Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๔๙

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

งานฌาปนกิจ อาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม

dhamarajee249

 

ท่านอาจารย์กำพล ทองบุญนุ่มได้ละสังขาร
เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๘ เวลา ๑๐.๔๖ นาฬิกา
หลังจากนั้น ทางชมรมเพื่อนคุณธรรมได้จัดงานฌาปนกิจท่านอาจารย์
ณ อาศรมวิริยะธรรม อำเภอปางช่อง จังหวัดนครราชสีมา
เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา
โดยหลวงพ่อไพศาล วิสาโลได้แสดงธรรมในวันดังกล่าว
ในการนี้ ผมจึงขอนำธรรมบรรยายของหลวงพ่อไพศาล วิสาโล
ในงานฌาปนกิจอาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม มาเผยแพร่ต่อสำหรับท่านผู้อ่านครับ
************************************

ธรรมบรรยายโดยหลวงพ่อไพศาล วิสาโล

ในงานฌาปนกิจอาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม
วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๙
ณ อาศรมวิริยะธรรม อำเภอปางช่อง จังหวัดนครราชสีมา

วันนี้พวกเราทั้งหลายได้พร้อมใจกันมาบำเพ็ญกิจอันเป็นหน้าที่ที่พึงมีต่ออาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม ซึ่งหลายท่านนับถือเป็นกัลยาณมิตร นับถือเป็นครูบาอาจารย์

ตลอดช่วงเวลาเกือบ ๔๐ ปีของอาจารย์กำพล ท่านได้บำเพ็ญตนเป็นครูมาตลอด ในช่วงแรกท่านเป็นครูที่สอนในเรื่องทางโลกเท่านั้น คือสอนวิชาพลศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องของการบริหารร่างกาย ให้มีสุขภาพแข็งแรง แต่ในช่วง ๒๐ ปีสุดท้ายของท่าน ท่านเป็นครูสอนธรรมให้กับผู้คนมากมายซึ่งหลายท่านก็ได้มาพร้อมกัน ณ ที่นี่แล้ว อาจารย์กำพลได้เปิดทางสว่าง ให้กับผู้คนมากมายที่รู้สึกว่าชีวิตนั้นมืดมิด ได้ชี้ทางแห่งการออกจากทุกข์สำหรับผู้ที่รู้สึกตีบตันกับชีวิต ท่านได้ปลุกความหวังให้เกิดขึ้นกับผู้ที่สิ้นไร้ไม้ตอกหรือหมดอาลัยตายอยากในชีวิต

หลายคนเจ็บป่วยด้วยโรคร้าย หลายคนพิการอย่างเดียวกับท่าน หรืออาจจะน้อยกว่าท่าน อีกไม่น้อยเป็นบุคคลปกติที่มีอวัยวะครบถ้วน ๓๒ ประการ แต่ก็ได้รับอานิสงส์ทางธรรมจากอาจารย์กำพล บุคคลเหล่านี้มีมากมายนับไม่ถ้วน ทั้งพระ แม่ชี และญาติโยม

อาตมาเชื่อว่า พวกเราทั้งหลายในที่นี้ เรียกอาจารย์กำพลว่า "อาจารย์" ได้อย่างสนิทใจและเต็มปากเต็มคำ ไม่ใช่เพราะว่าท่านเคยเป็นครูสอนวิชาพลศึกษาในวิทยาลัยที่อ่างทอง แต่เพราะนับถือว่าท่านเป็นอาจารย์ทางธรรม เป็นผู้ให้ความสว่างกับชีวิต แม้อาจารย์กำพลมักจะพูดอยู่เสมอในทำนองปฏิเสธกลายๆ ว่าท่านไม่ได้เป็นอาจารย์ทางธรรม แต่เป็น "อุปกรณ์สอนธรรม" ท่านพอใจที่จะเป็นอุปกรณ์สอนธรรม มากกว่าเป็นอาจารย์ทางธรรม สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนของท่าน สำหรับอาจารย์กำพลแล้ว คำว่าอาจารย์ทางธรรม อาจมีความหมายน้อยกว่าอุปกรณ์สอนธรรม หรืออุปกรณ์แห่งพระธรรม

