Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๓๘

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

สนทนาธรรมกับผู้สูงวัย

dhamajaree238

เมื่อ ๒ เดือนก่อน ผมได้มีโอกาสไปร่วมสนทนาธรรมในกลุ่มผู้สูงวัย
ในกลุ่มผู้สูงวัยนั้นก็มีพื้นฐาน แนวทางการปฏิบัติ และประสบการณ์
ที่หลากหลายแตกต่างกันไป ก็ทำให้ผมได้เห็นเรื่องหนึ่ง
ซึ่งขอนำมาแบ่งปันในที่นี้นะครับ

เป้าหมายในการสนทนาธรรมในกลุ่มผู้สูงวัยดังกล่าวนั้น
ก็เพื่อจะแนะนำเรื่องการฝึกหัดเจริญสติ
แต่ในการสนทนาดังกล่าว ทุกคนก็ไม่ได้จะเข้าใจเหมือนกันหมด
บางคนฟังแล้วเข้าใจในเรื่องการเจริญสติ โดยเข้าใจถึง
การมีสติเห็นไตรลักษณ์ของขันธ์ ๕ (หรือรูปนาม) อันเป็นการทำวิปัสสนา
บางคนเริ่มเข้าใจในเรื่องการเจริญสติบ้าง และสนใจที่จะทดลองทำดู
บางคนก็อาจจะเริ่มเข้าใจในเรื่องการเจริญบ้าง แต่ไม่กระตือรือร้นที่จะทำเท่าไร
บางคนสนใจจะทำเพียงแต่สมถะ และยังไม่เข้าใจเรื่องการเจริญสติ
บางคนสนใจเพียงแต่จะทำจิตใจให้ดี เช่น เป็นคนดี
รู้จักให้อภัยคนอื่น เวลาโกรธแล้วก็มองในแง่ดี เป็นต้น
ซึ่งก็มีหลากหลายแตกต่างกันไปครับ

ทีนี้ หากเราไปแนะนำหรือเสนอการปฏิบัติธรรมในเรื่องที่เขาไม่สนใจ
หรือเขายังไม่พร้อมที่จะรับ หรือเขาไม่ยอมรับแล้ว
เราก็ไม่ควรไปพยายามยัดเยียดให้เขานะครับ
แต่เราควรจะพิจารณาด้วยว่าเขารับได้แค่ไหน
เพราะหากเราไปยัดเยียดการปฏิบัติธรรมในเรื่องที่เขาไม่สนใจ
หรือเขาไม่พร้อมที่จะรับ หรือเขาไม่ยอมรับแล้ว
แทนที่จะเป็นประโยชน์ อาจจะเป็นโทษแก่เขาก็ได้
เช่น อาจจะทำให้เขาไม่พอใจ โกรธ หรือเกิดจิตอกุศลได้

ยกตัวอย่างว่าในอดีต ผมได้เคยคุยแนะนำเรื่องการเจริญมรณานุสติ
ให้กับญาติสูงวัยท่านหนึ่ง ซึ่งไม่มีพื้นฐานในเรื่องของการภาวนามาก่อนเลย
โดยที่ผ่านมานั้น ญาติสูงวัยท่านนี้เอาแต่ไหว้เจ้าขอพรเพียงอย่างเดียว
พอผมคุยเรื่องมรณานุสติขึ้นมาแล้ว ญาติสูงวัยท่านนี้ก็ไม่พอใจขึ้นมาทันที
โดยหาว่าผมคุยเรื่องตายเป็นการแช่งเขา หรือคุยเรื่องโชคไม่ดีหรือเรื่องซวยขึ้นมา
แล้วเขาก็ตัดบทไม่คุยอะไรต่อทั้งนั้น
ต่อมา ในโอกาสอื่น ๆ ผมลองคุยเรื่องการเจริญสติ เขาก็ไม่รับและไม่เข้าใจ
ผมลองคุยเรื่องการทำสมาธิ เขาก็ไม่รับและไม่เข้าใจ
ผมลองคุยเรื่องการรักษาศีล เขาก็ไม่สนใจและไม่ให้ความสำคัญ
จนผมถอยมาสุดทางเลย คือแนะนำให้เริ่มทำทานก่อน
แทนที่จะเอาแต่นำของไปไหว้เจ้า เพื่อขอพรให้เจ้าคุ้มครองอย่างเดียว
แนะนำให้เริ่มทำทานถวายของพระภิกษุ ให้ทานแก่บุคคลอื่น
ให้ทานแก่สัตว์เดรัจฉาน (เช่น ให้อาหารปลา หรือให้อาหารนก เป็นต้น)

