Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๗๑

dhammajaree262 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

ฝนหลวง

 


dhammajaree271 1

 

ปัญหาภัยแล้งเป็นปัญหาที่สำคัญของหลาย ๆ พื้นที่ในประเทศไทย
รวมทั้งหลายพื้นที่ในประเทศต่าง ๆ ในโลกใบนี้
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงมีพระราชดำริเรื่องฝนหลวงขึ้น
เมื่อคราวที่ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๙๘
ในพื้นที่แห้งแล้งทุรกันดาร ๑๕ จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ซึ่งพระองค์ได้ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อนทุกข์ยากของราษฎร
และเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และการเกษตร
โดยในวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๘
ระหว่างที่พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์
พระองค์ได้ทรงแหงนดูท้องฟ้า และพบว่ามีเมฆเป็นจำนวนมาก
แต่เมฆเหล่านั้นพัดผ่านที่แห้งแล้งไป
วิธีแก้ไขอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรที่จะให้เมฆเหล่านั้นตกลงมาเป็นฝนในท้องถิ่นนั้น

พระราชดำรินั้นเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการทำฝนเทียม (หรือฝนหลวง)
ดังที่ได้ทรงพระราชทานพระราชดำรัสแก่ข้าราชการสำนักงาน กปร.
เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๒๙ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ว่า
“เรื่องฝนเทียมนี้เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๘ แต่ยังไม่ได้ทำอะไรมากมาย
เพราะว่าไปภาคอีสานตอนนั้นหน้าแล้งเดือนพฤศจิกายน
ที่ไปมีเมฆมาก อีสานก็แล้ง ก็เลยมีความคิด ๒ อย่าง
ต้องทำ Check dam ตอนนั้นเกิดความคิดจากนครพนม
ผ่านสกลนครข้ามไปกาฬสินธุ์ ลงไปสหัสขันธ์ที่เดี๋ยวนี้เป็นอำเภอสมเด็จ
ไปจอดที่นั่น ไปเยี่ยมราษฎรมันแล้ง มีฝุ่น แต่มาเงยดูท้องฟ้า มีเมฆ
ทำไมมีเมฆอย่างนี้ ทำยังไงจะดึงเมฆนี่ให้ลงมาได้”

หลังจากทรงมีพระราชดำริในวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ นั้นแล้ว
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงใช้เวลาอีกถึง ๑๔ ปี
ในการศึกษาค้นคว้า และวิจัยทางเอกสาร ทั้งด้านวิชาการอุตุนิยมวิทยา
และการดัดแปรสภาพอากาศ จนทรงมั่นพระทัยในเรื่องดังกล่าว
จึงได้พระราชทานแนวคิดนี้แก่ หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล
ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยประดิษฐ์ทางด้านเกษตรวิศวกรรม
ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขณะนั้น
เพื่อหาหนทางที่จะทำให้เกิดการทดลองปฏิบัติการในท้องฟ้าจริง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เริ่มทำการทดลองปฏิบัติการจริงในท้องฟ้าเป็นครั้งแรก
เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ โดยเลือกพื้นที่วนอุทยานเขาใหญ่
เป็นพื้นที่ทดลองเป็นแห่งแรกโดยทดลองหยอดก้อนน้ำแข็งแห้ง
(Dry Ice หรือ Solid Carbondioxide) ขนาดไม่เกิน ๑ ลูกบาศก์นิ้ว
เข้าไปในยอดเมฆสูงไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ ฟุต ที่ลอยกระจัดกระจายอยู่เหนือพื้นที่ทดลอง
ในขณะนั้น ทำให้กลุ่มเมฆทดลองเหล่านั้น
มีการเปลี่ยนแปลงทางฟิสิกส์ของเมฆอย่างเห็นได้ชัดเจน เกิดการกลั่นรวมตัวกันหนาแน่น
และก่อยอดสูงขึ้นเป็นเมฆฝนขนาดใหญ่ในเวลาอันรวดเร็ว
แล้วเคลื่อนตัวตามทิศทางลมพ้นไปจากสายตาไม่สามารถสังเกตได้
เนื่องจากยอดเขาบัง แต่จากการติดตามผล โดยการสำรวจทางภาคพื้นดิน
และได้รับรายงานยืนยันด้วยวาจาจากราษฎรว่า
เกิดฝนตกลงสู่พื้นที่ทดลองวนอุทยานเขาใหญ่ในที่สุด
นับเป็นนิมิตหมายบ่งชี้ให้เห็นว่าการบังคับเมฆให้เกิดฝนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้