คำว่าอุปกรณ์สอนธรรมหมายความว่าอย่างไร เราได้เห็นธรรมะอะไรบ้างจากชีวิตและการดำรงอยู่ของอาจารย์กำพล อาตมาคิดว่าอย่างแรกเลยก็คือ ท่านได้สอนให้เราตระหนักถึงความไม่เที่ยงหรืออนิจจัง ชีวิตของท่านเป็นแบบอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เที่ยงของสังขาร จากครูวัย ๒๔ ที่มีอนาคตสดใส วันดีคืนดีกลับกลายเป็นผู้พิการ แผนการทั้งหลายในอนาคตที่วางไว้ต้องยกเลิกจนหมดสิ้น ทั้งการแต่งงาน การบวช รวมทั้งสิ่งที่วาดหวังไว้สำหรับชีวิตข้างหน้าอย่างปุถุชนทั่วไป จากคนที่มีความหวัง มีอนาคตสดใสกลายเป็นคนที่อนาคตดับวูบ มีชีวิตอยู่เพียงรอวันตาย

สิ่งที่เกิดขึ้นกับท่านนั้นเตือนใจเราอย่างชัดเจนว่า ชีวิตนั้นไม่เที่ยง วันนี้สุขสบายแข็งแรงดี แต่พรุ่งนี้อาจจะพิการ ชั่วโมงนี้เดินเหินไปไหนมาไหนได้ แต่ชั่วโมงหน้าอาจจะต้องพึ่งพาอาศัยรถเข็น ถ้าหากเราเห็นอาจารย์กำพลแล้วเกิดความไม่ประมาทในชีวิต เพราะตระหนักว่าอะไรๆ ที่เลวร้ายอาจจะเกิดขึ้นได้กับตน อันนี้ก็เท่ากับว่าเราได้เรียนธรรมะจากอาจารย์กำพลแล้ว

อาจารย์กำพลยังเป็นอุปกรณ์สอนธรรมให้เราตระหนักถึงความทุกข์ของสังขาร ความเจ็บป่วยหรือความพิการของท่านเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกชีวิต และรอวันที่จะเกิดขึ้นกับทุกผู้คน อยู่ที่ว่าเมื่อไหร่เท่านั้น สำหรับอาจารย์กำพล มันเกิดขึ้นขณะที่ยังเป็นหนุ่ม สิ่งที่เกิดขึ้นกับท่านนั้นน่าจะเตือนใจให้เราตระหนักถึงคำสอนของพระพุทธองค์ที่ว่า "เราทั้งหลายเป็นผู้ที่ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว เป็นผู้ที่มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว" ผู้คนมักจะไม่ตระหนักว่า ความทุกข์อยู่กับเราตลอดเวลา อีกทั้งรอเราอยู่ข้างหน้า อาจจะไม่ได้ปรากฏกับเราในรูปของความพิการ แต่อาจจะมาในรูปแบบอื่น เช่น ความเจ็บป่วยต่าง ๆ นานา

มองจากภายนอก อาจารย์กำพลเป็นผู้ที่มีร่างกายไม่สมประกอบ แต่ที่จริงแล้วความไม่สมประกอบ ความเสื่อม ความพร่อง หรือเรียกรวม ๆ ว่าความทุกข์นั้นอยู่กับเราตลอดเวลา เพียงแต่จะแสดงตัวออกมาชัดเจนเมื่อไรเท่านั้น หากเหตุปัจจัยถึงพร้อม ความทุกข์นั้นก็จะแสดงตัวอย่างชัดเจน สำหรับบางคนมันปรากฏในรูปความเจ็บป่วย แต่สำหรับอาจารย์กำพลเมื่อ ๔๐ ปีก่อน ความทุกข์แสดงตัวออกมาเป็นความพิการ ถึงแม้เราจะไม่ได้พิการอย่างอาจารย์กำพล แต่สังขารร่างกายของเราก็เต็มไปด้วยความบกพร่อง ไม่สมประกอบ ไม่สมบูรณ์เหมือนกัน เพียงแต่มันยังไม่แสดงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน แต่วันดีคืนดีมันก็แสดงตัวออกมา บางคนอาจจะเส้นเลือดในสมองแตก แล้วก็พิการในเวลาต่อมา หรือบางคนเจ็บป่วยจนกระทั่งไม่สามารถเดินได้ ต้องนอนติดเตียง

