Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๗๐

dhammajaree262 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

ใต้ร่มพระบารมี (๗) ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


dharmajaree270

 

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
ดังที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงมีพระราชดำรัสว่า
“เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน
เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง
สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม
แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็มและลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป”
(พระราชดำรัสในวารสารชัยพัฒนาประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๔๒)

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ได้รับการเชิดชูสูงสุดจากองค์การสหประชาชาติ
โดยนายโคฟี อันนัน ในฐานะเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ
ได้ทูลเกล้าฯถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์
(The Human Development Lifetime Achievement Award) แด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙
รางวัลนี้เป็นรางวัลที่สหประชาชาติได้จัดทำขึ้นมาเป็นชิ้นแรก
และไม่เคยมอบหรือถวายให้แก่ใครมาก่อนในโลก
โดยนายโคฟี อันนันได้กล่าวยกย่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่า
เป็นปรัชญาที่สามารถเริ่มได้จากการสร้างภูมิคุ้มกันในตนเอง
สู่หมู่บ้าน และสู่เศรษฐกิจในวงกว้างขึ้นในที่สุด
เป็นปรัชญาที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทยและนานาประเทศ
โดยองค์การสหประชาชาติได้สนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิก ๑๖๖ ประเทศ
ยึดเป็นแนวทางสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อประชาราษฎร์ที่ได้พระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ซึ่งชี้ถึงแนวทางการพัฒนาที่เน้นความสมดุล ความพอประมาณ ความมีเหตุผล
สำนึกในคุณธรรม และการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี

ในปี ๒๕๔๙ เดียวกันนั้น นายสเตฟาโนส โฟทีโอ ผู้อำนวยการด้านสิ่งแวดล้อม
และการพัฒนาของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ
กล่าวปาฐกถาในการประชุมวิชาการเรื่อง “ความท้าทายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเอเชีย”
ว่าปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ ๙
มีแนวทางที่สอนให้ตระหนักถึงความสุขที่ไม่ได้ผูกพันกับเงินเพียงอย่างเดียว
แต่ให้นึกถึงความสามารถและความเหมาะสมในการดำเนินชีวิตอย่างเป็นประโยชน์
และรับผิดชอบซึ่งเป็นรากฐานสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาให้ได้อย่างยั่งยืน
พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาค เท่าเทียมกันในด้านต่าง ๆ
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนอกจากจะเป็นแนวทางเสริมพลังการพัฒนาที่สำคัญ
ยังมีความสอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมของเอเชียเป็นอย่างยิ่ง
เพราะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเล็งเห็นคุณค่าของคนและสิ่งแวดล้อม
กลไกของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงส่งเสริมการมีส่วนร่วมในทุกระดับ
และเชื่อมโยงตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน จนถึงระดับชาติ
จึงเป็นแนวทางที่จะช่วยนำเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลกไปสู่ความสำเร็จได้

ในปี ๒๕๕๘ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมเอเชียแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ
(Economic and Social Commission for Asia and the Pacific of United Nations
หรือ ESCAP) ได้จัดการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๗๑ ขึ้นในกรุงเทพมหานคร
เพื่อให้ผู้นำประเทศต่าง ๆ ร่วมกันหารือในเรื่องการพัฒนาอย่างสมดุล
ในการนี้ นางชามฉัต อัคตาร์ รองเลขาธิการสหประชาชาติ และเลขาธิการ ESCAP
กล่าวว่า ได้ติดตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ ๙
และพบว่าเรื่องดังกล่าวมีความพิเศษเป็นอย่างยิ่ง
กล่าวคือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้ความสำคัญแก่การพัฒนาอย่างสมดุล
และส่งเสริมศักยภาพของคนไปพร้อม ๆ กัน
จึงเป็นแนวทางอันมีคุณค่าอย่างมากต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ซึ่งเป็นประเด็นหลักของโลกในปัจจุบันและอนาคต
นอกจากนี้ ได้มีการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ
และนำไปปรับใช้ในอีกหลายประเทศ

