Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๖๗

dhammajaree262 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

ใต้ร่มพระบารมี (๕)
การพัฒนาพื้นที่ที่ขาดความอุดมสมบูรณ์

งดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.



dhammajaree267

ในฉบับที่ ๒๖๔ บทความใต้ร่มพระบารมีตอนที่ ๓ ได้นำเสนอ
พระราชกรณียกิจและโครงการพระราชดำริ
ในการแก้ปัญหาดินเปรี้ยวโดยวิธีการ “แกล้งดิน”
ซึ่งนำมาใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวทั้งในจังหวัดนราธิวาส
และจังหวัดอื่น ๆ ในประเทศไทยนะครับ

ในเรื่องนี้ ว่าที่ร้อยโทดิลก ศิริวัลลภ ซึ่งเป็นชาวนราธิวาส
และเป็นล่ามภาษามลายูประจำพระองค์มาตั้งแต่ปี ๒๕๑๖
ได้ให้ข้อมูลว่า “ที่นราธิวาสนี้ ฤดูน้ำน้ำท่วม ฤดูแล้งก็แล้ง ที่พรุก็ดินเปรี้ยว
การศึกษาก็น้อย คนในชนบทยังพูดไทยได้น้อยมาก
ในหลวง (รัชกาลที่ ๙) เสด็จมาโดยรถไฟมาครั้งแรกในปี ๒๕๐๒
คนที่นี่พูดไทยไม่ได้ ท่านก็พัฒนาการศึกษาให้ดีขึ้น
โรคที่ท้องถิ่นอื่นไม่มีแล้วอย่างโรคเท้าช้าง ที่นราธิวาสก็ยังมี
แต่ปัญหาหลักจริง ๆ ของนราธิวาสคือการเกษตร
โดยดินที่นี่มีปัญหาเยอะ พื้นที่เป็นพรุเสีย ๓ แสนไร่ ถือว่ามากที่สุดในประเทศไทย
ปัญหาน้ำท่วม น้ำในพรุท่วมขังอยู่แล้ว ถ้ามีน้ำจากภูเขาก็ยิ่งหนักขึ้นอีก
ในหลวง (รัชกาลที่ ๙) ทรงมาแก้ไขเรื่องนี้ว่า
น้ำท่วมทำอย่างไรให้ระบายออกให้เร็ว ก็ใช้การขุดลอกคลองบ้าง
มาทำเรื่องบริหารจัดการน้ำเป็นเรื่องใหญ่เลย
การเก็บน้ำ การทำเขื่อน ฝาย อ่าง ทำให้พื้นที่ทำการเกษตรได้
ประชาชนมีงานทำ เกิดศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง
เป็นสถานที่ศึกษา ค้นคว้า วิจัย ทดลอง
จนเกิดโครงการ ‘แกล้งดิน’ เป็นแห่งแรกในประเทศไทย
มีแห่งเดียวที่ทำดินเปรี้ยวให้เป็นดินดี ทำการเกษตรได้”

ผมได้นำพระราชกรณียกิจและโครงการพระราชดำริเกี่ยวกับการแก้ปัญหาดิน
มานำเสนอ ๒ เรื่องแล้วนะครับได้แก่ เรื่องการใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดิน
และเรื่องการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวด้วยวิธีการแกล้งดิน
ในตอนนี้ ผมจะขอนำพระราชกรณีกิจเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรดิน
มานำเสนอท่านผู้อ่านอีกเรื่องหนึ่ง

เรื่องที่สาม การพัฒนาพื้นที่ที่ขาดความอุดมสมบูรณ์
ในประเทศไทยมีพื้นที่จำนวนมากหลายแห่งที่ขาดความอุดมสมบูรณ์
เป็นดินปนทราย และมีปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน
พระราชกรณียกิจในการพัฒนาพื้นที่ที่ขาดความอุดมสมบูรณ์นั้น
ได้ทรงทำในหลายโครงการและหลายพื้นที่ โดยขอยกมาเพียงบางส่วนเท่านั้น

