Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๖๙

dhammajaree262 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

ใต้ร่มพระบารมี (๖)
ทฤษฎีใหม่


งดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.


dhammajaree269

ปัญหาหลักที่สำคัญประการหนึ่งของเกษตรกรในประเทศไทยในอดีตจนถึงปัจจุบัน
คือการขาดแคลนน้ำเพื่อเกษตรกรรม โดยเฉพาะในเขตพื้นที่เกษตรที่อาศัยน้ำฝน
ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยอยู่ในเขตที่มีฝนค่อนข้างน้อย
ประกอบกับส่วนมากเป็นนาข้าวและพืชไร่
เกษตรกรจึงทำการเพาะปลูกได้ปีละครั้งในช่วงฤดูฝนเท่านั้น
และมีความเสี่ยงกับความเสียหายอันเนื่องมาจากฝนทิ้งช่วง
และความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศอื่น ๆ
แม้ว่าจะมีการขุดบ่อหรือสระเก็บน้ำไว้ใช้บ้าง แต่ก็มีขนาดไม่เพียงพอ
หรือมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นปัญหาทำให้มีน้ำใช้ไม่เพียงพอ
นอกจากนี้ ระบบการปลูกพืชก็ไม่มีหลักเกณฑ์ใด ๆ
และส่วนใหญ่ปลูกพืชชนิดเดียวในที่ดิน

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเห็นปัญหาของเกษตรกรที่ประสบความยากลำบากดังกล่าว
จึงได้ทรงศึกษาและทดลองทำการเกษตรในแนวทางต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหานั้น
จนต่อมาได้พระราชทานแนวทางในการบริหารการจัดการที่ดินและน้ำ
เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือที่เรียกว่า “ทฤษฎีใหม่”

เหตุที่เรียกว่า “ทฤษฎีใหม่” นั้นเพราะว่า
๑. มีการบริหารและจัดแบ่งที่ดินแปลงเล็กออกเป็นสัดส่วนที่ชัดเจน
เพื่อประโยชน์สูงสุดของเกษตรกร ซึ่งไม่เคยมีใครคิดมาก่อน
๒. มีการคำนวณโดยหลักวิชาการ เกี่ยวกับปริมาณน้ำที่จะกักเก็บให้พอเพียง
ต่อการเพาะปลูกได้ตลอดปี
๓. มีการวางแผนที่สมบูรณ์แบบ สำหรับเกษตรกรรายย่อย โดยมีถึง ๓ ขั้นตอน
ได้แก่ ขั้นที่หนึ่ง เป็นการผลิตแบบพึ่งตนเองด้วยวิธีง่าย ๆ
ค่อยเป็นค่อยไปตามกำลัง พอมีพอกินไม่อดอยาก
ขั้นที่สอง เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ ร่วมแรงในเรื่องของการผลิต
การตลาด การเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา สังคม และศาสนา
ขั้นที่สาม ร่วมมือกับแหล่งเงินและพลังงาน ตั้งและบริการโรงสี
ตั้งและบริการร้านสหกรณ์ ช่วยกันลงทุน
ช่วยกันพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบท
ซึ่งมิใช่ทำอาชีพเกษตรเพียงอย่างเดียว
ทั้งนี้ ขั้นที่หนึ่งข้างต้นเป็นการสร้างความพอเพียงในระดับครอบครัว
ส่วนขั้นที่สอง และขั้นที่สามเป็นการสร้างความพอเพียงในระดับชุมชน

ในการบริหารและจัดแบ่งที่ดินแปลงเล็กออกเป็นสัดส่วนที่ชัดเจนนั้น
โดยเฉลี่ยแล้วเกษตรกรไทยจะถือครองพื้นที่ ๑๐ - ๑๕ ไร่ต่อครอบครัว
จึงให้แบ่งพื้นที่ออกเป็น ๔ ส่วน ได้แก่
แหล่งน้ำ : นาข้าว : พืชผสมผสาน : โครงสร้างพื้นฐาน
ในอัตราส่วน ๓๐ : ๓๐ : ๓๐ : ๑๐

ส่วนแรก ร้อยละ ๓๐ ให้ขุดสระกักเก็บน้ำในฤดูฝน
เพาะปลูกและเสริมการปลูกพืชในฤดูแล้งได้ตลอดปี
ทั้งยังใช้เลี้ยงปลา ปลูกพืชน้ำ และพืชริมสระ
เพื่อการบริโภคและเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวอีกทางหนึ่ง
โดยได้พระราชทานแนวทางการคำนวณว่าต้องการ
น้ำ ๑,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อการเพาะปลูก ๑ ไร่โดยประมาณ
และริมสระน้ำสามารถสร้างเล้าไก่ เล้าเป็ด และเล้าสุกรเพิ่มด้วยก็ได้

