Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๖๔

dhammajaree262 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

ใต้ร่มพระบารมี (๓)
แก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว


dhammajaree264 


ในตอนที่แล้วได้นำเสนอพระราชกรณียกิจและโครงการพระราชดำริ
ในการแก้ปัญหาดินโดยการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝก
ซึ่งโครงการพระราชดำริดังกล่าวได้ช่วยพลิกฟื้นดิน รักษาหน้าดิน
และอำนวยประโยชน์ให้แก่ราษฎรในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ

ก่อนที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ จะทรงนำหญ้าแฝกมาใช้แก้ปัญหาดินนั้น
พระองค์ได้ทรงทำการศึกษาและทดลองจนได้ผลแน่นอนก่อน
ซึ่งในเรื่องนี้ อดีตผู้อำนวยการท่านหนึ่งของ
ศูนย์การศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส
ได้เล่าว่า ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงศึกษาและวิจัยดินอย่างถ่องแท้
ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า ก่อนการพัฒนาต้องมีการศึกษาอย่างละเอียด
เมื่อศึกษาได้ผลแล้ว ก็ควรทดลองทดสอบให้แน่นอนเสียก่อน
อย่าเพิ่งขยายผลนำไปปลูกในพื้นที่จริง เพราะอาจมีการผิดพลาดได้
ซึ่งในช่วงเดือนสิงหาคม – ตุลาคมในช่วงปี ๒๕๑๖ – ๒๕๓๙ นั้น
พระองค์ได้เสด็จราชดำเนินไปเยือนจังหวัดนราธิวาสทุกปี
และเป็นที่รู้กันว่าในช่วงบ่ายพระองค์จะเสด็จไปทรงเยี่ยมราษฎร
โดยอยู่มาวันหนึ่ง ตนเองทราบข่าวว่าพระองค์จะไม่เสด็จพระราชดำเนินไปที่ไหน
เพราะทรงประชวร และเป็นวันที่ฝนตกหนักมาก
ตนเองจึงกลับไปที่ศูนย์การศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ
แต่ไม่นานก็มีโทรศัพท์มาแจ้งว่า อีก ๕ นาทีให้มารอที่หน้าประตู
เพราะพระองค์ท่านจะเสด็จมาที่ศูนย์การศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ
ทีแรก ตนเองเข้าใจว่ามีคนโทรศัพท์มาหลอก เพราะฝนตกหนัก
และก็ทราบว่าพระองค์ทรงประชวร ฉะนั้นไม่น่าจะเสด็จมาแน่นอน
แต่ตนเองก็ออกไปรอ แล้วปรากฏว่าพระองค์ก็เสด็จมาจริง ๆ
เมื่อมาถึงที่ศูนย์การศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ แล้ว
พระองค์ได้มีพระกระแสรับสั่งว่า
“อยากจะมาดูหญ้าแฝกทำงาน ถ้าจะมาดู ก็ต้องมาตอนฝนตก”
(ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งในหลาย ๆ เรื่องที่แสดงให้เห็นถึง
พระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงมีแก่พสกนิกรเป็นอย่างยิ่ง)

เรื่องที่สอง การแก้ไขปัญหา “ดินเปรี้ยว” ด้วยวิธี “การแกล้งดิน”
คำว่า “ดินเปรี้ยว” (acid soil) หมายถึงดินที่มีสภาพความเป็นกรดสูง
ค่าความเป็นกรดด่าง หรือ “ค่า pH” นั้น จะไล่ตั้งแต่ ๑ ไปจนถึง ๑๔
ค่าที่เป็นกลางคือ ๗ ถ้าดินมีค่า pH ต่ำกว่า ๗ ถือว่าดินมีสภาพเป็นกรด
และถ้าดินมีค่า pH ต่ำกว่า ๔ แปลว่าดินมีสภาพเป็นกรดจัด หรือเปรี้ยวจัด

