Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๖๓

dhammajaree262 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 ใต้ร่มพระบารมี (๒)

dhammajee263 

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาดินเป็นอย่างยิ่ง
ซึ่งพระอัจฉริยภาพในการพัฒนาดินของพระองค์ท่านนั้น
เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศทั่วโลก
โดยในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ สมาพันธ์สมาคมวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ
(International Union of Soil Sciences หรือ IUSS) ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย
รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม (The Humanitarian Soil Scientist)
แด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ โดยทาง IUSS ได้เล็งเห็นถึง
การที่พระองค์ได้ทรงทุ่มเทอย่างมากที่ผ่านมาในการจัดการปัญหาเรื่องดิน

Dr. Stephen Northcliff ซึ่งเป็นตัวแทนของ IUSS ที่มาทูลเกล้าถวายรางวัล
แด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ในระหว่างที่พระองค์ประทับอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช
ได้กล่าวว่า ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เป็นบุคคลแรกของโลกที่ได้รับรางวัลนี้
โดยคณะกรรมการ IUSS เห็นร่วมกันว่า
พระองค์ทรงมีวิสัยทัศน์ (Visions) ในการพัฒนาดินอย่างยิ่ง
และได้ทรงทำงานหนักอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาดิน
แก่เกษตรกรชาวไทยเป็นระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา
พระองค์ทรงเป็นผู้นำที่แก้ไขปัญหาดินเสื่อมสภาพได้อย่างยอดเยี่ยม
เช่น ทรงสอนให้ใช้หญ้าแฝก (vetiver grass) ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ
พระองค์ได้ทรงสละทรัพย์และที่ดินส่วนพระองค์
เพื่อทำโครงการหลวงหลายโครงการทั่วประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาดิน
พระองค์ไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้นำในการพัฒนาดินเฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น
แต่ทรงเป็นผู้นำในการพัฒนาดินของโลก
ผลงานของพระองค์เป็นแรงบันดาลใจให้แก่
นักวิทยาศาสตร์เรื่องดินในนานาประเทศดำเนินรอยตาม
และได้ช่วยพัฒนาวิธีการที่จะแก้ปัญหาดินได้อย่างยั่งยืน

ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ที่ประชุมใหญ่ของสมัชชาสหประชาชาติ
ได้มีมติประกาศให้วันที่ ๕ ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันดินโลก” (World Soil Day)
เนื่องจากเป็นวันประสูติของในหลวงรัชกาลที่ ๙
และต่อมาได้กำหนดให้ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็น “ปีแห่งดินสากล” (International Year of Soils)

เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา Mr. Peter Thomson
ซึ่งเป็นประธานในการประชุมของสมัชชาสหประชาชาติ
ได้กล่าวไว้อาลัยถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙ ว่า
พระองค์ท่านทรงเป็นผู้นำในเรื่องวิทยาศาสตร์และการอนุรักษ์ดิน
รวมทั้งเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรที่ดินอย่างยั่งยืน
การพัฒนาโดยพระองค์ท่านในประเทศไทยได้ทำให้ทั่วโลกได้ตระหนักถึง
ความสำคัญของดินที่เป็นทรัพยากรในการลดปัญหาความยากจน
การแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน รวมถึงการพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืนด้วย

พระราชกรณียกิจและโครงการพระราชดำริเกี่ยวกับการแก้ปัญหาดินนั้น
มีเป็นจำนวนมาก ซึ่งผมคงจะสามารถนำมากล่าวได้เพียงบางส่วนเท่านั้น

เรื่องที่หนึ่ง การใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำ
หญ้าแฝก เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวตระกูลหญ้าชนิดหนึ่ง
ซึ่งพบกระจายอยู่ทั่วไปหลายพื้นที่ตามธรรมชาติ
จากการสำรวจพบว่า มีกระจายอยู่ทั่วโลกประมาณ ๑๒ ชนิด
และสำรวจพบในประเทศไทย ๒ ชนิด ได้แก่
๑. กลุ่มพันธุ์หญ้าแฝกลุ่ม ได้แก่ พันธุ์สุราษฎร์ธานี พันธุ์กำแพงเพชร ๒
พันธุ์ศรีลังกา พันธุ์สงขลา ๓ และพันธุ์พระราชทาน เป็นต้น
๒. กลุ่มพันธุ์หญ้าแฝกดอน ได้แก่ พันธุ์ราชบุรี พันธุ์ประจวบคีรีขันธ์
พันธุ์ร้อยเอ็ด พันธุ์กำแพงเพชร ๑ พันธุ์นครสวรรค์ เป็นต้น

