Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๗๖

dhammajaree262 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ใต้ร่มพระบารมี (๑๑)
พระราชกรณียกิจในการพัฒนาพลังงานไทย (ตอนที่ ๑)


dhammajaree276

พระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่อำนวยคุณประโยชน์
แก่ประเทศไทยและประชาชนชาวไทยมีอยู่อย่างมากมาย
หนึ่งในบรรดาพระราชกรณียกิจเหล่านั้นได้แก่ การพัฒนาพลังงานไทย
ซึ่งหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้มีพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับ
การพัฒนาพลังงานไทยในหลายประการ ยกตัวอย่างเช่น
การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ การผลิตเอทานอลจากพืชผลการเกษตร
เพื่อนำมาผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีโซฮอล์
การผลิตไบโอดีเซล การผลิตพลังงานทดแทนจากแกลบอัดแท่ง
การผลิตพลังงานทดแทนจากก๊าซชีวภาพ พลังงานแสงอาทิตย์
และพลังงานลม

เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๔๙ ท่าน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
ในฐานะกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาได้มาเป็นวิทยากร
ในการจัดงานเสวนาเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ ๙
ในหัวข้อ “เศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาพลังงาน”
ในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ซึ่งจัดงานขึ้นโดย
กระทรวงพลังงานร่วมมือกับสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งจากการบรรยายดังกล่าว ดังต่อไปนี้

ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับ
การพัฒนาพลังงานมาตั้งแต่คนทั่วไปยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้
ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นแนวพระราชดำริที่ทรงมองอย่างรอบด้าน
เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนทุกคน

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงสนพระทัยเรื่อง “น้ำ” มาแต่แรกเริ่ม
แม้กระทั่งเมื่อตอนไปเข้าเฝ้าฯ เมื่อไม่นานมานี้ พระองค์ก็ทรงรับสั่งถึงเขื่อนภูมิพล
ซึ่งได้ประโยชน์หลากหลาย น้ำก็ได้ใช้ในการเกษตร
ระหว่างน้ำผ่านเขื่อนลงไปก็นำไปผลิตกระแสไฟฟ้าได้ด้วย
น่ามหัศจรรย์ใจอย่างยิ่งที่มีกระแสต่อต้านไม่ให้มีการใช้เขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า
นักอนุรักษ์นี่ขอให้เป็นนักอนุรักษ์จริง ๆ อย่าเป็นนัก “อ” เฉย ๆ
ใครทำอะไรก็จะค้านหมด อย่างที่เคยคุยกับท่านผู้อำนวยการเขื่อนป่าสักฯว่า
กว่าจะสร้างได้เลือดตาแทบกระเด็น สามารถเก็บกักน้ำได้ ๑๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร
แต่ไม่ยอมให้ผลิตกระแสไฟฟ้า จะให้ใช้เพื่อการเกษตรอย่างเดียว
แล้วน้ำที่ผ่านออกมาทุกวัน มันเป็นพลังงานที่ปล่อยให้สูญเปล่า
จะติดตั้งเครื่องไฟฟ้าจะเสียเงินเพิ่มไปอีกสักเท่าไหร่ น้ำก็ต้องผ่านออกมาอยู่ดี
จะไปทางไหนก็ทำได้ทั้งนั้น มีเขื่อนอีกหลายเขื่อนที่สามารถทำไฟฟ้าได้
ไฟฟ้าเล็กไฟฟ้าน้อยก็สร้างเถอะครับ
เพราะมันใช้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน หลายฝ่ายก็ออกมาบอกว่าไม่ยอมให้สร้าง

