Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๕๐

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

dharmajaree250

เวรย่อมระงับได้ด้วยความไม่มีเวร

พวกเราคงเคยได้ยินได้ฟังภาษิตโบราณที่ว่า
“เวรย่อมระงับได้ด้วยการไม่จองเวร” กันมาบ้างไม่น้อยนะครับ
ในคาถาธรรมบทในพระสุตตันตปิฎก ก็ได้สอนเรื่องนี้ไว้ว่า
“ก็ชนเหล่าใดเข้าไปผูกเวรไว้ว่า คนโน้นด่าเรา
คนโน้นได้ตีเรา คนโน้นได้ชนะเรา คนโน้นได้ลักสิ่งของ ๆ เรา
ดังนี้ เวรของชนเหล่านั้นย่อมไม่ระงับ
ส่วนชนเหล่าใดไม่เข้าไปผูกเวรไว้ว่า คนโน้นด่าเรา
คนโน้นได้ตีเรา คนโน้นได้ชนะเรา คนโน้นได้ลักสิ่งของ ๆ เรา
ดังนี้ เวรของชนเหล่านั้นย่อมระงับ
ในกาลไหน ๆ เวรในโลกนี้ย่อมไม่ระงับเพราะเวรเลย
แต่ย่อมระงับเพราะความไม่จองเวร ธรรมนี้เป็นของเก่า
(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑)
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=25&A=268&Z=329&pagebreak=0

ในอรรถกถาของคาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑
ได้มีเรื่องเล่าของนางกาลียักษิณีซึ่งเกี่ยวกับการผูกแค้นจองเวรระหว่างกัน ดังนี้
ในสมัยหนึ่ง มีบุตรคนหนึ่ง ซึ่งบิดาถึงแก่กรรมแล้ว
บุตรได้ทำการงานทั้งปวง ทั้งที่นา ทั้งที่บ้านด้วยตนเอง และได้ปฏิบัติมารดาอยู่
ต่อมา มารดาได้บอกแก่บุตรว่าจะหาภรรยามาให้บุตร
บุตรได้แย้งว่า แม่ อย่าทำเช่นนั้นเลย ตนเองจักปฏิบัติดูแลแม่ไปจนตลอดชีวิต
แม่ได้อธิบายว่า บุตรคนเดียวทำการงานอยู่ ทั้งที่นาและที่บ้าน
เพราะเหตุนั้น แม่จึงไม่มีความสบายใจเลย แม่จะหาภรรยามาให้

บุตรจึงถามมารดาว่า “แม่จะไปหาตระกูลไหน”
เมื่อมารดาบอกว่าจะไปตระกูลชื่อโน้นชื่อนั้นแก่บุตรแล้ว
บุตรได้ห้ามมารดาแล้ว บุตรได้บอกชื่อตระกูลที่ตนชอบใจหญิงสาวให้
มารดาได้ไปตระกูลนั้น และนำหญิงในตระกูลนั้นมาแต่งงานกับบุตร
โดยอาศัยในเรือนของบุตร แต่ปรากฏว่าหญิงนั้นเป็นหมัน

ต่อมา มารดาจึงกล่าวกับบุตรว่า เจ้าให้แม่นำหญิงมาตามชอบใจของเจ้าแล้ว
บัดนี้ หญิงนั้นเป็นหมัน ก็ธรรมดา ตระกูลที่ไม่มีบุตรย่อมฉิบหาย
ประเพณีย่อมไม่สืบเนื่องไป เพราะฉะนั้น แม่จักนำหญิงคนอื่นมาให้เจ้า
บุตรนั้นได้ยินแล้วก็กล่าวห้ามอยู่เนือง ๆ ว่า “อย่าเลย แม่”
แต่มารดาก็ยังกล่าวเช่นนั้นอยู่บ่อย ๆ

