทศอิหร่าน
พระเจ้าชาห์แห่งอิหร่านได้มีพระราชดำรัสเรื่องเขื่อนในประเทศอิหร่านกับพระองค์
ต่อมา เมื่อพระเจ้าชาห์เสด็จฯเยือนประเทศไทย
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ก็ทรงอยากให้ กฟผ. แสดงให้ต่างชาติเห็นว่าพวกเราก็มีดี
ก็ทรงให้ กฟผ. สร้างที่ประทับที่เขื่อน และให้ กฟผ. ต้อนรับพระเจ้าชาห์
โดยพระองค์ไม่ได้เสด็จฯด้วย พระองค์ทรงวางพระทัย กฟผ.
ทรงภูมิพระทัยว่าประเทศไทยมีเขื่อนขนาดใหญ่เช่นกัน
กฟผ. ก็สนองพระราชประสงค์ได้อย่างสมบูรณ์
พระเจ้าชาห์ทรงคล้ายกับพระเจ้าอยู่หัวคือ ทรงสนพระทัยเรื่องเขื่อน
เรื่องเครื่องกำเนิดไฟฟ้า กฟผ.ถวายรายงานว่าเขื่อนภูมิพลสูงเท่าไหร่ ความจุเท่าไหร่
ตอนแรกพระเจ้าชาห์ทรงมีทีท่าไม่เชื่อว่าเขื่อนมีขนาดใหญ่
แต่พอทรงประทับเรือลงไปในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนภูมิพลก็ทรงเชื่อ
ทรงตรัสว่า “นี่มันไม่ใช่อ่าง นี่มันทะเล”

นอกจากนี้ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ยังทรงสนพระทัยเรื่องเขื่อนภูมิพลเสมอ
เคยรับสั่งด้วยความเป็นห่วงว่า “วันหนึ่งถ้าตะกอนจะเต็มแล้วจะทำอย่างไร”
กฟผ. ก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน แม้ตามหลักวิชาการแล้วไม่น่าจะเต็ม
พระองค์ตรัสว่า “ถ้าไม่คิดไว้ก่อน บอกว่ายังไม่ถึงเวลาคิด
ถ้าถึงเวลาแล้วจะคิดออกไหม”
เมื่อกราบบังคมทูลไปว่าคิดออก พระองค์ท่านก็ตรัสว่า
“ถ้าคิดออกให้เขียนไว้ในกระดาษแล้วเอาไปใส่ในไหไปฝังไว้เป็นลายแทง
เผื่อว่าอีก ๔๐๐ ปีจะมีใครมาขุดเอาไปใช้ เพราะว่าเขื่อนมันเต็ม”

ในความเป็นจริง คำว่าเต็มนี้ไม่ได้หมายถึงต้องเต็มตัวเขื่อน
แค่เต็มที่ระยะ ๒๓๐ เมตร ในระดับ ELEVATION เป็นระดับปากท่อ
ที่จะปล่อยน้ำลงปั่นเครื่องปั่นไฟ ซึ่งน้ำก็จะไม่เข้าท่อแล้ว
เพราะฉะนั้นอายุของเขื่อนก็จะหมดตรงนั้น
กฟผ. จึงได้ไปทำการวิจัยว่าตะกอนที่ตกมาแล้ว ตกตรงไหนบ้าง
ปรากฏว่าว่ามันยังตกมาไม่ถึงตัวเขื่อน ก็ไปกราบทูลให้ทรงทราบ
เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงเป็นห่วงอยู่เสมอ ไม่ใช่ว่าทำเสร็จแล้วก็ปล่อยไป

หลักในการจัดทำโครงการพัฒนานั้น ในหลวงรัชกาลที่ ๙ จะทรงคำนึงถึง
ประโยชน์สุขของราษฎรเป็นหลัก
ไม่ว่าจะเป็นเพียงคนกลุ่มเล็ก ๆ หรือมีจำนวนน้อยแค่ไหน
เช่น เมื่อครั้งที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ไปเปิดเขื่อนจุฬาภรณ์
ซึ่งก็เป็นที่ประหลาดว่า ไม่ว่าฝนจะตกฟ้าจะร้อง
ถ้าพระองค์เสด็จฯ มาถึง ฟ้าจะเปิดทุกที
คืนนั้นหลังจากทรงเปิดเขื่อนแล้ว ได้ทรงประทับแรมที่เขื่อนด้วยทรงมีรับสั่งว่า
หมู่บ้านใต้เขื่อนจุฬาภรณ์ไม่มีน้ำ
ให้ กฟผ. ไปดูว่าสามารถช่วยอะไรชาวบ้านได้บ้าง