ความพร่องหรือความเสื่อมไม่ได้เพิ่งมีขึ้นเมื่อเกิดโรคภัยไข้เจ็บ มันอยู่กับเราตลอดเวลา เพียงแต่ยังไม่แสดงตัวชัดเจนเท่านั้น สำหรับอาจารย์กำพลมันเกิดขึ้นเมื่อท่านอายุ ๒๔ แต่สำหรับพวกเรามันจะแสดงตัวในวันข้างหน้า จะเป็นเมื่อไรไม่ทราบ นี่คือสิ่งที่เราควรตระหนักเมื่อได้รู้จักอุปกรณ์สอนธรรมที่ชื่ออาจารย์กำพล

นอกจากนี้อาจารย์กำพลยังเป็นอุปกรณ์สอนธรรมให้เห็นอีกด้านหนึ่งของความจริง กล่าวคือแม้ความทุกข์เป็นสิ่งที่เราหนีไม่พ้น แม้เราทั้งหลายเป็นผู้ที่ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว แต่เราสามารถออกจากทุกข์ได้ ถึงแม้จะทุกข์กายแต่ใจไม่ทุกข์ก็ได้ อันนี้เป็นธรรมหรือความจริงที่สะท้อนจากชีวิตของท่าน เป็นการให้ความหวังกับเราทั้งหลายที่มีความทุกข์ ว่าหนทางแห่งการออกจากความทุกข์นั้นมีจริง

อาจารย์กำพลประสบภัยที่ทำให้พิการ แต่หลังจากที่เข้าใจความจริงข้อนี้ท่านก็ลาออกจากความทุกข์ จิตใจลาออกจากความทุกข์ เพราะท่านได้ตระหนักว่า ที่พิการนั้นพิการแต่กาย ใจไม่ได้พิการด้วย หลงคิดอยู่ตั้งนานว่า ฉันพิการๆ แท้จริงหาใช่ไม่

การปฏิบัติธรรมทำให้อาจารย์กำพลได้เห็นว่า ที่พิการนั้นพิการแต่กาย ความทุกข์บางอย่างไม่มีใครหนีพ้น เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย รวมทั้งต้องประสบกับความพลัดพรากด้วย นี่เป็นความทุกข์ที่แม้กระทั่งพระอรหันต์ทั้งหลายก็ต้องประสบ แต่ไม่จำเป็นว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะต้องโศกเศร้าร่ำไรรำพัน คร่ำครวญ หมดอาลัยตายอยากกับชีวิต สมัยหนุ่มอาจารย์กำพลก็ตกอยู่ในสภาพดังกล่าว แต่การปฏิบัติธรรมทำให้ท่านเห็นว่า แท้จริงแล้วที่ทุกข์ใจก็เพราะหลงคิดว่าฉันพิการ แต่ความจริงมันไม่มีตัวฉันที่พิการเลย เมื่อเห็นความจริงเช่นนี้จิตก็ลาออกจากความทุกข์ เพราะรู้ว่าที่พิการนั้นเป็นเพียงกายที่พิการ ใจไม่ได้พิการด้วย นับแต่นั้นมาท่านก็ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข แม้ว่าความทุกข์จะยังบีบคั้นร่างกายอยู่ตลอดเวลาก็ตาม

ใครที่อยู่ใกล้ชิดหรือได้สนทนากับอาจารย์กำพล จะเห็นความสดใสในจิตใจของท่าน ที่เกิดขึ้นท่ามกลางความพิการ เมื่อได้เห็นท่านเช่นนี้แล้วอาตมาเชื่อว่าเราจะเห็นพ้องกับพุทธภาษิตที่ว่า "ผู้มีปัญญาแม้จะประสบทุกข์ก็ยังหาสุขพบ" เพราะความสุขก็อยู่ท่ามกลางความทุกข์นั่นแหละ ในร่างกายที่ทุกข์เพราะป่วยหรือเพราะพิการ ความสุขใจก็ยังเกิดขึ้นได้

