Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๕๖

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

อนุปุพพิกถา

 dharmajaree256

ในตอนที่แล้ว เราได้สนทนากันในเรื่องวันอาสาฬหบูชา
ซึ่งเป็นวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมเป็นครั้งแรก
ชื่อว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” แก่เบญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ซึ่งเป็นนักบวช
ใน “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” นั้นได้เริ่มด้วยคำสอนที่ว่า
ที่สุดสองอย่างนี้อันบรรพชิตไม่ควรเสพ คือ
การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย
เป็นธรรมอันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน
ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑
การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตน เป็นความลำบาก
ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑
แต่สิ่งที่สมควรทำคือ “ปฏิปทาสายกลาง” ซึ่งไม่เข้าไปในที่สุดสองอย่างนั้น
ปฏิปทาสายกลางนั้น ได้แก่อริยมรรค มีองค์ ๘ นี้แหละ คือ
ปัญญาอันเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑ เจรจาชอบ ๑ การงานชอบ ๑
เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ พยายามชอบ ๑ ระลึกชอบ ๑ ตั้งจิตชอบ ๑
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=4&A=355&Z=445&pagebreak=0

ใน “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” นั้น ท่านทรงสอนว่า
การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย
เป็นธรรมอันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน
แต่ในเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงธรรมแก่ฆราวาสนั้น
ท่านไม่ได้ทรงเริ่มสอนด้วย “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” นะครับ
แต่ท่านทรงเริ่มสอนด้วย “อนุปุพพิกถา” แล้วต่อเนื่องด้วย “อริยสัจ”
อย่างเช่น เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมแก่ท่าน “ยสกุลบุตร”
ท่านทรงแสดงอนุปุพพิกถา คือ ทานกถา สีลกถา สัคคกถา
โทษความต่ำทราม ความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย
และอานิสงส์ในความออกจากกาม
เมื่อพระองค์ทรงทราบว่า ยสกุลบุตรมีจิตสงบ มีจิตอ่อน
มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว
จึงทรงประกาศอริยสัจ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
หลังจากนั้น ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทินว่า
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา
ได้เกิดแก่ท่านยสกุลบุตร ดุจผ้าที่สะอาดปราศจากมลทิน ควรได้รับน้ำย้อม
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=4&A=576&Z=777&pagebreak=0

หรือในเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมแก่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
ท่านได้ทรงสอน “อนุปุพพิกถา” แล้วต่อเนื่องด้วย “อริยสัจ”
กล่าวคือ ทรงสอนถึงทาน ศีล สวรรค์
ความต่ำทรามความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย
แล้วทรงประกาศอานิสงส์ในการออกจากกาม
และเมื่อพระองค์ทรงทราบว่า อนาถบิณฑิกคหบดีมีจิตควรแก่การงาน มีจิตอ่อน
มีจิตปราศจากนิวรณ์ มีจิตสูง มีจิตเลื่อมใสแล้ว จึงทรงประกาศอริยสัจ
คือ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
หลังจากนั้น ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทินว่า
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา
ได้เกิดแก่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ดุจผ้าที่สะอาดปราศจากมลทินควรได้รับน้ำย้อม
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=7&A=1950&Z=2140&pagebreak=0

ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้กล่าวว่า
ตามปกติ พระพุทธเจ้าเมื่อจะทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่คฤหัสถ์
ผู้มีอุปนิสัยสามารถที่จะบรรลุธรรมพิเศษ ทรงแสดงอนุปุพพิกถานี้ก่อน
แล้วจึงตรัสแสดงอริยสัจ เป็นการทำจิตให้พร้อมที่จะรับ
ดุจผ้าที่ซักฟอกสะอาดแล้ว ควรรับน้ำย้อมต่าง ๆ ได้ด้วยดี

