Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับ ๒๕๓

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

Brexit

dharmajaree253

เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา
ได้มีข่าวสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อตลาดเงินและตลาดทุนไปทั่วโลก
คือข่าวผลการลงประชามติ (Referendum) ของสหราชอาณาจักร
ที่ลงมติออกจากสหภาพยุโรป (European Union)
หรือที่ตามข่าวเรียกกันว่า Brexit ซึ่งย่อมาจาก Britain + Exit นั่นเอง

ในที่นี้ มีคำ ๓ คำแตกต่างกันที่เราควรทราบ คือ
คำว่า “United Kingdom” “Great Britain” และ “England”
โดยคำว่า “England” ก็จะหมายถึงอังกฤษเท่านั้น
ส่วนคำว่า “Great Britain” ก็จะรวม England, Scotland และ Wales
แต่คำว่า “United Kingdom” ก็จะรวม England, Scotland, Wales
และ Northern Ireland ด้วย
โดยแม้ว่าการลงประชามติครั้งนี้จะเรียกว่า Brexit ก็ตาม
แต่ก็เป็นการลงคะแนนเสียงของทั้ง “United Kingdom” ได้แก่
England, Scotland, Wales และ Northern Ireland
http://www.bbc.com/news/politics/eu_referendum/results

การที่ United Kingdom จะออกจากสหภาพยุโรปนี้
ย่อมมีผลกระทบต่อสหภาพยุโรปเป็นอย่างมาก
เนื่องจาก United Kingdom มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองในสหภาพยุโรป
และเมื่อ United Kingdom ได้ลงประชามติที่จะออกจากสหภาพยุโรป
ย่อมแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของสหภาพยุโรปเอง
ในการนี้ นอกจากจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปแล้ว
ยังส่งผลให้เริ่มมีอีกหลายประเทศจะริเริ่มทำประชามติในทำนองเดียวกัน
ซึ่งย่อมจะส่งผลกระทบทำให้สหภาพยุโรปต้องล่มสลายได้ในอนาคต
ความกังวลดังกล่าวก็ส่งผลทำให้เกิดความปั่นป่วน
ทั้งในตลาดเงินและตลาดทุนไปทั่วโลก

มีญาติธรรมบางท่านได้สอบถามผมว่า
เราควรจะวางแผนปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงทุน
เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างไร
โดยผมก็ตอบแนะนำแบบสั้น ๆ ดังนี้นะครับว่า
๑. ใช้หลักการเศรษฐกิจพอเพียง
๒. กระจายการลงทุนให้เหมาะสม
๓. เลี่ยงการลงทุนประเภทเสี่ยง หรือเลี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง
จริง ๆ แล้ว ถ้าเราเข้าใจหลักการเศรษฐกิจพอเพียงจริง ๆ
และสามารถนำไปประพฤติปฏิบัติได้จริงแล้ว
ก็ไม่ต้องสนใจอีก ๒ ข้อที่เหลือก็ได้ เพราะถือว่าครอบคลุมทั้งหมดแล้ว
ทั้งนี้ ท่านก็ย่อมหาอ่านข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงได้ไม่ยาก
อย่างไรก็ดี ผมได้เคยเขียนบทความเรื่องนี้ไว้ตามลิงก์นี้ครับ
http://www.dlitemag.com/index.php/index.php?option=com_content&view=article&id=1148&Itemid=1

ในการที่ United Kingdom จะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปนั้น
มีนักวิเคราะห์บางท่านมองว่า United Kingdom จะต้องแย่แน่ ๆ
เพราะการอยู่ในกลุ่มสหภาพยุโรปย่อมจะดีกว่าการออกจากกลุ่มสหภาพยุโรป
ซึ่งในเรื่องทางเศรษฐกิจนั้น เขาก็วิเคราะห์กันไป โดยไม่ใช่ประเด็นสำคัญของบทความนี้
แต่ประเด็นสำคัญที่บทความนี้จะนำเสนอก็คือว่า
ในการที่เราจะออกจากกลุ่มใด ๆ นั้น ไม่ได้จะแย่กว่าการรวมอยู่ในกลุ่มเสมอไป
แต่จะต้องพิจารณาว่ากลุ่มที่เราอยู่นั้นเป็นกลุ่มของบัณฑิตหรือคนพาล

ตามพระธรรมคำสอนแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า
ถ้าว่าบุคคลพึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน ผู้เที่ยวไปด้วยกัน
มีปกติอยู่ด้วยกรรมดี เป็นนักปราชญ์ไซร้
บุคคลนั้นพึงครอบงำอันตรายทั้งปวง มีใจชื่นชม มีสติเที่ยวไปกับสหายนั้น
ถ้าว่าบุคคลไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน ผู้เที่ยวไปด้วยกัน
มีปกติอยู่ด้วยกรรมดี เป็นนักปราชญ์ไซร้ บุคคลนั้นพึงเที่ยวไปผู้เดียว
ดุจพระราชาทรงละแว่นแคว้น อันพระองค์ทรงชนะ
แล้วเสด็จเที่ยวไปพระองค์เดียว
ดุจช้างชื่อมาตังคะละโขลงเที่ยวไปตัวเดียวในป่า ฉะนั้น
การเที่ยวไปของบุคคลผู้เดียวประเสริฐกว่า
เพราะความเป็นสหายไม่มีในเพราะชนพาล
บุคคลพึงเที่ยวไปผู้เดียว ดุจช้างชื่อมาตังคะ
มีความขวนขวายน้อย เที่ยวไปในป่า และไม่พึงทำบาปทั้งหลาย
(พระสุตตันตปิฎก คาถาธรรมบท นาควรรค)
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=25&A=1118&Z=1161
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=33&p=7

