Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับ ๒๕๒

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

อัตราดอกเบี้ยเงินฝากร้อยละศูนย์

 

dharmajaree252

 

เมื่อต้นเดือนมิถุนายน ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา
เราคงได้ทราบข่าวการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากบัญชีออมทรัพย์
ของธนาคารแห่งหนึ่งที่ปรับลดลงเหลือร้อยละศูนย์ต่อปี (คือไม่จ่ายดอกเบี้ยนั่นเอง)
ซึ่งก็ประกาศใช้ไปได้เพียงไม่กี่วันแล้วก็ยกเลิก
โดยกลับไปใช้อัตราร้อยละ ๐.๑๒๕ ต่อปีเหมือนเดิม
http://www.thairath.co.th/content/631160
http://www.thairath.co.th/content/631335

กรณีดังกล่าวก็เป็นสัญญาณเตือนว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากร้อยละศูนย์
หรือกระทั่งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากติดลบ
(กล่าวคือต้องผู้ฝากเงินต้องจ่ายดอกเบี้ยให้ธนาคารสำหรับการฝากเงินนั้น)
อย่างเช่นที่ได้เกิดขึ้นในบางประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น หรือเยอรมนี เป็นต้น
กำลังเริ่มคืบคลานเข้ามาสู่บ้านเราตามแนวโน้มของระบบเศรษฐกิจโลก
http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/636804
http://thaipublica.org/2016/02/pipat-43/

ผมจะไม่ขอลงรายละเอียดเนื้อหาว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากร้อยละศูนย์
หรือติดลบดังกล่าวมีเหตุปัจจัยมาจากอะไร
แต่จะขอข้ามมาเน้นในประเด็นที่ว่า
เราควรจะเตรียมตัวเพื่อรับสถานการณ์ดังกล่าวในอนาคตอย่างไร
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับหลายท่านที่เก็บเงินไว้สำหรับเตรียมตัวเกษียณ
โดยวางแผนว่าจะเก็บเงินไว้จำนวนหนึ่งในระหว่างที่ทำงานอยู่นี้
แล้วภายหลังเกษียณก็จะมีชีวิตอยู่ด้วยดอกเบี้ยเงินฝาก
สิ่งดังกล่าวน่าจะไม่สามารถทำได้แล้วในสถานการณ์ที่อัตราดอกเบี้ยต่ำเช่นนี้
โดยผมก็มีข้อเสนอหรือข้อแนะนำเพื่อท่านได้พิจารณา ดังต่อไปนี้ครับ

๑. เราควรฝึกที่จะกินง่ายอยู่ง่ายตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
เพราะหากเรายังใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้ออยู่
ต่อให้เราจะมีเงินเก็บสะสมเตรียมเกษียณมากมายเพียงไรก็ตาม
เงินดังกล่าวก็สามารถหมดลงได้ในเวลาไม่นาน
เพราะว่าการใช้จ่ายเงินนั้นทำได้ง่ายและเร็วกว่าการเก็บสะสมเงิน

หลักสำคัญที่เราจะสามารถควบคุมการใช้จ่ายของเราได้
ก็คือเราต้องมีธรรมะในจิตใจนะครับ
เพราะการที่เราใช้จ่ายอย่างฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยนั้น
เหตุปัจจัยหลักก็เพราะเราโดนกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะครอบงำใจนั่นแหละ
โดยหากเราไม่ถูกโลภะ โทสะ โมหะครอบงำใจแล้ว
รายจ่ายหรือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของเราก็ย่อมจะลดลงได้มาก

บางท่านอาจจะสงสัยว่า เกิดโลภะแล้วทำให้เสียเงินนี้ เข้าใจได้
แต่เกิดโทสะแล้ว จะทำให้เสียเงินได้ด้วยหรือ
ตอบว่าได้เหมือนกันครับ
เช่นบางที ญาติธรรมบางท่านเกิดโมโหเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายที่ทำงาน
พอโมโหแล้วก็เกิดอาการเบื่อหรือเซ็งในช่วงเวลานั้น ๆ
ก็เลยแก้ปัญหาด้วยการไปเที่ยว หรือไปซื้อของ หรือไปหาอะไรอร่อย ๆ ทาน
กรณีเช่นนี้ก็เป็นตัวอย่างของการเสียเงินเพราะเกิดโทสะนะครับ

ทีนี้ สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราไม่ถูกกิเลสครอบงำจิตใจ
ก็คือเราต้อง “มีสติ” รู้ทันกิเลสที่มาครอบงำใจนั้น
กล่าวคือเราต้องสนใจฝึกฝนภาวนานั่นเอง

