Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๕๑

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

 

dharmajaree251

คนดื้อสอนยาก

ในชีวิตเรานั้นก็ย่อมจะต้องได้สอนหรือแนะนำอะไรให้คนอื่นอยู่บ้างนะครับ
ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้มีอาชีพเป็นครูหรืออาจารย์ก็ตาม
แต่เราก็ย่อมจะได้สอนหรือแนะนำอะไรให้คนในครอบครัว ญาติพี่น้อง
ลูกหลาน เพื่อนร่วมงาน มิตรสหาย หรือคนอื่น ๆ ที่ได้พบปะสนทนากันอยู่บ้าง
ในบรรดาคนทั้งหลายที่เราได้สอนหรือแนะนำอะไรให้นั้น
เราก็คงจะพบว่าบางคนนั้นดื้อและสอนยากมาก
แม้ว่าเราจะใช้พลังใจและพลังกายเพียงไรก็ตาม
ก็ไม่สามารถจะสอนแนะนำหรือชักจูงใจให้คนดื้อนั้นเปิดใจรับได้
นอกจากนี้แทนที่คนดื้อจะเปิดใจรับฟัง
อาจจะกลายเป็นว่าคนดื้อนั้นมาโกรธหรือโต้เถียงกับเราเสียอีก

ในเวลาที่เราเจอคนดื้อสอนยากเหล่านี้แล้ว
เราก็ควรต้องประเมินตนเองเหมือนกันว่าเราจะสอนหรือแนะนำเขาได้ไหม
เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะเป็นคนที่สามารถสอนกันได้ทุกคน
การที่เราไปทุ่มเทพลังและเวลาสอนคนดื้อที่ไม่สามารถสอนได้นั้น
ย่อมจะเป็นการเสียเวลาและพลังงานโดยเปล่าประโยชน์
โดยบางคนที่ดื้อนั้นก็ไม่ใช่ว่าเขาเพิ่งมาเริ่มมีนิสัยดื้อดึงในชีวิตนี้
แต่ว่าเขาดื้อมาตั้งแต่ชีวิตก่อน ๆ และดื้อแบบข้ามภพชาติเลยทีเดียว

ในอรรถกถาของยมกวรรคที่ ๑ คาถาธรรมบท ขุททกนิกาย
ได้เล่าเรื่องของพระติสสเถระซึ่งเป็นผู้สอนยากไว้ว่า
ท่านติสสเถระเป็นโอรสพระปิตุจฉาของพระผู้มีพระภาคเจ้า
โดยท่านได้บวชในกาลที่เป็นคนแก่แล้ว
โดยมาก ท่านจะนั่งอยู่ที่โรงฉันกลางวิหาร

ในสมัยหนึ่ง มีภิกษุอาคันตุกะหลายรูปเดินทางมาเฝ้าพระตถาคต
ได้พบพระติสสะที่โรงฉันกลางวิหารแล้วสำคัญว่า “นี่ จักเป็นพระเถระผู้ใหญ่”
ดังนี้แล้ว ได้ถามถึงวัตร ถามถึงกิจควรทำมีนวดเท้า เป็นต้น พระติสสะได้นิ่งเสีย
ลำดับนั้น ภิกษุหนุ่มองค์หนึ่งถามพระติสสะว่า “ท่านมีพรรษาเท่าไร?”
พระติสสะตอบว่า “ยังไม่มีพรรษา ข้าพเจ้าบวชในกาลเป็นคนแก่”

ภิกษุเหล่านั้นจึงกล่าวว่า “ท่านขรัวตาผู้มีอายุ ฝึกได้ยาก (แนะนำยาก)
ท่านไม่รู้จักประมาณตน ท่านเห็นพระเถระผู้ใหญ่มีประมาณเท่านี้แล้ว
ไม่ทำวัตรแม้มาตรว่าสามีจิกรรม เมื่อวัตรอันพระเถระเหล่านี้ถามโดยเอื้อเฟื้ออยู่
ท่านนิ่งเสีย แม้มาตรว่าความรังเกียจ ก็ไม่มีแก่ท่าน”

