Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๖๒

dhammajaree262 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

 

ใต้ร่มพระบารมี (๑)


 dhammajaree2621

ในช่วงเวลานี้ ผมขอโอกาสในการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ
พระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ซึ่งท่านได้ทรงทำเพื่อปวงชนชาวไทย
มานำเสนอและแบ่งปันกับท่านผู้อ่านนะครับ
ทั้งนี้ ผมคงไม่สามารถจะนำพระราชกรณียกิจ
รวมถึงโครงการพระราชดำริ ๔ พันกว่าโครงการทั่วประเทศมานำเสนอได้ทั้งหมด
แต่คงจะนำเสนอได้เพียงบางเรื่องที่ผมสะดวกจะนำเสนอข้อมูลเท่านั้นครับ

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชกรณียกิจในการจัดการทรัพยากรประมงหลายเรื่อง
ซึ่งหนึ่งในเรื่องการจัดการทรัพยากรประมงเหล่านั้นคือ “การเพาะเลี้ยงปลานิล”
โดยในอดีตนั้น ประชาชนในชนบทยังขาดสารอาหารโปรตีน
และสัตว์น้ำจำพวกปลาน้ำจืดเป็นแหล่งอาหารราคาถูกที่ให้สารอาหารโปรตีน
ประกอบกับสามารถหาได้ในท้องถิ่นชนบททั่วประเทศ
ปลาเป็นอาหารที่สำคัญและเป็นอาหารหลักของราษฎรในชนบท
แต่การที่ประชากรมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ประกอบกับแหล่งน้ำธรรมชาติมีความเสื่อมโทรม
ทำให้ปริมาณการผลิตปลาจากแหล่งน้ำเหล่านี้ ไม่เพียงพอกับความต้องการ
โดยเฉพาะสำหรับประชาชนที่ยากจนในชนบท

ในปี ๒๕๐๖ นั้น ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จเยือนประเทศญี่ปุ่น
และได้ทรงเชิญให้มกุฎราชกุมารของประเทศญี่ปุ่นเสด็จเยือนประเทศไทย
มกุฎราชกุมารของประเทศญี่ปุ่น (ซึ่งก็คือสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะในปัจจุบัน)
ได้เสด็จเยือนประเทศไทยในเดือนธันวาคม ๒๕๐๗
และทรงได้รับการต้อนรับจากประเทศไทยอย่างสมพระเกียรติ

ต่อมาในปี ๒๕๐๘ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงขอพระราชทาน
ปลาทิโลเปีย นิโลติกาจากมกุฎราชกุมารของประเทศญี่ปุ่น
ซึ่งมกุฎราชกุมารของประเทศญี่ปุ่นทรงถวายปลาทิโลเปีย นิโลติกาจำนวน ๕๐ ตัว
แด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ในวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๘
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงให้เจ้าหน้าที่นำไปเลี้ยง
หลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้นำไปเลี้ยงแล้ว ปลาได้ตายลง ๔๐ ตัว เหลือเพียง ๑๐ ตัว
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ จึงได้ทรงให้นำมาเลี้ยงในบ่อในพระราชวังสวนจิตรลดา
และได้พระราชทานชื่อปลานี้ว่า “ปลานิล”
แม้ว่าเวลานั้น ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ท่านจะทรงมีปลานิลเพียงแค่ ๑๐ ตัวก็ตาม
แต่หลังจากนั้น ในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี กล่าวคือในวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๐๙
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงพระราชทานลูกปลานิลจำนวน ๑๐,๐๐๐ ตัว
ให้แก่กรมประมง เพื่อนำไปดำเนินการขยายพันธุ์ เพื่อแจกจ่ายให้ราษฎร
ซึ่งกรมประมงได้นำปลานิลพระราชทานนี้ไปขยายพันธุ์
และแจกจ่ายให้แก่ราษฎร เพื่อนำไปเพาะเลี้ยงตามพระราชดำริ

เนื่องจากปลานิลเป็นปลาที่สามารถปรับตัวได้ดี กินอาหารเก่ง เติบโตเร็ว
และขยายพันธุ์ได้ง่าย เมื่อได้แจกจ่ายให้ราษฎรเพื่อเลี้ยงสร้างอาชีพแล้ว
จึงทำให้ปลานิลมีปริมาณมากขึ้นกลายเป็นปลาเศรษฐกิจ
และเป็นที่นิยมบริโภคของประชาชนมาจวบจนทุกวันนี้
โดยในปัจจุบัน ประเทศไทยสามารถผลิตปลานิลได้ประมาณ ๒๒๐,๐๐๐ ตันต่อปี
และสามารถส่งออกได้ประมาณ ๑๕,๐๐๐ ตันต่อปี
การเลี้ยงปลานิลสามารถช่วยให้ประชาชนมีอาชีพและรายได้หลายแสนครอบครัว

