Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๔๐

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

กัลยาณมิตร

dharmajaree240

 

ในคราวนี้เรามาสนทนาในเรื่องของกัลยาณมิตรกันนะครับ
ตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้ให้ความหมาย
คำว่า “กัลยาณมิตร” หมายถึง เพื่อนที่ดี หรือมิตรผู้มีคุณอันพึงนับ
ซึ่ง “ความเป็นผู้มีมิตรดี” นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
โดยใน “อุปัฑฒสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) เล่าว่า
ในสมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี
นี้เป็นกึ่งหนึ่งแห่งพรหมจรรย์เทียวนะ พระเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า “ดูกรอานนท์ เธออย่าได้กล่าวอย่างนั้น
ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นทีเดียว
ดูกรอานนท์ อันภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี
พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘
จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=19&A=26&Z=51&pagebreak=0

ใน “สารีปุตตสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค)
ได้สอนในทำนองเดียวกันว่า ในสมัยหนึ่ง
ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี
นี้เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นเทียวนะ พระเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า “ถูกละ สารีบุตร
ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้น
ดูกรสารีบุตร ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี
พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘
จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=19&A=52&Z=73&pagebreak=0

เช่นนี้แล้ว ในการเลือกคบมิตรหรือคบเพื่อนย่อมมีความสำคัญมาก
โดยเราพึงเลือกคบมิตรหรือคบเพื่อนที่ดี
ในส่วนของคุณสมบัติของมิตรหรือเพื่อนที่ดีนั้น
ใน “สขสูตรที่ ๑” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต)
สอนว่า ควรคบมิตรผู้ประกอบด้วยองค์ ๗ ประการ ได้แก่
มิตรผู้ให้ของที่ให้ได้ยาก ๑ รับทำกิจที่ทำได้ยาก ๑
อดทนถ้อยคำที่อดใจได้ยาก ๑ บอกความลับของตนแก่เพื่อน ๑
ปิดความลับของเพื่อน ๑ ไม่ละทิ้งในยามวิบัติ ๑
เมื่อเพื่อนสิ้นโภคสมบัติก็ไม่ดูหมิ่น ๑
http://www.84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=23&item=33&items=1&preline=0&pagebreak=0

ใน “สขสูตรที่ ๒” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต)
สอนว่า ควรคบมิตรผู้ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ ได้แก่
ภิกษุเป็นที่รักใคร่พอใจ ๑ เป็นที่เคารพ ๑ เป็นผู้ควรสรรเสริญ ๑
เป็นผู้ฉลาดพูด ๑ เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำ ๑
พูดถ้อยคำลึกซึ้ง ๑ ไม่ชักนำในทางที่ไม่ดี ๑
http://www.84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=23&item=34&items=1&preline=0&pagebreak=0

ใน พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้อธิบายธรรม ๗ ประการ
ใน “สขสูตรที่ ๒” ดังกล่าวว่า “กัลยาณมิตรธรรม ๗” คือ
องค์คุณของกัลยาณมิตร หรือคุณสมบัติของมิตรดีหรือมิตรแท้
กล่าวคือ ท่านที่คบหรือเข้าหาแล้ว จะเป็นเหตุให้เกิดความดีงามและความเจริญ
(ในที่นี้มุ่งเอามิตรประเภทครูหรือพี่เลี้ยงเป็นสำคัญ) ประกอบด้วย
๑. “ปิโย” คือ น่ารัก ในฐานเป็นที่สบายใจและสนิทสนม
ชวนให้อยากเข้าไปปรึกษา ไต่ถาม
๒. “ครุ” คือ น่าเคารพ ในฐานประพฤติสมควรแก่ฐานะ
ให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ เป็นที่พึ่งใจ และปลอดภัย
๓. “ภาวนีโย” คือ น่าเจริญใจ หรือน่ายกย่อง
ในฐานทรงคุณคือความรู้และภูมิปัญญาแท้จริง
ทั้งเป็นผู้ฝึกอบรมและปรับปรุงตนอยู่เสมอ ควรเอาอย่าง
ทำให้ระลึกและเอ่ยอ้างด้วยซาบซึ้งภูมิใจ
๔. “วตฺตา จ” คือ รู้จักพูดให้ได้ผล รู้จักชี้แจงให้เข้าใจ รู้ว่าเมื่อไรควรพูดอะไรอย่างไร
คอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือน เป็นที่ปรึกษาที่ดี
๕. “วจนกฺขโม” คือ อดทนต่อถ้อยคำ คือ พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษา
รับฟังซักถามคำเสนอแนะวิพากษ์วิจารณ์ อดทน ฟังได้ไม่เบื่อ ไม่ฉุนเฉียว
๖. “คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา” คือ แถลงเรื่องล้ำลึกได้
สามารถอธิบายเรื่องยุ่งยากซับซ้อนให้เข้าใจ และให้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป
๗. “โน จฏฺฐาเน นิโยชเย” คือ ไม่ชักนำในอฐาน คือ ไม่แนะนำในเรื่องเหลวไหล
หรือชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย
http://www.84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%A1%D1%C5%C2%D2%B3%C1%D4%B5%C3&original=1

