Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๔๒

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

อปริหานิยธรรม ธรรมที่ทำให้ไม่เสื่อม

 

dhamajaree242

ในคราวนี้ เรามาสนทนากันในเรื่อง “อปริหานิยธรรม” กันนะครับ
ตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้ให้ความหมาย
คำว่า “อปริหานิยธรรม” หมายถึง ธรรมไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม
หรือธรรมที่ทำให้ไม่เสื่อม เป็นไปเพื่อความเจริญฝ่ายเดียว
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%CD%BB%C3%D4%CB%D2%B9%D4%C2%B8%C3%C3%C1&original=1

เวลากล่าวถึง “อปริหานิยธรรม” เราก็มักจะนึกถึงเรื่องของ “วัสสการสูตร”
และ “สารันททสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต)
ซึ่งในพระสูตรดังกล่าว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงพยากรณ์ว่า
ตราบใดที่ชาววัชชีประพฤติ “อปริหานิยธรรม ๗ ประการ” เพียงใด
ชาววัชชีพึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลย เพียงนั้น
ได้แก่ ๑. ชาววัชชีจักประชุมกันเนืองนิตย์
๒. ชาววัชชีเมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม
เมื่อเลิกประชุมก็พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงช่วยกันทำกิจที่ควรทำ
๓. ชาววัชชีไม่บัญญัติสิ่งที่ยังไม่ได้บัญญัติ ไม่เพิกถอนสิ่งที่บัญญัติแล้ว
ประพฤติมั่นอยู่ในธรรมของชาววัชชีตามที่ได้บัญญัติไว้ในครั้งก่อน
๔. ชาววัชชียังสักการะเคารพ นับถือ บูชา ชาววัชชีผู้ใหญ่
และย่อมสำคัญถ้อยคำแห่งท่านเหล่านั้นว่าเป็นถ้อยคำอันตนพึงเชื่อฟัง
๕. ชาววัชชีไม่ข่มขืนบังคับปกครองหญิงในสกุล
๖. ชาววัชชียังคงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา เจติยสถานของชาววัชชี
ทั้งภายในภายนอก และไม่ลบล้างพลีกรรมอันชอบธรรม
ซึ่งเคยให้ เคยทำแก่เจติยสถานเหล่านั้น
๗. ชาววัชชีถวายความอารักขา ความคุ้มครอง ป้องกัน อันชอบธรรม
ในพระอรหันต์ทั้งหลาย เป็นอย่างดี ด้วยหวังว่า
ไฉนพระอรหันต์ทั้งหลายที่ยังไม่มา พึงมาสู่แว่นแคว้น และที่มาแล้วพึงอยู่เป็นสุข
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=23&A=421&Z=526&pagebreak=0
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=389&Z=420&pagebreak=0

แต่หากจะนำอปริหานิยธรรม ๗ ประการมาพิจารณากับกรณีเหล่าพระภิกษุแล้ว
ใน “ภิกขุสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า ตราบใดที่เหล่าภิกษุทั้งหลาย
ได้ประพฤติอปริหานิยธรรม ๗ ประการแล้ว
ย่อมพึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลย
ได้แก่ ๑. ภิกษุทั้งหลายหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์
๒. ภิกษุทั้งหลายเมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม
เมื่อเลิกประชุมก็พร้อมเพรียงกันเลิก จักพร้อมเพรียงช่วยกันทำกิจที่สงฆ์พึงทำ
๓. ภิกษุทั้งหลายจักไม่บัญญัติสิ่งที่ยังไม่ได้บัญญัติ จักไม่เพิกถอนสิ่งที่บัญญัติแล้ว
จักประพฤติมั่นในสิกขาบทตามที่บัญญัติไว้แล้ว
๔. ภิกษุทั้งหลายยังสักการะ เคารพนับถือ บูชา ท่านผู้เป็นเถระ
เป็นรัตตัญญู บวชมานาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก
และจักสำคัญถ้อยคำแห่งท่านเหล่านั้นว่า เป็นถ้อยคำอันตนพึงเชื่อฟัง
๕. ภิกษุทั้งหลายไม่ตกอยู่ในอำนาจตัณหาที่เกิดขึ้นแล้ว อันเป็นเหตุให้เกิดในภพต่อไป
๖. ภิกษุทั้งหลายจักพอใจอยู่ในเสนาสนะป่า
๗. ภิกษุทั้งหลายจักเข้าไปตั้งความระลึกถึงเฉพาะตนได้ว่า ไฉนหนอ
เพื่อนพรหมจรรย์ผู้มีศีลเป็นที่รัก ที่ยังไม่มา ขอจงมา และที่มาแล้วพึงอยู่เป็นสุข
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=527&Z=553&pagebreak=0