ฝ่ายหญิงหมันได้ยินคำของมารดาสามีนั้นแล้ว
จึงคิดว่า “ก็ธรรมดา บุตรย่อมไม่อาจฝืนคำมารดาบิดาไปได้
บัดนี้ แม่สามีคิดจะนำหญิงอื่นผู้ไม่เป็นหมันมาแล้ว ก็จักใช้เราอย่างนางทาสี
ถ้าอย่างไรแล้ว เราพึงนำหญิงสาวคนหนึ่งมาเสียเอง”
เมื่อคิดดังนั้น จึงไปยังตระกูลแห่งหนึ่ง ขอหญิงสาวมาเพื่อประโยชน์แก่สามี
พวกชนในตระกูลของหญิงสาวนั้นได้ห้ามปราม
หญิงหมันจึงอ้อนวอนว่า “ฉันเป็นหมัน ตระกูลที่ไม่มีบุตร ย่อมฉิบหาย
เมื่อบุตรีของท่านได้บุตรแล้ว จักได้เป็นเจ้าของสมบัติ
ขอท่านโปรดยกบุตรีให้แก่สามีของฉันเถิด”
ดังนี้ ตระกูลนั้นได้ยอมยกหญิงสาวให้แล้ว
หญิงหมันจึงนำหญิงสาวนั้นมาไว้ในเรือนของสามีโดยมาเป็นเมียน้อย

ต่อมา หญิงหมันนั้นเกิดวิตกว่า “ถ้าหญิงคนนี้ได้บุตรหรือบุตรีแล้ว
จักเป็นเจ้าของสมบัติแต่ผู้เดียว เราควรจะทำนางอย่าให้ได้ทารกเลย”
หญิงหมันจึงพูดกับเมียน้อยนั้นว่า “ครรภ์ตั้งขึ้นในท้องหล่อนเมื่อใด
ขอให้หล่อนบอกแก่ฉันเมื่อนั้นเถิด”
เมียน้อยนั้นได้รับคำ ซึ่งต่อมา เมื่อตั้งครรภ์แล้ว เธอได้บอกแก่หญิงหมันนั้น
ฝ่ายหญิงหมันนั้นได้ให้ข้าวต้มและข้าวสวยแก่เมียน้อยนั้นเป็นนิตย์
ต่อมา หญิงหมันได้ให้ยาสำหรับทำครรภ์ให้แท้งปนกับอาหารแก่เมียน้อยนั้น
ครรภ์ของเมียน้อยก็แท้ง

เมื่อครรภ์แรกแท้งแล้ว ต่อมาเมียน้อยได้ตั้งครรภ์เป็นครั้งที่ ๒
นางก็ได้บอกแก่หญิงหมันนั้นอีก หญิงหมันก็ได้ทำครรภ์ของหญิงสาวนั้นแท้งอีก
ลำดับนั้น บรรดาเพื่อนหญิงที่คุ้นเคยกันได้ถามเมียน้อยนั้นว่า
“หญิงร่วมสามีทำอันตรายหล่อนบ้างหรือไม่?
เมียน้อยเล่าความนั้นให้ฟังแล้ว เพื่อนหญิงเหล่านั้นได้แนะนำว่า
“หญิงหมันนี้ได้ประกอบยาสำหรับทำครรภ์ให้แท้งให้แก่เธอ
เพราะกลัวเธอจะเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้น ครรภ์ของเธอจึงแท้ง
เธออย่าได้ทำเช่นนั้นอีก”

ต่อมา เมียน้อยได้ตั้งครรภ์เป็นครั้งที่ ๓ แต่นางมิได้บอกแก่หญิงหมันนั้น
ฝ่ายหญิงหมันเห็นท้องของเมียน้อยนั้นแล้ว จึงถามเมียน้อยว่า
“เหตุไร เธอจึงไม่บอกความที่ครรภ์ตั้งแก่ฉัน”
เมียน้อยตอบว่า “หล่อนทำครรภ์ฉันให้แท้งไปถึง ๒ ครั้งแล้ว ฉันจะบอกแก่เธอทำไม”
หญิงหมันจึงวิตกว่า “บัดนี้ เราฉิบหายแล้ว”
แล้วได้คอยติดตามเฝ้าดูว่าเมียน้อยจะประมาทเมื่อไร

ต่อมา เมื่อครรภ์ของเมียน้อยแก่เต็มที่แล้ว หญิงหมันจึงสบโอกาสประกอบยาให้
แต่ครรภ์ของเมียน้อยไม่อาจตก เพราะครรภ์แก่มาก ทารกจึงนอนขวางทวาร
เมื่อเวทนากล้าแข็งขึ้น เมียน้อยก็ถึงแก่ความตาย
ในระหว่างที่ถึงแก่ความตายนั้น เมียน้อยได้ตั้งความปรารถนาว่า
“เราถูกหล่อนทำให้ฉิบหายแล้ว หล่อนเองนำเรามาเป็นเมียน้อย
แต่ได้ทำทารกให้ฉิบหายถึง ๓ คนแล้ว บัดนี้ เราเองก็จะฉิบหายด้วย
เราจุติจากอัตภาพนี้ พึงเกิดเป็นนางยักษิณี จะเคี้ยวกินทารกของมันเถิด”
เมื่อตั้งความปรารถนาดังนี้แล้ว เมียน้อยได้ตายไปเกิดเป็นแม่แมวในเรือนนั้นเอง

