Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๔๕

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

 

ภัยในอนาคต

 

dhamajaree245

ในช่วงต้นเดือนมีนาคมนี้ ผมได้เห็นข่าวเรื่องดาวมฤตยูย้ายราศีมาทับดวงเมือง
ซึ่งเป็นการเคลื่อนตัวครั้งแรกในรอบ ๘๔ ปีหลังจากเปลี่ยนการปกครองในประเทศไทย
http://www.dailynews.co.th/crime/384104
ผมได้อ่านข่าวข้อมูลในเรื่องนี้จากแหล่งต่าง ๆ แล้ว
ก็เห็นบางท่านเป็นห่วงกังวลว่า เรื่องดาวมฤตยูย้ายราศีมาทับดวงเมืองนี้
จะทำให้เกิดภัยในอนาคตบางอย่างแก่ตนเอง

ในพระธรรมคำสอนก็ได้มีกล่าวสอนในเรื่อง “ภัยในอนาคต” ไว้ด้วยนะครับ
โดยใน “อนาคตสูตรที่ ๑” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต) สอนว่า
ภิกษุผู้อยู่ป่าพึงเห็นภัยในอนาคต ๕ ประการนี้ ควรเป็นผู้ไม่ประมาท
มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ
เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ภัย ๕ ประการ คือ

ภิกษุผู้อยู่ป่าในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นว่า บัดนี้เราอยู่ในป่าผู้เดียว
งูพึงกัดเรา แมลงป่องพึงต่อยเรา หรือตะขาบพึงกัดเรา
เพราะเหตุนั้นๆ เราพึงทำกาละ พึงมีอันตรายแก่เรา

อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้อยู่ป่า ย่อมพิจารณาเห็นว่า บัดนี้เราอยู่ในป่าผู้เดียว
เมื่อเราอยู่ในป่าผู้เดียว พึงพลาดล้มลง ภัตตาหารที่ฉันแล้วไม่ย่อย
ดีของเราพึงกำเริบ เสมหะพึงกำเริบ หรือลมมีพิษเพียงดังศัตราพึงกำเริบ
เพราะเหตุนั้นๆ เราพึงทำกาละ พึงมีอันตรายแก่เรา

อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้อยู่ป่า ย่อมพิจารณาเห็นว่า บัดนี้เราอยู่ในป่าผู้เดียว
เมื่อเราอยู่ในป่าผู้เดียว พึงพบสัตว์ร้าย คือสีหะ เสือโคร่ง เสือเหลือง
หมี หรือเสือดาว สัตว์เหล่านั้นพึงทำร้ายเราถึงตาย
เพราะเหตุนั้นๆ เราพึงทำกาละ พึงมีอันตรายแก่เรา

อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้อยู่ป่า ย่อมพิจารณาเห็นว่า บัดนี้เราอยู่ในป่าผู้เดียว
เมื่อเราอยู่ในป่าผู้เดียว เราพึงพบคนร้าย ผู้มีกรรมอันทำแล้ว
หรือมีกรรมยังไม่ได้ทำ คนร้ายเหล่านั้นพึงปลงเราจากชีวิต
เพราะเหตุนั้นๆ เราพึงทำกาละ พึงมีอันตรายแก่เรา

อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้อยู่ป่า ย่อมพิจารณาเห็นว่า บัดนี้เราอยู่ในป่าผู้เดียว
เมื่อเราอยู่ในป่าผู้เดียว ในป่าย่อมมีพวกอมนุษย์ดุร้าย อมนุษย์เหล่านั้นพึงปลงชีวิตเรา
เพราะเหตุนั้นๆ เราพึงทำกาละ พึงมีอันตรายแก่เรา

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้อยู่ป่าเห็นภัยในอนาคตเหล่านี้
ควรเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง
เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=22&A=2306&Z=2344&pagebreak=0