ส่วนที่สอง ร้อยละ ๓๐ ให้ทำนาข้าว เนื่องจากคนไทยบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก
โดยมีหลักเกณฑ์เฉลี่ยเกษตรกรบริโภคข้าว คนละ ๒๐๐ กิโลกรัมข้าวเปลือกต่อปี
ซึ่งเพียงพอต่อการบริโภคตลอดปี เพื่อยึดหลักพึ่งตนเองได้อย่างมีอิสรภาพ

ส่วนที่สาม ร้อยละ ๓๐ ให้ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้ใช้สอย ไม้ทำเชื้อเพลิง
ไม้สร้างบ้าน พืช ผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ฯลฯ เพื่อการบริโภค และใช้สอยอย่างพอเพียง
หากเหลือบริโภค ก็นำไปจำหน่ายเป็นรายได้ต่อไป

ส่วนที่สี่ ร้อยละ ๑๐ (โครงสร้างพื้นฐาน) เป็นที่อยู่อาศัยและอื่น ๆ
เช่น ถนน ลานตาก ฉางข้าว กองปุ๋ยหมัก โรงเพาะเห็ด พืชผักสวนครัว เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวเป็นสูตรหรือหลักการโดยประมาณเท่านั้น
สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมโดยขึ้นอยู่กับสภาพของพื้นที่
สภาพดิน ปริมาณน้ำฝน และสภาพแวดล้อมอื่น ๆ
เช่น ในกรณีภาคใต้ที่มีฝนตกชุกกว่าภาคอื่น
หรือหากพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำมาเติมสระได้ต่อเนื่อง
ก็อาจลดขนาดของบ่อหรือสระน้ำให้เล็กลง เพื่อเก็บพื้นที่ไว้ใช้ประโยชน์อื่นต่อไปได้

เมื่อเกษตรกรเข้าใจในหลักการ และลงมือปฏิบัติในขั้นที่หนึ่งในที่ดินของตนจนได้ผลแล้ว
เกษตรกรก็ควรจะพัฒนาตนเองไปสู่ขั้นที่สอง และขั้นที่สามต่อไปตามลำดับ ดังต่อไปนี้
“ทฤษฎีใหม่ขั้นที่สอง” คือ ให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่ม หรือ สหกรณ์
ร่วมแรงร่วมใจกันดำเนินการในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
(๑) การผลิต (พันธุ์พืช เตรียมดิน ชลประทาน ฯลฯ)
โดยเกษตรกรจะต้องร่วมมือในการผลิตโดยเริ่มตั้งแต่ขั้นเตรียมดิน
การหาพันธุ์พืช ปุ๋ย การหาน้ำ และอื่น ๆ เพื่อการเพาะปลูก
(๒) การตลาด (ลานตากข้าว ยุ้ง เครื่องสีข้าว การจำหน่ายผลผลิต)
เมื่อมีผลผลิตแล้ว จะต้องเตรียมการต่าง ๆ เพื่อการขายผลผลิตให้ได้ประโยชน์สูงสุด
เช่น การเตรียมลานตากข้าวร่วมกัน การจัดหายุ้งรวบรวมข้าว
เตรียมหาเครื่องสีข้าว ตลอดจนการรวมกันขายผลผลิตให้ได้ราคาดี และลดค่าใช้จ่ายลงด้วย
(๓) ความเป็นอยู่ (กะปิ น้ำปลา อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ)
ในขณะเดียวกันเกษตรกรต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีพอสมควร
โดยมีปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น อาหารการกินต่าง ๆ กะปิ น้ำปลา เสื้อผ้า ที่พอเพียง
(๔) สวัสดิการ (สาธารณสุข เงินกู้) โดยแต่ละชุมชนควรมีสวัสดิภาพและบริการที่จำเป็น
เช่น มีสถานีอนามัยเมื่อยามป่วยไข้ หรือมีกองทุนไว้กู้ยืมเพื่อประโยชน์ในกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน
(๕) การศึกษา (โรงเรียน ทุนการศึกษา) โดยชุมชนควรมีบทบาทในการส่งเสริมการศึกษา
เช่น มีกองทุนเพื่อการศึกษาเล่าเรียนให้แก่เยาวชนของชุมชนเอง
(๖) สังคมและศาสนา โดยชุมชนควรเป็นที่รวมในการพัฒนาสังคมและจิตใจ
โดยมีศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวกิจกรรมทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น
จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ไม่ว่าส่วนราชการ องค์กรเอกชน ตลอดจนสมาชิกในชุมชนนั้นเป็นสำคัญ

