Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๔๔

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

ถือศีลมากข้อแล้วทำให้เจริญธรรมเร็วจริงหรือ

 

dharmajaree244

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้พบคำถามที่น่าสนใจในเว็บบอร์ดธรรมะแห่งหนึ่ง
คำถามนั้นถามว่าการถือศีลมากข้อแล้วทำให้เจริญธรรมเร็วขึ้นใช่หรือไม่
ซึ่งในการพิจารณาตอบคำถามดังกล่าว
ผมเห็นว่าเราควรต้องจำแนกเป็นหลายกรณี ดังต่อไปนี้

กรณีแรก หากเราเป็นฆราวาสแล้ว การถือศีล ๕ ให้ครบทุกข้อ
ย่อมจะทำให้เจริญในธรรมเร็วกว่าการถือศีล ๕ ไม่ครบทุกข้อ
เช่นนี้ย่อมถือได้ว่า ถือศีลมากข้อแล้วทำให้เจริญธรรมเร็วขึ้น

กรณีที่สอง หากเราเป็นภิกษุ การถือศีล ๒๒๗ ให้ครบทุกข้อ
ย่อมจะทำให้เจริญในธรรมเร็วกว่าการถือศีล ๒๒๗ ไม่ครบทุกข้อ
เช่นนี้ย่อมถือได้ว่า ถือศีลมากข้อแล้วทำให้เจริญธรรมเร็วขึ้น

แต่กรณีที่เป็นปัญหาน่าจะพิจารณาก็คือ
หากเราเป็นฆราวาสแล้ว การที่เราถือศีลมากกว่าศีล ๕ แล้ว
เช่นถือศีล ๘ ศีล ๑๐ หรือศีล ๒๒๗ เป็นต้น
แล้วจะช่วยให้เราซึ่งเป็นฆราวาสเจริญในธรรมได้เร็วขึ้นหรือไม่

ในกรณีนี้ ผมแนะนำให้เราลองพิจารณาว่า
หากการถือศีลจำนวนมากข้อเกินกว่าที่กำหนด (เช่น ฆราวาสถือเกินศีล ๕ ข้อ)
แล้วจะทำให้เจริญในธรรมเร็วกว่าถือศีลน้อยข้อแล้ว
ย่อมจะมีคำถามที่น่าสงสัยตามมาอีกหลายประการ ยกตัวอย่างเช่น
๑. ภิกษุณีซึ่งถือศีล ๓๑๑ ข้อ ย่อมจะเจริญในธรรมเร็วกว่า
ภิกษุซึ่งถือศีลเพียง ๒๒๗ ข้อใช่หรือไม่
๒. ทำไมพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้ภิกษุถือศีลแค่ ๒๒๗ ข้อ
ทำไมไม่ทรงให้ภิกษุถือศีล ๕๐๐ ข้อหรือถือศีลเป็น ๑,๐๐๐ ข้อไปเลย
๓. ทำไมพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้ฆราวาสถือศีลแค่ ๕ ข้อ
ทำไม่ท่านไม่ทรงสอนให้ถือ ๑๐ ข้อหรือ ๑๐๐ ข้อเสียเลย
๔. ทำไมภายหลังพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานไปแล้ว
เหล่าพระอรหันต์ ๕๐๐ รูปที่ร่วมสังคายนาพระไตรปิฎก
จึงลงมติว่าจะไม่เพิ่มศีลที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้บัญญัติไว้แล้ว