นับตั้งแต่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำริให้ทำฝนหลวงขึ้นในประเทศไทย
พระองค์ได้ทรงสนับสนุนงานด้านนี้มาโดยตลอด
และทรงติดตามการปฏิบัติงานทดลองอย่างใกล้ชิดมาทุกระยะ
เมื่อทรงทราบว่า คณะปฏิบัติการฝนหลวงประสบปัญหาบางประการ
ก็มีพระกรุณาพระราชทานข้อคิดเห็นที่จะขจัดปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ
ทรงแนะนำฝึกฝนนักวิชาการให้สามารถวางแผนปฏิบัติการ
อย่างเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศของแต่ละท้องถิ่น
ในบางคราวพระองค์ก็ทรงทดลองและควบคุมบัญชาการทำฝนหลวงด้วยพระองค์เอง
ก่อนจะทำฝนหลวงแต่ละครั้งจะทรงเตือนให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสภาพอากาศล่วงหน้า
เพื่อป้องกันมิให้ก่อความเสียหายแก่พืชผลและทรัพย์สินของราษฎร
ทรงให้เร่งปฏิบัติการเมื่อสภาพอากาศอำนวยเพื่อจะได้ปริมาณน้ำฝนมากยิ่งขึ้น
ทรงแนะนำให้ระวังสารฝนหลวงบางอย่างซึ่งจะเกิดอันตรายแก่ผู้ใช้ เป็นต้น

จากการที่ได้ทรงติดตามผลการทดลอง ควบคู่กับปฏิบัติการ
และวิเคราะห์วิจัยจากรายงานผลการปฏิบัติการประจำวัน
และรายงานของคณะปฏิบัติการที่ทรงบัญชาการด้วยพระองค์เอง
ประกอบกับที่ทรงสังเกตสภาพอากาศ และปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในท้องฟ้า
ทั้งในช่วงที่มีปฏิบัติการทดลอง และไม่ปฏิบัติการอย่างใกล้ชิด
รวมทั้งได้ทรงศึกษาเอกสารวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงสามารถพัฒนากรรมวิธีการทำฝนจากเมฆอุ่น
อย่างก้าวหน้ามาตามลำดับจนทรงมั่นพระทัย จึงได้ทรงสรุป
ขั้นตอนกรรมวิธีในการทำฝนหลวงจากเมฆอุ่น ๓ ขั้นตอนในปี ๒๕๑๖
ซึ่งได้ใช้ขั้นตอนกรรมวิธีดังกล่าวเรื่อยมาจนถึงปี ๒๕๔๒

ต่อมา ในปี ๒๕๔๒ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงพระราชทานตำราฝนหลวง
พร้อมทั้งประดิษฐ์ภาพตำราฝนหลวงด้วยคอมพิวเตอร์
แสดงขั้นตอน และกรรมวิธีการดัดแปรสภาพอากาศ
ให้เกิดฝนจากเมฆอุ่น และเมฆเย็น และพระราชทานแก่
นักวิชาการฝนหลวงให้ถือปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน
ซึ่งอธิบายขั้นตอนกรรมวิธีทำฝนหลวง ๖ ขั้นตอน ดังต่อไปนี้

 

dhammajaree271 2

(ภาพตำราฝนหลวงพระราชทาน)