พื้นที่สัมปทานไม้ในบริเวณลุ่มน้ำห้วยฮ่องไคร้ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
แต่เดิมนั้น มีสภาพขาดความอุดมสมบูรณ์ ได้แก่
๑. สภาพดินเป็นดินหินกรวด มีหน้าดินตื้นไม่เหมาะสมต่อการเกษตรกรรม
๒. สภาพแวดล้อมโดยทั่วไปมีสภาพแห้งแล้ง
ขาดความชุ่มชื้น ต้องเผชิญกับไฟไหม้ป่าในทุกปี
๓. ปริมาณน้ำธรรมชาติในพื้นที่ต้นน้ำมีปริมาณน้อย
ไม่เพียงพอที่จะพัฒนามาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำได้
ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยต่อปีต่ำกว่า ๑,๒๐๐ มิลลิเมตร
และสภาพลุ่มน้ำเป็นป่าเต็งรังที่ไม่สามารถเก็บอุ้มน้ำไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๔. สภาพป่าไม้มีสภาพเสื่อมโทรม ผ่านการทำไม้สัมปทาน
รวมทั้งมีการบุกรุกตัดไม้ใช้ประโยชน์โดยชุมชน
จนเหลือชนิดพันธุ์ไม้อยู่ในธรรมชาติเพียง ๓๕ ชนิด
มีความหนาแน่นของต้นไม้น้อย คือไม่เกิน ๑๐๐ ต้นต่อไร่
ไม้ที่เหลืออยู่เป็นลูกไม้ขนาดเล็กและไม้ที่สูงไม่เกิน ๙ เมตร เป็นป่าโปร่ง
๕. สภาพลุ่มน้ำไม่มีการเข้ามาถือครองใช้ประโยชน์โดยชุมชน
เนื่องจากไม่มีความอุดมสมบูรณ์ที่จะเอื้อให้ทำการเพาะปลูกได้
พื้นที่จึงมีสภาพถูกทิ้งรกร้าง

เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๒๕ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงมีพระราชดำริ
ให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ขึ้น บนพื้นที่ ๘,๕๐๐ ไร่
เพื่อเป็นศูนย์กลางในการศึกษา ทดลอง วิจัย
และหารูปแบบการพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่เหมาะสม
ในพื้นที่ที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ดังกล่าว
เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการศึกษาทดลองที่เหมาะสมกับพื้นที่ภาคเหนือ
โดยทรงมีพระราชดำริว่าให้ศูนย์ศึกษาฯ ทำหน้าที่เสมือน
“พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” หรือเป็นพื้นที่ “สรุปผลการพัฒนา”
ที่ประชาชนจะเข้าไปเรียนรู้และนำไปปฏิบัติได้

คณะทำงานได้เข้าไปสำรวจพื้นที่ที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ดังกล่าวแล้ว
ได้สรุปความเห็นว่าเป็นการยากที่จะสามารถพลิกฟื้นพื้นที่ดังกล่าวได้
ด้วยเหตุว่าพื้นที่ดังกล่าวใกล้จะเป็นทะเลทรายแล้ว
เพราะพื้นที่ขาดอุดมสมบูรณ์หลายประการดังที่กล่าวแล้วข้างตน
แต่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ตรัสว่า “ฉันจะทำให้ได้”

หลังจากที่ได้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ แล้ว
ได้มีการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว เช่น “การคืนธาตุอาหารให้แก่พื้นดิน”
โดยสภาพป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณจะมีการผลัดใบในหน้าแล้ง
ซึ่งพบว่ามีการผลัดใบในเดือนกุมภาพันธ์มีใบไม้ผลัดใบมากที่สุด
เฉลี่ยแล้วทั้งปีจะมีการผลัดใบประมาณ ๖๐๐-๗๐๐ กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี
ถ้าใบไม้เหล่านี้ไม่ถูกไฟไหม้ทำลาย
ก็ย่อมจะผุสลายเป็นหน้าดินเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่พื้นที่ป่า
หลังจากได้เริ่มพัฒนาพื้นที่แล้ว พบว่าธาตุอาหารในดินมีเพิ่มขึ้น
จากในปี ๒๕๒๖ ที่มีธาตุอาหารในดินไม่เกิน ๑ เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักดิน
ต่อมา สามารถพัฒนาจนธาตุอาหารในดินเพิ่มเป็น ๓ - ๔ เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักดิน
การร่วงหล่นและทับถมผุสลายของใบไม้ทำให้ดินมีหน้าดินเพิ่มขึ้น
สามารถเพิ่มธาตุอาหารในดิน และทำให้ใช้พื้นที่ทำประโยชน์ด้านการเกษตรกรรมได้