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรในภาคใต้
อย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ปี ๒๕๑๖ เรื่อยมา ทำให้ทรงทราบว่า
ราษฎรในพื้นที่แถบจังหวัดนราธิวาส และจังหวัดใกล้เคียง
ประสบปัญหาหลายประการ โดยปัญหาสำคัญได้แก่
ราษฎรขาดแคลนที่ทำกินเพราะดินในพื้นที่การดำรงชีพเป็น “ดินพรุ”
“ดินพรุ” คือดินในพื้นที่พรุที่แปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด
เนื่องจากดินในพื้นที่พรุ ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นของภาคใต้แปลว่า
พื้นที่ที่มีน้ำขัง มีลักษณะเป็นอินทรียวัตถุ
หรือซากพืชซากสัตว์ที่เน่าเปื่อยทับถมอยู่ข้างบน
และมีสารประกอบกำมะถันที่เรียกว่าสารประกอบไพไรท์อยู่จำนวนมาก
เมื่อต้องการใช้ประโยชน์จากพื้นที่พรุ จึงจำเป็นต้องสูบน้ำออกจากพื้นที่จนหมด
และเมื่อดินแห้ง สารประกอบไพไรท์จะทำปฏิกิริยากับอากาศ
ปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำให้ดินมีความเป็นกรดจัด หรือเปรี้ยวจัด

ในปี ๒๕๒๔ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงให้จัดตั้ง
“ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ณ จังหวัดนราธิวาส
เพื่อศึกษาและปรับปรุงแก้ไขปัญหาพื้นที่พรุ
ให้สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรและด้านอื่น ๆ ได้
ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๒๗ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงมีพระราชดำริ
เกี่ยวกับเรื่องวิธี “แกล้งดิน” โดยมีเนื้อความว่า
“ให้มีการทดลองทำดินให้เปรี้ยวจัด โดยการระบายน้ำให้แห้ง
ละศึกษาวิธีการแกล้งดินเปรี้ยว เพื่อนำผลไปแก้ปัญหาดินเปรี้ยว
ให้แก่ราษฎรที่มีปัญหาเรื่องนี้ในเขตจังหวัดนราธิวาส
โดยให้ทำโครงการศึกษาทดลองในกำหนด ๒ ปี และพืชที่ทำการทดลองควรเป็นข้าว”

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้ทำการศึกษาวิจัยและปรับปรุงดิน
โดยวิธีการ “แกล้งดิน” คือ ทำให้ดินเปรี้ยว เป็นกรดจัดรุนแรงที่สุด กล่าวคือ
ทำให้ดินแห้ง และเปียก โดยนำน้ำเข้าแปลงทดลองระยะหนึ่ง
และระบายน้ำออกให้ดินแห้งระยะหนึ่งสลับกัน
อันจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดกรดมากยิ่งขึ้น
ด้วยหลักการนี้ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงให้เลียนแบบสภาพธรรมชาติ
ซึ่งมีฤดูแล้งและฤดูฝนเป็นปกติในแต่ละปี
แต่ให้ใช้วิธีการร่นระยะเวลาช่วงแล้ง และช่วงฝนในรอบปีให้สั้นลง
โดยปล่อยให้ดินแห้ง ๑ เดือน และขังน้ำให้ดินเปียกนาน ๒ เดือน สลับกันไป
ทำให้เกิดภาวะดินแห้ง และดินเปียก ๔ รอบ ต่อ ๑ ปี
เสมือนกับมีฤดูแล้ง และฤดูฝน ๔ ครั้ง ใน ๑ ปี
หลังจากนั้น จึงให้หาวิธีการปรับปรุงดินดังกล่าว ให้สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจได้