ฝ่ายสามีได้จับหญิงหมันแล้วกล่าวว่า “เจ้าได้ตัดตระกูลของเราให้ขาดสูญ”
แล้วก็ได้ทุบตีทำร้ายหญิงหมันนั้นจนบอบช้ำ
หญิงหมันนั้นก็ถึงแก่ความตายเพราะความบอบช้ำนั้น
จุติจากอัตภาพนี้แล้ว หญิงหมันได้เกิดเป็นแม่ไก่ในเรือนนั้นเช่นกัน

ด้วยอำนาจการผูกเวร ทั้งสองฝ่ายก็ผลัดสังหารกันไปคนละชาติ ดังนี้
ต่อมาไม่นาน แม่ไก่ได้ตกฟองไข่หลายฟอง
แม่แมวได้มากินฟองไก่เหล่านั้นเสีย
แม้ครั้งที่ ๒ ก็ตาม และแม้ครั้งที่ ๓ ก็ตาม
แม่แมวก็ได้มากินฟองไข่เหล่านั้นเหมือนกัน
แม่ไก่จึงได้ทำความปรารถนาว่า “มันมากินฟองของเราถึง ๓ ครั้งแล้ว
เดี๋ยวนี้ มันก็จะกินตัวเราด้วย เราจุติจากอัตภาพนี้แล้ว พึงได้กินมันกับลูกของมัน”

ต่อมา แม่ไก่จุติจากอัตภาพนั้น ได้เกิดเป็นแม่เสือเหลือง
ฝ่ายแม่แมวได้จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้เกิดเป็นแม่เนื้อ
ในเวลานั้น แม่เนื้อได้คลอดลูกแล้วๆ
แม่เสือเหลืองก็ได้มากินลูกทั้งหลายของแม่เนื้อเสียถึง ๓ ครั้ง
เมื่อเวลาที่จะตาย แม่เนื้อจึงได้ทำความปรารถนาว่า
“แม่เสือเหลืองตัวนี้กินพวกลูกของเราเสียถึง ๓ ครั้งแล้ว
เดี๋ยวนี้ มันจะกินตัวเราด้วย เราจุติจากอัตภาพนี้แล้ว พึงได้กินมันกับลูกของมันเถิด”

เมื่อแม่เนื้อจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดเป็นนางยักษิณี
ส่วนแม่เสือเหลืองจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้เกิดเป็นกุลธิดาในเมืองสาวัตถี
(มาถึงตอนนี้อาจจะเริ่มสับสนแล้วว่าใครเป็นใครนะครับ
สรุปย่อ ๆ คือ หญิงหมัน มาเป็น แม่ไก่ แม่เสือเหลือง และกุลธิดา ตามลำดับ
ส่วนเมียน้อย มาเป็น แม่แมว แม่เนื้อ และนางยักษิณี ตามลำดับ)

เมื่อกุลธิดาเติบโตแล้ว ได้แต่งงานเข้าสู่ตระกูลของสามี
ต่อมา กุลธิดาได้คลอดบุตรคนหนึ่ง
นางยักษิณีก็ได้มาจับทารกของกุลธิดานั้นไปกิน
เมื่อกุลธิดาได้ตั้งครรภ์และคลอดบุตรเป็นครั้งที่ ๒ แล้ว
นางยักษิณีก็ได้มาจับทารกของกุลธิดานั้นไปกินอีก
ในการตั้งครรภ์ครั้งที่ ๓ เมื่อนางกุลธิดามีครรภ์แก่
เธอได้บอกกับสามีว่า “นางยักษิณีตนหนึ่งกินบุตรของฉันไป ๒ คนแล้ว
ฉันจะไปสู่เรือนแห่งตระกูลของฉันเพื่อคลอดบุตร”
ดังนี้แล้ว นางจึงไปสู่เรือนแห่งตระกูลของตนและคลอดบุตรที่นั่น”