นอกจากนี้แล้วยังมีการพัฒนาแหล่งน้ำ โดยพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ
อยู่ในเขตลุ่มน้ำห้วยฮ่องไคร้ ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาฝั่งขวาของลุ่มน้ำแม่กวง
มีต้นกำเนิดจากแนวสันเขาสูงทางทิศตะวันออกเขตตำบลป่าเมี่ยง
ของอำเภอดอยสะเก็ดไหลลงมาทางทิศใต้ผ่านบ้านปางเรียบเรือ
จึงได้มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ ที่บริเวณปางเรียบเรือ
เพื่อเป็นแหล่งน้ำในการนำน้ำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่และประโยชน์อื่น ๆ

หลังการพัฒนาพื้นที่ห้วยฮ่องไคร้แล้ว ไม่ปรากฏว่ามีไฟไหม้ป่าเกิดขึ้นในพื้นที่
โดยพื้นที่มีความหลากหลายของพืชพรรณอาหารธรรมชาติมากขึ้น
ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์เพื่อการพึ่งพา และเป็นรายได้เสริมในครัวเรือน
ชุมชนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของพื้นที่
การฟื้นฟูพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยฮ่องไคร้ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม
เป็นตัวอย่างของการจัดการพัฒนาพื้นที่ที่เสื่อมโทรมให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้
อันเกิดจาการดำเนินการพัฒนาตามแนวพระราชดำริในเรื่องการอนุรักษ์หน้าดิน
และการอนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร โดยใช้ฝายต้นน้ำลำธาร
เป็นเครื่องมือในการพัฒนาพื้นที่ทำให้เปลี่ยนสภาพพื้นที่ที่เสื่อมโทรมในอดีต
จนมาเป็นพื้นที่ ๆ มีสภาพสมบูรณ์

ในเรื่องการอนุรักษ์หน้าดินนั้น ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเคยมีพระราชดำรัสว่า
"การปรับปรุงที่ดินนั้น ต้องอนุรักษ์ผิวดิน ซึ่งมีความสมบูรณ์ไว้
ไม่ให้ไถ หรือลอกหน้าดินทิ้งไป สงวนไม้ยืนต้น ที่ยังเหลืออยู่
เพื่อที่จะรักษาความชุ่มชื่นของผืนดิน"
(ณ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
หรือ สำนักงาน กปร. ปี ๒๕๔๒)

จากพื้นที่ดำเนินงานของศูนย์การพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ
ได้ขยายองค์ความรู้สู่พื้นที่หมู่บ้านรายรอบศูนย์การพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ
กว่า ๑๘ หมู่บ้าน และนำไปสู่โครงการบริการการพัฒนาในระดับพื้นที่อีกหลายแห่ง
เช่น โครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
อำเภอจอมทอง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน
ศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่
โครงการพัฒนาพื้นที่ห้วยลาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
โครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่อาว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน
โดยพื้นที่ศูนย์การพัฒนาในพื้นที่ภาคเหนือเหล่านี้ได้เปิดให้เกษตรกรที่สนใจ
เข้ามาเรียนรู้และนำไปศึกษาและปฏิบัติได้เอง

ในการพลิกฟื้นผืนแผ่นดินที่เสื่อมโทรมไม่สามารถทำเกษตรกรรมได้
ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์และใช้ประโยชน์ทางการเกษตรกรรมได้
พร้อมกับพระราชกรณียกิจอื่น ๆ ที่สร้างประโยชน์แก่แผ่นดิน
พลเอกเปรม ตินณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ได้เคยกล่าวบรรยาย
พระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ความว่า
“ทรงปลูกแผ่นดิน ปลูกความสุข ปลดความทุกข์ของราษฎร”

