Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๗๕

dhammajaree262 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 ใต้ร่มพระบารมี (๑๐) โครงการแก้มลิง


dhammajaree275


ในปี ๒๕๓๘ ได้เกิดเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในประเทศไทย
โดยเหตุการณ์อุทกภัยครั้งนี้เริ่มขึ้นในเดือนสิงหาคม ๒๕๓๘
เมื่อเกิดพายุหลายลูกพัดกระหน่ำเข้าสู่ประเทศไทย โดยเฉพาะพายุโอลิส
ทำให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมในทั่วทุกภาคของประเทศไทย
และน้ำเหนือได้ไหลลงสู่ภาคกลาง รวมถึงพื้นที่กรุงเทพมหานครอีกด้วย
สรุปความเสียหายปรากฏว่าน้ำท่วมทั้งสิ้น ๖๘ จังหวัด ๕๘๕ อำเภอ
มีผู้ได้รับความเดือดร้อนประมาณ ๔.๕ ล้านคน คิดเป็น ๑,๑๖๓,๘๗๑ ครอบครัว
เสียชีวิต ๒๖๐ คน มูลค่าความเสียหาย (ไม่รวมสิ่งสาธารณูปโภค) กว่า ๖ พันล้านบาท
ซึ่งนับเป็นอุทกภัยที่ร้ายแรงที่สุดในประเทศไทยที่เกิดขึ้นในรอบ ๔๐ ปี

จากเหตุการณ์อุทกภัยในปี ๒๕๓๘ ดังกล่าว ในหลวงรัชกาลที่ ๙ จึงได้ทรงพระราชทาน
แนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาท่วม โดยวิธีการจัดหาสถานที่เก็บกักน้ำตามจุดต่าง ๆ
เพื่อรองรับน้ำฝนไว้ชั่วคราว แล้วเมื่อถึงเวลาที่คลองพอจะระบายน้ำได้
จึงค่อยระบายน้ำจากส่วนที่กักเก็บไว้ออกไป อันย่อมจะสามารถลดปัญหาน้ำท่วมได้
โดยแนวพระราชดำรินี้เรียกว่า “โครงการแก้มลิง”

แนวคิดของโครงการแก้มลิงเกิดจากที่การในหลวงรัชกาลที่ ๙
มีพระราชดำริถึง ลิงที่อมกล้วยไว้ในกระพุ้งแก้มได้คราวละมาก ๆ
ทรงอธิบายว่า ลิงโดยทั่วไป ถ้าเราส่งกล้วยให้
ลิงจะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยว แล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อน
ลิงจะทำอย่างนี้จนกล้วยหมดหวี หรือเต็มกระพุ้งแก้ม
จากนั้นจะค่อย ๆ นำออกมาเคี้ยว และกลืนกินภายหลัง
ด้วยแนวพระราชดำรินี้ จึงเกิดเป็นโครงการแก้มลิงขึ้น
เพื่อสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำ ไว้รอการระบาย และเพื่อใช้ประโยชน์ในภายหลัง

อนึ่ง สำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจ สามารถชมเหตุการณ์ซึ่ง
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริเรื่องโครงการแก้มลิง
เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๘ ได้ตามลิ้งค์นี้ครับ
https://youtu.be/eY4CCvN4YdI

ลักษณะของโครงการแก้มลิงจะดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ตอนบน
เพื่อให้น้ำไหลลงคลองพักน้ำที่ชายทะเล
จากนั้น เมื่อระดับน้ำทะเลลดลงจนต่ำกว่าน้ำในคลอง
น้ำในคลองจะไหลลงสู่ทะเลตามธรรมชาติ
ต่อจากนั้น จะเริ่มสูบน้ำออกจากคลองที่ทำหน้าที่แก้มลิง
เพื่อทำให้น้ำตอนบนค่อยๆ ไหลมาเอง จึงทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ลดน้อยลง
จนในที่สุดเมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับในคลอง จึงปิดประตูระบายน้ำ
โดยให้น้ำไหลลงทางเดียว (One Way Flow)