พระติสสะจึงร้องไห้เป็นทุกข์ และได้ไปสู่สำนักของพระศาสดาแล้ว
ฝ่ายภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้นก็ได้ไปกับพระติสสะนั้นด้วย
ในลำดับนั้น พระศาสดาตรัสถามพระติสสะว่า “ติสสะเป็นอะไร?
เธอจึงเป็นทุกข์ เสียใจ มีน้ำตาอาบหน้า ร้องไห้มาแล้วเช่นนี้”
พระติสสะกราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุเหล่านี้ด่าข้าพระองค์”
พระศาสดาตรัสถามว่า “ก็เธอนั่งแล้วที่ไหน?”
พระติสสะกราบทูลว่า “ที่โรงฉันกลางวิหาร พระเจ้าข้า”
พระศาสดาตรัสถามว่า “ภิกษุเหล่านี้มา เธอได้เห็นหรือ?”
พระติสสะกราบทูลว่า “เห็น พระเจ้าข้า”
พระศาสดาตรัสถามว่า “เธอได้ลุกขึ้นทำการต้อนรับหรือ?”
พระติสสะกราบทูลว่า “ไม่ได้ทำ พระเจ้าข้า”
พระศาสดาตรัสถามว่า “เธอได้ถามโดยเอื้อเฟื้อถึงการรับบริขารของภิกษุเหล่านั้นหรือ?”
พระติสสะกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ไม่ได้ถามโดยเอื้อเฟื้อ พระเจ้าข้า”
พระศาสดาตรัสถามว่า “เธอได้ถามโดยเอื้อเฟื้อถึงธรรมเนียม หรือน้ำดื่มหรือ?”
พระติสสะกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ไม่ได้ถามโดยเอื้อเฟื้อ พระเจ้าข้า”
พระศาสดาตรัสถามว่า “เธอนำอาสนะมาแล้ว ทำการนวดเท้าให้หรือ?”
พระติสสะกราบทูลว่า “ไม่ได้ทำ พระเจ้าข้า”

พระศาสดาจึงตรัสว่า “ติสสะ วัตรทั้งปวงนั่น เธอควรทำแก่ภิกษุผู้แก่
การที่เธอไม่ทำวัตรทั้งปวงนั่น นั่งอยู่ในท่ามกลางวิหาร ไม่สมควร
โทษของเธอเองมี เธอจงขอโทษภิกษุทั้งหลายนั่นเสีย”
พระติสสะกราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ พวกภิกษุนี้ได้ด่าข้าพระองค์
ข้าพระองค์ไม่ยอมขอโทษพวกภิกษุนี้”
พระศาสดาตรัสว่า “ติสสะ เธออย่าได้ทำอย่างนี้
โทษของเธอเองมี เธอจงขอโทษภิกษุเหล่านั้นเสีย”
พระติสสะกราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ยอมขอโทษภิกษุเหล่านี้”

ในลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลพระศาสดาว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระติสสะนี้เป็นคนว่ายาก”
พระศาสดาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ติสสะนี้มิใช่เป็นผู้ว่ายากแต่ในบัดนี้เท่านั้น
ถึงในกาลก่อน ติสสะนี้ก็เป็นคนว่ายากเหมือนกัน”
หลังจากนั้น พระศาสดาได้ทรงเล่าเรื่องในอดีตดังต่อไปนี้ว่า
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพาราณสีเสวยราชสมบัติอยู่ในเมืองพาราณสี
ดาบสชื่อ “เทวละ” ประสงค์จะเข้าไปอาศัยพระนครอยู่ ๔ เดือน
จึงเดินทางมาจากหิมวันตประเทศ ได้พบพวกคนเฝ้าประตูพระนคร
ถามว่า “พวกบรรพชิตผู้มาถึงพระนครนี้แล้ว ย่อมพักอยู่ที่ไหนกัน?”
เขาทั้งหลายบอกว่า “ที่โรงนายช่างหม้อ ขอรับ”