“ทฤษฎีใหม่ขั้นที่สาม” โดยเมื่อดำเนินการผ่านพ้นขั้นที่สองแล้ว
เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรก็ควรพัฒนาก้าวหน้าไปสู่ขั้นที่สามต่อไป คือ
ติดต่อประสานงาน เพื่อจัดหาทุน หรือแหล่งเงิน
เช่น ธนาคาร หรือบริษัท ห้างร้านเอกชน มาช่วยในการลงทุนและพัฒนาคุณภาพชีวิต
ทั้งนี้ ทั้งฝ่ายเกษตรกรและฝ่ายธนาคารกับบริษัท จะได้รับประโยชน์ร่วมกัน กล่าวคือ
- เกษตรกรขายข้าวได้ในราคาสูง (ไม่ถูกกดราคา)
- ธนาคารกับบริษัทสามารถซื้อข้าวบริโภคในราคาต่ำ
(ซื้อข้าวเปลือกตรงจากเกษตรกรและมาสีเอง)
- เกษตรกรซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคได้ในราคาต่ำ
เพราะรวมกันซื้อเป็นจำนวนมาก (เป็นร้านสหกรณ์ ราคาขายส่ง)
- ธนาคารกับบริษัทจะสามารถกระจายบุคลากร
(เพื่อไปดำเนินการในกิจกรรมต่างๆ ให้เกิดผลดียิ่งขึ้น)

ประโยชน์ของทฤษฎีใหม่พอจะสรุปได้ ดังต่อไปนี้
๑. ประชาชนพออยู่พอกินสมควรแก่อัตภาพในระดับที่ประหยัด ไม่อดอยาก และเลี้ยงตนเองได้
๒. ในหน้าแล้งมีน้ำน้อย ก็สามารถเอาน้ำที่เก็บไว้ในสระมาปลูกพืชผักต่าง ๆ ได้
แม้แต่ข้าวก็ยังปลูกได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยระบบชลประทาน
๓. ในปีที่ฝนตกตามฤดูกาลโดยมีน้ำดีตลอดปี ทฤษฎีใหม่นี้ก็สามารถสร้างรายได้ให้ร่ำรวยขึ้นได้
๔. ในกรณีที่เกิดอุทกภัยก็สามารถที่จะฟื้นตัว และช่วยตัวเองได้ในระดับหนึ่ง
โดยทางราชการไม่ต้องช่วยเหลือมากเกินไป อันเป็นการประหยัดงบประมาณด้วย

ทั้งนี้ กรณีมีข้อสำคัญที่ควรพิจารณาในการดำเนินการตามทฤษฎีใหม่ ดังต่อไปนี้
(๑) การดำเนินการตามทฤษฎีใหม่นั้น มีปัจจัยประกอบหลายประการ
ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในแต่ละท้องถิ่น ฉะนั้นเกษตรกรควรขอรับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ด้วย
(๒) การขุดสระน้ำนั้น จะต้องสามารถเก็บกักน้ำได้
เพราะสภาพดินในแต่ละท้องถิ่นแตกต่างกัน เช่น ดินร่วน ดินทราย ซึ่งเป็นดินที่ไม่สามารถอุ้มน้ำได้
หรือเป็นดินเปรี้ยว ดินเค็ม ซึ่งอาจจะไม่เหมาะกับพืชที่ปลูกได้
ฉะนั้น จะต้องพิจารณาให้ดี และควรขอรับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่พัฒนาที่ดิน
หรือเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน
(๓) ขนาดของพื้นที่ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงคำนวณและคำนึงจากอัตราการถือครองที่ดิน
ถัวเฉลี่ยครัวเรือนละ ๑๕ ไร่ แต่ให้พึงเข้าใจว่าอัตราส่วนเฉลี่ยขนาดพื้นที่นี้มิใช่หลักตายตัว
หากพื้นที่การถือครองของเกษตรกรจะมีน้อยกว่าหรือมากกว่านี้
ก็สามารถนำอัตราส่วนนี้ (๓๐:๓๐:๓๐:๑๐) ไปปรับใช้ได้
(๔) การปลูกพืชหลายชนิด เช่น ข้าวซึ่งเป็นพืชหลัก ไม้ผล พืชผัก พืชไร่ และพืชสมุนไพร
อีกทั้งยังมีการเลี้ยงปลา หรือสัตว์อื่น ๆ ซึ่งเกษตรกรสามารถนำมาบริโภคได้ตลอดทั้งปี
เป็นการลดค่าใช้จ่ายในส่วนของอาหารสำหรับครอบครัวได้
และส่วนที่เหลือสามารถจำหน่ายได้เป็นรายได้แก่ครอบครัวได้อีก
(๕) ความร่วมมือร่วมใจของชุมชน จะเป็นกำลังสำคัญในการปฏิบัติตามหลักทฤษฎีใหม่
เช่น การลงแรงช่วยเหลือกัน หรือที่เรียกว่าการลงแขก
นอกจากจะทำให้เกิดความรักความสามัคคีในชุมชนแล้ว
ยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานได้อีกด้วย
(๖) ในระหว่างการขุดสระน้ำ จะมีดินที่ถูกขุดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก
หน้าดินซึ่งเป็นดินดีควรนำไปกองไว้ต่างหาก
เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชต่าง ๆ ในภายหลัง
โดยนำมาเกลี่ยคลุมดินชั้นล่างที่เป็นดินไม่ดี
ซึ่งอาจนำมาถมทำขอบสระน้ำหรือยกร่องสำหรับปลูกไม้ผล

