Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๗๒

dhammajaree262 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

ใต้ร่มพระบารมี (๙) กังหันน้ำชัยพัฒนา


dhammajaree272

 

ในสมัยอดีต ปัญหาน้ำเน่าเสียได้ทวีความรุนแรงมากในหลายพื้นที่ในประเทศไทย
โดยมีสาเหตุหลายประการ ซึ่งรวมถึงการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม
และการขยายตัวของชุมชนเมืองที่มีประชากรเพิ่มมากขึ้น
ซึ่งหากปล่อยให้ปัญหาน้ำเน่าเสียขยายตัวไปทั่วทุกแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ
ในทั่วทุกพื้นที่ของประเทศแล้ว ย่อมจะก่อปัญหาและเป็นอุปสรรคใหญ่หลวง
ในการดำเนินชีวิตและหาเลี้ยงชีพของประชาชน
เนื่องจาก “น้ำ” เป็นปัจจัยสำคัญในดำรงชีวิต และหาเลี้ยงชีพ

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาน้ำเน่าเสียที่เกิดขึ้น
และทรงห่วงใยต่อพสกนิกรที่ต้องเผชิญในเรื่องดังกล่าว
โดยพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสภาพน้ำเน่าเสียในหลายพื้นที่
ทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และต่างจังหวัด
พร้อมทั้งพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการแก้ไขน้ำเน่าเสีย
โดยในระยะแรกระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๓๗ – ๒๕๓๐ นั้น
ทรงแนะนำให้ใช้น้ำที่มีคุณภาพดีช่วยบรรเทาน้ำเสีย
และวิธีกรองน้ำเสียด้วยผักตบชวาและพืชน้ำต่าง ๆ
ซึ่งก็สามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้ผลในระดับหนึ่ง

ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๑ สถานการณ์น้ำเน่าเสียในพื้นที่ต่าง ๆ มีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้น
การใช้วิธีธรรมชาติไม่อาจบรรเทาความเน่าเสียของน้ำอย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๓๑ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ จึงได้ทรงมีพระราชทานแนวคิด
ในการริเริ่มประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศลงในน้ำแบบประหยัดค่าใช้จ่าย
โดยทรงได้แนวพระราชดำริเริ่มต้นจากกังหันวิดน้ำเข้านาอันเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน
ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาสนับสนุนงบประมาณ
เพื่อการศึกษาและวิจัยสิ่งประดิษฐ์ใหม่นี้ โดยจัดสร้างร่วมกับกรมชลประทาน
จนกระทั่งได้มีการผลิตเครื่องกลเติมอากาศต้นแบบขึ้น
ซึ่งต่อมาได้รู้จักกันแพร่หลายทั่วไปในชื่อว่า "กังหันน้ำชัยพัฒนา"

หลังจากนั้น ได้มีการนำเครื่องกลเติมอากาศต้นแบบไปติดตั้งทดลองใช้บำบัดน้ำเสีย
ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๓๒
และที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๓๒
เพื่อศึกษา วิจัย และพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย เป็นระยะเวลา ๔ – ๕ ปี

หลักการและวิธีการทำงานของกังหันน้ำชัยพัฒนา มีดังต่อไปนี้
๑. โครงกังหันน้ำรูป ๑๒ เหลี่ยม ติดตั้งซองพรุนบรรจุน้ำโดยรอบจำนวน ๖ ซอง
๒. รูพรุนของซองน้ำเมื่อขับเคลื่อนด้วยเกียร์มอเตอร์ จะหมุนรอบ
ทำให้ซองน้ำวิดตักน้ำ โดยสามารถวิดน้ำลึกลงไปจากใต้ผิวน้ำประมาณ ๐.๕๐ เมตร
๓. เมื่อซองน้ำถูกยกขึ้น น้ำจะสาดกระจายเป็นฝอยเหนือผิวน้ำ ได้สูงถึง ๑ เมตร
ทำให้มีพื้นที่ผิวสัมผัสระหว่างน้ำกับอากาศมาก
ทำให้ออกซิเจนสามารถละลายเข้าไปในน้ำได้อย่างรวดเร็ว
(เมื่อออกซิเจนในน้ำเพิ่มมากขึ้น ก็จะทำให้จุลินทรีย์ในน้ำเติบโตได้
ซึ่งจุลินทรีย์ดังกล่าวจะช่วยย่อยสลายสิ่งสกปรกในน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพ)
๔. น้ำที่ตกลงมายังผิวน้ำนั้นจะเกิดฟองอากาศ จมตามลงไปใต้ผิวน้ำด้วย
ในขณะที่ซองน้ำกำลังเคลื่อนที่ลงสู่ผิวน้ำแล้วกดลงไปใต้ผิวน้ำนั้น
จะเกิดการอัดอากาศภายในซองน้ำจนกระทั่งซองน้ำจมน้ำเต็ม
ที่ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการถ่ายเทออกซิเจนได้สูงขึ้น