เมื่อดำเนินการตามกรรมวิธี "แกล้งดิน" แล้ว
ก็สามารถปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดให้สามารถใช้เพาะปลูกได้
โดยมีวิธีการหลายวิธี ดังต่อไปนี้
(๑) ใช้ปูน เช่น ปูนขาว หินปูนฝุ่น ใส่ลงไปในดิน แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน
ปูนจะทำปฏิกิริยากับกรดกำมะถันในดิน เกิดสารสะเทิน ปริมาณกรดในดินจะลดลง
ซึ่งหากใส่ในปริมาณที่มากพอ จะช่วยให้ดินมีสภาพเป็นกลาง
(๒) ใช้น้ำจืดล้างกรดและสารพิษออกจากดินโดยตรง
วิธีการนี้ใช้เวลานานกว่าวิธีใช้ปูน เนื่องจากกรดจะชะล้างออกไปอย่างช้า ๆ แต่ได้ผลเช่นกัน
(๓) ยกร่อง เพื่อปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้น โดยมีคูน้ำอยู่ด้านข้าง
ให้นำหน้าดินจากดินในบริเวณที่เป็นคูมา เสริมหน้าดินเดิมที่เป็นคันร่อง
ก็จะได้หน้าดินที่หนาขึ้น ส่วนดินที่มีสารไพไรท์จะใช้เสริมด้านข้าง
เมื่อใช้น้ำชะล้างกรดบนสันร่อง กรดจะถูกน้ำชะล้างไปยังคูด้านข้าง แล้วระบายออกไป
(๔) ควบคุมระดับน้ำใต้ดิน ให้อยู่เหนือชั้นดินเลนตะกอนทะเล
ป้องกันไม่ให้สารไพไรท์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจน กรดกำมะถันจึงไม่ถูกปลดปล่อยเพิ่มขึ้น
(๕) ใช้พืชพันธุ์ทนทานต่อความเป็นกรด มาปลูกในดินเปรี้ยว หรือ
(๖) ใช้วิธีการต่าง ๆ ข้างต้นร่วมกัน

ในการใช้ปูนใส่ลงไปในดินดังกล่าวข้างต้นนั้น มีปริมาณโดยประมาณ ดังต่อไปนี้
(๑) สำหรับที่ดินในเขตชลประทาน
- ดินที่มีค่า pH น้อยกว่า ๔.๐ ใช้ปูนอัตรา ๑.๕ ตันต่อไร่
- ดินที่มีค่า pH ระหว่าง ๔.๐ - ๔.๕ ใช้ปูนอัตรา ๑ ตันต่อไร่
(๒) สำหรับที่ดินในเขตเกษตรน้ำฝน
- ดินที่มีค่า pH น้อยกว่า ๔.๐ ใช้ปูนอัตรา ๒.๕ ตันต่อไร่
- ดินที่มีค่า pH ระหว่าง ๔.๐ - ๔.๕ ใช้ปูนอัตรา ๑.๕ ตันต่อไร่
หลังจากได้มีการใส่ปูนลงในดินแล้ว ให้ทำการไถแปร
และปล่อยน้ำให้แช่ขังในพื้นที่นาประมาณ ๑๐ วัน
หลังจากนั้นจึงระบายน้ำออกเพื่อชะล้างสารพิษ และขังน้ำใหม่ เพื่อรอปักดำ

ในการดำเนินงานศึกษาทดลองในโครงการแกล้งดินนั้น
ได้มีการดำเนินการในช่วงต่าง ๆ ตามแนวพระราชดำริ ดังต่อไปนี้
ช่วงที่ ๑ (มกราคม ๒๕๒๙ - กันยายน ๒๕๓๐) ศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของดิน
โดยเปรียบเทียบระหว่างดินที่ปล่อยทิ้งไว้ตามธรรมชาติ
กับดินที่ทำให้แห้งและเปียกสลับกัน โดยวิธีการสูบน้ำเข้า-ออก
การทำดินให้แห้งและเปียกสลับกัน ดินจะเป็นกรดจัดรุนแรง
และมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช พบว่าข้าวสามารถเจริญเติบโตได้ แต่ให้ผลผลิตต่ำ