ในคำสอนเกี่ยวกับอปริหานิยธรรม ๗ ประการที่กล่าวมาข้างต้นนั้น
เป็นเรื่องความไม่เสื่อม หรือความเจริญของหมู่หรือกลุ่มบุคคลที่อยู่รวมกัน
แต่คำสอนในเรื่องอปริหานิยธรรม ๗ ประการ ไม่ได้มีเพียงเท่านั้น
โดยก็ยังได้ครอบคลุมถึงความเจริญหรือความไม่เสื่อมในธรรมของบุคคล
ซึ่งเราสามารถนำมาประพฤติปฏิบัติเพื่อความเจริญทางธรรมของเราได้ด้วย
ใน “กรรมสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า ภิกษุผู้ประพฤติอปริหานิยธรรม ๗ ประการ
ย่อมพึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลย ได้แก่
๑. จักไม่ยินดีการงาน จักไม่ขวนขวายความยินดีการงาน
๒. จักไม่ยินดีการคุย
๓. จักไม่ยินดีความหลับ
๔. จักไม่ยินดีการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
๕. จักไม่เป็นผู้มีความปรารถนาลามก
และไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งความปรารถนาลามก และ
๖. จักไม่คบมิตรชั่ว จักไม่มีสหายชั่ว จักไม่มีเพื่อนชั่ว
๗. จักไม่ถึงความท้อถอยเสียในระหว่างที่บรรลุคุณวิเศษเพียงเล็กน้อย
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=554&Z=567&pagebreak=0

ในข้อที่ว่า “จักไม่ยินดีการงาน” หรือ “จักไม่ขวนขวายความยินดีการงาน” นั้น
สำหรับพระภิกษุแล้ว ย่อมหมายถึงว่าเป็นการงานอื่นนอกเหนือจาก
“คันถธุระ” ได้แก่ ธุระฝ่ายคัมภีร์ ธุระคือการเรียนพระคัมภีร์ หรือการศึกษาปริยัติธรรม
และ “วิปัสสนาธุระ” ได้แก่ ธุระฝ่ายวิปัสสนา ธุระด้านการเจริญวิปัสสนา
หรือกิจพระศาสนาในด้านการบำเพ็ญกรรมฐาน
โดยใน “อรรถกถาปริหานสูตร” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย
ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต) อธิบายว่า
ยินดียิ่งในการงาน หรือเพลิดเพลินในการงาน ยกตัวอย่างเช่น
การตรวจจีวร การทำจีวร การซ่อมแซมบาตร ผ้าอังสะ ประคดเอว รองเท้า
การปัดกวาด และการปฏิสังขรณ์สิ่งที่ชำรุด และแตกหักเป็นต้นในพระวิหาร
หากภิกษุกระทำสิ่งเหล่านี้ตลอดทั้งวันเรียกว่ายินดียิ่งในการงาน
แต่หากภิกษุใดในเวลาทำงานเหล่านี้เท่านั้น จึงจะทำงานเหล่านี้
ในเวลาเรียนอุเทศก็เรียนอุเทศ ในเวลาท่องก็ท่อง
ในเวลาทำวัตรคือ การปัดกวาดลานพระเจดีย์ เป็นต้น กระทำวัตร
คือการปัดกวาดลานพระเจดีย์ ในเวลาทำมนสิการก็ทำมนสิการ
ภิกษุนั้นชื่อว่าไม่เป็นผู้ยินดีในการงาน หรือไม่หมกมุ่นในการงาน
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=257