เทวลดาบสไปสู่โรงนายช่างหม้อแล้ว ยืนที่ประตูกล่าวว่า
“ข้าพเจ้าขอพักอยู่ในโรงสักราตรีหนึ่ง”
ช่างหม้อกล่าวว่า “ กลางคืน กิจของข้าพเจ้าที่โรงไม่มี นิมนต์ท่านอยู่ตามสบายเถิด ขอรับ”
เมื่อเทวลดาบสเข้าไปนั่งแล้ว
ได้มีดาบสแม้อีกองค์หนึ่งชื่อ “นารทะ” มาขอพักอยู่ราตรีหนึ่งกับนายช่างหม้อ
นายช่างหม้อคิดว่า “ไม่ทราบว่าดาบสองค์มาก่อนจะอยากอยู่กับดาบสองค์นี้หรือไม่”
จึงกล่าวว่า “ถ้าดาบสองค์ที่เข้าไปก่อนพอใจแล้ว
ท่านจงพักอยู่ตามความพอใจของดาบสองค์ก่อนเถิด ขอรับ.”
นารทดาบสนั้นเข้าไปหาเทวลดาบสแล้วกล่าวว่า
“ท่านอาจารย์ ผมขอพักอยู่ในโรงนี้ราตรีหนึ่งเถิด”
เทวลดาบสกล่าวว่า “ท่านจงเข้าไปอยู่ที่ส่วนข้างหนึ่งเถิด”

ดาบสทั้งสองรูปได้พูดปราศรัยชวนให้ระลึกถึงกันแล้ว
ในเวลาจะนอน นารทดาบสได้กำหนดที่นอนแห่งเทวลดาบสและประตูแล้วจึงนอน
ส่วนเทวลดาบสนั้น เมื่อจะนอน หาได้นอนในที่ของตนไม่
กลับไปนอนขวางที่กลางประตู
เมื่อนารทดาบสจะออกประตูไปในราตรี จึงได้เหยียบที่ชฏาของเทวลดาบส
เทวลดาบสกล่าวว่า “ใครเหยียบเรา?”
นารทดาบสกล่าวว่า “ท่านอาจารย์ ผมเอง”
เทวลดาบสกล่าวว่า “ชฎิลโกง ท่านมาจากป่าแล้ว เหยียบที่ชฎาของเรา”

นารทดาบสกล่าวว่า “ท่านอาจารย์ ผมไม่ทราบว่าท่านนอนที่นี้
ขอท่านจงอดโทษแก่ผมเถิด”
นารทดาบสออกไปข้างนอกแล้ว
เทวลดาบสคิดว่า “ดาบสรูปนี้ แม้เข้ามาจะพึงเหยียบเรา”
ดังนี้แล้ว จึงได้กลับนอนหันศีรษะไปทางเท้า
ฝ่ายนารทดาบสเมื่อจะกลับเข้าไปทางประตูคิดว่า
“แม้ทีแรก เราได้ผิดแล้วในท่านอาจารย์ บัดนี้ เราจะเข้าไปโดยทางเท้าของท่าน”
ดังนี้แล้ว เมื่อเข้ามาจึงได้เหยียบที่คอของเทวลดาบส
เทวลดาบสกล่าวว่า “นี่ใคร?”
นารทดาบสจึงกล่าวว่า “ท่านอาจารย์ ผมเอง”
เทวลดาบสได้กล่าวว่า “ชฎิลโกง ทีแรกท่านเหยียบที่ชฎาของเราแล้ว
ขณะนี้ท่านมาเหยียบที่คอเราอีก เราจักสาปท่าน”
นารทดาบสกล่าวว่า “ท่านอาจารย์ โทษของผมไม่มี
ผมไม่ทราบว่าท่านนอนอย่างนี้ ผมเข้ามาด้วยคิดว่า
แม้ทีแรกความผิดของเรามีอยู่ เดี๋ยวนี้ เราจักเข้าไปโดยทางเท้าท่าน
ดังนี้ ขอท่านจงอดโทษแก่ผมเถิด”