โครงการแก้มลิงมี ๓ ขนาด คือ
๑. แก้มลิงขนาดใหญ่ คือ สระน้ำหรือบึงขนาดใหญ่ ที่รวบรวมน้ำฝนจากพื้นที่บริเวณนั้น ๆ
โดยจะกักเก็บไว้เป็นระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะระบายลงสู่ลำน้ำ
พื้นที่เก็บกักน้ำเหล่านี้ได้แก่ เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝาย ทุ่งเกษตรกรรม เป็นต้น
ลักษณะสิ่งก่อสร้างเหล่านี้จะมีวัตถุประสงค์อื่นประกอบด้วย
เช่น เพื่อการชลประทาน เพื่อการประมง เป็นต้น
๒. แก้มลิงขนาดกลาง เป็นพื้นที่ชะลอน้ำที่มีขนาดเล็กกว่า ก่อสร้างในระดับลุ่มน้ำ
มักเป็นพื้นที่ธรรมชาติ เช่น หนอง บึง คลอง เป็นต้น
๓. แก้มลิงขนาดเล็ก คือแก้มลิงที่มีขนาดเล็กกว่า อาจเป็นพื้นที่สาธารณะ
สนามเด็กเล่น ลานจอดรถ หรือสนามในบ้าน ซึ่งต่อเข้ากับระบบระบายน้ำหรือคลอง
ทั้งนี้ แก้มลิงที่อยู่ในพื้นที่เอกชน เรียกว่า “แก้มลิงเอกชน”
ส่วนที่อยู่ในพื้นที่ของราชการและรัฐวิสาหกิจจะเรียกว่า “แก้มลิงสาธารณะ”

การจัดหาและออกแบบโครงการแก้มลิง หรือการพิจารณาจัดหาพื้นที่กักเก็บน้ำนั้น
ต้องทราบปริมาตรน้ำผิวดินและอัตราการไหลผิวดินที่มากที่สุด
ที่จะยอมปล่อยให้ออกได้ในช่วงเวลาฝนตก
โดยสิ่งสำคัญคือ ต้องจัดหาพื้นที่กักเก็บให้พอเพียง เพื่อจะได้ไม่เป็นปัญหาในการระบายน้ำ

พระราชดำริเรื่องโครงการแก้มลิงนี้ได้อำนวยประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนในหลายจังหวัด
(รวมทั้งกรุงเทพมหานคร) ให้สามารถรอดพ้นจากอุทกภัยหรือภัยน้ำท่วมในแต่ละปี
ซึ่งนอกจากโครงการแก้มลิงจะสามารถช่วยการระบายน้ำ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมแล้ว
ยังเป็นการช่วยกักเก็บน้ำไว้ใช้ในยามที่ต้องการ
และยังเป็นการอนุรักษ์น้ำ และสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
เนื่องจากน้ำที่ถูกกักเก็บไว้ เมื่อถูกระบายสู่คูคลอง จะช่วยบำบัดน้ำเน่าเสียให้เจือจางลง
ก่อนที่จะผลักดันน้ำเสียเหล่านี้ให้ระบายออกไป

ในฤดูฝนแต่ละปีที่เราอาจจะพบว่าพื้นที่ที่เราพักอาศัยนั้นมีฝนตกมาก
แต่ไม่ปรากฏว่ามีน้ำท่วม หรือพื้นที่สามารถระบายน้ำฝนออกไปได้รวดเร็ว
ยกตัวอย่างเช่น กรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง เป็นต้นนั้น
นั่นก็เป็นเพราะพระราชดำริในเรื่องโครงการแก้มลิงที่ได้ทรงพระราชทานไว้
บางท่านที่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพมหานครอาจจะบอกว่ามีน้ำท่วมในบางถนน
หรือบางพื้นที่นานถึง ๒ หรือ ๓ ชั่วโมงเลยนะ
แต่ในส่วนนั้นเป็นเรื่องการระบายน้ำจากท่อระบายน้ำไปที่แก้มลิงครับ
ซึ่งหากไม่มีแก้มลิงรับน้ำเอาไว้ก่อน แต่ให้ทำการระบายน้ำลงทะเลโดยตรงแล้ว
น้ำอาจจะท่วมถนนหรือพื้นที่นั้น ๆ นานหลายวันหรืออาจจะเป็นเดือน
ดังเช่นที่ได้เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต ซึ่งย่อมจะก่อความเสียหายอย่างมาก

ข้อมูลอ้างอิง:
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%81%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2538
http://www.xn--12co9drbac8a9as5aiidh8isei1npa.com/content/index.php?page=content&type=view&cat=17&id=193
https://youtu.be/eY4CCvN4YdI
http://www.chaipat.or.th/site_content/67-5/248-theory-of-flooding-problems-due-to-royal-by-way-of-management-of-flood-overflow.html