ใน “อนาคตสูตรที่ ๒” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต) สอนว่า
ภิกษุผู้เห็นภัยในอนาคต ๕ ประการนี้ ควรเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร
มีใจเด็ดเดี่ยว เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ
เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ภัย ๕ ประการ คือ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นว่า บัดนี้ เรายังเป็นหนุ่มแน่น มีผมดำสนิท
ประกอบด้วยความเป็นหนุ่มอันเจริญ ตั้งอยู่ในปฐมวัย
ถึงกระนั้น ก็มีสมัยที่ชราย่อมจะถูกต้องกายนี้ได้ ก็ผู้ที่แก่แล้ว ถูกชราครอบงำแล้ว
จะมนสิการคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ทำได้ง่าย
จะเสพเสนาสนะอันสงัดคือ ป่า และป่าชัฏ ก็ไม่ใช่ทำได้ง่าย

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นว่า บัดนี้ เรามีอาพาธน้อย
มีโรคเบาบาง ประกอบด้วยไฟธาตุสำหรับย่อยอาหารสม่ำเสมอ
ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก ขนาดกลาง ควรแก่การบำเพ็ญเพียร
แต่ย่อมมีสมัยที่พยาธิจะถูกต้องกายนี้ ก็ผู้ที่ป่วยไข้อันความป่วยไข้ครอบงำแล้ว
จะมนสิการคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ทำได้ง่าย

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นว่า บัดนี้แล ข้าวกล้าดี
บิณฑบาตก็หาได้ง่าย สะดวกแก่การแสวงหาเลี้ยงชีพ
แต่ก็ย่อมมีสมัยที่มีข้าวแพง ข้าวกล้าไม่ดี บิณฑบาตหาได้ยาก
ไม่สะดวกแก่การแสวงหาเลี้ยงชีพ
อนึ่ง ในสมัยข้าวแพง พวกมนุษย์ย่อมหลั่งไหลไปในที่ที่มีอาหารดี
ในที่นั้นย่อมมีการอยู่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ มีการอยู่พลุกพล่านกัน
เมื่อมีการอยู่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ อยู่พลุกพล่านกัน
จะมนสิการคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ทำได้ง่าย

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
บัดนี้ มนุษย์ทั้งหลายเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ชื่นชมต่อกัน ไม่วิวาทกัน
เป็นดังน้ำนมกับน้ำ มองดูกันด้วยนัยน์ตาแสดงความรักอยู่
แต่ย่อมมีสมัยที่มีภัย มีความปั่นป่วนในดง ประชาชนวุ่นวาย
และเมื่อมีภัย พวกมนุษย์ย่อมหลั่งไหลไปในที่ที่ปลอดภัย
ในที่นั้นย่อมมีการอยู่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ มีการอยู่พลุกพล่านกัน
เมื่อมีการอยู่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ อยู่พลุกพล่านกัน
จะมนสิการคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ทำได้ง่าย

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
บัดนี้สงฆ์เป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ชื่นชมต่อกัน ไม่วิวาทกัน มีอุเทศร่วมกัน อยู่ผาสุก
แต่ก็ย่อมมีสมัยที่สงฆ์แตกกัน ก็เมื่อสงฆ์แตกกันแล้ว
จะมนสิการคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ทำได้ง่าย
จะเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า และป่าชัฏ ก็ไม่ใช่ทำได้ง่าย

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เห็นภัยในอนาคตเหล่านี้ ควรเป็นผู้ไม่ประมาท
มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง
เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=22&A=2345&Z=2396&pagebreak=0

ใน “อนาคตสูตรที่ ๓” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต) สอนว่า
ภัยในอนาคต ๕ ประการนี้ ยังไม่บังเกิดในปัจจุบัน แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป
(“ในปัจจุบัน” หมายถึง ในสมัยที่พระตถาคตได้ทรงตรัสพระสูตรนี้ครับ)
ภัยในอนาคต ๕ ประการ คือ