หญ้าแฝกเป็นหญ้าที่ขึ้นเป็นกอ หน่อเบียดกันแน่น
ใบของหญ้าแฝกมีลักษณะแคบยาว ขอบขนานปลายสอบแหลม
มีรากเป็นระบบรากฝอยที่สานกัน แน่นยาว หยั่งลึกในดิน
มีข้อดอกตั้ง ประกอบด้วยดอกขนาดเล็ก ดอกจำนวนครึ่งหนึ่งเป็นหมัน

หญ้าแฝกถูกนำมาใช้ปลูกในการอนุรักษ์ดินและน้ำ
เนื่องจากมีลักษณะเด่นหลายประการ ได้แก่
๑. มีการแตกหน่อรวมเป็นกอ เบียดกันแน่น ไม่แผ่ขยายด้านข้าง
๒. มีการแตกหน่อและใบใหม่ ไม่ต้องดูแลมาก
๓. หญ้าแฝกมีข้อที่ลำต้นถี่ ขยายพันธุ์โดยใช้หน่อได้ตลอดปี
๔. ส่วนใหญ่ไม่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ทำให้ควบคุมการแพร่ขยายได้
๕. มีใบยาว ตัดและแตกใหม่ง่าย แข็งแรงและทนต่อการย่อยสลาย
๖. ระบบรากยาว สานกันแน่น และช่วยอุ้มน้ำ
๗. บริเวณรากเป็นที่อาศัยของจุลินทรีย์
๘. ปรับตัวกับสภาพต่าง ๆ ได้ดี ทนทานต่อโรคพืชทั่วไป
๙. ส่วนที่เจริญต่ำกว่าผิวดิน ช่วยให้อยู่รอดได้ดีในสภาพต่าง ๆ

จากการศึกษาของโครงการวิจัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริพบว่า
หญ้าแฝกสามารถนำมาปลูกเป็นแถวเป็นแนวเพื่อเป็นปราการธรรมชาติ
ช่วยกรองตะกอนดินที่ถูกชะล้างมากักเก็บไว้
ชะลอความเร็วของน้ำตามธรรมชาติ และทำให้ดินดูดซับน้ำได้ทัน

หญ้าแฝกสามารถนำมาใช้ในการปกป้องและอนุรักษ์ดูแลทรัพยากรธรรมชาติได้
เช่น ปลูกตามแนวคลองชลประทาน อ่างเก็บน้ำและหนองบึง
รวมทั้งไหล่ถนนและบริเวณใกล้สะพาน รากที่สานกันแน่นเหมือนตาข่ายจะพยุงดินไว้
กลายเป็น “กำแพงใต้ดินที่มีชีวิต” ช่วยชะลอแรงน้ำ ทำให้น้ำซึมลงในดินได้มากขึ้น
ช่วยป้องกันหน้าดินถูกกัดเซาะพังทลาย
ในส่วนของบริเวณเชิงเขาแนวรั้ว หญ้าแฝกยังช่วยหยุดยั้งการพังทลายของดินด้วย

การเตรียมกล้าและดินเพื่อปลูกหญ้าแฝก สามารถดำเนินการได้ดังนี้
๑. การกำจัดวัชพืชและเตรียมพื้นที่
๒. การปลูกหญ้าแฝกในช่วงต้นฤดูฝน พื้นที่ปลูกต้องมีความชุ่มชื้น
๓. การเตรียมแนวร่องปลูก โดยการวางแนวร่องปลูกขวางความลาดชัด
ตามแนวระดับขนานไปตามสภาพพื้นที่
๔. การใส่ปุ๋ยหมักรองกันหลุมในแนวร่องปลูก เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์แก่ดิน
๕. การปลูกกล้าหญ้าแฝกในแปลงปลูก โดยการใช้กล้าเพาะชำถุงขนาดเล็ก
ใช้ระยะปลูก ๑๐ เซนติเมตร หรือกล้ารากเปลือยใช้ระยะปลูก ๕ เซนติเมตร
๖. ความห่างของแถวหญ้าแฝกแต่ละแถว
ขึ้นกับความลาดเทของพื้นที่ และชนิดของพื้นที่ปลูก
แต่โดยทั่วไปจะใช้ระยะห่างทางแนวดิ่ง ๑.๕ - ๓ เมตร
๗. กลบดินในร่องปลูกให้ต่ำกว่าระดับผิวดินปกติ
เพื่อให้น้ำขัง และซึมลงดินได้ ช่วยให้ดินชุ่มชื้นขึ้น
๘. ควรปลูกซ่อมแซมให้ได้แนวรั้วหญ้าแฝกที่เป็นแนวยาวต่อเนื่อง