นอกจากมิตรหรือเพื่อนที่ดีควรจะมีคุณสมบัติข้างต้นแล้ว
เรายังอาจจะพิจารณาคุณสมบัติของมิตรหรือเพื่อนในเรื่องอื่น ๆ ได้อีก
โดยผมได้เคยเขียนบทความในเรื่องของการเลือกคบเพื่อนไว้ตอนหนึ่ง
ซึ่งสามารถอ่านได้ตามลิงค์นี้ครับ
http://dlitemag.com/index.php?option=com_content&view=article&id=1096&Itemid=1
ทั้งนี้ จากบทความในลิงค์ดังกล่าวอาจสรุปบางประเด็นที่สำคัญได้ว่า
ใน “เสวิสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต) ได้สอนว่า
๑. บุคคลที่ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ ได้แก่
(นอกจากจะเอ็นดูอนุเคราะห์กัน)
บุคคลซึ่งเป็นคนเลวโดยศีล สมาธิ ปัญญา
๒. บุคคลที่ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้ ได้แก่
บุคคลซึ่งเป็นคนเช่นเดียวกับตน โดยศีล สมาธิ ปัญญา
๓. บุคคลที่จะต้องสักการะ เคารพแล้วจึงเสพคบหา เข้าไปนั่งใกล้ ได้แก่
บุคคลซึ่งเป็นผู้ยิ่งกว่าเราโดยศีล สมาธิ ปัญญา
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=20&A=3269&Z=3302&pagebreak=0

ใน “ชิคุจฉสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต) ได้สอนว่า
๑. บุคคลที่พึงเกลียด ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ ได้แก่
บุคคลซึ่งเป็นคนทุศีล มีธรรมเลวทราม ไม่สะอาด มีความประพฤติน่ารังเกียจ
มีการงานลึกลับ ไม่ใช่สมณะ แต่ปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะ
ไม่ใช่พรหมจารีบุคคล แต่ปฏิญาณตนว่าเป็นพรหมจารีบุคคล
เน่าในภายใน ชุ่มด้วยราคะ เป็นเหมือนหยากเยื่อ
๒. บุคคลที่ควรวางเฉย ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ ได้แก่
บุคคลซึ่งเป็นผู้โกรธ มากด้วยความแค้นใจ
เมื่อถูกว่าแม้เพียงเล็กน้อยก็ข้องใจ โกรธเคือง พยาบาท ขึ้งเคียด
ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความโทมนัสให้ปรากฏ
๓. บุคคลที่ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้ ได้แก่
บุคคลซึ่งเป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=20&A=3303&Z=3348&pagebreak=0

ใน “อันธสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต) ได้สอนว่า
๑. ควรเว้นการคบหากับบุคคลตาบอด
ซึ่งได้แก่ บุคคลซึ่งไม่มีนัยน์ตาอันเป็นเหตุได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้
หรือทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีมากขึ้น
และไม่มีนัยน์ตาเครื่องรู้ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล
ไม่รู้ธรรมที่มีโทษและไม่มีโทษ ไม่รู้ธรรมที่เลวและประณีต
ไม่รู้ธรรมที่มีส่วนเปรียบด้วยธรรมฝ่ายดำและฝ่ายขาว
๒. ควรเว้นการคบหากับบุคคลตาเดียว
ซึ่งได้แก่ บุคคลซึ่งมีนัยน์ตาอันเป็นเหตุได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้
หรือทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีมากขึ้น
แต่ไม่มีนัยน์ตาเป็นเครื่องรู้ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล
ไม่รู้ธรรมที่มีโทษและไม่มีโทษ ไม่รู้ธรรมที่เลวและประณีต
ไม่รู้ธรรมที่มีส่วนเปรียบด้วยธรรมฝ่ายดำและฝ่ายขาว
๓. ควรควบหากับบุคคลสองตา
ซึ่งได้แก่ บุคคลซึ่งมีนัยน์ตาอันเป็นเหตุได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้
ทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีมากขึ้น
ทั้งยังมีนัยน์ตาเป็นเครื่องรู้ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล
รู้ธรรมที่มีโทษและไม่มีโทษ รู้ธรรมที่เลวหรือประณีต
รู้ธรรมที่มีส่วนเปรียบด้วยธรรมฝ่ายดำและฝ่ายขาว
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=20&A=3373&Z=3405&pagebreak=0

นอกจากการได้คบหากัลยาณมิตรแล้ว
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ พิจารณาตนเองว่า
เราเองได้ดื้อด้านหรือเพิกเฉยต่อคำแนะนำของกัลยาณมิตรหรือไม่
โดยเมื่อเราได้รับคำแนะนำที่ดีหรือที่สมควรจากกัลยาณมิตรแล้ว
เราก็ควรให้ความสนใจนำไปพิจารณา และประพฤติปฏิบัติตามที่เหมาะสม

ฉบับนี้ก็เป็นฉบับสุดท้ายของปี ๒๕๕๘ แล้วนะครับ
ซึ่งเมื่อถึงเวลาช่วงสิ้นปีแล้ว หลาย ๆ ท่านก็มักจะมาทบทวนในปีที่ผ่านมาว่า
เราได้ประพฤติปฏิบัติในปีที่ผ่านมาอย่างไร
มีสิ่งใดที่เราควรลดละเลิก หรือมีสิ่งใดที่เราควรพัฒนาให้เจริญขึ้น
นอกจากสิ่งที่ตนเองควรลดละเลิก หรือควรพัฒนาให้เจริญขึ้นดังกล่าวแล้ว
อีกประการหนึ่งที่เราควรพิจารณาด้วยก็คือ
เราได้คบหากัลยาณมิตรมากน้อยเพียงไร
และเมื่อกัลยาณมิตรได้แนะนำแล้ว เราได้นำมาประพฤติปฏิบัติมากน้อยเพียงไร
หากเราไม่ได้สนใจคบหากัลยาณมิตรเท่าไรเลย
โดยเราคบหาแต่มิตรหรือเพื่อนเหลวไหลไร้สาระ ที่นำพาไปสู่แต่การขาดสติ
นำไปสู่การเป็นอกุศล ศีล สมาธิ ปัญญาเสื่อมถอยลง
เราก็พึงพิจารณาปรับปรุงการคบหามิตรหรือเพื่อนของเราเองด้วยครับ