สายพระเนตรของพระองค์ท่านคือ สายตาที่เต็มไปด้วยปัญญา
พยายามเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว
พระองค์ท่านรับสั่งว่า ดูรอบ ๆ สิ เหลียวไปดูภูมิประเทศสิ
เขาออกแบบไว้เรียบร้อยหมดแล้ว
บริเวณลุ่มนั้น ฝนตกลงมาน้ำก็จะขังน้ำอยู่พอน้ำลดก็จะไหลลงไปที่ต่าง ๆ
แตกซ่านเซ็นเป็นลำธารเล็กลำธารน้อย
รวมกันเป็นแม่น้ำใหญ่ ไหลลงมหาสมุทร ออกทะเลไป
พอน้ำเอ่อขึ้นมาอีก ก็ไปรดน้ำต้นไม้ที่อยู่ในป่าในดง
ต้นไม้แตกใบออกมา ร่วงหล่นย่อยสลายเป็นปุ๋ย
พอฝนตกลงมาชะล้างเอาหน้าดิน ปุ๋ยต่าง ๆ ก็ส่งมาตามลำธาร
ส่งมาตามแม่น้ำ ไหลมากองที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
ให้เราปลูกข้าวเพื่อเลี้ยงดูประเทศทั้งประเทศ
ระบบธรรมชาติออกแบบไว้เรียบร้อยหมดเลย
แต่มาโดนมนุษย์ทำลายหมด แย่งชิงที่กันปล่อยให้ตื้นเขิน
นำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติ
ลองสังเกตให้ดี ๆ วงจรชีวิตถูกออกแบบเอาไว้เรียบร้อยแล้ว

พระองค์ท่านเสด็จไปทางเหนือ ซึ่งแห้งแล้ง
มีการตัดไม้ทำลายป่า ฝนตกทีก็ไหลลงมาหมด
พระองค์ท่านทรงคิดว่าตรงนั้นทำไฟฟ้าได้ไหม
ไหลลงไปช่องเล็ก ๆ ทำโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก
พยายามบังคับน้ำให้ผ่านท่อเล็ก ๆ แล้วผลิตป้อนใช้ในบริเวณนั้น
พยายามปรับตามสภาพแวดล้อมให้เอื้อประโยชน์
พอเสด็จพระราชดำเนินไปอีก ก็เจอตะบันน้ำซึ่งชาวบ้านใช้กันมานานแล้ว
ใช้พลังน้ำในตัวเอง ไม่มีพลังงานไปสร้างพลังงาน
คนสมัยใหม่นำพลังงานไปใช้เพื่อให้เกิดพลังงาน
แต่ที่นั่นใช้พลังน้ำในตัวเอง ตะบันน้ำนั้น พลังน้ำจะกระแทกเครื่องมือให้หมุน
ปรากฏว่าสามารถยกน้ำขึ้นไปได้ ๕ – ๑๐ เมตร แล้วไหลผ่านท่อชลประทานไป
กังหันน้ำชัยพัฒนาก็ได้ความคิดจาก “หลุก” นี่เอง
ชาวบ้านสร้างเป็นหลุมไว้กลางลำธาร พอน้ำในลำธารไหลผ่าน
หลุกมันก็ตักขึ้นมาเทใส่ท่อ ส่งน้ำไปถึงหมู่บ้าน
แล้วมันก็หมุนโดยใช้พลังงานในกระแสน้ำที่มีอยู่แล้วนั่นเอง
นำของเรียบง่ายที่อยู่รอบตัวมาใช้ กระแสน้ำอยู่รอบตัว
แต่เอาปัญญาเข้าไปใส่ ก็สามารถสนองตอบความต้องการของชีวิตได้
(ทั้งนี้ “หลุก” คือ ระหัดวิดน้ำ ซึ่งใช้วิดน้ำนำมาใช้ในการเกษตร
ของคนในภาคเหนือสมัยโบราณ)

ไม่พียงการพระราชทานแนวพระราชดำริเท่านั้น
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ยังทรงพระราชทานโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา
ซึ่งได้กลายเป็นรากฐานที่สำคัญอย่างยิ่งของการพัฒนาพลังงานในปัจจุบัน
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงสนพระทัยเรื่องนี้อย่างมาก
ถ้าใครเคยได้เข้าไปที่โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาจะพบว่า
พระองค์ท่านทรงทำให้สิ่งของเหลือนำมาใช้ได้ มีโรงสี มีแกลบ ก็นำมาทำเป็นถ่าน
มีตัวประสานอัดเป็นแท่งกลับไปใช้เป็นพลังงานได้
ทรงเลี้ยงวัว มีมูลวัวออกมาก็ทำเป็นก๊าซชีวภาพ
เข้าไปเดินเครื่องในโรงงานผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ
เกือบจะเรียกได้ว่าช่วยเหลือตัวเองพร้อมกันไปหมด
ทำอย่างนี้เรียกว่า ใช้ปัญญานำเพราะไม่มีของเหลือออกไปเลย