อนึ่ง ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงมีพระราชดำรัส เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๘
ณ ศาลาดุสิดาลัย มีความตอนหนึ่งเกี่ยวกับทฤษฎีใหม่ ดังต่อไปนี้
"การทำทฤษฎีใหม่นี้ มิใช่ของง่ายๆ แล้วแต่ที่ แล้วแต่โอกาส และแล้วแต่งบประมาณ
เพราะว่าเดี๋ยวนี้ประชาชนทราบถึงทฤษฎีใหม่นี้กว้างขวาง และแต่ละคนก็อยากได้
ให้ทางราชการขุดสระแล้วช่วย แต่มันไม่ใช่สิ่งง่ายนัก บางแห่งขุดแล้วไม่มีน้ำ
แม้จะมีฝนน้ำก็อยู่ไม่ได้ เพราะว่ามันรั่ว หรือบางทีก็เป็นที่ที่รับน้ำไม่ได้
ทฤษฎีใหม่นี้จึงต้องมีพื้นที่ที่เหมาะสมด้วย ฉะนั้น การที่ปฏิบัติตามทฤษฎีใหม่
หรืออีกนัยหนึ่ง ปฏิบัติเพื่อหาน้ำให้แก่ราษฎร เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ง่าย ต้องช่วยกันทำ"

โดยส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่าทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ ๙
เป็นแนวทางวิธีปฏิบัติที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาตนเอง
และสามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ โดยเป็นอิสระจากปุ๋ยเคมีและยาเคมีอีกด้วย
ซึ่งหากเราลองพิจารณาเทียบกับแนวคิดการปลูกพืชชนิดเดียวเต็มพื้นที่แล้ว
เราจะเห็นได้ว่าเกษตรกรจะไม่สามารถจัดหาปุ๋ยได้อย่างเพียงพอ
และก็ไม่สามารถหาพืชชนิดอื่นมาเป็นยาป้องกันแมลงหรือยากำจัดศัตรูพืชได้
จึงมีความจำเป็นต้องซื้อปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง และยากำจัดศัตรูพืชจากพ่อค้า
ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมาก ไม่ว่าเกษตรกรจะขายสินค้าเกษตรได้ราคาเท่าไร
ก็ต้องนำเงินมาจ่ายเป็นค่าปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง และยากำจัดศัตรูพืชเสียส่วนใหญ่
โดยต้นทุนดังกล่าวเป็นต้นทุนที่มีราคาสูงขึ้น ๆ ทุกปี ๆ
(เท่ากับว่าเกษตรกรทำเกษตรเพื่อหาเงินไปให้พ่อค้าปุ๋ยเคมีและยาเคมี)
นอกจากนี้แล้ว การที่ใช้ปุ๋ยเคมีและยาเคมีจำนวนมากนั้น
ผู้ที่จะเสียสุขภาพและเจ็บป่วยคนแรกนั้น ไม่ใช่ผู้บริโภค
แต่คือตัวเกษตรกรผู้ใช้ปุ๋ยเคมีและยาเคมีนั่นเอง