ตัวอย่างการนำปรัชญาเศรษฐกิจไปใช้แล้วประสบความสำเร็จนั้นมีมากมาย
ยกตัวอย่างกรณีของคุณป้าปราณี จันทวร อายุ ๖๘ ปี จังหวัดอ่างทอง
ซึ่งในอดีตเคยต้องทนทุกข์จากภาระหนี้สินจำนวนมากที่เกิดขึ้น
จากการลงทุนทำนาและเลี้ยงสัตว์ โดยไม่คำนึงถึงสภาพความเป็นจริง
ต่อมาคุณป้าปราณีได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้
ในการทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะแนวคิดการทำบัญชีครัวเรือน
ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญนำไปสู่การชำระหนี้สินจำนวน ๕ แสนบาทได้ทั้งหมด
ภายในระยะเวลา ๕ ปีเท่านั้น โดยไม่ต้องขายไร่นา
นอกจากนี้ คุณป้ายังสามารถส่งลูกอีก ๒ คน จนจบระดับชั้นปริญญาโทได้อีกด้วย
ในปัจจุบันคุณป้าปราณีมีความสุขแบบพอเพียงและยั่งยืน

อีกกรณีหนึ่ง ลุงวินัย เซ็งใช้ อายุ ๖๔ ปี จังหวัดชลบุรี
ซึ่งเคยเคยออกรับจ้างทำงานทั่ว ๆไปเกี่ยวกับช่างไม้
ทำไปเงินก็ไม่เหลือ เพราะต้องซื้อกินทุกอย่าง
ยิ่งในขณะนั้นต้องส่งลูกเรียนหนังสือ รายจ่ายมากก็เป็นหนี้สินมาก
ต่อมาได้หันมาทดลองปลูกผักบุ้ง เพราะเป็นผักที่ปลูกง่ายโตเร็ว
โดยทดลองปลูกในพื้นที่ ๑ ไร่ก่อน จนกระทั่งมีความชำนาญ
และรู้จักวงจรของการเติบโตผักบุ้งได้เป็นอย่างดี จึงขยายพื้นที่ปลูกจนเต็ม ๔ ไร่
โดยได้วางแผนการเพาะปลูกให้สามารถเก็บจำหน่ายได้ทุกวัน
แต่ละวันก็จะได้ผลผลิตประมาณ ๑๐๐ กิโลกรัม มีแม่ค้ามารับซื้อถึงที่
นอกจากนี้ยังปลูกไม้ผลและพืชผักอื่น ๆ ไว้รับประทานในครอบครัว
ทำให้ไม่ต้องเสียเงินไปซื้อ ประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกทางหนึ่ง
เมื่อรายจ่ายลดลง จึงเท่ากับมีเงินเก็บเพิ่มขึ้น
ทำให้สามารถใช้หนี้สินที่มีก่อนหน้านี้ได้หมดภายในระยะเวลาเพียง ๓ ปี
ลุงวินัยเล่าว่าหลักในการทำการเกษตรของตนนั้นคือ ต้องขยัน ลงมือทำด้วยตัวเอง
และเรียนรู้เรื่องธรรมชาติให้ถ่องแท้ ที่สำคัญคือต้องยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง
ประหยัด ขยัน อดทน เท่านี้ก็ไม่มีหนี้สินให้เดือดร้อนแล้ว

อีกกรณีหนึ่ง ลุงสมบูรณ์ ศรีสุบัติ อายุ ๖๑ ปี จังหวัดชุมพร
เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ เคยทำอาชีพเป็นช่างตัดเสื้อ เคยเป็นเจ้าของร้านอาหาร
เคยลงทุนทำสวนปลูกทุเรียน แต่สุดท้ายกลับประสบปัญหา มีหนี้สินกว่า ๒ ล้านบาท
จนทำให้เขาเคยคิดสั้นเกือบจะฆ่าตัวตายมาแล้ว
แต่เพราะได้ฟังพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และการทำเกษตรกรรมทฤษฎีใหม่
ในวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐ ซึ่งเป็นการจุดประกายให้เกิดความคิดที่จะทำตามแนวพระราชดำริ
จึงเริ่มต้นสำรวจปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วพบว่า ปัญหาคือเงินที่ใช้ซื้อปุ๋ยเคมีปีละหลายแสนบาท
เมื่อรู้เช่นนั้นจึงหยุดการซื้อปุ๋ยทุกชนิดทันที แล้วหันมาใช้น้ำจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อพืชแทน
พร้อมทั้งหันมาใช้วิธีปลูกพืชห่มดินตามแนวทางว่า
การทำสวนอย่าเปลือยดิน ควรปลูกพืชห่มดินเอาไว้
จากสวนที่ไม่มีหญ้าแม้แต่ต้นเดียว กลายเป็นสวนที่ปล่อยให้หญ้าขึ้นรกไปหมด
ตรงไหนเป็นที่ว่างก็เอาใบตองหรือเศษใบไม้ใบหญ้าไปปิดเอาไว้
พร้อมยึดหลักลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส ด้วยวิธีการปลูกพืชที่กินได้
แซมไว้ตามที่ว่างระหว่างต้นทุเรียน พร้อมทั้งเลิกการใช้สารเคมีทุกชนิด
พอพืชผักออกดอกผลก็มีรถพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อถึงสวน
หลังจากทำสวนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงผ่านไปประมาณ ๑ ปี ชีวิตก็เริ่มเปลี่ยน
มีเงินเหลือจึงรวบรวบนำไปใช้หนี้ได้ ใช้เวลาประมาณ ๖ ปี ก็ใช้หนี้ทั้ง ๒ ล้านบาทได้หมด
ปัจจุบันก็มีรายได้จากทำสวนและการท่องเที่ยวเชิงเกษตรปีละนับล้านบาท