มีอยู่ครั้งหนึ่ง ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จฯ ไปสกลนคร
พระท่านเก่ง ใช้ปัญญานำ ตอนนั้นเสด็จพระราชดำเนินผ่าน “ถานพระ”
เด็กรุ่นใหม่คงไม่รู้จัก “ถานพระ” ไม่ใช่ฐานรองรับพระพุทธรูป
แต่หมายถึง “ห้องน้ำ” “ส้วม” ศัพท์โบราณเรียกว่า “ถาน”
ถานพระเรียงกันเป็นแถว พระท่านก็ให้ไปเก็บรวบรวมมาใส่
เพื่อต่อท่อมาลงในหลุมก๊าซชีวภาพ แล้วก็ต่อท่อเข้าโรงครัว
พระองค์ท่านเสด็จฯ มาถึงก็รับสั่งถามเจ้าอาวาสว่า
"พระคุณเจ้า ... ถานพระที่ใช้ถ่ายของเสียที่ถ่ายออกมาเป็นธรรมะหรือเป็นอธรรม"
เจ้าอาวาสก็ตอบว่าเป็นอธรรม
พระองค์ท่านก็เสด็จพระราชดำเนินไปตามท่อ
ไปถึงบ่อชีวภาพที่กำลังเดือดปุด ๆ ตรัสถาม
"พระคุณเจ้า ตรงนี้เป็นธรรมะหรืออธรรม"
พระคุณเจ้าก็กราบทูลว่า ยังเป็นอธรรมอยู่เพราะเป็นของบูด ของเสีย ของเน่า
เมื่อพระองค์ท่านเสร็จพระราชดำเนินต่อไปตามท่อนั้น
เข้าไปในครัว ปรากฏว่ากำลังต้มน้ำอยู่ เพื่อจะชงชาถวายพระองค์
ท่านก็ตรัสถามอีก "พระคุณเจ้าตอนนี้เป็นอธรรมหรือธรรมะ"
พระคุณเจ้ากราบทูลว่าเป็นธรรมะแล้ว เพราะว่าเกิดประโยชน์ขึ้นแล้ว

ธรรมะสอนอะไร เรื่องนี้สอนให้คนเราใช้ชีวิตครบวงจร
ต้องใช้ให้ครบประโยชน์จึงเกิดขึ้นได้ บริโภคเข้าไป ถ่ายออกมา
มีกระบวนการแปรสภาพออกมาเป็นก๊าซนำมาใช้ได้อีก มูลยังอยู่ในบ่อนั้น
เมื่อล้างบ่อชีวภาพ มันอาจย่อยสลายไปหมด ก็นำไปใส่เป็นปุ๋ยที่ต้นไม้
ต้นไม้นั้นก็เกิดงอกงาม เป็นพลังงานให้ต้นไม้ ต้นไม้แตกกิ่งก้านสาขา
แตกใบออกมาร่วงหล่น ไม้บางอันก็ถูกนำไปเผาเป็นถ่านต่อกันไปไม่รู้จบ
เราเรียกกันอย่างง่าย ๆ ว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นเอง
การทำอะไรให้ยั่งยืนคือการทำให้ครบวงจร
ทำอะไรที่เมื่อบริโภคแล้วได้ชดเชยกลับมา
เราก็จะมีใช้ไม่รู้จบ นี่คือความหมายสั้น ๆ ของคำว่าพัฒนาอย่างยั่งยืน