ส่วนนางยักษิณีนั้น ได้ไปสู่เรือนสามีของกุลธิดานั้น
จำแลงกายถามว่า “กุลธิดาสหายของฉันอยู่ที่ไหน”
พวกชาวบ้านได้บอกว่า “นางยักษิณีตนหนึ่งกินทารกของเธอที่คลอดในที่นี้
ฉะนั้น เธอจึงไปสู่เรือนแห่งตระกูลของเธอเพื่อคลอดที่นั่น”
นางยักษิณีนั้นคิดว่า “หล่อนจะไปในที่ไหน ๆ ก็ตามเถิด จักไม่พ้นเราได้”
ดังนี้แล้ว ด้วยกำลังเวร ทำให้อุตสาหะวิ่งบ่ายหน้าไปสู่เมืองของตระกูลของกุลธิดา
ฝ่ายกุลธิดาได้นำบุตรไปอาบน้ำในสระโบกขรณีใกล้วิหารพระเชตวัน
แล้วนำบุตรขึ้นมาให้นม นางกุลธิดาแลเห็นนางยักษิณีมาอยู่
กุลธิดาจึงวิ่งกลับบ่ายหน้าไปสู่ภายในวิหารพระเชตวันแล้ว

ในเวลานั้น พระศาสดาทรงแสดงธรรมอยู่ในท่ามกลางบริษัท
กุลธิดานั้นได้นำบุตรมานอนลงเคียงหลังพระบาทแห่งพระศาสดาแล้ว
กราบทูลว่า “บุตรคนนี้ ข้าพระองค์ถวายแด่พระองค์แล้ว
ขอพระองค์ประทานชีวิตแก่บุตรข้าพระองค์เถิด”
สุมนเทพผู้สิงอยู่ที่ซุ้มประตู ไม่ยอมให้นางยักษิณีเข้าไปข้างในพระวิหารได้
พระศาสดารับสั่งเรียกพระอานนทเถระมาแล้ว ตรัสว่า
“อานนท์ เธอจงไปนำนางยักษิณีนั้นมา”
พระเถระจึงได้นำนางยักษิณีนั้นมาแล้ว

นางกุลธิดากราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นางยักษิณีนี้มาแล้ว”
พระศาสดาตรัสว่า “นางยักษิณีจงมาเถิด”
ดังนี้แล้ว พระศาสดาได้ตรัสกะนางยักษิณีผู้มายืนอยู่แล้วว่า
“เหตุไร เจ้าจึงทำอย่างนั้น ก็ถ้าพวกเจ้าไม่มาสู่เฉพาะหน้าพระพุทธเจ้าผู้เช่นเราแล้ว
เวรของพวกเจ้าจักได้เป็นกรรมตั้งอยู่ชั่วกัลป์ เหมือนเวรของงูกับพังพอน
ของหมีกับไม้สะคร้อ และของกากับนกเค้า
เหตุไฉน พวกเจ้าจึงทำเวรและเวรตอบแก่กัน
เพราะเวรย่อมระงับได้ด้วยความไม่มีเวร หาระงับได้ด้วยเวรไม่”
ดังนี้แล้ว ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า
“ในกาลไหนๆ เวรในโลกนี้ย่อมไม่ระงับเพราะเวรเลย
แต่ย่อมระงับเพราะความไม่จองเวร ธรรมนี้เป็นของเก่า”

ในอรรถกถาได้อธิบายว่า เวรในโลกนี้ย่อมไม่ระงับเพราะเวรเลย เปรียบเสมือนว่า
บุคคลต้องการล้างที่ซึ่งเปื้อนแล้วด้วยของไม่สะอาด มีน้ำลายและน้ำมูกเป็นต้น
แต่ได้ล้างด้วยของไม่สะอาดเหล่านั้นเอง
ก็ย่อมไม่อาจทำให้เป็นที่หมดจด หายกลิ่นเหม็นได้
ในอันที่จริงแล้ว ที่นั้นกลับจะเป็นที่ไม่หมดจดและมีกลิ่นเหม็นยิ่งกว่าเก่าอีก ฉันใด
บุคคลเมื่อด่าตอบชนผู้ด่าอยู่ ประหารตอบชนผู้ประหารอยู่
ย่อมไม่อาจยังเวรให้ระงับด้วยเวรได้ แต่เขาได้ชื่อว่าทำเวรนั่นเองให้ยิ่งขึ้น ฉันนั้น
ฉะนั้นแล้ว เวรทั้งหลาย ย่อมไม่ระงับได้ด้วยเวร แต่กลับทำให้เวรเจริญขึ้น