การดูแลรักษาหญ้าแฝก สามารดำเนินการได้ดังนี้
๑. การคัดเลือกกล้าที่มีคุณภาพ ซึ่งกล้าหญ้าแฝกที่มีคุณภาพนั้น
โดยทั่วไปเป็นกล้าที่มีอายุ ๔๕ ถึง ๖๐ วัน
เมื่อนำกล้าที่แข็งแรงมาปลูกก็จะได้แนวรั้วหญ้าแฝก
ที่มีการเจริญเติบโตแข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ
๒. การเลือกช่วงเวลาปลูก การปลูกหญ้าแฝกในช่วงต้นฤดูฝนจะเหมาะสมที่สุด
สภาพของดินที่ปลูกในช่วงต้นฤดูฝนจะมีความชุ่มชื้นสูงติดต่อกันมากกว่า ๑๕ วันขึ้นไป
๓. การตัดใบ ในช่วงต้นฤดูฝนให้ตัดใบหญ้าแฝกให้สั้น สูงจากพื้นผิว ๕ เซนติเมตร
เพื่อให้เกิดการแตกหน่อใหม่ และกำจัดหน่อแก่ที่แห้งตาย
ในช่วงกลางฤดูฝนให้เกี่ยวใบสูง ไม่ต่ำกว่า ๔๕ เซนติเมตร
เพื่อให้มีแนวกอที่หนาแน่นในการรับแรงปะทะของน้ำไหลบ่า
และในช่วงปลายฤดูฝน เกี่ยวใบให้สั้น ๕ เซนติเมตรอีกครั้ง
เพื่อให้หญ้าแฝกแตกใบเขียว ในฤดูแล้ง
๔. การดูแลรักษาตามความเหมาะสม
ในต้นฤดูฝนให้ใส่ปุ๋ยหมักตามแถวหญ้าแฝก
ก็จะเป็นการช่วยให้หญ้าแฝกมีการเจริญเติบโตดีขึ้น
และกำจัดวัชพืชข้างแนวจะเป็นการช่วยให้สังเกตแนวหญ้าแฝกได้ชัดเจน
ช่วยให้หญ้าแฝกเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่
และเพื่อป้องกันการไถแนวทิ้งเนื่องจากสังเกตไม่เห็น
๕. การปลูกซ่อมและแยกหน่อแก่ออก
การปลูกซ่อมแซมในช่วงฤดูฝนจะทำให้ได้แนวรั้วหญ้าแฝกที่แข็งแรง
และควรตัดแยกหน่อแก่ที่ออกดอก หรือแห้งออกไป
เพื่อจะให้หน่อใหม่ได้แทรกขึ้นมาได้อย่างเต็มที่

ในการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่เกษตรกรรมนั้น มีจุดประสงค์ที่สำคัญ
เพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรดินและการอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งประกอบด้วย
๑. การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ลาดชัน
ควรปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวตามแนวระดับขวางความลาดเทในต้นฤดูฝน
โดยการทำแนวร่องปลูกตามแนวระดับ
ใช้ระยะระหว่างต้น ๕ เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือย
และระยะ ๑๐ เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง
ระยะห่างแถวตามแนวดิ่งไม่เกิน ๒ เมตร
หญ้าแฝกจะเจริญเติบโตแตกกอชิดกันภายใน ๔ – ๖ เดือน
๒. การปลูกเพื่อควบคุมร่องน้ำและกระจายน้ำ
นำกล้าหญ้าแฝกในถุงพลาสติกที่มีการแตกกอ และแข็งแรงดีแล้วไปปลูกในร่องน้ำ
โดยขุดหลุมปลูกขวางร่องน้ำ เป็นแนวตรง
หรือแนวหัวลูกศรชี้ย้อนไปทิศทางน้ำไหล
อาจใช้กระสอบทรายหรือก้อนหิน ช่วยทำคันเสริมฐานให้มั่นคงตามแนวปลูกหญ้าแฝก
ระยะห่างระหว่างต้น ๕ เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือย
และ ๑๐ เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง
และระหว่างแนวปลูกหญ้าแฝกไม่เกิน ๒ เมตร ตามแนวตั้งหลังจากเกิดคันดินกั้นน้ำ
ควรปลูกหญ้าแฝกต่อจากแนวคันดินกั้นน้ำออกไปทั้งสองข้าง
เพื่อเป็นการกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูก
๓. การปลูกเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในสวนผลไม้
ควรปลูกหญ้าแฝกในสวนผลไม้ ระยะที่ไม้ผลยังไม่โต หรือปลูกก่อนที่จะลงไม้ผล
โดยปลูกแถวหญ้าแฝกขนานไปกับแถวของไม้ผลที่ระยะกึ่งกลางของแถวไม้ผล
หรือปลูกเป็นรูปครึ่งวงกลมให้ห่างจากโคนต้นไม้ผล ๒.๕ เมตร
เพื่อไม้ผลเจริญเติบโตขึ้นมาคลุมพื้นที่ หญ้าแฝกจะตายไปกลายเป็นอินทรีย์วัตถุในดินต่อไป
๔. การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ดอนที่ปลูกพืชไร่
การปลูกหญ้าแฝกตามแนวระดับในพื้นที่ดอนที่ปลูกพืชไร่ โดยการขุดร่องปลูกตามแนวระดับ
ระยะห่างระหว่างต้น ๕ เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือย
และ ๑๐ เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง ควรใช้ปุ๋ยหมักรองพื้นก่อนปลูกหญ้าแฝก
หรือปลูกหญ้าแฝกเป็นแนะระหว่างแถวปลูกพืชไร่
และควรปลูกในสภาพดินที่มีความชุ่มชื้น ในช่วงต้นฤดูฝน
๕. การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ราบหรือพื้นที่ลุ่ม
ในสภาพพื้นที่ราบหรือพื้นที่ลุ่ม ที่มีการปรับสภาพเป็นแปลงยกร่องเพื่อปลูกพืชนั้น
สามารถปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวรอบขอบเขตพื้นที่
หรือปลูกที่ขอบแปลงยกร่องหญ้าแฝก
จะช่วยยึดดินไม่ให้พังทลาย และรักษาความชื้นในดินเอาไว้
๖. การปลูกรอบขอบสระเพื่อกรองตะกอนดิน
ควรปลูกตามแนวที่ระดับน้ำสูงสุดท่วมถึง ๑ แนว
และปลูกเพิ่มขึ้นอีก ๑ – ๒ แนวเหนือแนวแรก ซึ่งขึ้นอยู่กับความลึกของขอบสระ
ระยะห่างระหว่างต้น ๕ เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือย
และ ๑๐ เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง โดยขุดหลุมปลูกต่อเนื่องกันไป
ในระยะแรกควรดูแลปลูกซ่อมแซมให้แถวหญ้าแฝกเจริญเติบโตหนาแน่น
เมื่อน้ำไหลบ่ามาลงสระ ตะกอนดินที่ถูกพัดพามากับน้ำ
จะติดค้างอยู่กับแถวหญ้าแฝก ส่วนน้ำจะค่อย ๆ ไหลผ่านลงสู่สระ
และระบบรากของหญ้าแฝกยังช่วยยึดติดดินรอบ ๆ ขอบสระไม่ให้เกิดการพังทลาย

การเผยแพร่องค์ความรู้และการรณรงค์การใช้งานหญ้าแฝกได้เป็นไปอย่างกว้างขวาง
ทั้งในประเทศไทย และในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ได้เป็นแกนกลางในการจัดงานสัมมนาหญ้าแฝกในประเทศไทยมาแล้ว ๕ ครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ ๑ จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงราย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖
ครั้งที่ ๒ จัดขึ้นที่จังหวัดเพชรบุรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗
ครั้งที่ ๓ จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒
ครั้งที่ ๔ จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕
ครั้งที่ ๕ จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘

ในระดับนานาชาตินั้น ได้มีการจัดสัมมนาหญ้าแฝกนานาชาติแล้ว ๔ ครั้ง
โดยมีนักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานหญ้าแฝกจากทั่วโลกมาร่วมงานดังกล่าว ได้แก่
ครั้งที่ ๑ จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงราย
ในหัวข้อ Vetiver : A Miracle Grass ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙
ครั้งที่ ๒ จัดขึ้นที่จังหวัดเพชรบุรี
ในหัวข้อ Vetiver and The Environment ในปี พ.ศ. ๒๕๔๓
ครั้งที่ ๓ จัดขึ้นที่เมืองกวางโจว มลฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
โดย Chinese Academy of Sciences
ในหัวข้อ Vetiver and Water ในปี พ.ศ. ๒๕๔๖
ครั้งที่ ๔ จัด ณ เมืองคาราคัส สาธารณรัฐโบลีวาร์แห่งเวเนซุเอลา โดยมูลนิธิโพลาร์
ในหัวข้อ Vetiver and People ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙
นอกจากนี้แล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ของเครือข่ายหญ้าแฝกโลก (The Vetiver Network)
โดยได้เสด็จไปทรงเป็นประธานในการสัมมนานานาชาติทั้ง 4 ครั้งดังกล่าวด้วย

หญ้าแฝกสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาดินในหลายกรณี เช่น
ปัญหา “ดินทราย” ซึ่งมีลักษณะโปร่งน้ำ รากพืชผ่านไปได้ง่าย
ในฤดูแล้งน้ำในดินจะไม่เพียงพอ ทำให้พืชที่ปลูกใหม่มักจะตาย
เพราะดินร้อนและแห้งจัด ต้องแก้ด้วยการเพิ่มความชื้น
และเพิ่มอินทรียวัตถุที่จะทำหน้าที่เสมือนกันชนให้แก่ดิน
อย่างเช่น พื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
พระองค์ได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหา
ด้วยการสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อนำน้ำไปใช้พัฒนาการเกษตร
ชะลอการไหลของน้ำ เพิ่มความชุ่มชื่นให้กับดิน และฟื้นฟูสภาพป่าไม้
มีการปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดินที่มีธาตุอาหารสะสมอยู่
หลังจากดำเนินงานแก้ไขแล้ว จากเดิมพื้นที่มีปัญหาเรื่องดินทรายเสื่อมโทรม
ได้กลายมาเป็นพื้นที่สีเขียวสามารถปลูกพืชต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

ปัญหา “ดินเป็นหิน กรวด” มีลักษณะเดียวกับดินทราย
หน้าดินถูกชะล้างเหลือแต่ หิน กรวด พืชไม่สามารถเจริญเติบโตได้
อย่างเช่น พื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
ซึ่งมีการแก้ปัญหาด้วยฝายแม้วตามภูมิปัญญาพื้นบ้าน
เพื่อกักเก็บน้ำและสร้างความชุ่มชื้นให้ผืนดินผืนป่า
มีการปลูกหญ้าแฝกเพื่อยึดดิน ป้องกันการชะล้าง การพังทลายของหน้าดิน
ผลจากการแก้ปัญหาพัฒนาดังกล่าว
สามารถพลิกฟื้นให้ผืนป่าห้วยฮ่องไคร้ที่เคยเสื่อมโทรม
กลับมาสมบูรณ์กลายเป็นแหล่งต้นน้ำ ขณะที่ฝายแม้วในโครงการนี้
ก็ได้กลายเป็นฝายต้นแบบให้กับพื้นที่อื่น ๆ ในอีกหลาย ๆ พื้นที่

ปัญหา “ดินดาน ดินแข็ง และดินลูกรัง” เป็นดินเนื้อละเอียด
ฤดูแล้งจะแห้งแข็ง แตกระแหง น้ำและอากาศผ่านเข้าได้ยาก
รากไม้ยากที่จะชอนไชลงไปในใต้ดิน
อย่างเช่น พื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยแก้ปัญหาด้วยการสร้างอ่างเก็บน้ำตามลำน้ำหลัก
ปรับปรุงดินโดยให้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด ปลูกพืชตระกูลถั่วแล้วไถกลบ
รวมถึงการปลูกหญ้าแฝกขวางแนวลาดเท เพื่อป้องกันดินถูกชะล้าง พังทลาย
ซึ่งภายหลังการแก้ปัญหานั้น ทำให้พื้นที่ที่เคยเป็นสภาพเสื่อมโทรม
ได้เปลี่ยนเป็นพื้นที่สีเขียว ซึ่งสามารถทำการเกษตรได้เป็นอย่างดี