เทวลดาบสกล่าวว่า “ชฎิลโกง เราจะสาปท่าน”
จากนั้นแล้วจึงได้กล่าวสาปนารทดาบสว่า
“เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นมาในเวลาเช้า ขอศีรษะของท่านจงแตกออก ๗ เสี่ยง”
นารทดาบสจึงกล่าวว่า “ท่านอาจารย์ โทษของผมไม่มี แต่ท่านได้สาปแล้ว
โทษของผู้ใดมีอยู่ ขอศีรษะของผู้นั้นจงแตก ของผู้ไม่มีโทษ จงอย่าแตก
เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นมาในเวลาเช้า ขอศีรษะของท่านจงแตกออก ๗ เสี่ยง”

นารทดาบสนั้นมีอานุภาพใหญ่ตามระลึกชาติได้ ๘๐ กัลป์
คือในอดีตกาล ๔๐ กัลป์ ในอนาคตกาล ๔๐ กัลป์
ท่านคิดว่า “ความสาปจักตกในเบื้องบนแห่งใครหนอ?”
เมื่อใคร่ครวญไป ก็ทราบว่า “จักตกในเบื้องบนแห่งเทวลดาบส”
อาศัยความกรุณา นารทดาบสจึงได้ห้ามดวงอาทิตย์ไม่ให้ขึ้นด้วยกำลังฤทธิ์”

เมื่อดวงอาทิตย์ไม่ขึ้นในยามเช้า จึงเดือนร้อนถึงชาวเมืองทั้งหลาย
ชาวเมืองทั้งหลายจึงไปร้องทุกข์ต่อพระราชาผู้ปกครองเมือง
พระราชาทรงพิจารณาเรื่องแล้ว ก็ทรงระแวงว่า
“ชะรอยน่าจะเป็นความวิวาทของพวกบรรพชิต”
ดังนี้แล้ว จึงได้ทรงสืบทราบมาจนถึงโรงนายช่างหม้อ
จากนั้น พระราชาได้เสด็จมาที่โรงนายช่างหม้อ
และทรงทราบเรื่องราวทั้งหมดจากนารทดาบสแล้ว

พระราชาจึงได้ตรัสกับเทวลดาบสว่า “ท่านจงขอโทษนารทดาบสเสียเถิด”
เทวลดาบสกราบทูลว่า “ชฎิลนั่นเหยียบอาตมภาพที่ชฎา และที่คอ
อาตมภาพไม่ยอมขอโทษชฎิลโกงนั่น”
พระราชาจึงได้ตรัสว่า “ขอท่านจงขอโทษเสียเถิดขอรับ ท่านอย่าทำอย่างนี้”
เทวลดาบสกราบทูลว่า “อาตมภาพ ไม่ยอมขอโทษ”
แม้พระราชาจะตรัสกับเทวลดาบสว่า “ศีรษะของท่านจักแตกออก ๗ เสี่ยง”
ดังนี้ก็ตาม เทวลดาบสก็ยังไม่ยอมขอโทษอยู่นั่นเอง

พระราชาเห็นว่าเทวลดาบสไม่ยอมขอโทษด้วยสมัครใจแล้ว
จึงรับสั่งให้ราชบุรุษจับเทวลดาบสนั้นที่มือ เท้า ท้อง คอ ให้ก้มลงที่เท้าของนารทดาบส
นารทดาบสจึงกล่าวว่า “อาจารย์ เชิญท่านลุกขึ้นเถิด ข้าพเจ้ายอมยกโทษให้แก่ท่าน”
ดังนี้แล้ว กล่าวถวายพระพรว่า “มหาบพิตร ดาบสรูปนี้ไม่ได้ขอโทษอาตมภาพด้วยสมัครใจ
มีสระอยู่ในที่ไม่ไกลสระหนึ่ง ขอพระองค์รับสั่งให้ดาบสนี้ยืนทูนก้อนดินเหนียวบนศีรษะ
แช่น้ำอยู่ในสระนั้นแค่คอ” พระราชาจึงรับสั่งให้ทำอย่างนั้นแล้ว