ในอนาคต ภิกษุทั้งหลายจักไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา
เมื่อไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา
จักให้อุปสมบทกุลบุตรเหล่าอื่น จักไม่สามารถแนะนำแม้กุลบุตรเหล่านั้น
ในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา แม้กุลบุตรเหล่านั้น ก็จักไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล
ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา เมื่อไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา
ก็จักให้อุปสมบทกุลบุตรเหล่าอื่น จักไม่สามารถแนะนำแม้กุลบุตรเหล่านั้น
ในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา แม้กุลบุตรเหล่านั้นก็จักไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล
ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา เพราะเหตุดังนี้แล การลบล้างวินัยย่อมมี
เพราะการลบล้างธรรม การลบล้างธรรมย่อมมีเพราะการลบล้างวินัย

อีกประการหนึ่ง ในอนาคต ภิกษุทั้งหลาย จักไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล
ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา เมื่อไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต
ไม่อบรมปัญญา จักให้นิสัยแก่กุลบุตรเหล่าอื่น จักไม่สามารถแนะนำแม้กุลบุตรเหล่านั้น
ในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา แม้กุลบุตรเหล่านั้นก็จักไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล
ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา เมื่อไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต
ไม่อบรมปัญญา ก็จักให้นิสัยแก่กุลบุตรเหล่าอื่น จักไม่สามารถแนะนำ
แม้กุลบุตรเหล่านั้นในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา แม้กุลบุตรเหล่านั้นก็จักไม่อบรมกาย
ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา เพราะเหตุดังนี้แล
การลบล้างวินัยย่อมมีเพราะการลบล้างธรรม
การลบล้างธรรมย่อมมีเพราะการลบล้างวินัย

อีกประการหนึ่ง ในอนาคต ภิกษุทั้งหลายจักไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต
ไม่อบรมปัญญา เมื่อไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา
เมื่อแสดงอภิธรรมกถา เวทัลลกถา หยั่งลงสู่ธรรมที่ผิดก็จักไม่รู้สึก
เพราะเหตุดังนี้แล การลบล้างวินัยย่อมมีเพราะการลบล้างธรรม
การลบล้างธรรมย่อมมีเพราะการลบล้างวินัย

อีกประการหนึ่ง ในอนาคต ภิกษุทั้งหลายจักไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต
ไม่อบรมปัญญา เมื่อไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา
พระสูตรต่างๆ ที่ตถาคตได้ภาษิตไว้ เป็นสูตรลึกซึ้ง มีอรรถลึกซึ้งเป็นโลกุตระ
ประกอบด้วยสุญญตาธรรม เมื่อพระสูตรเหล่านั้นอันบุคคลแสดงอยู่
ก็จักไม่ฟังด้วยดี จักไม่เงี่ยโสตลงสดับ จักไม่ตั้งจิตเพื่อรู้ จักไม่ใฝ่ใจในธรรมเหล่านั้น
ว่าควรศึกษาเล่าเรียน แต่ว่าสูตรต่างๆ ที่นักกวีแต่งไว้ ประพันธ์เป็นบทกวี
มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะสละสลวย เป็นพาหิรกถา เป็นสาวกภาษิต
เมื่อพระสูตรเหล่านั้น อันบุคคลแสดงอยู่ ก็จักฟังด้วยดี จักเงี่ยโสตลงสดับ
จักตั้งจิตเพื่อรู้ จักฝักใฝ่ใจในธรรมเหล่านั้นว่าควรศึกษาเล่าเรียน
เพราะเหตุดังนี้ การลบล้างวินัยย่อมมีเพราะการลบล้างธรรม
การลบล้างธรรมย่อมมีเพราะการลบล้างวินัย