กังหันน้ำชัยพัฒนามีคุณสมบัติในการถ่ายเทออกซิเจน
ได้สูงถึง ๑.๒ กิโลกรัมของออกซิเจน/แรงม้า/ชั่วโมง
โดยสามารถนำไปใช้ในกิจกรรมปรับปรุงคุณภาพน้ำได้อย่างอเนกประสงค์
ดตั้งง่าย สะดวกในการใช้งาน ประหยัดค่าใช้จ่าย
บำรุงรักษาได้ง่าย มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน
และเหมาะสำหรับใช้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ได้แก่ สระน้ำ หนองน้ำ คลอง บึง ฯลฯ
ที่มีความลึกมากกว่า ๑.๐ เมตร และมีความกว้างมากกว่า ๓.๐ เมตร

การบำบัดมลพิษในน้ำเน่าเสียด้วยการใช้กังหันน้ำชัยพัฒนา
ได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ ทำให้น้ำใสสะอาดขึ้น ลดกลิ่นเหม็นลงได้มาก
มีปริมาณออกซิเจนในน้ำเพิ่มขึ้น สัตว์น้ำสามารถอยู่อาศัยได้
และสามารถบำบัดความสกปรกในรูปของมวลสารต่าง ๆ
ให้ลดต่ำลงได้ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด
โดยได้มีการนำกังหันน้ำชัยพัฒนาไปใช้ประโยชน์แก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย
ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย นอกจากนี้ กังหันน้ำชัยพัฒนาเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ
และได้นำกังหันน้ำชัยพัฒนาไปใช้ในหลายพื้นที่ในต่างประเทศหลายประเทศ เช่น
สระน้ำมาลาร์ (Etang Mellaerts) กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม
สระมุจจลินท์ บริเวณพุทธคยา ประเทศอินเดีย
และสระน้ำวัดพุทธประทีป กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นต้น

เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖ ได้มีการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรสำหรับ
“กังหันน้ำชัยพัฒนา” แด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙
ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้มีการจดทะเบียนสิทธิบัตรและทูลเกล้าฯ ถวายแด่
พระมหากษัตริย์พระองค์แรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยและเป็นครั้งแรกของโลก
นอกจากนี้ ในปี ๒๕๓๖ นั้น สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติได้ประกาศให้
กังหันน้ำชัยพัฒนาได้รับรางวัลที่ ๑ ในประเภทรางวัลผลงานคิดค้น
หรือสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติประจำปี ๒๕๓๖
และได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลนี้แด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙
โดยสดุดีถึงพระปรีชาสามารถในการคิดค้นเครื่องกลเติมอากาศนี้
ซึ่งสามารถช่วยเหลือบรรเทาปัญหาน้ำเน่าเสียได้เป็นอย่างดี