ในการปฏิบัติตามแนวทางทฤษฎีใหม่นี้ ย่อมจะช่วยให้เกษตรกร
ไม่ต้องซื้อปุ๋ยเคมี เพราะสามารถจัดหาปุ๋ยในที่ดินตนเองได้เอง
เช่น ปุ๋ยจากมูลสัตว์ และซากพืชต่าง ๆ ฯลฯ
หรือสามารถปลูกพืชอื่น ๆ ที่นำมาใช้ประโยชน์ป้องกันแมลงหรือกำจัดวัชพืชได้
ทำให้เกษตรกรไม่ต้องมีต้นทุนซื้อปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง และยากำจัดศัตรูพืช

กรณีของเกษตรกรที่นำทฤษฎีใหม่ไปดำเนินการแล้วได้ผลดี
ประสบความสำเร็จนั้นมีเป็นจำนวนมากมาย ยกตัวอย่างเช่น
รณีนางบังอร ไชยเสนา ซึ่งเล่าว่าตนเองเริ่มต้นทำงานเป็นแรงงานที่ฟาร์มเลี้ยงกบ
ชีวิตอดมื้อกินมื้อ มองไม่เห็นอนาคต จนแต่งงานมีครอบครัว
จากต้นทุนชีวิตที่ติดลบ แม้แต่เมล็ดผัก ก็ยังต้องไปหาเก็บตามไร่นาที่เจ้าของเขาเหลือเก็บ
นำมาปลูกต่อเพื่อนำไปขาย จนพอมีเงินเก็บก้อนหนึ่ง
จึงตัดสินใจขอเช่าที่นาจากเพื่อนบ้าน นำความรู้จากการเพาะเลี้ยงกบ มาลงมือทำเอง
ผ่านมากว่า ๑๐ ปี ชีวิตก็ยังลุ่ม ๆ ดอน ๆ มีแต่หนี้เพิ่มพูนขึ้นทุกปี

ต่อมาในปี ๒๕๓๕ ได้เข้าไปที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
แม้จะเป็นคนจังหวัดสกลนคร แต่ไม่เคยรู้จักศูนย์ศึกษาฯ แห่งนี้มาก่อน
เพราะทั้งชีวิตคิดเพียงแต่จะทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัว เพื่อให้อยู่รอดไปวันต่อวัน
แต่เมื่อได้เข้าไปศึกษาอบรม ความรู้ที่พรั่งพรูเข้ามา เหมือนเป็นแสงส่องชี้ทางสว่าง
ด้วยหลักการทำการเกษตร ตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ การทำเกษตรแบบผสมผสาน
เมื่อกลับมาเหมือนชีวิตเริ่มมีความหวัง จึงเริ่มลงมือทำบนพื้นที่ ๕ ไร่
ทำการขุดสระเก็บกักน้ำ พร้อมเลี้ยงปลาหมอ ปลาดุก ปลานิล ปลาตะเพียน
มีการปลูกพืชระยะสั้น ปลูกดาวเรือง เพกา มะละกอ ผักบุ้ง มะนาว ชะอม
มีการทำปฏิทินวงรอบการปลูกพืชให้สามารถมีผลผลิตออกขายตลอดปี
ส่วนรายได้หลักมาจากการเพาะเลี้ยงกบ

ส่วนพื้นที่ว่างรอบสระน้ำปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินเองในครัวเรือน เหลือกินแล้วขาย
จนทำให้มีรายได้จากการทำเกษตรผสมผสาน เดือนละ ๕๐,๐๐๐ บาท
เหลือเก็บกว่า ๓๐,๐๐๐ บาท เพียง ๕ ปี สามารถปลดหนี้ได้ทั้งหมด
นำเงินที่เก็บไว้มาซื้อที่ดินเป็นของตนเอง และปัจจุบันมีรายได้ปีละ ๑.๕ ล้านบาท
ชีวิตไม่มีหนี้สิน มีแต่ความสุขบนพื้นฐาน พอมี พออยู่ พอกิน พอใช้
ทุกวันนี้สามารถยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง
ยึดหลักเดินตามคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ ๙
โดยใช้เวลาเปลี่ยนวิถีชีวิตไม่กี่ปี สามารถปลดหนี้ มีบ้าน มีที่ดินเป็นของตัวเอง
มีเงินเก็บ ไม่ลำบากเหมือนเมื่อก่อน