ขั้นตอนที่ ๑ เป็นการเร่งให้เกิดเมฆโดยใช้เครื่องบินเมฆอุ่น ๑ เครื่อง
โปรยสารฝนหลวงผงเกลือโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) ที่ระดับความสูง ๗,๐๐๐ ฟุต
ในขณะที่ ท้องฟ้าโปร่งหรือมีเมฆเดิมก่อตัวอยู่บ้าง ความชื้นสัมพัทธ์ไม่ต่ำกว่า ๖๐ เปอร์เซ็นต์
ให้เป็นแกนกลั่นตัว (Cloud Condensation Nuclei) เรียกย่อว่า CCN
ความชื้นหรือไอน้ำจะถูกดูดซับเข้าไปเกาะรอบแกนเกลือแล้วรวมตัวกันเกิดเป็นเมฆ
ซึ่งเมฆเหล่านี้จะพัฒนาเจริญขึ้นเป็นเมฆก้อนใหญ่ อาจก่อยอดถึงระดับ ๑๐,๐๐๐ ฟุตได้

ขั้นตอนที่ ๒ เป็นการเร่งการเจริญเติบโตของเมฆที่ก่อขึ้น หรือเมฆเดิมที่มีอยู่ตามธรรมชาติ
และก่อยอดขึ้นถึงระดับ ๑๐,๐๐๐ ฟุต ฐานเมฆสูงไม่เกิน ๗,๐๐๐ ฟุต
ใช้เครื่องบินแบบเมฆอุ่นอีกหนึ่งเครื่อง โปรยสารฝนหลวงผงแคลเซียมคลอไรด์ (CaCl2)
เข้าไปในกลุ่มเมฆที่ระดับ ๘,๐๐๐ ฟุต (หรือสูงกว่าฐานเมฆ ๑,๐๐๐ ฟุต)
ทำให้เกิดความร้อน อันเนื่องมาจากการคายความร้อนแฝง จากการกลั่นตัวรอบ CCN
รวมกับความร้อนที่เกิดจากปฏิกิริยาของไอน้ำกับสารฝนหลวง CaCl2 โดยตรง
และพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ตามธรรมชาติ
จะเร่งหรือเสริมแรงยกตัวของมวลอากาศภายในเมฆยกตัวขึ้น
เร่งกิจกรรมการกลั่นตัวของไอน้ำ และการรวมตัวกันของเม็ดน้ำภายในเมฆ
ทวีความหนาแน่นจนขนาดของเมฆใหญ่และก่อยอดขึ้นถึงระดับ ๑๕,๐๐๐ ฟุต
ได้เร็วกว่าที่จะปล่อยให้เจริญขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งยังเป็นส่วนของเมฆอุ่น
จนถึงระดับนี้ การยกตัวขึ้นและจมลงของมวลอากาศ
การกลั่นและการรวมตัวของเม็ดน้ำยังคงเป็นอย่างต่อเนื่องแบบปฏิกิริยาลูกโซ่
แต่บางครั้งอาจมีแรงยกตัวเหลือพอที่ยอดเมฆอาจ พัฒนาขึ้นถึงระดับสูงกว่า ๒๐,๐๐๐ ฟุต
ซึ่งเป็นส่วนของเมฆเย็น เริ่มตั้งแต่ระดับประมาณ ๑๘,๐๐๐ ฟุตขึ้นไป
(อุณหภูมิต่ำกว่า ๐ องศาเซลเซียส)

ขั้นตอนที่ ๓ เป็นการเร่งหรือบังคับให้เกิดฝน โดยเมื่อเมฆอุ่นเจริญเติบโตขึ้นจนเริ่มแก่ตัวจัด
ฐานเมฆลดระดับต่ำลงประมาณ ๑,๐๐๐ ฟุต และเคลื่อนตัวใกล้เข้าสู่พื้นที่เป้าหมาย
ทำการบังคับให้ฝนตกโดยใช้เทคนิคการโจมตีแบบ Sandwich
โดยใช้เครื่องบินเมฆอุ่น ๒ เครื่อง เครื่องหนึ่งโปรยผงโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) ทับยอดเมฆ |
หรือไหล่เมฆที่ระดับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ ฟุต ทำด้านเหนือลม
อีกเครื่องหนึ่งโปรยผงยูเรีย (Urea) ที่ระดับฐานเมฆด้านใต้ลม
ให้แนวโปรยทั้งสองทำมุมเยื้องกัน ๔๕ องศา
เมฆจะทวีความหนาแน่นของเม็ดน้ำขนาดใหญ่และปริมาณมากขึ้น
ล่วงหล่นลงสู่ฐานเมฆทำให้ฐานเมฆหนาแน่นจนใกล้ตกเป็นฝน
หรือเริ่มตกเป็นฝนแต่ยังไม่ถึงพื้นดิน หรือตกถึงพื้นดินแต่ปริมาณยังเบาบาง