ต่อมา ในปี ๒๕๔๓ The Belgian Chamber of Inventor
ซึ่งเป็นองค์กรสิ่งประดิษฐ์ที่เก่าแก่ที่สุดของยุโรปได้จัดงาน Brussels Eureka 2000:
49th Anniversary of the World Exhibition of Innovation,
Research and New Technology ระหว่างวันที่ ๑๔ - ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๓
ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ซึ่งในงานดังกล่าวได้ทูลเกล้าฯ ถวาย
๑. เหรียญรางวัล Prix OMPI Femme Inventeur Brussels EUREKA 2000
พร้อมประกาศนียบัตรเป็นรางวัลด้านสิ่งประดิษฐ์ดีเด่นระดับโลก
มอบโดย World Organization of Intellectual Prope และ
๒. เหรียญรางวัลGold Medal with Mention พร้อมประกาศนียบัตร
เป็นรางวัลสรรเสริญในพระอัจฉริยภาพแห่งการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกเหนือจากรางวัลดังกล่าวข้างต้นแล้ว ในต่างประเทศยังได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล
แด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ สำหรับการประดิษฐ์กังหันน้ำชัยพัฒนา ดังนี้
- ถ้วยรางวัล MINISTER J. CHABERT เป็นรางวัลผลงานด้านสิ่งประดิษฐ์ดีเด่น
ถวายโดย Minister of Economy of Brussels Capital Region
- ถ้วยรางวัล Grand Prix International เป็นรางวัลผลงานด้านสิ่งประดิษฐ์ดีเด่น
ถวายโดย International Council of the World Organization of Periodical Press
- ถ้วยรางวัล Yugoslavia Cup เป็นรางวัลสรรเสริญในพระอัจฉริยภาพ
ถวายโดยกลุ่มประเทศยูโกสลาเวีย

ด้วยพระอัจฉริยภาพในการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ของพระองค์ท่าน
เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ คณะรัฐมนตรีได้ทูลเกล้าฯ ถวาย
พระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย”
แด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติเสนอ
และกำหนดให้วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันนักประดิษฐ์
(เนื่องจากเป็นวันที่ได้มีการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรสำหรับ
“กังหันน้ำชัยพัฒนา” แด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙)
เพื่อเฉลิมพระเกียรติและเผยแพร่พระเกียรติคุณ
และเพื่อให้ประชาชนเจริญรอยตามเบื้องยุคลบาท
รวมทั้งปลูกฝัง เสริมสร้าง และส่งเสริมให้เยาวชนไทยมีทุนทางสังคม
ของความเป็นนักประดิษฐ์คิดค้น พัฒนา และส่งเสริมนักประดิษฐ์
ให้ร่วมมือร่วมใจในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ความเจริญ และความมั่นคงของชาติ

ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๑ สำนักนายกรัฐมนตรีได้ประกาศ
การถวายพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งการวิจัยไทย” แด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙
เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา
เนื่องด้วยพระปรีชาสามารถด้านการวิจัยของพระองค์เป็นที่ประจักษ์ ทั้งในและต่างประเทศ
มีผลงานวิจัยจำนวนมากที่ได้พระราชทานแนวพระราชดำริ
และโครงการอันเนื่องมากจากพระราชดำริต่าง ๆ ในการแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน
เช่น ทฤษฏีใหม่ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โครงการฝนหลวง หญ้าแฝก
ตลอดจนงานด้านการประดิษฐ์คิดค้น เช่น กังหันน้ำชัยพัฒนา
ซึ่งได้รับรางวัลที่ ๑ ผลงานประดิษฐ์คิดค้นจากสภาวิจัยแห่งชาติประจำปี ๒๕๓๖ ดังที่กล่าว

กังหันน้ำชัยพัฒนาจึงเป็นหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ และหนึ่งในพระราชกรณียกิจ
ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ได้ทรงแก้ไขปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ และปัญหาสิ่งแวดล้อม
ให้แก่ประชาชนชาวไทย (รวมไปถึงประชาชนในประเทศอื่น ๆ อีกด้วย)
และยังก่อประโยชน์ช่วยเหลือแก่บรรดาสัตว์น้ำทั้งหลาย
ที่อาศัยในแหล่งน้ำที่ได้มีการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียดังกล่าวอีกด้วย


ข้อมูลอ้างอิง:
http://www.chaipat.or.th/site_content/19-248/18-chaipattana-water-turbine-development.html
http://www.xn--12co9drbac8a9as5aiidh8isei1npa.com/content/index.php?page=content&type=view&cat=18&id=289
http://king.kapook.com/job_power2.php
https://www.youtube.com/watch?v=1uC2Lx5QHpQ
http://www.tcdc.or.th/creativethailand/article/CoverStory/26661
http://www.xn--12co9drbac8a9as5aiidh8isei1npa.com/content/index.php?page=category&type=view&cat=63
http://www.xn--12co9drbac8a9as5aiidh8isei1npa.com/content/index.php?page=category&type=view&cat=62
http://www.manager.co.th/Weekend/ViewNews.aspx?NewsID=9590000103671
https://www.isranews.org/isranews-scoop/item/50884-report078.html