ช่วงที่ ๒ (ตุลาคม ๒๕๓๐-ธันวาคม ๒๕๓๒) ศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของดิน
โดยเปรียบเทียบระหว่างระยะเวลาที่ทำให้ดินแห้งและเปียกแตกต่างกัน
การปล่อยให้ดินแห้งนานมากขึ้นจะทำให้ความเป็นกรดรุนแรงมากกว่าการใช้น้ำแช่ขังดินนาน ๆ
นอกจากนี้ การให้น้ำหมุนเวียน โดยไม่มีการระบายออก
จะทำให้ความเป็นกรด และสารพิษสะสมในดินมากขึ้น
ในการปลูกข้าวทดสอบความรุนแรงของกรด พบว่าข้าวตายหลังจากปักดำได้ ๑ เดือน

ช่วงที่ ๓ (มกราคม ๒๕๓๓ เป็นต้นมา) ศึกษาถึงวิธีการปรับปรุงดิน
โดยใช้น้ำชะล้างความเป็นกรด ใช้น้ำชะล้างควบคู่กับการใช้หินปูนฝุ่น
ใช้หินปูนฝุ่นอัตราต่ำ เฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงของดิน
หลังจากที่ปรับปรุงแล้วปล่อยทิ้งไว้ ไม่มีการใช้ประโยชน์
และศึกษาการเปลี่ยนแปลงของดินเปรี้ยวจัด เมื่ออยู่ในสภาพธรรมชาติ ในปริมาณเล็กน้อย
พบว่าวิธีการใช้น้ำชะล้างดิน โดยขังน้ำไว้นาน ๔ สัปดาห์ แล้วระบายออก
ควบคู่กับการใช้หินปูนฝุ่นในปริมาณเล็กน้อยจะสามารถปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดได้เป็นอย่างดี
ส่วนวิธีการใช้น้ำชะล้างก็ให้ผลดีเช่นเดียวกัน แต่ต้องใช้เวลานานกว่า
สำหรับพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดตามธรรมชาติที่ไม่มีการปรับปรุงนั้น
การเปลี่ยนแปลงของความเป็นกรดจะน้อยมาก (กล่าวคือเป็นกรดเหมือนเดิม)

หลังจากมีการปรับปรุงดินแล้ว หากปล่อยทิ้งไว้ไม่มีการใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง
จะทำให้ดินกลับเป็นกรดจัดรุนแรงขึ้นอีก
เมื่อวันจันทร์ที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๓๕ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จพระราชดำเนิน
ตรวจแปลงดินศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของดิน และได้ทรงมีพระราชดำรัสว่า
“โครงการแกล้งดินนี้เป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่พูดมา ๓ ปีแล้ว หรือ ๔ ปีกว่าแล้ว
ต้องการน้ำสำหรับมาให้ดินทำงาน ดินทำงานแล้วดินจะหายโกรธ
อันนี้ไม่มีใครเชื่อ แล้วก็มาทำที่นี่แล้วมันได้ผล
ดังนั้น ผลงานของเราที่ทำที่นี่เป็นงานสำคัญที่สุด
เชื่อว่าชาวต่างประเทศเขามาดูเราทำอย่างนี้แล้วเขาก็พอใจ
เขามีปัญหาแล้วเขาก็ไม่ได้แก้ หาตำราไม่ได้”