ขั้นตอนที่ ๔ เป็นการเสริมการโจมตีเพื่อเพิ่มปริมาณฝนให้สูงขึ้น
เมื่อกลุ่มเมฆฝนตามขั้นตอนที่ ๓ ยังไม่เคลื่อนตัวเข้าสู่เป้าหมาย
ทำการเสริมการโจมตีเมฆอุ่นด้วยสารฝนหลวงสูตรเย็นจัดคือน้ำแข็งแห้ง (Dry Ice)
ซึ่งมีอุณหภูมิต่ำระดับ –๗๘ องศาเซลเซียส ที่ใต้ฐานเมฆ ๑,๐๐๐ ฟุต
จะทำให้อุณหภูมิของมวลอากาศใต้ฐานเมฆลดต่ำลงและความชื้นสัมพัทธ์สูงขึ้น
จะทำให้ฐานเมฆยิ่งลดระดับต่ำลงปริมาณฝนตกหนาแน่นยิ่งขึ้น
และชักนำให้กลุ่มฝนเคลื่อนตัวเข้าสู่พื้นที่เป้าหมายหวังผลได้แน่นอนและเร็วขึ้น

ขั้นตอนที่ ๕ เป็นการโจมตีเมฆเย็น ด้วยพลุสารฝนหลวงซิลเวอร์ไอโอไดด์ (Agl)
ขณะที่เมฆพัฒนายอดสูงขึ้นในขั้นตอนที่ ๒ ถึงระดับเมฆเย็น
และมีแค่เครื่องบินเมฆเย็นเพียงเครื่องเดียว
ทำการโจมตีเมฆเย็นโดยการยิงพลุสารฝนหลวงซิลเวอร์ไอโอไดด์ (Agl)
ที่ระดับความสูงประมาณ ๒๑,๕๐๐ ฟุต ซึ่งมีอุณหภูมิระดับ –๘ ถึง –๑๒ องศาเซลเซียส
มีกระแสมวลอากาศลอยขึ้นกว่า ๑,๐๐๐ ฟุตต่อนาที
และมีปริมาณน้ำเย็นจัดไม่ต่ำกว่า ๑ กรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ซึ่งเป็นเงื่อนไขเหมาะสมที่จะทำให้ไอน้ำระเหยจากเม็ดน้ำเย็นยิ่งยวด (Super cooled vapour)
มาเกาะตัวรอบแกน Agl กลายเป็นผลึกน้ำแข็งได้ด้วยประสิทธิภาพที่ดีที่สุด
ไอน้ำที่แปรสภาพเป็นผลึกน้ำแข็งจะทวีขนาดใหญ่ขึ้นจนร่วงหล่นลงมา
และละลายเป็นเม็ดฝนเมื่อเข้าสู่ระดับเมฆอุ่น
และจะทำให้ไอน้ำและเม็ดน้ำในเมฆอุ่นเข้ามาเกาะรวมตัวกันเป็นเม็ดใหญ่ขึ้น
ทะลุฐานเมฆเป็นฝนตกลงสู่พื้นดิน

ขั้นตอนที่ ๖ เป็นการโจมตีแบบ Super Sandwich
จะทำได้ต่อเมื่อมีเครื่องบินปฏิบัติการทั้งเมฆอุ่นและเมฆเย็นใช้ปฏิบัติการได้ครบถ้วน
ขณะที่ทำการโจมตีเมฆอุ่นตามขั้นตอนที่ ๓ และ ๔
ทำการโจมตีเมฆเย็นตามขั้นตอนที่ ๕ ควบคู่กันไปในขณะเดียวกัน
จะทำให้ฝนตกหนักและต่อเนื่องนาน และปริมาณน้ำฝนสูงยิ่งขึ้น
เนื่องจากเป็นการประสานประสิทธิภาพของการโจมตีเมฆอุ่นในขั้นตอนที่ ๓ และ ๔
และโจมตีเมฆเย็นในขั้นตอนที่ ๕ ควบคู่กันไปในขณะเดียวกัน
เทคนิคการโจมตีนี้โปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า Super Sandwich