มองในแง่หนึ่งความทุกข์ทำให้ท่านเข้าหาธรรม ถ้าท่านไม่เจ็บไม่ป่วยไม่พิการก็เป็นไปได้ว่า ท่านก็คงเหมือนครูทั่วๆ ไป สอนหนังสือจนเกษียณเมื่ออายุครบ ๖๐ คือเมื่อปีที่แล้ว แล้วก็ใช้ชีวิตหลังเกษียณเหมือนคนทั่วไป มีความสุขอย่างโลกๆ แต่เป็นเพราะความพิการ ท่านจึงหันเข้าหาธรรมะ โดยเริ่มจากการอ่านหนังสือธรรมะ และพบว่าสบายใจเพียงชั่วคราว พอหยุดอ่านก็ทุกข์ใหม่ ท่านจึงเห็นความสำคัญของการปฏิบัติธรรม

ถ้าไม่ใช่เพราะความพิการของท่าน ท่านอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ หรือไม่มีโอกาสพบปะกับหลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ การที่ท่านได้อุตสาหะเขียนจดหมายถึงหลวงพ่อคำเขียนเมื่อ ๒๑ ปีที่แล้ว ขณะที่นอนป่วยบนเตียง นั้นคือจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้ท่านเข้าสู่ธรรมะ

คำสอนของหลวงพ่อคำเขียนที่ได้เรียบเรียงเป็นจดหมาย ทำให้อาจารย์กำพลเห็นแนวทางในการปฏิบัติ หลวงพ่อคำเขียนได้แนะนำท่านให้หมั่นรู้สึกตัว เมื่อยกมือพลิกไปพลิกมาก็ให้รู้สึกตัว รู้ว่ามือเคลื่อนไหว หากใจเผลอนึกคิดไปก็อย่าไปตามความคิดนั้น กลับมากำหนดรู้อยู่กับกาย สร้างตัวรู้ให้มาก ๆ มีอารมณ์ใดๆ เกิดขึ้นก็แค่ดู อย่าเข้าไปอยู่ มีอารมณ์ใดๆ เกิดขึ้นก็แค่เห็น อย่าเข้าไปเป็น คำสอนที่ไม่ยืดยาว เพียงเท่านี้ แต่ด้วยความอุตสาหะของอาจารย์กำพล เมื่อปฏิบัติอย่างตั้งใจก็ได้เห็นความจริงว่า แท้จริงแล้วไม่ใช่เราที่พิการ เป็นแค่กายต่างหากที่พิการ

เมื่อรู้ว่ากายพิการ จิตก็ลาออกจากความทุกข์ เพราะแท้จริงแล้วจิตไม่ได้พิการเลย แต่เพราะความหลง จิตจึงไปยึดเอาความพิการของกายเป็นความพิการของกูไป ถ้าจิตนั้นเป็นเพียงแค่ดู ไม่เข้าไปอยู่ เพียงแค่เห็น ไม่เข้าไปเป็น ก็ไม่มีความทุกข์ใจเกิดขึ้น พิการก็เป็นเรื่องของกาย แต่ใจก็ยังเป็นปกติ

ด้วยเหตุนี้ท่านจึงมีความสุขยิ่งกว่าคนมากมายที่มีสุขภาพดี มีอาการครบ ๓๒ จะว่าไปแล้ว ไม่ใช่ความทุกข์เท่านั้นที่ผลักให้อาจารย์กำพลเข้าหาธรรม ความทุกข์นั้นเองยังเป็นวัตถุดิบอย่างดีที่ทำให้ท่านได้เห็นธรรม อาจารย์กำพลเคยพูดว่า ต้องขอบคุณความทุกข์ เพราะความทุกข์ทำให้รู้จักทุกข์ และทำให้เห็นทางออกจากทุกข์"