อีกประการหนึ่ง ในอนาคต ภิกษุทั้งหลายจักไม่อบรมกาย ไม่อบรมจิต
ไม่อบรมปัญญา เมื่อไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา
ภิกษุผู้เถระก็จักเป็นผู้มักมาก มีความประพฤติย่อหย่อน เป็นหัวหน้าในความล่วงละเมิด
ทอดธุระในความสงัด จักไม่ปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง
เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง
ประชุมชนรุ่นหลังก็จักถือเอาภิกษุเหล่านั้นเป็นตัวอย่าง
แม้ประชุมชนนั้นก็จักเป็นผู้มักมาก มีความประพฤติย่อหย่อน
เป็นหัวหน้าในความล่วงละเมิด ทอดธุระในความสงัด จักไม่ปรารภความเพียร
เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ
เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง เพราะเหตุดังนี้
การลบล้างวินัยย่อมมีเพราะการลบล้างธรรม การลบล้างธรรมย่อมมีเพราะการลบล้างวินัย

ภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคตเหล่านี้ ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้ แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป
ภัยเหล่านั้นอันเธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ ครั้นแล้วพึงพยายามเพื่อละภัยเหล่านั้น
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=22&A=2397&Z=2459&pagebreak=0

ใน “อนาคตสูตรที่ ๔” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต) สอนว่า
ภัยในอนาคต ๕ ประการนี้ ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้ แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป
(“ในบัดนี้” หมายถึง ในสมัยที่พระตถาคตได้ทรงตรัสพระสูตรนี้ครับ)
ภัยในอนาคต ๕ ประการเหล่านั้น คือ

ในอนาคต ภิกษุทั้งหลายจักเป็นผู้ชอบจีวรดีงาม
เมื่อชอบจีวรดีงาม ก็จักละความเป็นผู้ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
จักละเสนาสนะอันสงัดคือป่าและป่าชัฏ จักประชุมกันอยู่ที่บ้าน นิคมและราชธานี
และจักถึงการแสวงหาไม่สมควร อันไม่เหมาะสมต่างๆ เพราะเหตุจีวร

อีกประการหนึ่ง ในอนาคต ภิกษุทั้งหลายจักเป็นผู้ชอบบิณฑบาตที่ดีงาม
เมื่อชอบบิณฑบาตที่ดีงาม ก็จักละความเป็นผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
ละเสนาสนะอันสงัดคือป่าและป่าชัฏ จักประชุมกันอยู่ที่บ้าน นิคม และราชธานี
แสวงหาบิณฑบาตที่มีรสอันเลิศด้วยปลายลิ้น และจักถึงการแสวงหาอันไม่สมควร
ไม่เหมาะสมต่างๆ เพราะเหตุแห่งบิณฑบาต

อีกประการหนึ่ง ในอนาคต ภิกษุทั้งหลายจักเป็นผู้ชอบเสนาสนะดีงาม
เมื่อชอบเสนาสนะดีงาม ก็จักละความเป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร
ละเสนาสนะ อันสงัดคือป่าและป่าชัฏ จักประชุมกันอยู่ที่บ้าน นิคม และราชธานี
และจักถึงการแสวงหาอันไม่สมควร ไม่เหมาะสมต่างๆ เพราะเหตุแห่งเสนาสนะ

อีกประการหนึ่ง ในอนาคต ภิกษุทั้งหลายจักเป็นผู้อยู่คลุกคลีด้วยภิกษุณี
นางสิกขมานา และสมณุทเทส เมื่อมีการคลุกคลีด้วยภิกษุณี นางสิกขมานา
และสมณุทเทส พึงหวังข้อนี้ได้ว่า เธอเหล่านั้นจักเป็นผู้ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์
จักต้องอาบัติเศร้าหมองบางอย่าง หรือจักบอกคืนสิกขาเวียนมาเพื่อเป็นคฤหัสถ์