จากขั้นตอนในการทำฝนหลวงดังกล่าวนั้น อาจจะให้คำนิยามได้ว่า
“ฝนหลวง” คือ เทคโนโลยีที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงประดิษฐ์คิดค้นและพัฒนาขึ้นมา
และพระราชทานให้ใช้ เป็นเทคโนโลยีในการดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝนจาก
เมฆอุ่น (Warm Cloud) และเมฆเย็น (Cool Cloud)
ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่กระทำด้วยความตั้งใจของมนุษย์
ที่มีการวางแผนการปฏิบัติการหวังผลที่แน่นอน
โดยการใช้สารฝนหลวงที่ดูดซับความชื้นได้ดี (Hygroscopic Substance)
เป็นตัวเร่งเร้าทั้งในบรรยากาศ หรือเมฆที่มีอุณหภูมิสูงกว่าและต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง
ให้กระบวนการเกิดฝนเกิดเร็วขึ้น ตั้งแต่กระบวนการเกิดเมฆ (Cloud Formation)
การเจริญของเมฆ (Cloud Growth) การเริ่มต้นให้ฝนตก (Rain Initiation)
การยืดอายุการตกของฝนให้นานขึ้น (Prolonging of Rain Duration)
ให้ฝนตกกระจายอย่างทั่วถึง (Rain Redistribution)
และชักนำฝนให้ตกลงสู่พื้นที่เป้าหมายที่กำหนด (Designated Target Area)
ได้อย่างแม่นยำและแผ่อาณาเขตครอบคลุมอาณาเขต
เป็นบริเวณกว้างมากกว่าที่จะปล่อยให้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

ฝนหลวงได้เข้ามามีบทบาทในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรมากเกินกว่าที่คาดไว้
โดยไม่เพียงแต่ช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งเท่านั้น
แต่มีส่วนแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ช่วยเหลือด้านการคมนาคม
และช่วยการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยหลายประการ ดังต่อไปนี้
๑. ช่วยเหลือด้านการเกษตร โดยฝนหลวงได้ช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงที่เกิดภาวะฝนแล้ง
หรือฝนทิ้งช่วงยาวนานซึ่งมีผลกระทบต่อพื้นที่ทำการเกษตรหลายแห่งในประเทศไทย
และยังทำฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้กับริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำของแม่น้ำสายต่าง ๆ
ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนลดน้อยลง เช่น แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน เป็นต้น
๒. ช่วยสะสมน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคน้ำ โดยฝนหลวงได้ช่วยสะสมน้ำ
ในเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง
เพื่อสำหรับน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคของราษฎร
โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติการภัยแล้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ฝนหลวงได้มีบทบาทสำคัญในการช่วยสะสมน้ำในแหล่งกักเก็บน้ำต่าง ๆ ในประเทศ
๓. ช่วยในการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำ โดยในบางพื้นที่จะมีแหล่งหินเกลือจำนวนมาก
ซึ่งหากมีอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและขนาดกลางที่ไม่มีทางระบายออก
และมีปริมาณน้ำเหลือน้อย น้ำจะกร่อยหรือเค็มได้
เพราะหินเกลือที่อยู่ด้านล่างได้ละลายแล้วลอยตัวเคลื่อนที่ขึ้นมาบนผิวน้ำ
การทำฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำดังกล่าว สามารถช่วยแก้ไขคุณภาพน้ำได้
๔. ช่วยเสริมสร้างเส้นทางคมนาคมทางน้ำ โดยเมื่อมีภาวะภัยแล้งส่งผลให้
ระดับน้ำในแม่น้ำลดต่ำลงจนบางแห่งตื้นเขินจนไม่สามารถสัญจรไปมาทางเรือได้
การทำฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้กับบริเวณดังกล่าวสามารถช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้
ซึ่งการขนส่งสินค้าทางน้ำเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าทางอื่น
๕. ช่วยป้องกันและบำบัดภาวะมลพิษของสิ่งแวดล้อม
โดยหากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดน้อยลงเมื่อใด
น้ำเค็มจากทะเลอ่าวไทยก็จะไหลหนุนเนื่องเข้าไปแทนที่ทำให้เกิดน้ำกร่อยขึ้น
และเกิดความเสียหายแก่พื้นที่ทำการเกษตรเป็นจำนวนมาก
จึงจำเป็นที่ต้องมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนภูมิพล
เพื่อผลักดันน้ำเค็มมิให้หนุนเข้ามาทำความเสียหายต่อการอุปโภคบริโภคหรือเกษตรกรรม
นอกจากนี้ ฝนหลวงได้ช่วยบรรเทาภาวะสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษอันเกิดจาก
การระบายน้ำเสียทิ้งลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และขยะมูลฝอยที่ทิ้งลงในแม่น้ำกันมากมาย
ปริมาณน้ำจากฝนหลวงจะช่วยผลักดันมลพิษออกสู่ท้องทะเล
ทำให้ภาวะมลพิษจากน้ำเสียเจือจางลง
๖. ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนต่าง ๆ เช่น เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ เป็นต้น
เพื่อใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้า