อีกกรณีหนึ่ง คุณอนันต์ ร่มรื่นวาณิชกิจ ช่างดูแลรถยนต์พระที่นั่ง
ซึ่งเล่าว่าในอดีตตนเองเคยมีหนี้สินถึง ๑๐ ล้านบาท
ต่อมาประมาณปลายปี ๒๕๔๑ สำนักพระราชวังได้สอบถามว่า
จะให้ดูแลทำสีรถยนต์พระที่นั่งทั้งหมด จะทำได้ไหม ตนเองก็รับคำทันที
ในขณะที่ตนเองกำลังซ่อมรถยนต์พระที่นั่งนั้น แม่ตนเองได้มาเห็นเข้า
ก็บอกว่าให้ซ่อมถวายท่านเลยได้ไหม
เพราะว่าแม่เป็นคนจีนโล้สำเภามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารจากท่าน
แม่อยากจะตอบแทนคุณท่าน จึงอยากให้ลูกตอบแทนท่านแทนแม่
ตนเองก็รับคำแม่ทันทีว่า “ได้” ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นเศรษฐกิจไม่ดี
ตนเองเป็นหนี้อยู่ ๑๐ ล้านบาท แต่ตนเองก็พยายามทำงานให้ท่านอย่างดีที่สุด

พอตนเองทำสีรถยนต์ไปได้ ๗ คัน ได้มีผู้ทำจดหมายขึ้นกราบบังคมทูลพระองค์ท่านว่า
นายช่างทูลเกล้าฯ ถวายค่าซ่อมรถทั้ง ๗ คัน ท่านก็มีรับสั่งมาว่าขอบใจ
แต่ตอนหลังสมเด็จพระเทพรัตนฯ มีรับสั่งให้สารถีมาบอกว่า
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ไม่โปรดที่นายช่างทำแบบนี้
อยากให้นายช่างรู้จักประมาณตนว่าอะไรควรถวาย อะไรไม่ควรถวาย
คุณอนันต์เล่าว่าท่านคงรู้ว่าผมมีปัญหาหนี้สินมาก ท่านก็เลยเตือนสติ
ผมถือว่าเป็นพรที่นำคำว่า “รู้จักประมาณตน” มาใช้จนทุกวันนี้

จากการได้มีโอกาสถวายการซ่อมรถยนต์พระที่นั่ง
ทำให้ได้เห็นถึงพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ ๙
โดยนายอนันต์กล่าวว่า มีครั้งหนึ่งเห็นว่าพรมใต้รถมีน้ำแฉะขังอยู่และมีกลิ่นเหม็น
ในรถยนต์พระที่นั่งที่เพิ่งทรงใช้ในพระราชกรณียกิจที่นำมาซ่อม
แสดงว่าพระองค์ท่านทรงนำรถไปทรงพระราชกรณียกิจในที่ที่น้ำท่วม
แถมน้ำยังซึมเข้าไปในรถพระที่นั่งด้วย แสดงว่าน้ำก็ต้องเปียกพระบาทมาตลอดทาง
จึงถามสารถีว่า ทำไมไม่รีบเอารถมาซ่อม
ก็ได้คำตอบว่า ต้องรอให้เสร็จพระราชกรณียกิจก่อน