นารทดาบสได้กล่าวกับเทวลดาบสว่า “ท่านอาจารย์ ครั้นฤทธิ์อันผมคลายแล้ว
เมื่อแสงพระอาทิตย์ส่องมา ท่านพึงดำลงเสียในน้ำแล้ว โผล่ขึ้นไปเสียโดยทางอื่น”
ในกาลนั้น พอรัศมีแห่งพระอาทิตย์ถูกก้อนดินเหนียวบนศีรษะของเทวลดาบสนั้นแล้ว
ก้อนดินเหนียวก็แตกออก ๗ เสี่ยง ส่วนเทวลดาบสนั้นได้ดำลงหนีไปที่อื่นแล้ว

พระศาสดาได้ทรงเล่าเรื่องดังกล่าวให้แก่ภิกษุทั้งหลายแล้ว จึงตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย พระราชาในกาลนั้น ได้เป็นอานนท์แล้ว
เทวลดาบสได้เป็นติสสะแล้ว
นารทดาบสได้เป็นเราเอง
ถึงในครั้งนั้น ติสสะนี่ก็เป็นผู้ว่ายากอย่างนี้เหมือนกัน”
(อรรถกถา ยมกวรรคที่ ๑ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท)
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25.0&i=11&p=3

ดังนี้แล้ว ในเวลาที่เราได้สอนหรือแนะนำคนดื้อนั้น
บางทีเราก็พึงระลึกว่าไม่ใช่ว่าเราจะสามารถสอนเขาได้นะครับ
เพราะเขาเองอาจจะดื้อมาแบบข้ามภพข้ามชาติแล้วก็ได้
ซึ่งถ้าเขาดื้อมากจริง ๆ แล้ว ในพระธรรมคำสอนก็มีวิธีการอยู่

ใน “เกสีสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต)
จะเปรียบเทียบการฝึกหัดม้ากับการฝึกหัดสอนคนนะครับ
โดยในสมัยหนึ่ง ได้มีผู้ฝึกม้าชื่อ “เกสี” เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
เกสีกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ฝึกหัดม้าที่ควรฝึกด้วยวิธีละม่อมบ้าง
รุนแรงบ้าง ทั้งละม่อมทั้งรุนแรงบ้าง
ถ้าม้าที่ควรฝึกของข้าพระองค์ ไม่เข้าถึงการฝึกหัดด้วยวิธีละม่อม ด้วยวิธีรุนแรง
ด้วยวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง ก็ฆ่ามันเสียเลย”
(กล่าวคือไม่สามารถฝึกหัดม้าตัวนั้นได้แล้ว จึงฆ่าทิ้ง)

