Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๕๕

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

วันอาสาฬหบูชา

 dharmajaree 255

เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ที่ผ่านมาเป็นวันอาสาฬหบูชา
ซึ่งเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา
กล่าวคือเป็นวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนาเป็นครั้งแรก
โดยได้แสดงแก่เบญจวัคคีย์ทั้ง ๕  
ธรรมเทศนาที่ทรงแสดงครั้งแรกนี้มีชื่อว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร”
หมายถึง พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม

ในขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” นั้น
ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะได้เห็นธรรมแล้ว และได้บรรลุธรรมแล้ว
จึงได้ขออุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า
ในวันดังกล่าวจึงเป็นวันที่ได้เกิดมีพระสงฆ์ขึ้นในโลก
และทำให้พระรัตนตรัยครบ ๓ ประการคือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=4&A=446&Z=478&pagebreak=0

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรจึงเป็นพระธรรมคำสอนที่สำคัญ
ใน “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” (พระวินัยปิฎก มหาวรรค ปฐมเทศนา) นั้น
พระผู้มีพระภาคได้ทรงสอนพระปัญจวัคคีย์ว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ที่สุดสองอย่างนี้อันบรรพชิตไม่ควรเสพ คือ
การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย
เป็นธรรมอันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน
ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑
การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตน เป็นความลำบาก
ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้น
นั่นตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด
ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิปทาสายกลางที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง
ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ
เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพานนั้น เป็นไฉน?
ปฏิปทาสายกลางนั้น ได้แก่อริยมรรค มีองค์ ๘ นี้แหละ คือ
ปัญญาอันเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑ เจรจาชอบ ๑ การงานชอบ ๑
เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ พยายามชอบ ๑ ระลึกชอบ ๑ ตั้งจิตชอบ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลคือปฏิปทาสายกลางนั้น
ที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด
ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขอริยสัจ คือ ความเกิดก็เป็นทุกข์
ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์
ความประจวบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์
ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักก็เป็นทุกข์
ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่นย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขสมุทัยอริยสัจ คือตัณหาอันทำให้เกิดอีก
ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน
มีปกติเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ตัณหานั่นแลดับ โดยไม่เหลือ
ด้วยมรรคคือวิราคะ สละ สละคืน ปล่อยไป ไม่พัวพัน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ
อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แหละ คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑
เจรจาชอบ ๑ การงานชอบ ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ พยายามชอบ ๑
ระลึกชอบ ๑ ตั้งจิตชอบ ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขอริยสัจ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขอริยสัจนี้นั้นแล ควรกำหนดรู้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขอริยสัจนี้นั้นแล เราก็ได้กำหนดรู้แล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขสมุทัยอริยสัจ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจนี้นั้นแล ควรละเสีย.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจนี้นั้นแล เราได้ละแล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขนิโรธอริยสัจ.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธอริยสัจนี้นั้นแล ควรทำให้แจ้ง.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธอริยสัจนี้นั้นแล เราทำให้แจ้งแล้ว.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้นั้นแล ควรให้เจริญ.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้นั้นแล เราให้เจริญแล้ว.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงของเราในอริยสัจ ๔ นี้
มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่างนี้ ยังไม่หมดจดดีแล้ว เพียงใด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรายังยืนยันไม่ได้ว่า
เป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ อันยอดเยี่ยมในโลก
พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์
พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เพียงนั้น.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดแล ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงของเรา ในอริยสัจ ๔ นี้
มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่างนี้ หมดจดดีแล้ว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อนั้น เราจึงยืนยันได้ว่า
เป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ อันยอดเยี่ยมในโลก
พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์
พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่
ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งมวล มีความดับเป็นธรรมดา
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งพระอุทานว่า
ท่านผู้เจริญ โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=4&A=355&Z=445&pagebreak=0

มนุษย์เราในโลกส่วนใหญ่นี้ก็ล้วนแล้วแต่พยายามที่จะหนีหรือละทุกข์
อย่างเช่น เวลาที่เราทุกข์ใจ หรือกลุ้มใจเรื่องใด ๆ ในชีวิตก็ตาม
ก็มักจะหาทางละ ปล่อย หรือวางทุกข์นั้น ๆ
หรือเราก็อาจจะเคยได้ฟังคนอื่นสอนให้ละหรือวางทุกข์นั้น ๆ
แต่ในพระธรรมคำสอนตามธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ทรงสอนว่าให้ละทุกข์ แต่ท่านทรงสอนว่า
ทุกขอริยสัจนี้ ควรกำหนดรู้
ทุกขสมุทัยอริยสัจนี้ ควรละเสีย
ทุกขนิโรธอริยสัจนี้นั้นแล ควรทำให้แจ้ง
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้ ควรให้เจริญ

ในการศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า
เราจึงมีหน้าที่ต่ออริยสัจ ๔ ประการนี้แตกต่างกัน
ทุกข์ไม่ใช่สิ่งที่ควรละ แต่เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้
ในขณะที่สิ่งที่ควรละได้แก่สมุทัย
นิโรธควรทำให้แจ้ง และมรรคควรทำให้เจริญ
ดังนี้ หากเรายังฝึกฝนปฏิบัติในแนวทางหรือวิธีการที่จะละทุกข์
หรือมีทุกข์อะไรผ่านเข้ามาแล้ว เราก็พยายามจะละ ปล่อย หรือวาง
พึงทราบว่าวิธีการเช่นนั้นไม่ใช่แนวทางตามพระธรรมคำสอนครับ

ในวิธีการตามพระธรรมคำสอนที่ครูบาอาจารย์ท่านได้สอนนั้น
ในขณะที่เรามีสติรู้ทุกข์นั้นเอง ในขณะนั้น ย่อมเป็นการละสมุทัย
เป็นการทำมรรคให้เจริญ และย่อมเป็นการทำให้แจ้งซึ่งนิโรธ
ซึ่งเท่ากับว่าในขณะที่มีสติรู้ทุกข์ (คือรู้รูปนามหรือรู้กายใจ) นั้นเอง
เป็นการฝึกฝนปฏิบัติหน้าที่ต่ออริยสัจทั้ง ๔ ในเวลาเดียวกัน
การเจริญสติรู้กายรู้ใจจึงเป็นสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญและขยันหมั่นเพียรครับ