เทคโนโลยีการทำฝนหลวงที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงคิดค้นขึ้นมานี้
มิได้อำนวยประโยชน์แก่เพียงพสกนิกรชาวไทยเท่านั้น
แต่ยังอำนวยประโยชน์ให้แก่ประชาชนในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
โดยประเทศไทยได้จดทะเบียนการทำฝนหลวงกับ
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกแห่งสหประชาชาติเป็นครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๒๕
หลังจากนั้น ได้มีการเผยแพร่เทคโนโลยีการทำฝนหลวงให้แก่สมาชิกประเทศต่าง ๆ
ที่มีกิจกรรมดัดแปรสภาพอากาศขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลกแห่งสหประชาชาติ
(World Meteorological Organization หรือ WMO) ซึ่งในขณะนั้น
มีประเทศสมาชิกรวม ๒๘ ประเทศ (ในปัจจุบันมีประเทศสมาชิก ๑๙๑ ประเทศ)
ซึ่งรวมทั้งประเทศในกลุ่มอาเซียนจำนวน ๕ ประเทศ และนอกกลุ่มอาเซียนหลายประเทศ
เช่น ศรีลังกา บังคลาเทศ ปากีสถาน โอมาน เป็นต้น
รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และข้อมูลระหว่างกัน
กับอีกหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย อิตาลี ฝรั่งเศส และจีน เป็นต้น
จนกระทั่งองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกแห่งสหประชาชาติได้ยกให้ประเทศไทย
เป็นศูนย์กลางการดัดแปรสภาพอากาศในภูมิภาคเขตร้อนตั้งแต่ปี ๒๕๒๗ เป็นต้นมา

เทคโนโลยีการทำฝนหลวงได้ช่วยเหลือประชาชนในประเทศต่าง ๆ ที่ขาดแคลนน้ำ
ยกตัวอย่างเช่น ประเทศจอร์แดน ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่มีปัญหาเกี่ยวกับปริมาณน้ำฝน
และทรัพยากรน้ำไม่เพียงพอต่อประชาชนในประเทศเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
ซึ่งปัญหาการขาดแคลนน้ำทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น ปัญหาด้านสุขภาพ
ประเทศจอร์แดนได้พยายามพัฒนาโครงการฝนเทียมขึ้นมาเองในช่วงปี ๒๕๓๒ – ๒๕๓๘
แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ จนในที่สุดในปี ๒๕๕๒ ประเทศจอร์แดนได้ขอพระราชทานอนุญาต
นำเทคนิคการสร้างฝนเทียมของในหลวงรัชกาลที่ ๙ มาใช้แก้ปัญหาในประเทศ
ซึ่งพระองค์ทรงยินดีถ่ายทอดเทคนิคการทำฝนเทียมไปใช้เพิ่มปริมาณน้ำฝนทั่วประเทศ
โดยรัฐบาลประเทศจอร์แดนได้ส่งนักวิชาการมารับการฝึกอบรมการทำฝนหลวง
และฝึกปฏิบัติการฝนหลวงที่ประเทศไทยก่อนจะนำเทคนิคนี้ไปใช้ที่ประเทศจอร์แดนอีกด้วย