กรณีนางปพิชญา นวลบุญ เกษตรกร อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล
เล่าว่าตนเองได้ลงทุนเลี้ยงฟาร์มไก่ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
จึงได้ผันตัวมาทำฟาร์มวัวและหมู แต่ก็ยังล้มเหลว
มีหนี้สินทั้งใน และนอกระบบกว่าล้านบาท
เคราะห์ซ้ำครอบครัวแยกทาง ทำให้ต้องเลี้ยงลูก ๓ คน โดยลำพัง
เมื่อลูกเริ่มโต อาหารเริ่มไม่พอกิน พอใช้ พ่อแม่ที่เป็นเกษตรกรได้บอกเสมอ
“หากลูกกินไม่อิ่ม ให้ลงมือทำ ปลูกทุกอย่างที่กิน และกินทุกอย่างที่ปลูก”
เมื่อก่อนก็ไม่เคยเชื่อ แต่พอได้ลงมือทำ จึงได้พบว่าในหลวงรัชกาลที่ ๙
ทรงเป็นนักปราชญ์ที่เล็งเห็นว่า เกษตรกรพึงใช้ประโยชน์ของดินแบบผสมผสาน
และจัดการแหล่งน้ำ ทำปุ๋ย ยาฆ่าแมลงแบบธรรมชาติ

ตนเองได้หาความรู้ดังกล่าว โดยบริหารพื้นที่ทั้งหมดออกเป็นแปลงผักกินใบ สวนผสม
บ่อปลา โรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ โรงเรือนผลิตปุ๋ยชีวภาพ สมุนไพรกำจัดศัตรูพืช
รวมทั้งบริหารจัดการแหล่งน้ำเพื่อเก็บกักไว้ใช้ เป็นผลให้ต้นทุนการผลิตต่ำ ไม่มีสารพิษ
ส่วนผลผลิตก็ออกสู่ตลาดทุกวัน โดยมีพ่อค้าแม่ค้าจากตลาดมารับถึงบ้าน
ในราคาไม่แพงเนื่องจากต้นทุนต่ำ เพราะมีปุ๋ยชีวภาพที่ผลิตขึ้นเอง
มีสูตรยาสมุนไพรในการกำจัดศัตรูพืชที่ทำเอง
ทุกวันนี้ มีรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ ๕๐๐ บาท และสูงสุดวันละ ๘,๐๐๐ บาท
หนี้สินที่มีอยู่กว่าล้านบาท เหลือเพียง ๑ แสนบาท
เชื่อว่าปีนี้จะหมดในเวลาอันใกล้นี้ เพราะแนวทางที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานไว้

กรณีนายสุรชัย แซ่จิว เกษตรกรอำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ
เล่าว่าตนเองเริ่มต้นอาชีพด้วยการทำงานในโรงงาน
ต่อมาได้เจอกับพิษเศรษฐกิจ จึงออกมาทำเกษตรทั้งทำนาข้าวปลอดสาร
เลี้ยงปลา ปลูกไม้ผลยืนต้น แปรรูปผลผลิตการเกษตร
แต่จากการที่ตนเองขาดความรู้ความเชี่ยวชาญ จึงทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ
ถึงขั้นขาดทุนเป็นเงินกว่า ๕ แสนบาท
และเงินจำนวนดังกล่าวได้กลายมาเป็นหนี้สินก้อนโตที่ตนเองต้องรับผิดชอบ
ต่อมา ตนได้ไปศึกษาดูงานที่ศูนย์การศึกษาพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ตนได้นำความรู้กลับมาปรับและทดลองทำในไร่เกษตรของตนเอง
โดยใช้หลัก "ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก
เลี้ยงทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่เลี้ยง หากเหลือส่งขาย"
จนสามารถสร้างอาชีพรวมถึงมีรายได้เข้าสู่ครอบครัว
จนสามารถชดใช้หนี้สินทั้งหมดได้ภายในเวลาเพียงแค่ ๓ ปี เท่านั้น