ดังนี้แล้ว หากเราได้สหายที่เป็นบัณฑิตหรือนักปราชญ์แล้ว
การอยู่ร่วมกันหรือเที่ยวไปกับสหายนั้นย่อมจะเป็นประโยชน์
แต่ถ้าหากไม่สามารถหาสหายที่เป็นบัณฑิตหรือนักปราชญ์ได้แล้ว
โดยมีแต่สหายที่เป็นคนพาล คอยชักจูงไปประพฤติผิดศีลผิดธรรมแล้ว
การอยู่เพียงลำพังหรือเที่ยวไปของบุคคลผู้เดียวย่อมประเสริฐกว่า

ตัวอย่างของเรื่องทำนองนี้ในสมัยพุทธกาลก็มีนะครับ
เช่น ในเรื่องของ “พระจักขุปาลเถระ” ซึ่งในระหว่างการภาวนาของท่านนั้น
ท่านได้ถือเนสัชชิกธุดงค์ไม่หลับนอน จนกระทั่งป่วยเป็นโรคจักษุ
แม้ว่าแพทย์จะมาให้ยารักษาท่าน และสั่งให้ท่านหลับ ท่านก็ไม่เชื่อ
ต่อมาท่านได้สูญเสียจักษุ พร้อมกับได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

หลังจากนั้นแล้ว พระภิกษุรูปหนึ่งที่เป็นน้องชายของพระจักขุปาลเถระ
ได้ทราบข่าวว่าท่านได้ตาบอดแล้ว จึงได้ส่งสามเณรรูปหนึ่งซึ่งเป็นหลานชาย
เดินทางผ่านป่าไปยังเมืองที่พระจักขุปาลเถระพำนักอยู่
เพื่อรับพระจักขุปาลเถระมาอยู่ด้วยกัน เพื่อที่จะได้ดูแลท่าน

สามเณรผู้เป็นหลานเดินทางไปถึงเมืองที่พระจักขุปาลเถระพำนักอยู่แล้ว
ได้นิมนต์และนำท่านเดินทางกลับมาหาพระภิกษุที่เป็นน้องชาย
โดยใช้วิธีการจับปลายไม้เท้าของพระจักขุปาลเถระ เพื่อนำทาง
ต่อมา ในระหว่างที่กำลังเดินทางผ่านป่าแห่งหนึ่งนั้น
สามเณรได้ยินเสียงของสตรีนางหนึ่งขับร้อง
จึงได้บอกให้พระจักขุปาลเถระรออยู่ก่อน
แล้วสามเณรนั้นได้แยกตัวไปหาสตรีนั้น และได้เสพเมถุนกัน

จากนั้น สามเณรกลับมาหาพระจักขุปาลเถระ และจะขอจูงไม้เท้าท่าน
พระจักขุปาลเถระได้สอบถามสามเณร และทราบว่าสามเณรประพฤติชั่วเสียแล้ว
จึงกล่าวว่า “ธุระด้วยการที่คนชั่วเช่นเธอจับปลายไม้เท้าของเรา ไม่ต้องมี”

สามเณรได้ฟังดังนั้นแล้ว ถึงแก่ความสลดสังเวช จึงเปลื้องผ้ากาสายะออกเสีย
นุ่งห่มอย่างคฤหัสถ์แล้วกล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ เมื่อก่อน กระผมเป็นสามเณร
แต่เดี๋ยวนี้กระผมกลับเป็นคฤหัสถ์แล้ว อนึ่ง กระผมเมื่อบวชก็ไม่ได้บวชด้วยศรัทธา
แต่บวชเพราะกลัวแต่อันตรายในหนทาง ขอท่านมาไปด้วยกันเถิด”

พระจักขุปาลเถระตอบว่า “คฤหัสถ์ชั่วก็ดี สมณะชั่วก็ดี ก็ชั่วทั้งนั้น
เธอแม้ตั้งอยู่ในความเป็นสมณะแล้ว ไม่อาจเพื่อทำคุณเพียงแต่ศีลให้บริบูรณ์
เป็นคฤหัสถ์จักทำความดีงามชื่ออะไรได้
ธุระด้วยการที่คนชั่วเช่นเธอจับปลายไม้เท้าของเรา ไม่ต้องมี”

คฤหัสถ์นั้นพยายามอ้อนวอนว่า “ท่านผู้เจริญ หนทางมีอมนุษย์ชุม
และท่านก็เสียจักษุ จักอยู่ในที่นี้อย่างไรได้”

ในกาลนั้น พระจักขุปาลเถระตอบว่า “เธออย่าได้คิดอย่างนั้นเลย
เราจะนอนตายอยู่ ณ ที่นี้ก็ดี จะนอนพลิกกลับไปกลับมา ณ ที่นี้ก็ดี
ขึ้นชื่อว่าการไปกับเธอย่อมไม่มี”

ครั้นแล้ว พระเถระได้กล่าวคาถาว่า “เอาเถิด เราเป็นผู้มีจักษุอันเสียแล้ว
มาสู่ทางไกลอันกันดาร นอนอยู่ (ก็ช่าง) จะไม่ไป
เพราะความเป็นสหายในชนพาลย่อมไม่มี
เอาเถิด เราเป็นผู้มีจักษุเสียแล้ว มาสู่ทางไกลอันกันดาร จักตายเสีย
จักไม่ไป เพราะความเป็นสหายในชนพาลย่อมไม่มี”
(อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ยมกวรรค)
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=11&p=1