ในกรณีของ “จักไม่ยินดีการงาน” นั้น หากเราจะนำมาปรับใช้กับฆราวาสแล้ว
ย่อมไม่ได้หมายความว่า ให้เราขี้เกียจหรือละเลยการทำงานหาเลี้ยงชีพนะครับ
แต่หมายถึงว่าในเวลาที่เราต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ เราก็พึงขยันทำงานให้เต็มที่
ส่วนในเวลาที่เราไม่ควรต้องทำงาน เช่น เป็นเวลาพักผ่อน หรือเวลาปฏิบัติธรรม เป็นต้น
เราก็ไม่ควรใช้เวลานั้นไปหมกมุ่นทำงาน ไม่เช่นนั้น ก็ถือว่ายินดีการงานเช่นกัน

นอกเหนือจากคำสอนในเรื่อง “อปริหานิยธรรม ๗ ประการ”
ตามแบบใน“กรรมสูตร” ข้างต้นแล้ว ก็ยังมีคำสอนในแบบอื่น ๆ อีก
ซึ่งเราสามารถนำมาประพฤติปฏิบัติเพื่อความเจริญทางธรรมของเราได้เช่นกัน
ใน “สัทธิยสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า ภิกษุผู้ประพฤติอปริหานิยธรรม ๗ ประการ
ย่อมพึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลย ได้แก่
๑. จักเป็นผู้มีศรัทธา
๒. จักเป็นผู้มีหิริ
๓. จักเป็นผู้มีโอตตัปปะ
๔. จักเป็นพหุสูต
๕. จักปรารภความเพียร
๖. จักเป็นผู้มีสติ
๗. จักเป็นผู้มีปัญญา
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=568&Z=579&pagebreak=0

ในพระสูตรที่ ๖ ต่อจาก “สัทธิยสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า ภิกษุผู้ประพฤติอปริหานิยธรรม ๗ ประการ
ย่อมพึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลย ได้แก่
๑. จักเจริญธรรมสติสัมโพชฌงค์
๒. จักเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์
๓. จักเจริญวิริยสัมโพชฌงค์
๔. จักเจริญปีติสัมโพชฌงค์
๕. จักเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
๖. จักเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์
๗. จักเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=580&Z=591&pagebreak=0

ใน “สัญญาสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า ภิกษุผู้ประพฤติอปริหานิยธรรม ๗ ประการ
ย่อมพึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลย ได้แก่
๑. จักเจริญอนิจจสัญญา (กำหนดหมายความไม่เที่ยงแห่งสังขาร)
๒. จักเจริญอนัตตสัญญา (กำหนดหมายความเป็นอนัตตาแห่งธรรมทั้งปวง)
๓. จักเจริญอสุภสัญญา (กำหนดหมายความไม่งามแห่งกาย)
๔. จักเจริญอาทีนวสัญญา (กำหนดหมายโทษแห่งกาย คือมีอาพาธต่างๆ)
๕. จักเจริญปหานสัญญา (กำหนดหมายเพื่อละอกุศลวิตกและบาปธรรม)
๖. จักเจริญวิราคสัญญา (กำหนดหมายอริยมรรคว่าเป็นธรรมอันสงบประณีต)
๗. จักเจริญนิโรธสัญญา (กำหนดหมายอริยผลว่าเป็นธรรมอันสงบประณีต)
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=592&Z=603&pagebreak=0
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=สัญญา_๑๐

ใน “เสขสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า ภิกษุผู้ประพฤติอปริหานิยธรรม ๗ ประการ
ย่อมพึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลย ได้แก่
๑. ความเป็นผู้ไม่ชอบการงาน
๒. ความเป็นผู้ไม่ชอบคุย
๓. ความเป็นผู้ไม่ชอบหลับ
๔. ความเป็นผู้ไม่ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
๕. ความเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
๖. ความเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ
๗. กิจที่สงฆ์จะพึงทำมีอยู่ในสงฆ์ ภิกษุสำเหนียกในกิจนั้นอย่างนี้ว่า
พระเถระผู้รัตตัญญูบวชมานาน เป็นผู้รับภาระ มีอยู่ในสงฆ์
ท่านเหล่านั้นจะรับผิดชอบด้วยกิจนั้น ดังนี้ ไม่ต้องขวนขวายด้วยตนเอง
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=604&Z=621&pagebreak=0