ในการนี้ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกแห่งสหประชาชาติได้ทูลเกล้าถวาย
รางวัลสดุดีพระเกียรติคุณด้านอุตุนิยมวิทยา เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพพันธ์ ๒๕๔๐
ในฐานะที่ทรงพระปรีชาสามารถ และริเริ่มบุกเบิกให้กิจกรรมดัดแปรสภาพอากาศ
ให้เกิดฝนในภูมิภาคเขตร้อนมีความเป็นไปได้และมีความก้าวหน้าจนถึงปัจจุบัน
ต่อมา เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๐ รัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ร่วมกับองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย
รางวัล UAE ด้านการศึกษาวิจัยการทำฝนเทียมและพัฒนาดัดแปรสภาพอากาศ

เมื่อได้มีการพระราชทานตำราฝนหลวง (Royal Rainmaking Technology) ในปี ๒๕๔๒ แล้ว
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเห็นสมควรให้ดำเนินการจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีฝนหลวง
ซึ่งรวมทั้งเทคนิคต่าง ๆ ที่ทรงประดิษฐ์คิดค้นและพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ภายใต้ชื่อ “การดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝน”
ในฐานะทรงเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้น ต่อสำนักสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทย
เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๔๒ และหลังจากนั้น ได้ให้ดำเนินการจดสิทธิบัตรในต่างประเทศ
เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิทั่วโลก

ในการจดสิทธิบัตรนี้ แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาและความรอบรู้ในด้านทรัพย์สินทางปัญญา
โดยหากมีประเทศอื่นนำไปจดทะเบียนสิทธิบัตรเสียก่อนแล้ว
อาจจะทำให้ประเทศไทย หรือประเทศอื่น ๆ ไม่สามารถทำฝนหลวงได้
ซึ่งย่อมจะก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนไทย และประชาชนในประเทศอื่น ๆ

รัฐบาลไทยได้เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรฝนหลวงแด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙
เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งในวันดังกล่าว
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำรัสว่า
“สิทธิบัตรนี้ เราคิดเอง คนไทยทำเอง เป็นของคนไทย มิใช่เพื่อพระเจ้าอยู่หัว
ทำฝนนี้ ทำสำหรับชาวบ้าน สำหรับประชาชน ไม่ใช่ทำสำหรับพระเจ้าอยู่หัว
พระเจ้าอยู่หัวอยากได้น้ำ ก็ไปเปิดก๊อกเอาน้ำมาใช้
อยากได้น้ำสำหรับการเพาะปลูก ก็ไปสูบจากน้ำคลองชลประทานได้
แต่ชาวบ้านชาวนาที่ไม่มีโอกาสมีน้ำสำหรับเกษตรก็ต้องอาศัยฝน
ฝนไม่มีก็ต้องอาศัยฝนหลวง”

สิทธิบัตรฝนหลวงเป็นหนึ่งในเครื่องยืนยันถึงพระมหากรุณาธิคุณ
อันเปี่ยมด้วยพระเมตตาและน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยต่อความทุกข์ยากของราษฎร
และแสดงให้เห็นถึงพระราชอุตสาหะวิริยะทรงเหน็ดเหนื่อย
และตรากตรำพระวรกายทั้งกลางวันกลางคืน
ทรงพากเพียรพยายามในการประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีฝนหลวง
เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาภัยแล้งแก่เหล่าพสกนิกรไทย

ในปี ๒๕๔๔ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติได้นำเทคโนโลยีฝนหลวง
(The Royal Rainmaking Technology) ไปร่วมจัดแสดง
ในงานนิทรรศการ Brussels Eureka 2001:
50Th Anniversary Of The World Exhibition of innovation research and new technology
ณ กรุงบรัสเซลล์ราชอาณาจักรเบลเยี่ยม ซึ่งเป็นนิทรรศการระดับนานาชาติ
มีประเทศที่ส่งผลงานเข้าร่วม ๒๓ ประเทศ
ปรากฏว่าผลงานประดิษฐ์คิดค้น The Royal Rainmaking Technology
เป็นหนึ่งในสามผลงานที่ได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลยอดเยี่ยมอันเป็นเลิศ
ได้แก่ รางวัล D’Un Concept Nouveau de Development de la Thailande
และรางวัล Gold medal with mention โดยเป็นนวัตกรรมใหม่ แนวคิดใหม่ และทฤษฎีใหม่
อันมีคุณประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และไม่มีผู้ใดประดิษฐ์คิดค้นมาก่อน