พระองค์ท่านรับสั่งว่า “น้ำมันดินหมดแล้ว”
คำว่าปิโตรเลียมทรงใช้คำโบราณว่า “น้ำมันดิน”
หมายความว่าขุดลงไปถึงดิน นำมากลั่นใช้ พอน้ำมันดินจะหมดแล้ว
จริง ๆ แล้วยังมีแหล่งพลังงานอื่นอีกมากมาย แสงแดด สายลม จากธรรมชาติทั้งหมด

ตอนนี้มาบอกให้ปลูกป่าทั่วประเทศเพื่อทำไบโอดีเซล คิดวันนี้ทำวันนี้
อีก ๕ ปีเป็นอย่างเร็วถึงจะได้ใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ใช้แทนน้ำมันดีเซล
มีสิทธิบัตรเตรียมการไว้ก่อนแล้ว “เอทานอล” พระองค์ท่านก็ทรงผลักดันมาก่อน
จำได้ว่าวันหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน รับสั่งเรียกผมไปสั่งว่า
“ไปดูซิ น้ำมันปาล์มนี่ทำดีเซลได้ไหม” จนกระทั้งเวลานี้มีปั๊มแล้ว
ถึงจะเป็นโครงการทดลองแต่ก็เติมได้ มีปั๊มขึ้นมาถึง ๒ ปั๊ม
ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองที่จังหวัดนราธิวาส และที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ถ้าใครติดตามข่าวจะเห็นว่าเมื่อ ๒ – ๓ วันมานี้
สมเด็จพระเทพฯ ทรงไปเติมให้เอง
รถเมล์วิ่งอยู่ที่หาดใหญ่มาเติม พระองค์ท่านทรงเติมให้เองเลย
ได้ข่าวว่ากลับบ้าน สูบน้ำมันออกแล้วตั้งบนโต๊ะบูชา ไม่กล้าใช้
สงสัยใส่เป็นขวดเล็กขวดน้อยแจกเป็นเครื่องรางของขลังไปแล้ว
ตอนที่เริ่มวิจัยผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน
เพราะตอนนั้นดีเซลลิตรละไม่กี่บาท พระองค์ท่านรับสั่งว่าทำไปเถอะ
แล้วไม่ต้องประกาศให้คนค้านว่าทำแล้วไม่คุ้ม
พระองค์ท่านว่าทำไปเถิด แล้วเดี๋ยววันหนึ่งจะรู้เอง แล้ววันนี้ก็มาถึงอย่างรวดเร็ว

น้ำมันแพงทุกวันนี้ แม้กระทั่งน้ำมันพืชก็แพง ต้องยอมรับว่ามีระบบภาษีเข้ามา
โครงการพระราชดำริก็เลยมุ่งไปแก้ปัญหาที่คนก่อน
ห้เกษตรกรเล็ก ๆ รวมกลุ่มกัน พื้นที่ไหนเหมาะปลูกปาล์มได้ก็ปลูกปาล์ม
พื้นที่ไหนปลูกสบู่ดำได้ก็ปลูกสบู่ดำ มีปลูกพืชเยอะแยะไปหมด
แถวชุมพรใช้น้ำมันมะพร้าวกันมาตั้งนานแล้ว
แต่เนื่องจากไม่มีเทคโนโลยีเข้าไปช่วยนาน ๆ ทีก็ต้องเอาเครื่องมาล้างที
เพราะมันมีอะไรเข้าไปเกาะเครื่อง แต่อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าไป
เพื่อให้แต่ละกลุ่มเกษตรกรช่วยตัวเองให้ได้ก่อน สุดท้ายจะช่วยลดการนำเข้าได้ดี

ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล สรุปทิ้งท้ายถึงวิกฤติพลังงานในปัจจุบันว่า
หากดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงก็จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้
และไม่ใช่แต่เฉพาะสังคมไทยเท่านั้น ยังหมายรวมไปถึงสังคมโลกอีกด้วย


ข้อมูลอ้างอิง:
http://www.eppo.go.th/royal/m1700_0014.html
หนังสือ “พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย” จัดทำโดยกระทรวงพลังงาน
ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์กระทรวงพลังงาน
http://www.energy.go.th/international/index.php?action_content=article-single&id=61