ทุกข์ไม่ได้ทำหน้าที่ผลักไสให้เราเข้าหาธรรมเท่านั้น ตัวมันเองยังคือธรรม ที่ถ้าหากเราเห็นและเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง จิตก็จะออกจากทุกข์ได้ ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องรู้ หรือเป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ คำว่ารู้ในที่นี้ภาษาบาลีคือคำว่า ปริญญาแต่คนส่วนใหญ่เมื่อทุกข์เกิดขึ้น แทนที่จะรู้ แทนที่จะเห็น กลับเป็นทุกข์เสียเอง

ในจดหมายที่หลวงพ่อคำเขียนได้เขียนถึงอาจารย์กำพล ท่านเขียนว่า เห็นว่ามันทุกข์ อย่าไปเป็นผู้ทุกข์เมื่อมีอาการอึดอัดขัดเคือง ก็ให้เห็นมัน รู้ว่ามันเป็นอาการของจิตใจ อย่าเข้าไปเป็นกับอะไร

เมื่อเราเห็นทุกข์อย่างแจ่มแจ้ง ก็จะรู้ว่าเป็นเพราะความยึดติดถือมั่นในความทุกข์นั้นเอง เป็นเพราะความไม่เข้าใจความจริงว่าทุกสิ่งล้วนเป็นทุกข์ จึงทำให้เกิดความติดยึดและเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ใจ เมื่ออะไรๆ ไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง ไม่เป็นไปอย่างที่ยึดมั่นถือมั่น

อาจารย์กำพลเคยพูดว่าความทุกข์ทำให้รู้จักชีวิต ถ้าไม่มีทุกข์เราก็ไม่มีวันรู้จักชีวิตเลยคำว่า รู้จักชีวิตของท่านมีความหมายกว้าง คือเห็นความจริงของชีวิตอย่างแจ่มแจ้ง ว่าชีวิตไม่มีอะไรที่จะยึดมั่นถือมั่นได้เลย เป็นเพราะความหลง จึงทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น อันเป็นเหตุแห่งทุกข์ ทุกข์ในที่นี้คือความทุกข์ใจ ส่วนทุกข์กายไม่มีใครที่จะหนีพ้นได้

การเป็นอุปกรณ์สอนธรรมของอาจารย์กำพล ยังทำให้เราตระหนักว่า ธรรมนั้นมีอานุภาพมาก สามารถเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี เปลี่ยนทุกข์ให้กลายเป็นสุขได้ แต่ไม่ใช่สุขอย่างที่เราเข้าใจ หากเป็นสุขเหนือสุข ถ้าไม่พบธรรม อาจารย์กำพลก็ยังเต็มไปด้วยความทุกข์ หรืออาจจะไม่มีชีวิตยืนยาวมาจนถึงป่านนี้ได้ หลวงพ่อคำเขียนก็เคยพูดว่าถ้าท่านไม่รู้ธรรม ไม่มาทางธรรม ท่านก็คงจะอายุสั้น เพราะท่านเป็นคนเอาจริงเอาจัง อยากมั่งมีกว่าใคร ๆ จะทำอะไรก็ต้องดีกว่า ทำได้มากกว่าคนอื่น จนเจ็บไข้ได้ป่วย แต่เป็นเพราะธรรม ท่านจึงสามารถนำพาชีวิตจิตใจออกจากความทุกข์ได้

อาตมาเชื่อว่า ใครที่ได้รู้จัก และสนทนากับอาจารย์กำพล จะมีความมั่นใจว่า ธรรมช่วยให้ออกจากทุกข์ ได้ รวมทั้งรู้จักฉวยโอกาสจากความทุกข์นั้นให้เป็นประโยชน์ จะไม่ยอมทุกข์ฟรี ๆ หลวงพ่อคำเขียนพูดอยู่เสมอว่าอย่าทุกข์ฟรีๆ เป็นเพราะธรรม อาจารย์กำพลจึงพิการเป็น คนส่วนใหญ่พิการไม่เป็น คือพอกายพิการ ใจก็พิการด้วย อาจารย์กำพลพิการเป็น จึงพิการแต่กาย ใจไม่ทุกข์ ธรรมที่ช่วยอาจารย์กำพลอย่างมาก คือความรู้สึกตัว และสติ ซึ่งเป็นธรรมที่มีพลานุภาพมาก ทำให้จิตถอนจากความทุกข์ได้ เพราะความรู้สึกตัวช่วยรักษาใจให้เห็น ไม่เข้าไปเป็น ให้เพียงแค่ดู ไม่เข้าไปอยู่กับความทุกข์ การเห็นด้วยใจที่เป็นกลางจึงทำให้เห็นความจริงของกายและใจ คือเห็นธรรมะ และเมื่อเห็นธรรมอย่างลึกซึ้ง จิตใจก็สามารถออกจากทุกข์ได้