“อนุปุพพิกถา” หมายถึง เรื่องที่กล่าวถึงตามลำดับ หรือ
ธรรมเทศนาที่แสดงเนื้อความลุ่มลึกลงไปโดยลำดับ
เพื่อขัดเกลาอัธยาศัยของผู้ฟังให้ประณีตขึ้นไปเป็นชั้นๆ
จนพร้อมที่จะทำความเข้าใจในธรรมส่วนปรมัตถ์
ซึ่งอนุปุพพิกถาประกอบด้วย
๑. “ทานกถา” คือทาน การให้ การเสียสละเผื่อแผ่แบ่งปัน
๒. “สีลกถา” คือศีล ความประพฤติที่ถูกต้องดีงาม
๓. “สัคคกถา” คือสวรรค์ ความสุขความเจริญ
และผลที่น่าปรารถนาอันเป็นส่วนดีของกามที่จะพึงเข้าถึง
เมื่อได้ประพฤติดีงามตามหลักธรรมสองข้อข้างต้น คือทานและศีล
๔. “กามาทีนวกถา” คือโทษแห่งกาม ส่วนเสีย ข้อบกพร่องของกาม
พร้อมทั้งผลร้ายที่สืบเนื่องมาแต่กาม อันไม่ควรหลงใหลหมกมุ่นมัวเมา
จนถึงรู้จักที่จะหน่ายถอนตนออกได้
๕. “เนกขัมมานิสังสกถา” คืออานิสงส์แห่งความออกจากกาม
กล่าวถึงผลดีของการไม่หมกมุ่นเพลิดเพลินติดอยู่ในกาม
และให้มีฉันทะที่จะแสวงความดีงาม
และความสุขอันสงบที่ประณีตยิ่งขึ้นไปกว่านั้น
http://www.84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=246

พึงสังเกตว่าในเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนเรื่องอนุปุพพิกถา
เพื่อขัดเกลาให้ผู้ฟังมีอัธยาศัยที่ประณีต ทำจิตให้พร้อมรับฟังอริยสัจนั้น
ท่านได้ทรงสอนตามลำดับจนครบอนุปุพพิกถา ๕ ประการ
คือ ทาน ศีล สวรรค์ โทษของกาม และอานิสงส์ในการออกจากกาม
แต่ในปัจจุบัน เวลาที่เราศึกษาเรื่องเหล่านี้ บางทีเราก็ศึกษาแต่เพียงส่วน ๆ
เช่น ศึกษาเรื่องทาน ศีล และสวรรค์ แล้วก็จบเพียงแค่นั้น
ก็กลายเป็นว่าตั้งเป้าหมายเพียงแค่จะไปสวรรค์ เพื่อไปเป็นเทวดา
หรือในทางกลับกัน บางทีก็ศึกษาเรื่องการออกจากกาม
แล้วก็มุ่งตั้งใจจะออกจากกาม แต่ไม่ได้ศึกษาเรื่องโทษของกาม
ก็ทำให้ไม่สามารถมุ่งออกจากกามได้จริง เพราะไม่เข้าใจเรื่องโทษของกาม
หรือมุ่งออกจากกาม โดยไม่ได้ศึกษาเรื่องทาน ศีล และสวรรค์
ทำให้ปฏิเสธกามทุกอย่างไป ทั้งที่ตนเองเป็นฆราวาสบริโภคกาม
ตนเองไม่ใช่นักบวช โดยข้อปฏิบัติของนักบวชกับฆราวาสนั้นแตกต่างกัน เป็นต้น

การศึกษาที่ไม่ครบถ้วนตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนนี้
ก็ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในความรู้ความเข้าใจได้
และเมื่อเข้าใจคลาดเคลื่อนก็นำไปประพฤติปฏิบัติอย่างคลาดเคลื่อน
ก็ทำให้ความรู้ความเข้าใจและข้อประพฤติดังกล่าว
ไม่ได้ช่วยขัดเกลาให้ผู้ฟังมีอัธยาศัยที่ประณีตพร้อมที่จะรับอริยสัจ
แต่กลับกลายเป็นมุ่งสุดโต่งไปในทางใดทางหนึ่ง
เช่น มุ่งทำทานอย่างสุดตัว โดยหวังเพียงจะไปเป็นเทวดาบนสวรรค์
เพื่อไปบริโภคกาม โดยที่ไม่ได้เห็นโทษของกาม และมุ่งออกจากกาม เป็นต้น
ซึ่งผลก็คือเราก็ติดกับอยู่แต่เพียงข้อปฏิบัติที่ทำอยู่นั้น
โดยไม่สามารถพัฒนาตนเองไปเพื่อความสุขอันสงบที่ประณีตยิ่งกว่านั้นได้
ในการนี้ เราพึงศึกษาและทำความเข้าใจให้ครบถ้วนตามคำสอนครับ