ใน “หานิสูตร” และ “วิปัตติสัมภวสูตร”
(พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า “อุบาสก” ผู้ประพฤติอปริหานิยธรรม ๗ ประการ
ย่อมพึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลย ได้แก่
๑. อุบาสกไม่ขาดการเยี่ยมเยียนภิกษุผู้อบรมตน
๒. ปรารถนาฟังสัทธรรม ไม่ละเลยการฟังธรรม
๓. ศึกษาในอธิศีล
๔. มากด้วยความเลื่อมใสในภิกษุทั้งที่เป็นเถระ ทั้งเป็นผู้ใหม่ ทั้งปานกลาง
๕. ไม่ตั้งจิตติเตียน ไม่คอยเพ่งโทษฟังธรรม
๖. ไม่แสวงหาเขตบุญภายนอกศาสนานี้
๗. กระทำสักการะก่อนในเขตบุญในศาสนานี้
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=622&Z=649&pagebreak=0
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=650&Z=679&pagebreak=0

ใน “อัปปมาทสูตร” และ “หิรีมาสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า ภิกษุผู้ประพฤติธรรม ๗ ประการนี้
เป็นผู้ไม่ควรในความเสื่อม และย่อมมีที่ใกล้นิพพาน ได้แก่
๑. ความเป็นผู้เคารพในพระศาสดา
๒. ความเป็นผู้เคารพในธรรม
๓. ความเป็นผู้เคารพในสงฆ์
๔. ความเป็นผู้เคารพในสิกขา
๕. ความเป็นผู้เคารพในสมาธิ
๖. ความเป็นผู้เคารพในหิริ
๗. ความเป็นผู้เคารพในโอตตัปปะ
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=680&Z=708&pagebreak=0
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=709&Z=725&pagebreak=0

ใน “สุวจสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า ภิกษุผู้ประพฤติธรรม ๗ ประการนี้
เป็นผู้ไม่ควรในความเสื่อม และย่อมมีที่ใกล้นิพพาน ได้แก่
๑. ความเป็นผู้เคารพในพระศาสดา
๒. ความเป็นผู้เคารพในธรรม
๓. ความเป็นผู้เคารพในสงฆ์
๔. ความเป็นผู้เคารพในสิกขา
๕. ความเป็นผู้เคารพในสมาธิ
๖. ความเป็นผู้ว่าง่าย
๗. ความเป็นผู้มีมิตรดีงาม
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=726&Z=740&pagebreak=0
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=741&Z=776&pagebreak=0

จากที่ได้ยกหลายพระสูตรดังกล่าวมาข้างต้น เราย่อมจะเห็นได้ว่า
คำสอนในเรื่องอปริหานิยธรรม ๗ ประการซึ่งเราสามารถนำมาประพฤติปฏิบัติ
เพื่อความเจริญทางธรรมของเรานั้นมีหลายแบบนะครับ
ท่านผู้อ่านบางท่านก็อาจมีคำถามว่า ถ้าจะให้จำและนำไปประพฤติปฏิบัติทั้งหมดแล้ว
ก็คงจำและประพฤติไม่ได้ทั้งหมด แล้วควรจะเลือกแบบไหนดี
โดยส่วนตัวแล้ว ผมขอแนะนำว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนธรรมไว้หลากหลาย
สำหรับบุคคลที่มีจริตแตกต่างกันไป ดังนั้นแล้ว เราก็พึงพิจารณาด้วยตนเองว่า
อปริหานิยธรรม ๗ ประการแบบไหน หรือในพระสูตรไหนที่เหมาะกับเราในเวลานี้
เราก็พึงเลือกอปริหานิยธรรม ๗ ประการแบบนั้น หรือในพระสูตรนั้นไปประพฤติปฏิบัติ
ซึ่งหากเวลาแปรเปลี่ยนไป และเราประพฤติปฏิบัติไปเรื่อยแล้ว
เราก็อาจจะเปลี่ยนไปนำอปริหานิยธรรม ๗ ประการแบบอื่น หรือในพระสูตรอื่น
ไปประพฤติปฏิบัติก็ได้ แต่ไม่ว่าเราจะนำอปริหานิยธรรม ๗ ประการแบบไหน
หรือพระสูตรไหนที่กล่าวมาข้างต้นไปประพฤติปฏิบัติก็ตาม
ก็ย่อมจะอำนวยผลให้เราไปในทางเดียวกัน คือความไม่เสื่อมในธรรมนั่นเอง