สำหรับที่มาที่ไปในเรื่องดังกล่าว ในการสร้างเขื่อนจุฬาภรณ์นั้น
ชาวบ้านหลายคนเชื่อว่า กฟผ. เก็บน้ำของชาวบ้านเอาไว้
ทั้งที่จริง ๆ แล้วเขื่อนเก็บน้ำส่วนเกินในหน้าฝน
พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริให้ไปสร้างเขื่อนอีกแห่งเพื่อให้ชาวบ้านมีน้ำไว้ใช้
กฟผ. รับสนองพระราชประสงค์ โดยสร้างเขื่อน “ห้วยกุ่ม”
สร้างเสร็จแล้ว ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ก็เสด็จฯ พร้อม
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเปิด
ผู้ว่าการ กฟผ. ในเวลานั้นกราบบังคมทูลว่า
“เป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมที่เสด็จฯ มาเปิดเขื่อนเล็ก ๆ”
พระองค์ท่านเหลียวกลับมาบอกว่า “นี่เขื่อนใหญ่ที่สุดของฉันแล้ว”
เหล่านี้ล้วนเป็นพระราชอัจฉริยะภาพของพระองค์
จะเห็นได้ว่าทรงรู้เรื่องเขื่อนดีมาก จึงทรงแนะนำได้ว่าที่โน่นควรทำ ที่นี่ไม่ควรทำ

เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จฯ เยี่ยมการก่อสร้างเขื่อนจุฬาภรณ์นั้น
เจ้าหน้าที่ กฟผ. ได้กราบบังคมทูลว่า มีสะพานแห่งหนึ่งเหนือเขื่อน
ตรงบริเวณทางข้างสันเขื่อนจะพังทุกปีเพราะน้ำไหลลง
พระองค์ท่านทรงดูแผนที่แล้วรับสั่งว่า “ทำไมไม่ผันน้ำให้ลงอ่างเสีย”
เพราะเหตุว่าเขื่อนจุฬาภรณ์อยู่ในที่สูง
น้ำ ๑ ลูกบาศก์เมตร ผลิตไฟฟ้าได้ ๑ กิโลวัตต์
กฟผ. ก็รับสนองแนวพระราชดำริมาทำฝายตอนบนสูง ๑๔ เมตร
ดูเหมือนจะใช้ชื่อว่าฝายพรมธารา ผันน้ำไม่ให้ลงมาทางเก่าที่ทำให้สะพานพัง
ด้วยการเจาะอุโมงค์แล้วผันน้ำนั้นลงอ่างของเขื่อนจุฬาภรณ์

ในขณะที่ทำการก่อสร้าง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
ซึ่งเสด็จมาประทับที่เขื่อนจุฬาภรณ์ ได้เสด็จลอดอุโมงค์นั้นด้วย
ซึ่งนับเป็นสิริมงคลมาก ในที่สุดก็ผันน้ำลงอ่างได้ สะพานก็ไม่พัง
น้ำที่ผันได้นั้นเข้าใจปีหนึ่งมีปริมาณสองล้านลูกบาศก์เมตร
ได้ไฟฟ้าอีกสองล้านยูนิต ซึ่งได้ประโยชน์ทั้งสองทางคือ
เขื่อนไม่พัง แล้วยังได้น้ำไปเติมในอ่างอีกด้วย
นับเป็นการพิสูจน์ถึงพระราชอัจฉริยภาพ
และพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของพระองค์

ในยุคที่มีการต่อสู้กับเรื่องคอมมิวนิสต์
เขื่อนบางเขื่อนสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ในด้านความปลอดภัย เช่น
ที่ช่องกล่ำอำเภอวัฒนานคร ปัจจุบัน คือจังหวัดสระแก้ว เดิมเป็นพื้นที่สีชมพู
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเรียกให้ กฟผ. ไปศึกษาว่ามีลำน้ำ ๓ แห่ง จะทำอะไรได้บ้าง
จากนั้น ได้ทรงรับสั่งให้สร้างเขื่อนขนาด ๒๔ กิโลวัตต์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร
ให้มีน้ำใช้ในตอนกลางวัน ส่วนไฟฟ้าผลิตในตอนกลางคืน
กฟผ. ต้องไปหาอุบายด้วยการปล่อยน้ำผลิตไฟฟ้าในตอนกลางคืน
แล้วให้เกษตรกรไปทำที่ดักน้ำให้ผันไปในพื้นที่เกษตร
กลางวันเมื่อเกษตรกรมาทำงานก็มีน้ำรออยู่แล้ว พระองค์ท่านทรงละเอียดมาก
และที่เขื่อนนี้ กฟผ. ได้พัฒนาทดลองผลิตไฟฟ้าแสงแดดเป็นแห่งแรกด้วย
จะเห็นได้ว่าพระองค์ท่านจะทรงคิดถึงเรื่องผลิตไฟฟ้าด้วย
ไม่ใช่เรื่องนำมาใช้เพียงอย่างเดียว