“โครงการปรับปรุงดินเปรี้ยวควรดำเนินการต่อไป
ในแง่ของการศึกษาทดลองและการขยายผลการทดลองต้องดูอย่างนี้
ทิ้งดินเอาไว้ปีหนึ่งแล้วจะกลับเปลี่ยนหรือเปล่า เพราะว่าความเปรี้ยวมันเป็นชั้นดิน
ดินที่เป็นซัลเฟอร์ (sulfer) แล้วก็ถ้าเราเปิดให้มีน้ำอากาศลงไป
ให้เป็นซัลเฟอร์ออกไซด์ ซึ่งซัลเฟอร์ออกไซด์เอาน้ำเข้าไปอีกที
ไปละลายซัลเฟอร์ออกไซด์ ก็กลายเป็นใส่ออกไซด์ลงไป
ก็เป็นกรดซัลฟุริก (sulfuric) แต่ถ้าสมมุติว่าเราใส่อยู่ตลอดเวลา
ชั้นดินที่เป็นซัลเฟอร์นั้นถูกกันไว้ไม่ให้โดนออกซิเจนแล้ว
ตอนนี้ไม่เพิ่ม ... ไม่เพิ่ม acid โดยหลักการเป็นอย่างนั้น
แต่หากว่าต่อไปในแปลงต่าง ๆ เพิ่มการทดลองอีก
เมื่อได้แล้วทิ้งไว้มันจะกลับไปสู่สภาพเดิมหรือไม่
แล้วเมื่อความเป็นกรดเพิ่มขึ้นใหม่ จะพัฒนาให้กลับคืนมาสู่สภาพนี้ได้
ต้องใช้เวลา อาจจะใช้เวลาสักปี ดูสภาพว่าปีไหนไม่ได้ใช้
ดินมันจะเสื่อมลงไปเท่าไรแล้วจะกลับคืนมาเร็วเท่าไร”

“งานทดลองนี้เหมือนเป็นตำรา
ควรทำเป็นตำราที่จะนำไปใช้ในพื้นที่ดินเปรี้ยวอื่น ๆ
ในพื้นที่อื่น อาจจะไม่ต้องมีการแบ่งเป็นแปลงย่อยเช่นนี้
คันดินที่สร้างเพื่อกั้นน้ำก็อาจจะใช้คลองชลประทาน สร้างถนน สะพาน
การศึกษาจึงต้องทำแบบนี้”

หลังจากที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้ผลการศึกษาโครงการแกล้งดินแล้ว
จึงได้มีการจัดทำคู่มือการปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดเพื่อการเกษตรขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๖
และได้นำผลการศึกษาไปขยายผลสู่พื้นที่ทำการเกษตรของราษฎร
ที่ประสบปัญหาดินเปรี้ยวจัดในพื้นที่บริเวณบ้านโคกอิฐ และบ้านโคกใน
จากผลการปรับปรุงดินที่บ้านโคกอิฐ และบ้านโคกใน
ปรากฏว่าราษฎรในพื้นที่ดังกล่าวสามารถปลูกข้าวได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น
จนเป็นที่พอพระราชหฤทัยถึงกับทรงรับสั่งว่า
“เราเคยมาโคกอิฐ โคกใน มาดูเขาชี้ตรงนั้น ๆ เขาทำ
แต่ว่าเขาได้เพียง ๕ ถึง ๑๐ ถัง แต่ตอนนี้ได้ขึ้นไปถึง ๔๐ ถึง ๕๐ ถัง ก็ใช้ได้แล้ว
เพราะว่าทำให้เปรี้ยวเต็มที่แล้ว โดยที่ขุดอะไร ๆ ทำให้เปรี้ยวแล้วก็ระบาย
รู้สึกว่านับวันเขาจะดีขึ้น อันนี้สิเป็นชัยชนะที่ดีใจมาก ที่ใช้งานได้แล้ว ชาวบ้านเขาก็ดีขึ้น
แต่ก่อนชาวบ้านเขาต้องซื้อข้าว เดี๋ยวนี้เขามีข้าวอาจจะขายได้”

โครงการแกล้งดินไม่ได้ทำเฉพาะในจังหวัดนราธิวาสเท่านั้น
แต่ได้นำไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ที่ประสบปัญหาดินเปรี้ยว
ยกตัวอย่างเช่น จังหวัดนครนายก จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น
โครงการแกล้งดินจึงเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับราษฎรทั่วทั้งประเทศ
ช่วยให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินทำกิน และสามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้