อีกประการหนึ่ง ในอนาคต ภิกษุทั้งหลายจักเป็นผู้คลุกคลีด้วยอารามิกบุรุษ
และสมณุทเทส เมื่อมีการคลุกคลีด้วยอารามิกบุรุษ และสมณุทเทส
พึงหวังข้อนี้ได้ว่า เธอเหล่านั้นจักเป็นผู้ประกอบการบริโภคของที่สะสมไว้มีประการต่างๆ
จักกระทำนิมิตแม้อย่างหยาบที่แผ่นดินบ้าง ที่ปลายของเขียวบ้าง

ภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคต ๕ ประการเหล่านี้ ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้
แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป ภัยเหล่านั้นอันเธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ
ครั้นแล้วพึงพยายามเพื่อละภัยเหล่านั้น
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=22&A=2460&Z=2507&pagebreak=0

ในพระธรรมคำสอนตามพระสูตรข้างต้น แม้ว่าบางส่วนจะเป็นเรื่องของภิกษุ
แต่หลายส่วนก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับฆราวาสเรานะครับ เช่น
ในเรื่องภัยจากสัตว์ร้ายหรือสัตว์มีพิษทำร้ายจนบาดเจ็บหรือถึงแก่ความตาย
ในยุคสมัยนี้อาจจะมีความเสี่ยงในภัยเรื่องนี้น้อยลง
แต่เราก็มีภัยอันตรายจากยานพาหนะในการเดินทางทุกวัน

ในเรื่องภัยจากความชรา และความเจ็บป่วยในอนาคต
ซึ่งจะทำให้เราเรียนรู้ธรรมปฏิบัติธรรมได้ยากนั้น
เป็นภัยอันเกี่ยวกับเราและย่อมเกิดขึ้นกับเราอย่างแน่นอน

ในเรื่องภัยจากการคลุกคลีแล้วทำให้กระทบต่อการเรียนรู้ธรรมปฏิบัติธรรมนั้น
เป็นภัยที่อันตราย และส่งผลกระทบอย่างมากในปัจจุบัน
เนื่องจากระบบการสื่อสารและโซเชียลมีเดียที่ทันสมัยในปัจจุบันนี้

ภัยในเรื่องที่จะมีภิกษุบางรูปไม่อบรมกาย ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา
แล้วก็กลายเป็นผู้มักมาก มีความประพฤติย่อหย่อน
แล้วประชุมชนรุ่นหลังก็ถือเอาภิกษุนั้นเป็นตัวอย่าง
โดยประชุมชนก็เป็นผู้มักมาก และมีความประพฤติย่อหย่อน
ภัยลักษณะนี้ก็มีให้เห็นอยู่ในปัจจุบันเช่นกัน

ภัยในเรื่องที่เราจะชอบเครื่องนุ่งห่มที่สวยงาม หรือหรูเลิศ
ชอบที่อยู่อาศัยที่สวยงามหรือหรูเลิศ ชอบอาหารรสอร่อยหรือหรูเลิศ
แล้วก็ทำให้เข้าถึงการแสวงหาอันไม่สมควรหรือไม่เหมาะสมต่างๆ
เพราะเหตุแห่งเครื่องนุ่มห่ม ที่อยู่อาศัย และอาหารเหล่านั้น
ก็เป็นภัยที่เกิดขึ้นได้กับเราในปัจจุบันเช่นกัน

ดังนี้ ในเรื่องความกังวลเกี่ยวกับภัยในอนาคตนั้น
จริง ๆ แล้ว ภัยอันตรายก็เกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ อยู่แล้วครับ
ไม่ว่าจะเป็นไปโดยธรรมชาติ หรือเกิดขึ้นโดยน้ำมือของมนุษย์เราเองก็ตาม
เช่นนี้ ไม่ว่าดาวมฤตยูจะย้ายหรือไม่ย้ายราศีก็ตาม เราก็ไม่ควรประมาทครับ
เพราะว่าภัยในอนาคตนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
ซึ่งหากเราไม่ประมาทแล้ว ย่อมจะเตรียมพร้อมรับภัยในอนาคตเหล่านั้นได้ดีกว่า