ในส่วนที่ตรัสว่า เวรย่อมระงับเพราะความไม่จองเวรนั้น เปรียบเสมือนว่า
บุคคลได้ล้างที่ซึ่งเปื้อนแล้วด้วยของไม่สะอาด มีน้ำลายและน้ำมูกเป็นต้น
โดยล้างด้วยน้ำที่สะอาด ที่นั้นย่อมหายสกปรก
และย่อมเป็นที่หมดจด ไม่มีกลิ่นเหม็น ฉันใด
เวรทั้งหลายย่อมระงับ คือย่อมสงบ ได้แก่ย่อมถึงความไม่มีเวร
คือด้วยน้ำคือขันติและเมตตา ด้วยการทำไว้ในใจโดยแยบคาย ฉันนั้น

ในส่วนของคำที่ว่า “ธรรมนี้เป็นของเก่า” คือเป็นมรรคาแห่งพระพุทธเจ้า
พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระขีณาสพทั้งหลาย ทุกๆ พระองค์ดำเนินไปแล้ว

ในกาลจบพระคาถาของพระศาสดา นางยักษิณีนั้นตั้งอยู่ในพระโสดาปัตติผลแล้ว
เทศนานั้นได้เป็นกถามีประโยชน์ แม้แก่บรรดาบริษัทผู้ประชุมกันแล้ว
หลังจากนั้น พระศาสดาได้ตรัสกับหญิงนั้นว่า “เจ้าจงให้บุตรของเจ้าแก่นางยักษิณีเถิด”
กุลธิดานั้นได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์กลัว”
พระศาสดาตรัสว่า “เจ้าอย่ากลัวเลย อันตรายย่อมไม่มีแก่เจ้า เพราะนางยักษิณีนี้”
กุลธิดาได้ส่งบุตรให้แก่นางยักษิณีนั้นแล้ว
นางยักษิณีนั้นอุ้มทารกนั้นมาจูบกอด แล้วคืนให้แก่กุลธิดานั้น
แล้วนางยักษิณีนั้นก็เริ่มร้องไห้

พระศาสดาตรัสถามนางยักษิณีนั้นถึงเหตุที่ได้ร้องไห้
นางยักษิณีนั้นได้กราบทูลพระศาสนาว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อก่อนนี้ ข้าพระองค์หาเลี้ยงชีพโดยไม่เลือกทาง
ยังไม่ได้อาหารพอเต็มท้อง บัดนี้ ข้าพระองค์จะเลี้ยงชีพได้อย่างไร”
ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสปลอบนางยักษิณีนั้นว่า “เจ้าอย่าวิตกเลย”
แล้วได้ตรัสกับกุลธิดานั้นว่า “เจ้าจงนำนางยักษิณีไปให้อยู่ในเรือนของตน
แล้วจงปฏิบัติด้วยข้าวต้มและข้าวสวยอย่างดี”
หญิงนั้นนำนางยักษิณีไปอยู่ในเรือนของตน
และปฏิบัติด้วยข้าวต้มและข้าวสวยอย่างดีแล้ว

ต่อมา นางยักษิณีคิดอย่างนี้ว่า “เดี๋ยวนี้ หญิงสหายของเรานี้มีอุปการะแก่เรามาก
เราพึงทำความแทนคุณสักอย่างหนึ่ง” คิดดังนี้แล้ว ได้บอกแก่หญิงสหายว่า
“ในปีนี้จักมีฝนดี ท่านจงทำข้าวกล้าในที่ดอนเถิด
ในปีนี้ฝนจักแล้ง ท่านจงทำข้าวกล้าในที่ลุ่มเถิด”
ต่อมา ข้าวกล้าซึ่งชาวบ้านอื่น ๆ ได้ปลูกนั้น
ย่อมเสียหายด้วยน้ำมากไปบ้าง หรือน้ำน้อยไปบ้าง
ส่วนข้าวกล้าของนางกุลธิดานั้น ย่อมสมบูรณ์เหลือเกิน
ชาวบ้านอื่น ๆ นั้นจึงพากันถามนางกุลธิดานั้นว่า
“ข้าวกล้าที่หล่อนทำแล้ว ย่อมไม่เสียหายด้วยน้ำมากไป
และไม่เสียหายด้วยน้ำน้อยไป
หล่อนรู้ความที่ฝนดีและฝนแล้ง แล้วจึงทำการงานหรือ”