กรณีนายเริ่ม อุดมฉวี เกษตรกรอำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม
เล่าให้ฟังว่าก่อนที่จะมาปลูกพืชผสมผสาน
ตนก็เหมือนกับชาวบ้านทั่วไปในละแวกนี้ที่มีอาชีพทำนา
ซึ่งแต่ละปีผลผลิตก็ไม่แน่นอน เนื่องจากพื้นที่เป็นที่ดอนและมักประสบปัญหาภัยแล้งทุกปี
โดยตนเองเป็นหนี้ ธ.ก.ส. ถึง ๕ แสนบาท มีกำหนดเวลาใช้หนี้ ๖ ปี
ต่อมา ตนเองได้เกิดแนวคิดที่จะปลูกพืชผสมผสานตามแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่
ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ จึงได้ไปศึกษาดูงานตามสถานที่ต่าง ๆ
และนำความรู้ที่ได้มาปรับเปลี่ยนพื้นที่ไร่นาให้เป็นพื้นที่ปลูกพืชผสมผสาน
โดยตนเองมีพื้นที่ทั้งหมด ๒๗ ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ทำนาจำนวน ๑๐ ไร่
เพื่อปลูกข้าวไว้รับประทานเองในครอบครัว ที่เหลือจึงได้นำออกขาย
ส่วนที่เหลืออีก ๑๗ ไร่ ได้ปลูกไม้ผล เช่น มะม่วง มะพร้าว ลำไย มะละกอ ฯลฯ
โดยได้ทำการขุดสระน้ำเพื่อกักเก็บน้ำจำนวน ๒ บ่อ ลึก ๓ เมตร
ใช้พื้นที่ราว ๖ ไร่เศษ นอกจากนั้น ได้ปลูกองุ่นปลอดสารพิษ
ซึ่งถือเป็นเจ้าแรกของจังหวัดมหาสารคามที่ประสบความสำเร็จ
สามารถเก็บผลผลิตองุ่นออกขายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ ๒ แสนบาท
จากเดิมที่ตนเองเป็นหนี้ ธ.ก.ส. ๕ แสนบาท โดยมีกำหนดระยะเวลาใช้หนี้ ๖ ปีนั้น
เมื่อได้ดำเนินการตามเกษตรทฤษฎีใหม่แล้ว
ตนเองสามารถใช้หนี้ ธ.ก.ส. ได้หมดภายในระยะเวลา ๔ ปีเท่านั้น

กรณีนายสมโภชน์ ปานถม ซึ่งในปี ๒๕๕๔ ได้ถูกน้ำท่วมใหญ่
ทำให้สวนผักถูกน้ำท่วมเสียหายทั้งหมด เหลือแค่มะม่วง ๒ ต้น และไผ่อีก ๕ กอ
แทบหมดตัว จนท้อแท้กับชีวิต กระทั่งได้ยินพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ ๙
ทำให้ลุกขึ้นมาได้อีกครั้ง โดยยึดหลักเกษตรทฤษฎีใหม่
โดยตนเองมีสวนพื้นที่ ๔ ไร่ และได้ขุดสระเลี้ยงปลา
แบ่งพื้นที่ปลูกไม้ผลและพืชผักนานาชนิด ทั้งกล้วย มะละกอ กะเพรา โหระพา
เรียกว่าเหลือกินก็ขายได้ทุกอย่าง โดยเฉพาะการปลูกกุยช่าย
ซึ่งใช้พื้นที่เพียง ๑ ไร่ ปลูกกุยช่ายเขียว สลับแปลงกับการทำกุยช่ายขาว
เก็บขายได้ทุกวัน วันละกว่า ๗๐๐ บาท หรือเดือนละกว่า ๒๐,๐๐๐ บาท
ในสวนยังมีรายได้จากไม้ผลอย่างกล้วย มะละกอ และพืชผักอีกมากมาย
ไม่รวมปลาและกบที่เลี้ยงไว้ จับขายได้ทุกวัน เลี้ยงครอบครัวได้อย่างสบาย

พระราชดำริในเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่นี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์แก่
พสกนิกรในประเทศไทยแล้ว ยังเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในประเทศอื่น ๆ อีกด้วย
ยกตัวอย่างเช่น ประเทศเลโซโทที่ได้นำหลักการเกษตรทฤษฎีใหม่
ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ไปใช้ช่วยพลิกฟื้นชีวิตเกษตรกรในประเทศ
โดยประเทศเลโซโทนั้นเป็นประเทศเล็ก ๆ ในทวีปแอฟริกา
ซึ่งแต่เดิม เกษตรกรเลโซโทแต่ละรายจะปลูกพืชเพียงอย่างเดียว
และพึ่งพาแต่น้ำฝนเท่านั้น ทำให้ผลิตอาหารได้ไม่เพียงพอต่อการบริโภค
และต้องนำเข้าอาหารจากต่างประเทศถึงร้อยละ ๗๐ ของการบริโภคในประเทศ