นอกจากศูนย์การพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ และศูนย์พัฒนาอื่น ๆ ที่กล่าวแล้ว
ก็ยังมีศูนย์พัฒนาอีกหลายแห่ง ยกตัวอย่างเช่น
เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๒๒ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จพระราชดำเนิน
ไปทรงเปิดศาลราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
ณ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
และได้มีราษฎรน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน ตำบลเขาหินซ้อน จำนวน ๒๖๔ ไร่
เพื่อให้จัดสร้างพระตำหนัก เพราะเห็นว่าในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จไปที่ไหนก็ตาม
ได้ทรงพัฒนาทำให้ที่ดินพื้นที่แห่งนั้นเจริญขึ้น
และในพื้นที่ดินดังกล่าวเป็นผืนดินเสื่อมโทรมไม่สามารถทำเกษตรกรรมได้
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้พิจารณาพื้นที่ดินดังกล่าวแล้ว
ทรงมีพระราชดำริว่าจะไม่ทรงสร้างพระตำหนัก
แต่จะทรงสร้างศูนย์ศึกษาเกี่ยวกับการเกษตรเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน

ในเรื่องนี้ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำรัสเล่าว่า
“ตอนแรกมีที่ดิน ๒๖๔ ไร่ ที่ผู้ใหญ่บ้านให้เพื่อสร้างตำหนัก ในปี ๒๕๒๒
ที่เชิงเขาหินซ้อนใกล้วัดเขาหินซ้อน ตอนแรก ก็ต้องค้นคว้าว่าที่ตรงนั้นคือตรงไหน
ก็พยายามสืบถามก็ได้พบบนแผนที่พอดี อยู่มุมบนของระวางของแผนที่
จึงต้องต่อแผนที่ ๔ ระวาง สำหรับให้ได้ทราบว่าสถานที่ตรงนั้นอยู่ตรงไหน
ก็เลยถามผู้ที่ให้ที่นั้นนะ ถ้าหากไม่สร้างตำหนัก
แต่ว่าสร้างเป็นสถานที่ที่จะศึกษาเกี่ยวกับการเกษตรจะเอาไหม
เขาก็บอกยินดี ก็เลยเริ่มทำในที่นั้น”

จากนั้น จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยได้ดำเนินการตามแนวพระราชดำริ
เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมการศึกษา ทดลอง วิจัย
และการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ดินทรายเพื่อให้สามารถทำเกษตรกรรมได้
พร้อมทั้งเป็นศูนย์รวมความรู้ต่าง ๆ เช่น การเกษตรทฤษฎีใหม่
การเกษตรผสมผสาน การปลูกพืชสมุนไพร การจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ
การเพิ่มศักยภาพของที่ดินเพื่อปลูกมันสำปะหลัง
การผลิตกล้าหญ้าแฝกเพื่อปลูกและเพื่อแจกจ่าย
การปรับรูปแบบแปลงนา การปรับปรุงฟื้นฟูพื้นที่บ่อทราย
การถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร การทำบัญชีฟาร์ม เป็นต้น
และเป็นแหล่งฝึกอบรมให้ความรู้ทางวิชาการด้านการเกษตร
และด้านงานศิลปาชีพแก่เกษตรกร
โดยมีรูปแบบการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว
สามารถให้บริการแก่ประชาชนและเกษตรกรที่เข้ามาศึกษาหาความรู้
ณ ที่แห่งเดียวในทุกสาขาวิชาชีพ เสมือน ”พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต”
เป็นต้นแบบและแนวทางให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจ
นำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติในพื้นที่ต่อไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่บ้านเป้าหมาย จำนวน ๑๕ หมู่บ้าน เนื้อที่ ๑๑๓,๒๑๔ ไร่

อีกกรณีหนึ่งได้แก่เรื่องการทำนาขั้นบันไดที่อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส
โดยในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเป็นห่วงเรื่องการประกอบอาชีพของประชาชนในพื้นที่
เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ปลูกข้าวได้ไม่เพียงพอ เนื่องจากพื้นที่ราบไม่พอ
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำรัสว่า ต้องทำนาให้ได้ แม้แต่บนภูเขา
ซึ่งในช่วงแรก ก็มีหลายคนทัดทาน
แต่พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสว่า เราทราบ แต่อย่างไรก็ต้องทำ เพื่อทดลองดู
ซึ่งจากพระราชดำริดังกล่าวก็ทำให้เกิดโครงการการทำนาขั้นบันไดที่
อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส สามารถพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่
ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