นางกุลธิดาจึงเล่าว่า “นางยักษิณีผู้เป็นสหายของฉัน
ได้บอกความที่ฝนดีและฝนแล้งแก่ฉัน
ฉันได้ทำข้าวกล้าทั้งหลายในที่ดอนและที่ลุ่ม ตามคำของยักษิณีนั้น
ฉันได้นำโภชนะ มีข้าวต้มและข้าวสวยอย่างดีเป็นต้น ไปให้นางยักษิณีนั้นเป็นนิตย์
แม้พวกท่านก็จงนำโภชนะ มีข้าวต้มและข้าวสวยอย่างดีเป็นต้น ไปให้นางยักษิณีบ้างสิ
นางยักษิณีก็จักแลดูการงานของพวกท่านบ้าง”

ชาวบ้านอื่น ๆ นั้นก็พากันทำสักการะแก่นางยักษิณีนั้นแล้ว
นับแต่นั้นมา นางยักษิณีที่ดูการงานทั้งหลายของชนทั้งปวงอยู่
ก็ได้เป็นผู้ถึงลาภอันเลิศ และมีบริวารมาก
(อรรถกถา พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑)
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=11&p=4

จากคำสอนในอรรถกถานี้ เราจะเห็นได้ว่า เวรย่อมไม่สามารถระงับด้วยเวรได้
เปรียบเหมือนสิ่งสกปรกย่อมไม่สามารถล้างได้ด้วยของสกปรก
หากยิ่งล้างไปแล้ว กลับจะยิ่งทำให้สกปรกมากยิ่งขึ้น
แต่เวรย่อมระงับได้ด้วยความไม่มีเวร
เปรียบเหมือนสิ่งสกปรกย่อมล้างออกได้ด้วยน้ำสะอาด
ซึ่งหากกุลธิดาและนางยักษิณีไม่ได้พบพระศาสนาเสียก่อนแล้ว
ทั้งสองฝ่ายย่อมจองเวรราวีกันไปเรื่อย ซึ่งจะต้องเป็นกรรมกันไปชั่วกัลป์
แต่เพราะได้พบพระศาสดาแล้ว จึงสามารถเลิกรากันไปได้

ในส่วนของพวกเราเฉพาะท่านที่อาจจะรู้สึกจองเวรใครอยู่ก็ตาม
แม้เราไม่ได้มีโอกาสพบพระศาสดาในเวลานี้
แต่เราได้มีโอกาสพบพระธรรมคำสอนของท่านแล้ว
เราพึงนำคำสอนของท่านมาประพฤติปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ตน
บางคนอาจจะบอกว่า “เขามาทำเราก่อนนะ เราไม่ผิด”
แต่หากพิจารณาจริง ๆ แล้ว ก็คือเราไม่ทราบหรอกครับ
เราอาจจะเป็นฝ่ายเคยเริ่มไปทำเขาก่อนก็ได้ในอดีตชาติ
หรือทั้งสองฝ่ายอาจจะผลัดกันจองเวรกันไปมาหลายภพหลายชาติแล้ว
เวลาที่ตนเองไปทำเขาได้ ก็อาจจะรู้สึกว่าได้ล้างแค้นสะใจ หรือไม่เสียใจ
แต่ไม่ได้เคยมองถึงอนาคตว่าจะโดนเขาทำบ้างเหมือนกัน
ดังนั้นแล้ว ถ้าจะระงับเวรดังกล่าวแล้ว ก็พึงระงับด้วยความไม่มีเวร
กล่าวคือ ขันติ เมตตา และความพิจารณาด้วยความแยบคาย
ใครจะทำใครก่อนนั้นไม่สำคัญ
แต่สำคัญที่ว่าเราพึงเลือกทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ คือพยายามระงับเวรนี้เสีย
พึงล้างสิ่งสกปรกด้วยน้ำสะอาด มิใช่ไปทำให้สกปรกมากยิ่งขึ้น