ต่อมา สมเด็จพระราชาธิบดีเลตซีที่ ๓ ซึ่งเป็นกษัตริย์ของประเทศเลโซโท
ได้เสด็จมาร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปีของในหลวงรัชกาลที่ ๙
ซึ่งในครั้งนั้น สมเด็จพระราชาธิบดีเลตซีที่ ๓ ได้เสด็จไปยัง
ศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นการส่วนพระองค์
และได้ขอพระบรมราชานุญาตนำแนวพระราชดำริ
ในเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ไปประยุกต์ใช้ในประเทศเลโซโท
พร้อมกันนี้ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงให้เจ้าหน้าที่ไทยเดินทางไปให้ความรู้
แก่ประชาชนในประเทศเลโซโท และได้ทรงมอบพระราชทรัพย์เพื่อดำเนินการจัดตั้ง
ศูนย์พัฒนาเกษตรตัวอย่างในประเทศเลโซโทขึ้นอีกด้วย

ภายหลังจากที่ประเทศเลโซโทได้นำพระราชดำริในเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ไปใช้แล้ว
ประชาชนชาวเลโซโทได้ปลูกพืชหลายชนิดในที่ดินแปลงเดียวกัน
โดยเน้นปลูกพืชที่สามารถใช้เป็นอาหารได้
ไม่ได้ปลูกแต่พืชที่มุ่งเน้นการจำหน่ายเพียงอย่างเดียว
ทำให้ในปัจจุบันชาวเลโซโทผลิตอาหารเองได้เพียงพอ
นับว่าเป็นการตามรอยเบื้องพระยุคลบาทที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก
เราจึงจะได้เห็นจากข่าวว่าพระมหากษัตริย์แห่งประเทศเลโซโท
ได้เสด็จมาถวายพระราชสักการะพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ ๙ ด้วย

ก่อนหน้านั้น ในปี ๒๕๔๔ คณะกรรมการจัดงานบรัสเซลส์ ยูเรก้า ได้เชิญประเทศไทย
ให้ร่วมจัดนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์ในงาน บรัสเซลส์ ยูเรก้า 2001
โดยสภาวิจัยแห่งชาติได้จัดแสดงผลงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ จำนวน ๓ ชิ้น คือ
ผลงานเรื่องทฤษฎีใหม่ (The New Theory)
ผลงานเรื่องน้ำมันไบโอดีเซล สูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม (Palm Oil Formula)
และผลงานเรื่องฝนหลวง (Royal Rain Making)

ในงานบรัสเซลส์ ยูเรกา 2001 นี้ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พระปรีชาสามารถ
และพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ ๙
ได้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตานานาประเทศอีกครั้งหนึ่ง
โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ ๙
ได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลถึง ๕ รางวัล ซึ่งรวมถึง
รางวัล D’Un Concept Nouveau de Development de la Thailande
ซึ่งคณะกรรมการตัดสินได้ลงมติเห็นชอบทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเทิดพระเกียรติคุณ
เป็นกรณีพิเศษแด่ผลงานประดิษฐ์คิดค้นทั้ง ๓ ผลงาน
และรางวัล Gold medal with mention
หรือรางวัลสรรเสริญพระอัจฉริยภาพแห่งการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ
พร้อมประกาศเกียรติคุณเทิดพระเกียรติให้กับผลงานประดิษฐ์คิดค้นโครงการทฤษฎีใหม่

ดังนี้แล้ว เราจึงจะเห็นได้ว่าพระราชดำริในเรื่องการเกษตรทฤษฎีใหม่นี้
สามารถช่วยเหลือพสกนิกรในประเทศไทยจำนวนนับไม่ถ้วนให้พ้นจากความยากจน
และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้
ช่วยเหลือประเทศอื่น ๆ ให้พ้นจากการขาดแคลนอาหาร
และเป็นพระอัจฉริยภาพที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติอย่างเป็นที่ประจักษ์อีกด้วย


ข้อมูลอ้างอิง:
http://www.rdpb.go.th/RDPB/front/king/King_11_1.aspx
http://www.rdpb.go.th/RDPB/Upload/Download/%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%A4%E0%B8%A9%E0%B8%8E%E0%B8%B5%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%885.pdf
http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/723155
http://www.nationtv.tv/main/content/social/378520602/
http://www.astvmanager.com/South/ViewNews.aspx?NewsID=9590000106526
https://www.thaich8.com/news_detail/15482
http://hilight.kapook.com/view/144539
http://hilight.kapook.com/view/144476
http://www.manager.co.th/Weekend/ViewNews.aspx?NewsID=9590000103671