พอญาติธรรมท่านนี้ได้ให้ทานไปสัก ๒ – ๓ ปีแล้ว
เมื่อผมเริ่มคุยเรื่องการเจริญมรณานุสติกับเขาอีก
ปรากฏว่าเขาเริ่มยอมรับฟังได้แล้วและยอมรับว่าทุกคนต้องตาย
โดยไม่ได้หาว่าผมคุยเรื่องแช่งหรือเรื่องซวยกับเขาแล้ว
และพอเริ่มคุยเรื่องศีล เขาก็เริ่มสนใจ และบอกว่าจะรักษาศีลแล้ว
แต่พอลองคุยเรื่องการเจริญสติ ปรากฏว่าเขาไม่เข้าใจ และไม่สนใจ
กรณีของญาติสูงวัยท่านนี้ ผมก็ยกมาเป็นตัวอย่างนะครับว่า

แต่ละคนมีพื้นฐานไม่เท่ากัน และสามารถรับธรรมได้ไม่เท่ากัน
ดังนี้ เราก็ควรต้องพิจารณาด้วยว่าเขารับธรรมได้แค่ไหน

แม้กระทั่งตัวเราเอง หรือเช่นตัวผมเองก็ตาม
ก็สามารถรับธรรมได้ระดับหนึ่ง ไม่ได้เข้าใจและรับได้ทั้งหมด
เช่น บางทีฟังครูบาอาจารย์ท่านเทศนาธรรมไปถึงขั้นบรรลุพระโสดาบัน
หรือไล่ตามลำดับต่อไปเรื่อยจนกระทั่งบรรลุถึงพระอรหันต์แล้วก็ตาม
แต่ใจผมเองก็ไม่ได้ตามไปบรรลุธรรมในระดับนั้น โดยก็ยังเป็นปุถุชนอยู่
ไม่ได้แปลว่าจะสามารถฟังแล้วละสังโยชน์ตามพระธรรมเทศนาได้ทันที
เพราะว่าเราเองหรือตัวผมเองก็ทำพื้นฐานมาได้เท่านี้

ด้วยความที่มีประสบการณ์กับญาติสูงวัยในอดีตมาแล้ว
เวลาสนทนาธรรมในกลุ่มผู้สูงอายุนี้ ผมก็จะไม่ยัดเยียดการปฏิบัติธรรมครับ
โดยก็จะดูว่าใครสนใจเรื่องไหน ใครรับได้แค่ไหน ก็จะปล่อยไปตามนั้น
แล้วเมื่อถึงเวลาที่สมควรของเขา ซึ่งพื้นฐานหรือบารมีเขามากเพียงพอ
เขาก็จะสามารถฟังเข้าใจหรือสามารถขยับการปฏิบัติธรรมของเขาไปได้เอง

จริง ๆ แล้วเรื่องของการไม่ยัดเยียดการปฏิบัติธรรมนี้
ไม่ได้ใช้เฉพาะกับผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ก็ใช้กับผู้ไม่สูงอายุด้วยเช่นกัน
เพราะหากเจ้าตัวเขาไม่สนใจ หรือไม่พร้อม หรือไม่ยอมรับแล้ว
แต่เราไปพยายามยัดการเยียดการปฏิบัติธรรมให้เขา
ก็ย่อมจะทำให้เกิดโทษมากกว่าประโยชน์
เช่น คนยัดเยียดขาดสติ ปล่อยให้กิเลสครอบงำใจ
ส่วนคนถูกยัดเยียดไม่พอใจ หรือเกิดโทสะ
นอกจากนี้ ทั้งสองคนอาจจะถึงกับทะเลาะกันด้วยก็ได้ครับ