บางท่านอาจจะมองว่า เรายังไม่ต้องมาสนใจภาวนาในเวลานี้หรอก
เดี๋ยวรอให้เราเกษียณก่อน แล้วเราค่อยมาฝึกฝนภาวนาก็ได้
ตอบว่ากรณีเช่นนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากครับ
เพราะหากเราปล่อยชีวิตเราให้จมอยู่กับกิเลส มุ่งสนใจแต่วัตถุ
คุ้นเคยที่จะปล่อยให้กิเลสครอบงำใจไปเรื่อยจนแก่ชราแล้ว
แล้วพอเกษียณปุ๊บ เราก็บอกว่า เอาล่ะ เราจะมุ่งสนใจภาวนาแล้ว
กรณีคงมีโอกาสน้อยที่จะเป็นเช่นนั้นครับ
โอกาสที่จะเกิดขึ้นมากก็คือเราก็จะโดนกิเลสครอบงำต่อไป

ยกตัวอย่างเปรียบเสมือนว่าเด็กคนหนึ่งไม่ฝึกฝนที่จะตั้งใจเรียนตั้งแต่ยังเด็ก
โดยเลือกใช้เวลาไปเล่นเพลิดเพลินไปเรื่อยจนเคยชิน
แล้วบอกว่าพอถึงเวลาเรียนมัธยมปลายแล้วจะเริ่มตั้งใจเรียน
ถามว่าถ้าเด็กคุ้นเคยที่จะไม่ตั้งใจเรียนตั้งแต่ประถมไปจนจบมัธยมต้น
แล้วโอกาสที่เด็กนั้นจะมาตั้งใจเรียนในชั้นมัธยมปลายนั้นจะมีมากหรือน้อย
ก็ย่อมจะตอบว่าโอกาสมีน้อยนะครับ ฉันใดก็ฉันนั้น
เรื่องความสนใจในการภาวนาหรือศึกษาธรรมของเราก็เป็นทำนองเดียวกัน

ดังนั้นแล้ว เราไม่ควรไปรอหรือวางแผนว่าพอเกษียณแล้ว
เราค่อยหมั่นภาวนา หรือเราค่อยศึกษาธรรม
แต่เรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่เราต้องลงมือทำ และฝึกฝนเสียตั้งแต่บัดนี้
ถ้าเราปล่อยให้กิเลสครอบงำใจในปัจจุบันนี้ไปจนแก่ชราแล้ว
ก็จะยิ่งสะสมไปแต่กิเลส ไม่ได้สะสมสติไว้เลย ตอนที่แก่ชรา ก็ยิ่งภาวนายากครับ

๒. เราควรต้องมีความรู้ในการลงทุน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม
และต้องมีความเข้าใจในเรื่องความเสี่ยงของการลงทุนที่เราได้ลงทุนด้วย
เพราะว่าในปัจจุบันเราไม่สามารถจะลงทุนโดยการฝากเงินได้เพียงอย่างเดียว
เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำมาก ๆ
เราจึงควรต้องมีความรู้ในการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับเราด้วย
เช่น อาจจะแบ่งเงินบางส่วนไปสะสมในรูปแบบของการประกันชีวิตสะสมทรัพย์
หรือลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ
ซึ่งการลงทุนในรูปแบบดังกล่าวนอกจากจะได้ผลตอบแทนมากกว่าเงินฝากแล้ว
ยังอาจจะช่วยลดภาระภาษีสำหรับบางท่านลงได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ผมไม่ไม่ได้แนะนำว่าทุกท่านจะต้องไปลงทุนเล่นหุ้น หรือตราสารอนุพันธ์
หรือลงทุนในรูปแบบแปลก ๆ ที่เราไม่ได้มีความเข้าใจการลงทุนนั้น ๆ อย่างแท้จริงนะครับ
เพราะว่าการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ ย่อมจะมีความเสี่ยงมากน้อยแตกต่างกัน
หากเราไปลงทุนในรูปแบบที่ไม่เข้าใจความเสี่ยงแล้ว
เราอาจจะสูญเงินลงทุนทั้งหมด หรือขาดทุนในการลงทุนนั้นก็ได้

๓. เราไม่ควรคิดว่าพอเกษียณแล้ว จะไม่ทำอะไร
โดยจะนั่งกินนอนกินอยู่บ้านไปเฉย ๆ
แต่เราควรจะหางานที่เราพอจะทำได้ตามสภาพ
เพื่อให้มีรายได้เข้ามาจุนเจือตนเองหรือครอบครัวบ้าง แม้ว่าจะไม่มากนักก็ตาม