โดยปกติถ้าทรงงานส่วนพระองค์ ท่านก็ใช้รถคันเล็กเพื่อประหยัดน้ำมัน
และเมื่อตนเองสังเกตสีรถพระที่นั่ง จะเห็นว่ามีรอยสีถลอกรอบคันรถ
กว่าที่ท่านจะนำมาทำสีใหม่ก็รอบคันแล้ว
แต่คนใช้รถอย่างเรา แค่รอยนิดเดียวก็รีบเอามาทำสีแล้ว

นายอนันต์เล่าว่า ในช่วงตลอดเวลา ๑๐ ปีที่ปฏิบัติงานถวายนั้น
ตนเองได้นำพระราชกระแสรับสั่งที่ให้ตนเองประมาณตน
ยึดมั่นคำนี้มาใช้ในชีวิตประจำวันมาโดยตลอด ทำงานด้วยความสุจริต ไม่เอาเปรียบใคร
ชีวิตจากที่เป็นหนี้ ๑๐ ล้าน ก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ ขยายกิจการมาโดยตลอด ครอบครัวมีความสุข

แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ในทุกระดับ
โดยเน้นการปฏิบัติบนทางสายกลาง และการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน
ซึ่งคำนิยาม “ความพอเพียง” จะต้องประกอบด้วย ๓ คุณลักษณะประกอบกัน ได้แก่
๑. “ความพอประมาณ” หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป
โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ
๒. “ความมีเหตุผล” หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น
จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง
ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทานั้น ๆ อย่างรอบคอบ
๓. “การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว” หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบ
และการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึง
ความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล

เงื่อนไข การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น
ต้องอาศัยทั้งความรู้ และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ
๑. เงื่อนไข “ความรู้” ประกอบด้วย รอบรู้ รอบคอบ และระมัดระวัง กล่าวคือ
ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน
ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกันเพื่อประกอบการวางแผน
และความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ
๒. เงื่อนไข “คุณธรรม” ประกอบด้วย ชื่อสัตย์สุจริต สติปัญญา ขยันอดทน และแบ่งปัน
กล่าวคือ มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต
มีความอดทนและความขยันหมั่นเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
และรู้จักแบ่งปันให้แก่ผู้อื่น

เมื่อได้ดำเนินการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว
ผลที่คาดว่าจะได้รับ ได้แก่ การพัฒนาที่สมดุล และพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง
ในทั้ง ๔ ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม

บางท่านอาจจะเข้าใจว่าคำว่า “พอเพียง” ในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น
มีความหมายกว้างกว่าเพียงแค่การพึ่งตนเองได้ หรือการประหยัดเท่านั้น
แต่ในอันที่จริงแล้ว เศรษฐกิจพอเพียงมิใช่แค่เรื่องของการประหยัด
และมิใช่แค่เพียงเรื่องของการพึ่งตนเอง โดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับใคร
แต่ยังครอบคลุมถึงการข้องเกี่ยวกับผู้อื่น ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
โดยสามารถจำแนกเศรษฐกิจพอเพียงได้เป็น ๓ ระดับ ดังนี้

๑. เศรษฐกิจพอเพียงระดับที่หนึ่ง ได้แก่ เศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครอบครัว
คือ การที่สมาชิกในครอบครัวมีความเป็นอยู่ในลักษณะที่สามารถพึ่งพาตนเองได้
สามารถสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน
เช่น ความต้องการในปัจจัยสี่ของตนเองและครอบครัวได้
มีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีความสามัคคีกลมเกลียว
และมีความพอเพียงในการดำเนินชีวิตด้วยการประหยัดและการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จําเป็น
จนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขทั้งทางกายและใจ

๒. เศรษฐกิจพอเพียงระดับที่สอง ได้แก่ เศรษฐกิจพอเพียงในระดับชุมชน กลุ่ม หรือองค์กร
คือ เมื่อบุคคลและครอบครัว มีความพอเพียงในระดับที่หนึ่งแล้ว
ก็จะรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ เพื่อร่วมกันดำเนินงานในด้านต่าง ๆ
ทั้งด้านการผลิต การตลาด ความเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา สังคมและศาสนา
โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยราชการ มูลนิธิ และเอกชน