ปัญหา “ดินถูกชะล้าง” คือ ดินที่มีหน้าดินอุดมสมบูรณ์
แต่ถูกกระแสน้ำและลม พัดพาเอาหน้าดินที่มีแร่ธาตุอาหารต่อการเจริญเติบโตของพืชไป
พระองค์ได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้ใช้กำแพงที่มีชีวิต นั่นก็คือหญ้าแฝก
โดยให้ปลูกหญ้าแฝกเพื่อช่วยยึดดิน และแก้ปัญหาหน้าดินถูกชะล้าง
อย่างเช่นพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย
ซึ่งได้ใช้การปลูกหญ้าแฝกเป็นเขื่อนตามธรรมชาติ
ป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ไม่ให้ดินเลื่อนไหล
อีกทั้งยังช่วยกรองตะกอนดินที่น้ำพัดพามา
นอกจากนี้ ยังไม่ต้องสร้างแนวกำแพง โดยวิธีทางวิศวกรรม
ช่วยให้หยัดงบประมาณได้เป็นจำนวนมาก และยังมีสภาพกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม
ภายหลังจากที่ได้ดำเนินการแล้ว ทำให้สภาพธรรมชาติ
และสิ่งแวดล้อมอันอุดมสมบูรณ์ได้กลับคืนมาอีกครั้ง

ทั้งนี้ เพียงเฉพาะในช่วงระหว่างปี ๒๕๔๘-๒๕๕๐ นั้น
ทางหน่วยงานภาครัฐได้กำหนดเป้าหมายที่จะปลูกหญ้าแฝก
จำนวนไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ ล้านกล้า ซึ่งโครงการได้ประสบความสำเร็จ
ในการใช้หญ้าแฝกปรับปรุงและรักษาหน้าดินในพื้นที่ต่าง ๆ
ไม่ต่ำกว่า ๘๐๐,๐๐๐ แห่งทั่วประเทศไทย

ข้อมูลอ้างอิง:
http://www.matichon.co.th/news/329288
http://bangkokscoop.com/2012/04/hm-the-king-receives-humanitarian-soil-scientist-award/
http://www.fao.org/asiapacific/news/detail-events/en/c/165738/
http://www.iuss.org/index.php?article_id=28
http://www.un.org/pga/71/2016/10/28/un-ga-plenary-meeting-to-pay-tribute-to-the-memory-of-his-majesty-king-bhumibol-adulyadej-of-thailand/
http://www.chatchawan.net/2014/01/5-december-as-world-soil-day/
http://km.rdpb.go.th/Knowledge/View/75
http://km.rdpb.go.th/Knowledge/View/19
http://www.manager.co.th/travel/viewnews.aspx?NewsID=9550000148706
http://www.xn--12co9drbac8a9as5aiidh8isei1npa.com/content/index.php?page=content&type=view&cat=16&id=192

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

หมายเหตุ ขอเรียนเชิญญาติธรรมท่านที่สนใจร่วมทำบุญทอดผ้าป่า
เพื่อสนับสนุนการจัดค่ายปฏิบัติภาวนาเรียนรู้กายใจของชมรมเรียนรู้กายใจ จังหวัดนครสวรรค์
และทำนุบำรุงอาคารสถานที่ ณ สวนธรรมธาราศัย อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์
ในวันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม 2559 เวลา 10.00 น.
โดยพระอาจารย์กฤช นิมฺมโล จะเป็นผู้รับถวายกองผ้าป่า

ญาติธรรมท่านที่สนใจสามารถร่วมทำบุญทอดผ้าป่าได้ที่บัญชีธนาคาร
ชื่อบัญชี นางพจนา ทรัพย์สมาน และนางปราณี ศิริวิริยะกุล และนางชญาณัฒ ธิเนตร
ธนาคารกรุงเทพ สาขา บิ๊กซี นครสวรรค์
บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 627-0-34831-8

ท่านสามารถติดตามความคืบหน้าของกองผ้าป่าได้ที่
ขอเชิญร่วมทำบุญทอดผ้าป่า ชมรมเรียนรู้กายใจ จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อสนับสนุนการจัดค่ายสอนภาวนาเรียนรู้กายใจ ถวายผ้าป่าใน วันศุกร์ที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๐.๐๐ น. (คลิก)

อนุโมทนาบุญกับทุกท่านที่ร่วมบุญครับ