อีกกรณีหนึ่งได้แก่ กรณีของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
ซึ่งเมื่อปี ๒๕๑๒ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์
จำนวน ๑,๕๐๐ บาท ซื้อที่ดินจากชาวไทยภูเขาจำนวน ๑๐ ไร่
เพื่อจัดสร้างเป็นสถานีวิจัยพืชเมืองหนาว โดยเรียกกันเวลานั้นว่า “สวนพันห้า”
แต่หลังจากนั้นไม่นาน “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ” จากพื้นที่ ๑๐ ไร่
ได้ขยายพื้นที่เพิ่มเป็น ๓๕๐ ไร่ และกลายเป็นสถานที่เพาะพันธุ์และเพาะปลูกไม้
เมืองหนาวสารพัดพันธุ์ ทั้งไม้ดอก ไม้ผลที่สำคัญ
เป็นห้องทดลองทางธรรมชาติที่นำมาสู่โครงการพระราชดำริ และโครงการหลวงอื่น ๆ
ที่ช่วยพลิกฟื้นคืนคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรในภาคเหนือ

นอกจากพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ ๙ จะอำนวยประโยชน์ให้แก่
ปวงประชาชนในประเทศไทยแล้ว ยังอำนวยประโยชน์ให้แก่ประชาชนในประเทศอื่นด้วย
ยกตัวอย่างเช่น ประชาชนในประเทศภูฏาน
โดยประเทศภูฎานเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์
แต่มีปัญหาภูมิประเทศพื้นที่ซึ่งเป็นภูเขาสูง
ประเทศภูฏานจึงได้ส่งนักวิชาการ นักการทูต รัฐมนตรีด้านการเกษตรของภูฏาน
เดินทางมาศึกษาและเรียนรู้งานที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเคยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
ให้โครงการหลวงใช้เป็นเงินทุนสำหรับการช่วยเหลือพัฒนาภูฎานมาแล้วหลายปี
ขณะที่มกุฎราชกุมารจิกมี หรือเจ้าชายจิกมี
(หรือสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก
ประมุขแห่งราชอาณาจักรภูฏาน ในปัจจุบัน) ทรงได้ทราบ
และติดตามพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ของประเทศไทย
ตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ด้วยความชื่นชมยกย่องพระองค์

ในกลางเดือนมีนาคม ๒๕๔๖ เจ้าชายจิกมีได้เสด็จพระราชดำเนิน
มาทรงเรียนรู้งานในประเทศไทยด้วยพระองค์เอง
โดยได้ทรงประทับที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขางนี้
และในปีเดียวกัน อดีตสมเด็จพระราชินีแห่งภูฏาน พระราชมารดาของเจ้าชายจิกมี
และพระขนิษฐาได้เสด็จเยือนสถานีเกษตรหลวงอ่างขางอีกถึง ๒ ครั้ง
หลังจากนั้น นักวิชาการโครงการหลวงจากประเทศไทยได้เดินทาง
ไปสอนแนวทางการปลูกไม้ผลเมืองหนาวแก่ชาวภูฏาน
ไม่ว่าจะเป็นทางตอนล่างของประเทศภูฏานที่เริ่มปลูกมะม่วง
หรือทางตอนเหนือของประเทศภูฏานที่เริ่มการปลูกพืชเมืองหนาว
โดยในทุกปี จะมีนักวิชาการจากภูฏานเดินทางมาฝึกงาน
ที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขางโดยมิได้ขาด

ข้อมูลอ้างอิง:
http://www.sarakadee.com/2013/01/23/dirok-siriwallop/
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%AA
http://www.hongkhrai.com/locationwork.php
http://www.rdpb.go.th/RDPB/Front/Projects/ImportantDetail.aspx?projectid=189
http://www.chiangmainews.co.th/page/cmnewsonline/%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B2-%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A9/
http://king.kapook.com/job_duties_natural_resource.php
http://www.khaohinsorn.com/
http://www.rdpb.go.th/RDPB/front/StudyCenter/RDPBStudyCenterProject.aspx?p=1
http://km.rdpb.go.th/Project/View/8085
http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9490000066880
http://www.manager.co.th/iBizchannel/viewNews.aspx?NewsID=9590000117674
http://77jowo.tnews.co.th/contents/208268/
http://www.tonkit360.com/home/view.aspx?id=13251
http://thaipost.net/?q=%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%AF%E0%B9%80%E0%B8%A2%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2