บางท่านอาจจะวางแผนว่าพอเกษียณแล้ว จะไม่ทำงานแล้ว
แต่จะเอาเวลาไปศึกษาและปฏิบัติธรรมเท่านั้น
ขอเรียนว่าแผนการดังกล่าวอาจจะไม่ใช่แผนการที่ดีนะครับ
โดยท่านน่าจะพิจารณาปรับแผนการเป็นว่า
จะเริ่มแบ่งเวลาศึกษาและปฏิบัติธรรมเสียแต่บัดนี้
แล้วในเวลาที่เกษียณแล้ว ก็ยังมีงานอื่นทำอยู่
แต่ว่าเวลาทำงานลดลง และสภาพงานจะเหมาะสมกับเราในช่วงเวลานั้น ๆ
อนึ่ง เราไม่ควรมองว่า การทำงานนั้นจะขัดแย้งกับการปฏิบัติธรรมนะครับ
ยกตัวอย่างในสมัยพุทธกาลนั้น ก็มีฆราวาสหลายท่านที่ภาวนาแล้วก็บรรลุธรรม
ในระหว่างที่ยังเป็นฆราวาสที่ต้องทำงานหาเลี้ยงชีพนี้แหละครับ

เราไม่ควรประมาทว่า เรามีเงินเก็บสะสมไว้เพียงพอแล้ว
จึงไม่ต้องสนใจทำงานเพื่อรายได้เล็กน้อยก็ได้
เพราะแม้ว่าจะมีเงินเก็บไว้มากมายอย่างไรก็ตาม
หากเราหลงหรือประมาทเพียงครั้งเดียวก็อาจจะโดนโกงทั้งหมดเลยก็ได้
ยกตัวอย่างของบางท่านที่แม้ว่าจะมีความรู้เป็นอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยก็ตาม
แต่หากพลาดเพียงครั้งเดียวก็สามารถสูญเงินที่เก็บมาตลอดชีวิตเลยก็ได้
http://www.thairath.co.th/content/232034

๔. เราต้องสอนลูกหลานให้เป็นคนดี มีธรรมะ และประพฤติเศรษฐกิจพอเพียง
โดยลูกหลานย่อมเป็นปัจจัยสำคัญที่จะล้างผลาญสมบัติได้เร็วและง่ายมาก
หากเราไม่ได้สั่งสอนลูกหลานให้เป็นคนดีเสียแล้ว
ลูกหลานก็ย่อมจะสร้างรายจ่ายและความเดือดร้อนได้มาก
โดยไม่ว่าเราจะมีเงินเก็บไว้มากเพียงใด ลูกหลานก็สามารถล้างผลาญได้หมด
ในทางกลับกัน หากลูกหลานเป็นคนดี มีธรรมะ และประพฤติเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว
นอกจากลูกหลานจะไม่ล้างผลาญสมบัติแล้ว ยังจะช่วยเหลือดูแลเรา
และช่วยเหลือทำงานและดูแลให้ทรัพย์สมบัติงอกเงยเพิ่มขึ้นอีกด้วย

๕ รายจ่ายที่สำคัญรายการหนึ่งที่ทำให้เราสูญเสียเงินจำนวนมาก
ก็คือรายจ่ายในเรื่องสุขภาพนะครับ
ดังนั้นแล้ว เราจึงควรแบ่งเวลาศึกษาหาความรู้ในเรื่องการดูแลสุขภาพตนเอง
รวมทั้งการรักษาอาการเจ็บป่วยตนเองในแนวทางที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก
โดยหากเราสามารถดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรง
ทำให้ไม่เจ็บป่วยเป็นโรคร้ายแรงแล้ว ก็ย่อมจะช่วยประหยัดรายจ่ายในส่วนนี้ได้
หรือแม้ว่าจะเจ็บป่วยเป็นโรคร้ายแรงก็ตาม
แต่หากเรามีความรู้ในการดูแลรักษาตนเอง โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากแล้ว
ก็ย่อมจะเป็นประโยชน์ในการประหยัดรายจ่ายของเราได้

ในเรื่องของการสนใจศึกษาและปฏิบัติธรรม และประพฤติเศรษฐกิจพอเพียง
การลงทุนที่เหมาะสมกับเรา การเตรียมหางานที่เหมาะสมทำภายหลังเกษียณ
การสอนลูกหลานให้เป็นคนดี และการรู้จักดูแลสุขภาพตนเองที่กล่าวข้างต้นนั้น
หากคนในครอบครัวได้ประพฤติปฏิบัติเช่นเดียวกันกับเราแล้ว
ก็ย่อมจะก่อประโยชน์ได้มากขึ้น และสร้างความมั่นคงให้ชีวิตได้
โดยไม่ต้องกังวลว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะเหลือศูนย์หรือจะติดลบนะครับ