Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๕๘

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

เวลาที่มีความสุขที่สุดในชีวิต

 

 dharmajaree258

ถ้าหากมีคนมาถามเราว่า เวลาไหนที่เรามีความสุขที่สุดในชีวิต
เราคงจะตอบกันได้ยากมากนะครับ
คงต้องใช้เวลานั่งคิดทบทวนกันนานไม่น้อยเลยทีเดียว
สำหรับคำถามนี้ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ผมได้อ่าน Facebook ของคุณเอนก เหล่าธรรมทัศน์
โดยคุณอเนกได้ไปร่วมงานวันเกิดครบ ๘๔ ปี (๗ รอบ)
ของคุณอานันท์ ปันยารชุน เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๙
ท่านจึงนำรายละเอียดในงานมาเล่าให้ฟังว่า

“คุณอานันท์ก็ขึ้นมากล่าวขอบคุณและให้แง่คิด
แก่เพื่อนมิตรผู้มาแสดงมุทิตาจิตท่านในโอกาสวันเกิดครบ ๘๔ ปี
ท่านพูดหลายเรื่อง และก็พูดถึงครอบครัว
ท่านรักลูกรักภรรยา ครองชีวิตคู่กับคุณหญิงมา ๖๑ ปี
แต่คุณหญิงล้มป่วยมาร่วม ๓๐ ปี

เมื่อเร็วๆ นี้ลูกๆจัดงานวันเกิดให้คุณแม่
เขาถามคุณแม่ว่าตั้งแต่มีครอบครัวมายาวนาน
คุณแม่จำได้ไหมว่าตอนไหนมีความสุขที่สุด
ย่อมเดาได้ว่าคุณอานันท์นั้นท่านสงสารและเห็นใจ
ในความทุกข์อันเนื่องมาจากปัญหาสุขภาพเรื้อรังของคุณหญิง
คุณอานันท์เล่าต่อเสียงเครือว่าคุณหญิงตอบรวดเร็วว่า
‘ตอนนี้ไงลูก แม่มีความสุขที่สุดตอนนี้’

ที่ประชุมเงียบงัน ตกอยู่ในภวังค์ คุณอานันท์เล่าต่อ
คุณหญิงท่านไม่คิดหวนหาอดีตว่ามีอะไรที่สุข
และท่านก็ไม่ไขว่คว้าหรือดิ้นรนที่จะมีอะไรเป็นอะไรที่สุขกว่าในอนาคต
แม้ยามที่ท่านป่วยไข้ ณ ที่นี่ ในตอนนี้ก็คือ ‘ความสุข’ ของท่านแล้ว”
https://www.facebook.com/AnekLaothamatas/posts/958458220966510

อดีตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว และจบลงไปแล้ว
อนาคตเป็นสิ่งที่ยังมาไม่ถึง และยังไม่เกิดขึ้น
การที่เราจะไปพยายามยึดจับความสุขในอดีตหรือในอนาคตก็ตาม
ย่อมเป็นเพียงการไล่จับยึดความว่างเปล่า ซึ่งย่อมจะทำให้เกิดทุกข์
ช่วงเวลาที่เราจะสามารถทำอะไรได้ และอยู่กับมันได้ ก็มีเพียงปัจจุบันเท่านั้น
ดังนั้นแล้ว การที่เราจะไปมัวไล่ยึดจับว่า
เวลาใดในอดีตเป็นเวลาที่มีความสุขที่สุดนั้น ไม่ใช่ทางเลือกที่ดี
เพราะเป็นการไล่จับยึดความว่างเปล่า
และเป็นคนที่มีความสุขแต่เพียงในอดีต แต่ไม่มีความสุขในปัจจุบัน
แต่หากเราสามารถใช้ชีวิตในปัจจุบัน
และอยู่กับปัจจุบันได้มีความสุขที่สุดแล้ว
เราย่อมเป็นคนที่มีความสุขอยู่เสมอในปัจจุบันเรื่อยไป

ในเชิงของการภาวนานั้น หากเราหมั่นฝึกฝนภาวนาแล้ว
เมื่อใดที่มีสติรู้สึกตัว ด้วยจิตที่ตั้งมั่น และเป็นกลาง
เราย่อมจะเห็นได้ว่า ไม่มีเราในขันธ์ ๕ นี้ และไม่มีเรานอกขันธ์ ๕ นี้
ไม่มีเราในอดีต ไม่มีเราในอนาคต และไม่มีเราแม้ในปัจจุบัน
เมื่อไม่มีเราในกายในใจนี้แล้ว ย่อมไม่มีฐานที่ตั้งแห่งกองทุกข์
ดังนั้นแม้ว่าอุปาทานขันธ์ ๕ จะเป็นกองทุกข์ก็ตาม
แต่ว่าก็ไม่มีเราซึ่งเป็นผู้ทุกข์ นั่นก็ย่อมเป็นเวลาที่มีความสุขครับ