หากเราพิจารณาคำถามข้างต้นแล้ว
ย่อมจะเห็นได้ว่าการถือศีลนั้นไม่ได้เน้นว่าจำนวนข้อยิ่งมากจะยิ่งดีเสมอไป
โดยที่ “ศีล” หมายถึง ความประพฤติดีทางกายและวาจา
การรักษากายและวาจาให้เรียบร้อย หรือ
ข้อปฏิบัติสำหรับควบคุมกายและวาจาให้ตั้งอยู่ในความดีงาม


http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%C8%D5%C5&original=1


ดังนั้นนี้ การถือศีลนั้นควรต้องถือให้เหมาะสมกับเพศของตนเองด้วย
กล่าวคือ หากเราอยู่ในเพศฆราวาสหรือคฤหัสถ์
เราก็สมควรถือศีลที่เหมาะสมกับเพศฆราวาสหรือคฤหัสถ์
ในทางกลับกัน หากเราอยู่ในเพศภิกษุหรือนักบวช
เราก็สมควรถือศีลที่เหมาะสมกับเพศภิกษุหรือนักบวช
ซึ่งก็แน่นอนว่าเพศภิกษุหรือนักบวชย่อมควรต้องถือศีล
ในจำนวนข้อที่มากกว่าเพศฆราวาสหรือคฤหัสถ์

หากเราศึกษาและปฏิบัติธรรมอยู่ในเพศฆราวาส
แต่กลับไปถือศีลของเพศภิกษุหรือนักบวช ซึ่งไม่เหมาะสมกับตนเองแล้ว
ย่อมอาจส่งผลเสียทำให้เกิดปัญหาในการดำรงชีวิตปกติ
และเมื่อชีวิตมีปัญหามาก โดยไม่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุขแล้ว
ก็ย่อมจะส่งผลให้ภาวนาไม่ขึ้น หรือเสื่อมถอยในทางธรรมได้
ยกตัวอย่างเช่น หากเราเป็นฆราวาส แต่ไปถือศีล ๒๒๗ อย่างภิกษุ
ทั้งห้ามรับเงิน ห้ามซื้อขาย ต้องออกบิณฑบาต ต้องนุ่มห่มจีวร เป็นต้น
เมื่อเป็นเช่นนี้ เราที่เป็นฆราวาสก็ย่อมจะไม่สามารถเลี้ยงชีพและครอบครัวได้
กลายเป็นทำให้ชีวิตตนเองและครอบครัวมีปัญหา
และยังทำให้ตนเองผิดศีลหลายข้อที่ตนเองถือด้วย
ย่อมกลับจะทำให้มีความทุกข์มากในการถือศีล และภาวนาไม่ขึ้น
เนื่องจากตนเองไปนำศีลของเพศที่ไม่เหมาะกับตนเองมาถือนั่นเอง

แม้กระทั่งในการถือศีล ๘ ที่จะช่วยสร้างสมบารมีต่าง ๆ ก็ตาม
แต่เราที่เป็นฆราวาสก็ต้องใช้โยนิโสมนสิการ
พิจารณาว่าศีลบางข้อที่เกินศีล ๕ ไปนั้น
เราจะสามารถปฏิบัติได้บ่อยหรือมากน้อยเพียงไร
ยกตัวอย่างเช่น เราเป็นฆราวาสอยู่กับสามีหรือภรรยา และลูก
แต่เราถือศีล ๘ ทุกวัน เราร้องเพลงกล่อมลูกก็ไม่ได้
ดูหนังฟังเพลงกับคนในครอบครัวก็ไม่ได้ ทานข้าวเย็นกับคนในครอบครัวก็ไม่ได้
นอนบนเตียงกับสามีหรือภรรยาก็ไม่ได้ นั่งไปด้วยกันในรถก็เปิดเพลงไม่ได้ ฯลฯ
หรือผู้หญิงบางคนทำอาชีพขายเครื่องสำอาง
แต่ว่าถือศีลแปด ก็แต่งหน้าไม่ได้ ก็กระทบต่อการหาเลี้ยงชีพ
ชีวิตครอบครัวก็จะมีปัญหาเยอะ ซึ่งก็ย่อมจะทำให้ภาวนาลำบากครับ

ผมเคยฟังธรรมครูบาอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งได้ยกตัวอย่างสอนว่า
สมมุติว่าผู้หญิงเป็นภรรยามีสามี แต่ถือศีลแปดทุกวัน
เธอไม่ยอมให้สามีนอนด้วย ต่อมาสามีทนไม่ไหว ก็เลยไปมีผู้หญิงอื่น
คราวนี้เธอก็กลุ้มใจหนักแล้ว กังวลเรื่องสามี ก็ภาวนาไม่ขึ้นแล้ว
ฉะนั้นแล้ว เป็นภรรยาก็ต้องทำหน้าที่ตนเองที่เป็นภรรยาให้เหมาะสม
โดยการถือศีลแปดนั้น ฆราวาสบางคนก็ไม่เหมาะสมที่จะถือทุกวัน
จึงควรถือเป็นวาระโอกาส เช่น ถือเฉพาะวันพระ หรือวันหยุด เป็นต้น

ดังนั้นแล้ว เราก็ต้องใช้โยนิโสมนสิการพิจารณาตนเองด้วยนะครับ
ไม่ต้องไปเลียนแบบคนอื่น แต่ให้พิจารณาว่าเหมาะสมกับชีวิตเราหรือไม่
ยกตัวอย่างเช่น หากสมมุติว่าเราอยู่ในวัยเกษียณแล้ว ไม่ได้ต้องทำงานอะไร
เรามีลูกหลานช่วยเลี้ยงดูแลเรา อย่างนี้จะถือศีล ๘ ก็สะดวกครับ
ซึ่งกรณีดังกล่าวก็ย่อมจะเป็นประโยชน์แก่การเจริญธรรมของเรา
โดยเปรียบเสมือนว่าหากเราใช้ชีวิตที่จมอยู่ในกามมากเท่าไร
ก็เปรียบเสมือนเราเป็นไม้เปียกที่จมอยู่ในน้ำ ก็ย่อมจะติดไฟยาก
แต่หากเราเป็นไม้แห้งที่ไม่จมอยู่ในน้ำ ก็ย่อมติดไฟง่าย
ดังนั้นการถือศีล ๘ เพื่อให้เราห่างจากกามมากขึ้นก็ย่อมจะเป็นประโยชน์
แต่หากเราอยู่ในวัยทำงาน ต้องเลี้ยงดูคนอื่น
เรายังมีหน้าที่ต่อสามีหรือภรรยา หรือต่อลูก หรือต่อนายจ้าง
ในหลายกรณีก็อาจไม่สะดวกที่จะถือศีล ๘ ตลอดหรือถือทุกวัน
โดยก็สมควรหรือเหมาะสมที่จะถือศีล ๘ เพียงบางวาระโอกาสเท่านั้น

โดยสรุปแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านทรงสอนศีลที่เหมาะสมแก่เพศต่าง ๆ แล้ว
หากเป็นภิกษุก็ถือศีลของภิกษุ หากเป็นภิกษุณีก็ถือศีลของภิกษุณี
หากเป็นเณรก็ถือศีลของเณร หากเป็นฆราวาสก็ถือศีลของฆราวาส
เราที่เป็นฆราวาสก็พึงรักษาศีล ๕ ซึ่งเป็นพื้นฐานของฆราวาสให้แข็งแรง
โดยย่อมจะเป็นประโยชน์กว่าไปถือศีลมากข้อเช่น ๘ ข้อ ๑๐ ข้อ หรือ ๒๐ ข้อ
แต่ถ้าถือแบบอ่อนแรง ด่างพร้อย และถือไม่ได้จริง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นศีลข้อที่ไม่เหมาะกับสภาพชีวิตตนเองที่เป็นฆราวาส
หากเป็นฆราวาสแต่ไปนำศีลสำหรับภิกษุ หรือศีลสำหรับเณรมาถือแล้ว
พึงสังวรว่าเป็นการทำในสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ทรงสอนนะครับ
เราจึงควรยึดถือคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นหลักไว้
ไม่ควรไปหลงเชื่อสังขารปรุงแต่งเอาเองว่า ทำอย่างนั้นแล้วจะดี
ทำอย่างนี้แล้วจะดี ทั้ง ๆ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ทรงสอนเช่นนั้นครับ