ถ้าเราเรียนจากอาจารย์กำพล ถึงเวลาป่วยเราก็จะป่วยเป็น จะไม่ป่วยเลยนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่พอถึงเวลาป่วยก็ป่วยเป็น คือป่วยแต่กายใจไม่ป่วย ป่วยอย่างไรใจก็ไม่ทุกข์ อันนี้เป็นทั้งความหวังที่ให้กำลังใจเรา และเป็นสิ่งที่ท้าทายเราด้วย ว่าเราจะทำได้ไหม แต่ถ้าเราทำไม่ได้ ความทุกข์ก็รอเราอยู่เบื้องหน้าแล้ว หรืออาจกำลังครอบงำย่ำยีเราอยู่ตอนนี้ก็ได้

อาจารย์กำพลยังเป็นอุปกรณ์สอนธรรมหรือบอกความจริงแก่เราว่า แม้แต่ฆราวาสเองก็สามารถเข้าถึงธรรมหรือบรรลุธรรมได้ ธรรมไม่ได้จำกัดเฉพาะบรรพชิตหรือคนบางกลุ่มเท่านั้น แม้กระทั่งคฤหัสถ์ ผู้ครองเรือน ถือศีล ๕ ก็สามารถบรรลุธรรมได้ เมื่อสักครู่เราได้สวดอภิธรรม มีข้อความตอนหนึ่งว่า "ผู้ควรแก่มรรคผลนิพพาน และผู้ไม่ควรแก่มรรคผลนิพพาน" ผู้ควรแก่มรรคผลนิพพานนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นพระนุ่งเหลืองหรือแม่ชีห่มขาวเท่านั้น คฤหัสถ์หรือฆราวาส ชายและหญิง เด็กหรือคนแก่ ก็เป็นได้ทั้งนั้น เพราะความเป็นพระแท้จริงแล้วอยู่ที่คุณธรรมภายใน

ในสมัยพุทธกาลมีอำมาตย์คนหนึ่งชื่อสันตติ เป็นคนที่ไม่สนใจใฝ่ธรรม วันหนึ่งมีโชค พระเจ้าปเสนทิโกศลปูนบำเหน็จความดีความชอบให้ครองราชย์เจ็ดวัน แต่แทนที่จะใช้โอกาสนั้นทำความดี สร้างประโยชน์ให้มหาชน สันตติอำมาตย์เอาแต่สนุกสนาน เสพสุรา แสวงหาความบันเทิงเริงรมย์ ดูการฟ้อนรำตลอด ๗ วัน ๗ คืน จนกระทั่งหญิงฟ้อนรำคนโปรดขาดใจตายต่อหน้า เพราะว่าเหนื่อยล้ามาก สันตติอำมาตย์เสียใจมาก ไม่รู้จะบรรเทาความเศร้าโศกยังไง จึงไปหาพระพุทธเจ้า ทั้งที่ปกติไม่เคยไปพบพระองค์ แต่เมื่อมีความทุกข์จึงไปเฝ้า พระพุทธองค์ตรัสถึงโทษภัยของวัฏสงสารว่า น้ำตาที่เกิดเพราะความสูญเสียชาติแล้วชาติเล่านั้นรวมกันแล้วเท่ากับน้ำในมหาสมุทรทีเดียว แล้วทรงสอนให้สันตติอำมาตย์มุ่งกำจัดกิเลสที่เคยมีอยู่ให้หมดไป และไม่ทำให้เกิดขึ้นอีก รวมทั้งละความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวง สันตติอำมาตย์พิจารณาตาม ก็เกิดปัญญาแจ่มแจ้ง บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ แต่คงเพราะเหนื่อยล้ากับความบันเทิงเริงรมย์มาก จึงเสียชีวิตหรือปรินิพพานในวันนั้น