ทั้งนี้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ไม่ได้ดำเนินการศึกษา ทดลอง วิจัย
แค่เพียงเรื่องการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวเท่านั้น
ในช่วงปี ๒๕๒๘ - ๒๕๕๖ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้ดำเนินการ
ศึกษา ทดลอง วิจัยงานทั้งหมดเป็นจำนวน ๒๙๑ เรื่อง
แบ่งเป็นงานในด้านต่าง ๆ ได้แก่ งานพัฒนาที่ดิน ๑๑๓ เรื่อง
งานวิชาการเกษตร ๓๘ เรื่อง งานป่าไม้ ๕๑ เรื่อง งานปศุสัตว์ ๕๐ เรื่อง
งานประมง ๑๔ เรื่อง งานควบคุมปราบปรามโรคติดต่อ ๑๕ เรื่อง
งานชลประทาน ๒ เรื่อง และงานวิจัยอื่น ๆ ๘ เรื่อง
ยกตัวอย่างเช่น งานศึกษาการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ปลาที่ทนต่อน้ำเปรี้ยว
งานศึกษาการเลี้ยงปลาสวยงามในพื้นพรุ การเลี้ยงกบในกระชัง
งานศึกษาการทำการเกษตรผสมผสานบริเวณบ่อเลี้ยงปลา
งานแจกจ่ายพันธุ์ปลา งานศึกษาระบบนิเวศน์ธรรมชาติของป่าพรุ
งานศึกษาวิวัฒนาการการเกิดพรุ งานผลิตกล้าไม้สำหรับแจกประชาชน
งานศึกษาไบโอดีเซล ศึกษาการสกัดและแปรรูปน้ำมันไบโอดีเซล เป็นต้น

นอกจากนี้แล้ว ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ยังเป็น
ศูนย์รวมข้อมูลด้านการศึกษาและงานขยายผลการพัฒนาพื้นที่
และเป็นศูนย์บริการข้อมูล ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เกษตรกรในพื้นที่
ให้บริการวิเคราะห์ดิน น้ำ และให้คำแนะนำการปรับปรุงบำรุงดิน
และการใช้ประโยชน์ของดินให้มีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผล
โดยเปิดให้ผู้สนใจทั่วไปได้เข้าไปศึกษาท่องเที่ยวและเรียนรู้ดูงานด้วย

เนื่องด้วย “โครงการแกล้งดิน” เป็นโครงการที่มีนวัตกรรม
สามารถแก้ปัญหาดินเปรี้ยวในประเทศเขตร้อน
ซึ่งยังไม่มีที่ใดในโลกที่คิดค้นวิธีการเช่นเดียวกันได้
แสดงให้เห็นพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ทรงเป็น “นวัตกร” อย่างแท้จริง
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ซึ่งเป็นวโรกาสที่พระองค์ทรงครองราชสมบัติครบ ๖๐ ปี
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเทิดพระเกียรติพระองค์
เป็น “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณ
อีกทั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และวงการนวัตกรรมไทย

โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๔๙ เห็นชอบให้
ดำเนินโครงการเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ ๙ เป็น
“พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” อันเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ
พระอัจฉริยภาพ และพระปรีชาสามารถ ด้านนวัตกรรมจากโครงการแกล้งดิน
ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาสภาพดินเปรี้ยวให้สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้
และกำหนดในวันที่ ๕ ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันนวัตกรรมแห่งชาติ”
เนื่องจากในวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๓๕ เป็นวันที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙
เสด็จทอดพระเนตรการดำเนินงาน โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง
และได้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับโครงการแกล้งดินอย่างเป็นทางการ


ข้อมูลอ้างอิง:
http://www.thairath.co.th/content/634500
http://chaipat.or.th/site_content/40-17/36-2015-04-03-10-16-17.html
http://km.rdpb.go.th/Knowledge/View/56
http://www.manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9590000116704
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%99
http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9590000104722
http://km.rdpb.go.th/Project/View/8149
http://www.xn--12co9drbac8a9as5aiidh8isei1npa.com/content/index.php?page=category&type=view&cat=61
http://www.thairath.co.th/clip/8899