ในระหว่างช่วงปี ๒๕๓๒ – ๒๕๓๙ ประเทศไทยมีการเลี้ยงกุ้งทะเลกันมากขึ้น
ตามบริเวณแนวพื้นที่ชายฝั่ง ซึ่งในสมัยนั้น การจัดการน้ำของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง
มักจะใช้วิธีระบายน้ำออกจากบ่อกุ้งโดยตรง
โดยน้ำจากบ่อกุ้งมีธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งสาหร่ายเซลล์เดียวจำนวนมาก
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ และห่วงใยเรื่องสิ่งแวดล้อม
จึงทรงเล็งเห็นว่าปริมาณธาตุอาหารที่สูงเกินไปเช่นนี้
ย่อมจะส่งผลให้เกิดมลภาวะต่อน้ำทะเลชายฝั่งได้
ด้วยพระอัจฉริยภาพในเชิงวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
พระองค์ทรงเล็งเห็นว่าควรแก้ไขปัญหาด้วยการนำปลาที่กินแพลงตอน
หรือสาหร่ายต่างๆ เป็นอาหารมาจัดการกับธาตุอาหารในบ่อกุ้งก่อนปล่อยน้ำลงสู่ทะเล
ซึ่งนอกจากจะทำให้ปลาได้รับสารอาหารอย่างดีและโตเร็วแล้ว
ยังจะช่วยลดมลภาวะที่จะกระทบกับน้ำทะเลชายฝั่งได้อีกทางหนึ่งด้วย
อันเป็นการใช้ธรรมชาติจัดการกับธรรมชาติ
และเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน
โดยพระองค์ทรงแนะนำให้ใช้ปลานิลในการจัดการธาตุอาหารในบ่อกุ้งดังกล่าว

แต่มีปัญหาว่าปลานิลไม่สามารถเลี้ยงได้ในน้ำกร่อยที่มีความเค็มอย่างน้ำในบ่อกุ้ง
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ จึงทรงพระราชทานแนวพระราชดำริแก่เครือเจริญโภคภัณฑ์
ในการพัฒนาสายพันธุ์ปลานิลให้สามารถเลี้ยงได้ในสภาพน้ำกร่อย-เค็ม
เพื่อที่จะนำปล่อยเลี้ยงในบ่อพักน้ำของฟาร์มกุ้ง
กินสาหร่าย และธาตุอาหารต่างๆให้เหลือเบาบาง
ก่อนที่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจะปล่อยน้ำออกสู่ทะเลต่อไป

หลังจากนั้น เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้เริ่มโครงการพัฒนาสายพันธุ์ปลา
ตามแนวพระราชดำริ ด้วยวิธีธรรมชาติตามแนวพระราชดำริ
โดยนำปลานิลจิตรลดาพระราชทานมาเป็นต้นตระกูล พร้อมคัดเลือกพันธุ์ปลา
ที่มีลักษณะเด่นมากในด้านต่างๆ จากหลายประเทศมาผสมข้ามพันธุ์กัน
ซึ่งในที่สุดก็สามารถพัฒนาพันธุ์ให้สามารถเลี้ยงในน้ำที่มีสภาพกร่อย-เค็มได้
ทั้งยังมีลักษณะเฉพาะคือ สีของเกล็ดและตัวปลาที่มีสีแดงอมชมพู
นอกจากคุณภาพปลา ความต้านทานโรค ลักษณะเนื้อ และรสชาติดีขึ้น
โดยการพัฒนาพันธุ์ด้วยวิธีตามธรรมชาติ ไม่ใช่การตัดแต่งพันธุกรรม
ต่อมา เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๑
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงพระราชทานนามปลาพันธุ์ใหม่นี้ว่า “ปลาทับทิม”
จึงกล่าวได้ว่าปลาทับทิม ถือกำเนิดขึ้นจาก ปลานิลจิตรลดา นั่นเอง

จากปลานิลเพียง ๑๐ ตัวในปี ๒๕๐๘ นั้น
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงเพาะเลี้ยง ขยายพันธุ์ และพระราชทานให้แก่กรมประมง
เพื่อแจกจ่ายให้แก่ราษฎรจนกลายเป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ
และเป็นอาหารที่สำคัญของคนไทยทั้งประเทศ
ช่วยเหลือประชาชนชาวไทยเป็นจำนวนมากหลายแสนครอบครัว
ดังเช่นที่ประธานสหกรณ์ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชลบุรีได้กล่าวถึงปลานิลว่า
“ถ้าไม่มีปลานิล ไม่รู้ว่าชีวิตจะเป็นอย่างไร”
โดยปลานิลพระราชทานได้สร้างอาชีพให้แก่ชาวบ้าน
มีรายได้หล่อเลี้ยงครอบครัวมาจนถึงทุกวันนี้

ทั้งนี้ การเพาะเลี้ยงปลานิลนี้เป็นเพียงหนึ่งในพระราชกรณียกิจจำนวนมาก
ของพระองค์ท่านที่ได้ทรงทำเพื่อพสกนิกรชาวไทยครับ

ข้อมูลอ้างอิง:
http://www.matichon.co.th/news/329288
http://www.tsood.com/contents/152973/
https://www.thaich8.com/news_detail/15738
http://eureka.bangkokbiznews.com/detail/634475
http://www.manager.co.th/iBizchannel/ViewNews.aspx?NewsID=9590000105710
http://www.thairath.co.th/content/764632
http://king.kapook.com/job_duties_natural_resource.php