ภิกษุทั้งหลายเมื่อทราบเรื่องก็สอบถามพระพุทธเจ้าว่า ควรเรียกสันตติอำมาตย์ว่าเป็นอะไร เป็นคฤหัสถ์หรือเป็นภิกษุ เพราะสันตติอำมาตย์ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ขณะเป็นคฤหัสถ์ พระพุทธเจ้าจึงตรัสเป็นภาษิตว่า "บุคคลแม้ประดับประดา แต่ประพฤติตนสม่ำเสมอ เป็นผู้สงบ เที่ยงธรรม ปฏิบัติอย่างประเสริฐ วางอาชญาในสัตว์ทั้งหลาย ผู้นั้นชื่อว่าพราหมณ์ ผู้นั้นชื่อว่าสมณะ ผู้นั้นชื่อว่าภิกษุ"

คำว่า “สงฆ์” ในพระรัตนตรัยนั้นไม่ได้หมายถึงผู้ที่ห่มเหลือง แต่หมายถึงอริยสงฆ์หรือผู้ที่บรรลุธรรมขั้นสูงเป็นพระอริยบุคคล ไม่ว่าจะเป็นภิกษุ หรือเป็นคฤหัสถ์ก็นับว่าเป็นสงฆ์ในพระรัตนตรัย ดังนั้นสันตติอำมาตย์จึงได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในอริยสงฆ์

เมื่อเราได้พิจารณาชีวิตและคุณธรรมของอาจารย์กำพล ก็ขอให้เราตระหนักว่า ความเป็นสมณะ ความเป็นภิกษุนั้นไม่ได้อยู่ที่เครื่องนุ่งห่ม การเข้าถึงธรรมนั้นอยู่ในวิสัยของทุกผู้คนได้ หลวงพ่อคำเขียนได้เขียนในจดหมายถึงอาจารย์กำพลว่า แม้ทางร่างกายจะพิการอยู่ก็ไม่เป็นไร ถ้ายังมีความรู้สึกตัวอยู่ ก็เรียกว่ายังมีหน่อแห่งโพธิอยู่หน่อแห่งโพธินี้สามารถที่จะบำรุงให้เติบโตงอกงามจนเป็นโพธิ์ต้นใหญ่ นำไปสู่การตรัสรู้ได้

ขอให้เราพิจารณาหาประโยชน์จากอุปกรณ์สอนธรรม ซึ่งแม้บัดนี้ได้ทอดร่างอยู่เบื้องหน้าเราแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ยุติการสอนธรรม แม้หมดลมแล้วอาจารย์กำพลก็ยังสอนธรรมด้วยสังขารของท่าน ว่าถึงที่สุดแล้วเราทุกคนก็ต้องตาย จุดหมายปลายทางของเราทุกคนคือเชิงตะกอน ขอให้เราพิจารณาธรรมที่ท่านกำลังแสดงให้กับเราอยู่ เพื่อเป็นสิ่งกระตุ้นให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท หมั่นบำเพ็ญเพียรภาวนา

ตอนที่อาจารย์กำพลรู้ว่า ท่านกำลังอยู่ในวาระสุดท้ายเพราะโรคร้าย ท่านไม่ได้มีความวิตกกังวลเลย เมื่อมีคนถามเรื่องนี้ ท่านให้คำแนะนำจากประสบการณ์ของท่านเอง ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่เจ็บป่วย ท่านบอกว่าให้ยอมรับ ๓ ประการ

ประการแรก คือ ยอมรับความจริง ว่าเป็นโรคร้าย ไม่ต้องตีโพยตีพาย บ่นคร่ำครวญ ว่าทำไมต้องเป็นฉันๆ เพราะว่า ใครๆ ก็เป็นได้ทั้งนั้น