๓. เศรษฐกิจพอเพียงระดับที่สาม ได้แก่ เศรษฐกิจพอเพียงในระดับประเทศ
คือ เมื่อชุมชน กลุ่มหรือองค์กร มีความพอเพียงในระดับที่สองแล้ว
ก็จะร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกเพื่อการสร้างเครือข่าย
มีการติดต่อร่วมมือกับธนาคารและบริษัทต่าง ๆ
ทั้งในด้านการลงทุน การผลิต การตลาด การจำหน่าย และการบริหารจัดการ
เพื่อการขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิต
ทั้งในด้านสวัสดิการ การศึกษา สังคมและศาสนา ให้สมประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย

หากเราได้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิตแล้ว
การตัดสินใจเลือกแนวทางดำเนินการในเรื่องใด ๆ ก็ย่อมจะมีเหตุผล และพอประมาณ
ยกตัวอย่างเช่น ว่าที่ร้อยโทดิลก ศิริวัลลภ ซึ่งเป็นล่ามภาษามลายูประจำพระองค์
ได้เล่าว่า ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จไปอำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส
และชาวบ้านได้มาขอท่าน ๒ อย่างคือ น้ำและไฟฟ้า
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงบอกว่า จะให้ชาวบ้านทีละอย่าง
ชาวบ้านต้องการจะได้อะไรก่อน ให้ชาวบ้านไปคิดดูให้ดี
ชาวบ้านได้ไปประชุมหารือกันแล้ว ก็ตอบท่านว่า จะขอน้ำก่อน
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงรับสั่งว่า “ดี มีน้ำจะได้ทำเกษตร มีรายได้
เมื่อไฟฟ้าเข้ามาจะได้ไม่ลำบาก
แต่ถ้าไฟฟ้ามาก่อน ซื้อเครื่องใช้ก็มีแต่เรื่องใช้จ่ายเงิน
ขณะที่รายได้ยังไม่มี ก็จะเดือดร้อน”

ในการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิต
สำหรับตนเองและครอบครัวนั้น อาจพิจารณานำใช้ได้ ดังต่อไปนี้
๑. ยึดความประหยัด ตัดทอนค่าใช้จ่ายในทุกด้าน ลดละความฟุ่มเฟือยในการใช้ชีวิต
๒. ยึดถือการประกอบอาชีพด้วยความถูกต้อง ซื่อสัตย์สุจริต
๓. ละเลิกการแก่งแย่งผลประโยชน์และแข่งขันกันในทางการค้าแบบต่อสู้กันอย่างรุนแรง
๔. ไม่หยุดนิ่งที่จะหาทางให้ชีวิตหลุดพ้นจากความทุกข์ยาก
ด้วยการขวนขวายใฝ่หาความรู้ให้มีรายได้เพิ่มพูนขึ้นจนถึงขั้นพอเพียงเป็นเป้าหมายสำคัญ
๕. ปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี ลดละสิ่งชั่ว ประพฤติตนตามหลักศาสนา

โดยสรุปแล้ว ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักคิดและหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิต
ที่เป็นประโยชน์แก่พวกเราทุกคน ซึ่งเราทุกคนจึงควรที่จะทำความเข้าใจ
และนำไปประพฤติปฏิบัติในการดำรงชีวิตของตนเองและครอบครัว
ซึ่งก็ย่อมจะทำให้ชีวิตเราและครอบครัวมีภูมิคุ้มกัน และดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและผันผวนในยุคสมัยทุนนิยมที่รุนแรงในปัจจุบันนี้


ข้อมูลอ้างอิง:
http://www.cca.chula.ac.th/protocol/sufficiency-economy.html
http://www.mof.or.th/king89/vchk.pdf
http://oknation.nationtv.tv/blog/tottimix/2007/09/11/entry-9
http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9490000069525
http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9490000069273
http://www.posttoday.com/social/general/436252
http://www.komchadluek.net/news/detail/207153
https://www.pptvthailand.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/38874
http://www.ch7.com/watch/201415/%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B8%B6%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%9E%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87_%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%99_3_%E0%B8%9B%E0%B8%B5.html
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1322972987
http://www.komchadluek.net/news/royal/39165
http://www.chaipat.or.th/site_content/34-13/3579-2010-10-08-05-24-39.html
http://www.sufficiencyeconomy.com/2006/02/3.html
http://porlaewdeethecreator.com/%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%9E%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B5%E0%B8%A2/
http://www.sarakadee.com/2013/01/23/dirok-siriwallop/