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า “เราย่อมฝึกบุรุษที่ควรฝึกด้วยวิธีละม่อมบ้าง
รุนแรงบ้าง ทั้งละม่อมทั้งรุนแรงบ้าง
ในวิธีทั้ง ๓ นั้น การฝึกดังต่อไปนี้ เป็นวิธีละม่อม
คือ กายสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งกายสุจริตเป็นดังนี้ วจีสุจริตเป็นดังนี้
วิบากแห่งวจีสุจริตเป็นดังนี้ มโนสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งมโนสุจริตเป็นดังนี้
เทวดาเป็นดังนี้ มนุษย์เป็นดังนี้
การฝึกดังต่อไปนี้เป็นวิธีรุนแรง
คือกายทุจริต เป็นดังนี้ วิบากแห่งกายทุจริตเป็นดังนี้ วจีทุจริตเป็นดังนี้
วิบากแห่งวจีทุจริตเป็นดังนี้ มโนทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งมโนทุจริตเป็นดังนี้
นรกเป็นดังนี้ กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานเป็นดังนี้ ปิตติวิสัยเป็นดังนี้
การฝึกดังต่อไปนี้ เป็นวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง
คือ กายสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งกายสุจริตเป็นดังนี้
กายทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งกายทุจริตเป็นดังนี้
วจีสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งวจีสุจริตเป็นดังนี้
วจีทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งวจีทุจริตเป็นดังนี้
มโนสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งมโนสุจริตเป็นดังนี้
มโนทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งมโนทุจริตเป็นดังนี้
เทวดาเป็นดังนี้ มนุษย์เป็นดังนี้ นรกเป็นดังนี้
กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานเป็นดังนี้ ปิตติวิสัยเป็นดังนี้
ถ้าบุรุษที่ควรฝึกของเราไม่เข้าถึงการฝึกด้วยวิธีละม่อม
ด้วยวิธีรุนแรง ด้วยวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง เราก็ฆ่าเขาเสียเลย”

เกสีกราบทูลว่า “ปาณาติบาตไม่สมควรแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าเลย
เมื่อเป็นเช่นนั้น ไฉนพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอย่างนี้ว่า ฆ่าเขาเสีย”
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “จริง เกสี ปาณาติบาตไม่สมควรแก่ตถาคต
บุรุษที่ควรฝึกใด ย่อมไม่เข้าถึงการฝึกด้วยวิธีละม่อม
ด้วยวิธีรุนแรง ด้วยวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง
ตถาคตไม่สำคัญบุรุษที่ควรฝึกนั้นว่า ควรว่ากล่าว ควรสั่งสอน
แม้พรหมจารีผู้เป็นวิญญูชนก็ย่อมไม่สำคัญว่า ควรว่ากล่าว ควรสั่งสอน
ข้อที่ตถาคต ไม่สำคัญบุรุษที่ควรฝึกว่า ควรว่ากล่าว ควรสั่งสอน
แม้สพรหมจารีผู้เป็นวิญญูชนทั้งหลายก็ไม่สำคัญว่า ควรว่ากล่าว ควรสั่งสอน
นี้เป็นการฆ่าอย่างดีในวินัยของพระอริยะ”
(พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต)
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=21&A=3060&Z=3112&pagebreak=0

โดยสรุปแล้ว บางคนเขาก็ดื้อกันแบบข้ามภพข้ามชาตินะครับ
ซึ่งก็ย่อมจะเกินความสามารถที่เราจะไปสอนได้
ถ้าหากเจอคนดื้อแบบที่สอนไม่ได้แล้ว เราก็ควรต้องปล่อยวางเหมือนกัน
โดยไม่ไปสำคัญว่าเขาควรว่ากล่าว หรือควรสั่งสอน
แต่ถ้าหากคนดื้อนั้นเป็นคนที่เรามีหน้าที่ต้องสอนและปล่อยไปไม่ได้
เช่นเป็นบุตรหลานที่เราเลี้ยงดู หรือเป็นลูกศิษย์ที่เรามีหน้าที่สั่งสอน
เราก็พึงสอนไปตามหน้าที่ที่สมควร โดยเราพึงทำตนเป็นพรหมมีครบ ๔ หน้า
คือมีทั้งเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา
ไม่ใช่ว่ามีเพียงแต่เมตตา กรุณา มุทิตาเท่านั้น แต่ขาดอุเบกขา
นอกจากนี้แล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือเราพึงหมั่นตรวจสอบตนเองว่า
เราเองประพฤติตนเป็นคนดื้อและสอนยากด้วยหรือไม่
ถ้าเราเองก็เป็นคนดื้อและสอนยากแล้ว เราก็ควรปรับตัวเราเองด้วยเช่นกันครับ