ประการที่สองคือยอมรับความเป็นไป เมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นโรคร้าย ก็พยายามรักษาเยียวยา แต่ถ้ามันไม่หายและลุกลามมากขึ้นจนเข้าสู่ระยะสุดท้าย นี้คือความเป็นไปของโรคที่ต้องยอมรับ เมื่อรักษาแล้วไม่หาย ก็ยอมรับว่ามันไม่หาย

ประการสุดท้าย คือยอมรับความตาย เมื่อความตายมาถึงก็ต้องยอมรับความจริงให้ได้ การยอมรับความจริงเป็นลูกกุญแจที่ช่วยปลดเปลื้องใจเราออกจากความทุกข์ ถ้าเราไม่ยอมรับความจริงเราก็จะดิ้นรนต่อสู้ขัดขืน การดิ้นรนขัดขืนนั้นเองจะสร้างความทุกข์ใจให้เรามากกว่าโรคร้ายเสียอีก โรคร้ายนั้นทำได้แต่สร้างความทุกข์ให้กับร่างกาย แต่พอดิ้นรนต่อสู้ขัดขืนไม่ยอมรับความจริง ความทุกข์ใจก็จะเกิดขึ้นทันที เป็นทุกข์อย่างยิ่งไม่ใช่เพราะโรคร้าย แต่ทุกข์เพราะใจ มันกระทำซ้ำเติมตัวเอง ถ้ารักตัวเองก็อย่าซ้ำเติมตัวเอง ถ้าทุกข์ก็ให้ทุกข์อย่างเดียวคือทุกข์กาย อย่าให้ทุกข์ใจด้วย และถ้าฉลาดกว่านั้นก็อย่าทุกข์กายฟรีๆ อาศัยความทุกข์นั้นเป็นวัตถุดิบสอนธรรม

ที่จริงอุปกรณ์สอนธรรมมีอยู่กับเราทุกคน ความเจ็บป่วยในตัวเราเป็นอุปกรณ์สอนธรรม อารมณ์อกุศลที่เกิดขึ้นในใจก็คืออุปกรณ์สอนธรรม เราทั้งหลายมีอุปกรณ์สอนธรรมอยู่ในตัวเราทั้งสิ้น เพราะสามารถสอนให้เราเห็นพระไตรลักษณ์ได้ อย่าคิดว่าอุปกรณ์สอนธรรมวันนี้กำลังจะถูกไฟเผาผลาญจนเหลือเพียงเถ้าถ่านหรืออังคาร อุปกรณ์สอนธรรมยังมีอยู่กับเรา ติดตัวเราอยู่ตลอดเวลา ขอเพียงเราเอาคำสอนของอาจารย์กำพลและครูบาอาจารย์ทั้งหลาย มาเป็นเครื่องเตือนใจเรา

วันนี้เรามาทำหน้าที่ต่อสรีระของอาจารย์กำพล แต่หน้าที่ต่อคำสอนของท่านยังมีอยู่ ขอให้เราช่วยกันบำเพ็ญหน้าที่ทั้งสองให้ครบถ้วน หลังจากวันนี้ไปภารกิจต่อสรีระของท่านเป็นอันยุติ แต่หน้าที่ต่อคำสอนของท่านยังมีอยู่ และรอความตั้งใจความพากเพียรพยายามของเรา

หวังว่าทุกท่านในที่นี้จะเกิดแรงบันดาลใจ จากการที่ได้มาเรียนรู้ ได้มารู้จัก ได้มาสัมผัสกับอาจารย์กำพล ให้ช่วงเวลาที่เราเคยอยู่กับท่าน ได้พบปะสนทนากับท่านมีความหมายยั่งยืนต่อไปในอนาคต อย่าให้ยุติไปพร้อมๆ กับการสิ้นลมของท่าน
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
หมายเหตุ ท่านพระสุรินทร์ ก่อนการคิด ผู้เผยแพร่ไฟล์เสียง

คุณหมออัจฉรา กลิ่นสุวรรณ์ ผู้บันทึกธรรม

ข้อมูล จาก FB Page ชมรมเพื่อนคุณธรรม สร้างสรรค์สื่อสร้างเสริมคุณธรรม [Fan] Club”