ในปี ๒๕๕๑ สมาพันธ์นักประดิษฐ์นานาชาติ (IFIA) ซึ่งมีสมาชิก ๑๘๙ ประเทศทั่วโลก
และสมาคมส่งเสริมการประดิษฐ์ สาธารณรัฐเกาหลีใต้ (KIPA)
และองค์กรนักประดิษฐ์แห่งรัสเซีย (Association Russian House)
ได้ร่วมกันกำหนดให้วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น “วันนักประดิษฐ์โลก”
(International inventor's day convention: IIDC)
ซึ่งเริ่มจัดขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๕๑ เพื่อเทิดพระเกียรติแด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙
โดยได้ยกย่องในพระอัจฉริยภาพการเป็นนักประดิษฐ์ของพระองค์ท่าน
และได้มีมติเอกฉันท์ถวายพระราชสมัญญานาม "พระบิดาแห่งการประดิษฐ์โลก"

ในส่วนของประเทศไทยนั้น รัฐบาลไทยได้ตระหนักถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์
โดยเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๓ คณะรัฐมนตรีได้มีมติถวายพระเกียรติ
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ให้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย”
พร้อมทั้งกำหนดให้วันที่ ๑๙ ตุลาคมของทุกปี เป็น “วันเทคโนโลยีไทย”
เนื่องจาก ๑๙ ตุลาคม ๒๕๑๕ เป็นวันที่พระองค์ได้ทรงสาธิตปฏิบัติการฝนหลวง
แก่นักวิทยาศาสตร์จากประเทศสิงคโปร์ในพื้นที่จังหวัดประจวบคิรีขันธ์
ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นที่อัศจรรย์ และเป็นที่ประจักษ์ในพระปรีชาสามารถ

ต่อมา เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๕ คณะรัฐมนตรีได้มีมีมติเทิดพระเกียรติ
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ โดยได้ถวายพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งฝนหลวง”
และกำหนดให้วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันพระราชบิดาแห่งฝนหลวง
เนื่องจากในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงเริ่มมีพระราชดำริในเรื่องฝนหลวงเป็นครั้งแรก
ในวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ ซึ่งนับแต่วันนั้นเป็นต้นมา
พระองค์ได้ทรงพระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกายในการคิดค้น วิจัย
และพัฒนาเทคโนโลยีการทำฝนหลวงจนประสบความสำเร็จ
และช่วยให้ประเทศชาติบรรเทาและรอดพ้นวิกฤตภัยแล้งมาได้จนถึงปัจจุบันนี้


ข้อมูลอ้างอิง:
http://www.royalrain.go.th/royalrain/m/royalinitiativeproject
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1449219590&grpid=&catid=
http://www.royalrain.go.th/royalrain/m/royalduty
http://www.chaipat.or.th/concept-and-theory-development/artificial-rain.html
http://www.manpattanalibrary.com/book_detail.php?id=707
http://www.royalrain.go.th/royalrain/uploads/ebook/books/index.html#/0
http://www.manpattanalibrary.com/book_detail.php?id=705
http://www.royalrain.go.th/royalrain/uploads/ebook/books2/index.html#/0
http://www.komchadluek.net/news/foreign/246385
http://www.thairath.co.th/content/873586
http://www.thairoyalrain.in.th/intelligence/intelligence_4.php
http://www.manager.co.th/Weekend/ViewNews.aspx?NewsID=9590000103671
http://www.xn--12co9drbac8a9as5aiidh8isei1npa.com/content/index.php?page=category&type=view&cat=58
http://www.xn--12co9drbac8a9as5aiidh8isei1npa.com/content/index.php?page=category&type=view&cat=60