อีกเรื่องคือเขื่อนแม่งัด จังหวัดเชียงใหม่
กรมชลประทานสร้างเขื่อนใหม่ขนาดใหญ่ขึ้นมาแทนที่เขื่อนเก่า
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ไปเยี่ยมและมีรับสั่งว่า
ถ้าเขื่อนใหญ่โตอย่างนี้ กฟผ. จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้หรือไม่
นี่จะเป็นโครงการแรกที่ กฟผ. ได้ร่วมงานกับกรมชลประทานคือ
กรมชลประทานสร้างเขื่อน กฟผ. ติดเครื่องปั่นไฟฟ้าให้
ดูเหมือนว่าได้ปริมาณไฟฟ้าหลายเมกะวัตต์ แล้วพระองค์ท่านก็เสด็จฯ ไปเปิดให้
ทั้งที่เดิมทีกรมชลประทานกับ กฟผ. ไม่เคยคิดจะทำร่วมกันมาก่อน
แต่พอทรงรับสั่ง ทุกคนก็มาช่วยกัน

เขื่อนอีกแห่งที่สร้างในยุคที่มีการต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์คือ
“เขื่อนบางลาง” ที่จังหวัดยะลา เดิมทีภาคอื่นมีโรงไฟฟ้าหมดแล้ว
แต่ภาคใต้ยังไม่มีโรงไฟฟ้า กฟผ. จึงเริ่มเข้าไปดำเนินการ
โดยในหลวงรัชกาลที่ ๙ ไปเยี่ยมทั้งหมด ๓ ครั้ง และรับสั่งว่า
“ถ้าจะแก้ปัญหาให้ได้ ต้องเข้าถึงปัญหา”
ในครั้งนั้น เจ้าหน้าที่ กฟผ. หลายคนถูกคอมมิวนิสต์จับไป
ถึงแม้จะมีหน่วยทหารไปอารักขาก็ตาม
เพราะคอมมิวนิสต์คิดว่า กฟผ. ตัดถนนไปปราบเขา
เราจึงต้องติดต่อกับผู้ก่อการร้ายด้วยการส่งจดหมายอธิบายว่า กฟผ.มาทำอะไร
และด้วยพระบารมี ทางผู้ก่อการร้ายก็ตกลงยอม
และยังไปชี้จุดที่มีกับระเบิดให้ด้วย ทาง กฟผ. ก็ไปเก็บระเบิดมาได้มา ๓ เข่ง
คล้ายๆ กับว่ามีการหย่าทัพกันเฉพาะพื้นที่ตรงนี้
นอกจากนี้ ตอนที่สร้างเขื่อนดังกล่าว
มีการย้ายราษฎรจากหมู่บ้านสองแห่งที่น้ำจะท่วม
กฟผ. ได้ไปหาแหล่งน้ำเพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้
ปรากฏว่าน้ำตรงหมู่บ้านนั้นสูงมาก น้ำไหลแรง
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ก็พระราชทานพระราชดำริว่า ทำไมไม่ทำไฟฟ้าเสียเลย
กฟผ. ต้องขุดเป็นอุโมงค์คนลอดเข้าไปเอาโอ่ง ใส่กระดานเลื่อนไปขุดดินออกมา
ทำท่อ ๑,๒๐๐ เมตรลงไปข้างล่าง ซึ่งเป็นถ้ำ เรียกว่าโรงไฟฟ้าใต้ดินบ้านสันติ
โรงไฟฟ้าที่นี่เดินเครื่องอัตโนมัติตามเขื่อนบางลาง

เรื่องราวข้างต้นนี้แสดงให้เห็นถึงพระราชอัจฉริยภาพ สายพระเนตรอันยาวไกล
และพระวิสัยทัศน์รอบด้านเกี่ยวกับการใช้พลังงานน้ำ
ซึ่งทรงคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนทุกหมู่เหล่า
ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ผู้ใช้ไฟฟ้า หรือผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม
ล้วนอยู่ในสายพระเนตรของในหลวงรัชกาลที่ ๙
เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยอย่างแท้จริง


ข้อมูลอ้างอิง:
http://www.eppo.go.th/royal/m1700_0015.html
หนังสือ “พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย” จัดทำโดยกระทรวงพลังงาน
ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์กระทรวงพลังงาน
http://www.energy.go.th/international/index.php?action_content=article-single&id=61